xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 2-8 ก.ค.2560

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.สนช.เห็นชอบ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวให้เป็น พ.ร.บ.แล้ว ด้าน คสช.ใช้ ม.44 เลื่อนจับปรับแรงงานต่างด้าวผิด กม.ไปอีก 6 เดือน!
(บน) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. (ล่าง) แรงงานต่างด้าวแห่กลับบ้าน หลังตกใจรัฐบาลออก พ.ร.ก.เกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว
หลังรัฐบาลออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างไม่ถูกต้อง แห่เดินทางกลับประเทศตัวเองอย่างต่อเนื่อง ร้อนถึงนายจ้างต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนผันการบังคับใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าว ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวชี้แจงถึงเหตุผลที่ออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวว่า มีเหตุผลและความจำเป็นต้องทำ เนื่องจากพันธสัญญาที่มีอยู่ ประเทศไทยถูกเพ่งเล็งเรื่องการค้ามนุษย์ ดังนั้นต่อไปนี้ แรงงานต้องขึ้นบัญชีหรือนำเข้าแรงงานที่ชายแดนเท่านั้น ไม่มีการขึ้นทะเบียนในประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ในช่วง 3 ปีที่รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหา ก็นำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นบัญชีได้ 2-3 ล้านคน แต่ยังมีปัญหาอยู่ คือคนเหล่านี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติทั้งหมด จึงเห็นว่า ต้นทางต้องเป็นคนพิสูจน์สัญชาติในประเทศตัวเอง ต่อไปต้องไปจดทะเบียนที่ประเทศต้นทาง คนที่อยู่ขณะนี้มีทั้งถูกและผิดกฎหมาย คนผิดกฎหมายไม่มีหลักฐานอะไรสักอย่าง ต้องกลับไปที่ชายแดนเพื่อไปทำหลักฐานให้ถูกต้อง แล้วค่อยเดินทางกลับเข้ามา ส่วนโทษปรับกรณีใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 4-8 แสนบาทมากไปหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องไปดูว่ากฎหมายเขียนไว้อย่างไร ขอร้องอย่าเคลื่อนไหวอะไรกันนัก ให้เวลา 120 วันขอให้ทำให้ทัน

ด้านนายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ชี้ว่า กรณีที่รัฐบาลเตรียมใช้มาตรา 44 เพื่อขยายเวลาอีก 120 วันคงไม่เพียงพอ ควรขยายเวลาเพิ่มอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป เพราะต้องคำนึงด้วยว่า ขณะนี้มีแรงงานที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องประมาณ 1 ล้านคน การขยายเวลาเพิ่มควรจะอำนวยความสะดวกให้กับนายจ้างและลูกจ้างด้วย

วันต่อมา(4 ก.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวว่า เมื่อเห็นว่า พ.ร.ก.สำแดงฤทธิ์ ให้เกิดสุญญากาศแรงงานขึ้น ทาง คสช.จึงออกคำสั่งตามมาตรา 44 ให้มาตราเกี่ยวกับโทษปรับ 4-8 แสนบาท ซึ่งมี 4 มาตรา หยุดการบังคับใช้ไว้ก่อน โดยเลื่อนวันบังคับใช้ออกไปอีก 6 เดือน เพราะไม่ต้องการให้แรงงานทะลักออกนอกประเทศในคราวเดียว แต่ให้นายจ้างทำเป็นผลัดทีละชุดได้ เพื่อให้มีแรงงานหมุนเวียนอยู่ เพราะต่อรายจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน และเริ่มใช้ พ.ร.ก.ในวันที่ 1 ม.ค.2561 เป็นต้นไป

ด้านนายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เผยว่า ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย 3 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภทที่ถูกกฎหมาย คือมีใบอนุญาตทำงานและใบอนุญาตเข้าเมืองถูกต้อง 1.3 ล้านคน 2.ประเภทที่ถือบัตรสีชมพูหรือได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราวถึง 31 มี.ค. ซึ่งมีภาระจะต้องไปออกเอกสารประจำตัว 1.3 ล้านคน โดยรัฐบาลไทยได้ทำการตกลงกับ 3 ชาติ คือ พม่า กัมพูชา และลาว เพื่อมาตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติในประเทศไทย 5 ศูนย์ ขณะนี้ทางพม่าดำเนินการไปแล้ว 180,000 คน และยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3.ประเภทแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถยืนยันตัวเลขทั้งหมดได้ ประมาณว่าไม่เกิน 1 ล้านคน แต่ขณะนี้แรงงานผิดกฎหมายเข้าระบบแล้ว 4 แสนคน จึงคาดว่าเหลืออยู่ไม่ถึง 1 ล้านคน

นายวรานน์ กล่าวด้วยว่า มาตรการรองรับสำหรับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมี 2 ทางเลือก คือ 1.มาตรการเอ็มโอยู นายจ้างส่งกลับบ้าน แล้วไปทำเรื่องขอกลับเข้ามาใหม่ ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน 2.พิสูจน์ทราบความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยทางการไทยจะตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้ และส่งให้ทางการพม่า หลังจากนั้น พม่าจะออกใบรับรองสัญชาติ ซึ่งใช้ขอใบอนุญาตเข้าเมืองและใบอนุญาตทำงานได้ 2 ปี เชื่อว่าจะดำเนินมาตรการทั้งหมดเพื่อนำแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบภายในวันที่ 31 มี.ค.

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้พิจารณา พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ก่อนมีมติเห็นชอบ พ.ร.ก.ดังกล่าวให้เป็น พ.ร.บ.ด้วยคะแนน 177 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

ขณะที่นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เผยว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลงนามออกหลักเกณฑ์แก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว หลักๆ มี 3 ข้อ คือ 1.หลักเกณฑ์การเปลี่ยนนายจ้างให้ตรงกับการจ้างงาน 2.ปลดล็อกให้แรงงาน 3 ชาติ คือ ลาว พม่า และกัมพูชา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว แต่ดำเนินการขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงานไม่ทัน 15 วัน มาดำเนินการตามขั้นตอนที่ทำไม่ทันนั้น ซึ่งตอนนี้มีอยู่หลายหมื่นคน และกำลังจะเดินทางไปลาว เพื่อเจรจาขอให้เร่งพิสูจน์สัญชาติให้เร็ว แม้แรงงานลาวจะมีไม่มาก แค่ประมาณ 8-9 หมื่นคนก็ตาม และ 3.เรื่องการตั้งศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวเฉพาะกิจ 15 วัน สำหรับศูนย์เฉพาะกิจเพื่ออำนวยการการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว จะเปิดทั่วประเทศในวันที่ 24 ก.ค.นี้

2.ศาลฎีกานักการเมือง ไต่สวนพยานนัดสุดท้ายคดี “บุญทรง-ภูมิ” และพวก ทุจริตระบายข้าวจีทูจี นัดพิพากษา 25 ส.ค.นี้!
(บน) นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ (ล่าง) นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้นัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้าย คดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 1, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 2 และพวก ซึ่งเป็นอดีตนักการเมือง 3 คน ข้าราชการการเมือง 3 คน และนิติบุคคลกับกรรมการผู้มีอำนาจในนิติบุคคล เป็นจำเลยที่ 1-28 ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 4, 9, 10, 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจโดยทุจริตสร้างความเสียหายแก่รัฐ, ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต สร้างความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 123 และ 123/1 พร้อมทั้งขอให้ศาลสั่งปรับจำเลยทั้งหมด เป็นเงิน 35,274,611,007 บาทที่คิดคำนวณจากมูลค่าครึ่งหนึ่งตามสัญญาระบายข้าว 50,000 ตัน ที่พบว่ามีการกระทำผิดสัญญา 4 ใน 8 ฉบับ

ทั้งนี้ จำเลยและกรรมการผู้มีอำนาจรวม 25 คน ได้เดินทางมาศาลตามนัด ขณะที่จำเลยที่ 15 ป่วย ศาลอนุญาตให้พิจารณาลับหลังจำเลยได้ ส่วนจำเลยที่ 3 และ 16 หลบหนี

ต่อมาทนายของนายบุญทรง จำเลยที่ 2 ได้นำนายซู จ้าวหมิง ทนายความบริษัทเอกชนในประเทศจีน ซึ่งได้รับว่าจ้างให้ตรวจสอบสัญญาการซื้อขายข้าวของบริษัท กวางตุ้ง จำกัด และบริษัท ไห่หนาน เกรน แอนด์ ออยล์ อินดัสเทรียล เทรดดิ้ง ขึ้นเบิกความเป็นพยานสรุปว่า หากรัฐบาลกลางจีนจะทำสัญญาซื้อขายระหว่างรัฐกับรัฐจะต้องทำในนามรัฐบาลกลางของจีน และถ้ารัฐบาลท้องถิ่นจีนเป็นผู้เจรจาเองก็ต้องทำในนามของรัฐบาลท้องถิ่น แต่เมื่อปี 2546 หลังจากจีนปฏิรูปประเทศออกกฎหมายและออกกฎระเบียบชั่วคราวการนำเข้าสินค้าเพื่อการเกษตรฯ ถือเป็นการทำลายกำแพงกั้นผูกขาดและการควบคุมการซื้อขายทั้งหมด ทำให้ทุกบริษัทมีสิทธิ์เท่าเทียมกันในการขอโควตาจากรัฐบาลกลางจีนเพื่อซื้อขายสินค้าจากต่างประเทศ โดยสามารถเดินทางมาเซ็นสัญญาซื้อขายได้ด้วยตัวเอง ขณะที่รัฐบาลกลางจีนก็ยังมอบอำนาจให้ผู้แทนหรือรัฐบาลท้องถิ่นจีน หรือบริษัทรัฐวิสาหกิจเป็นผู้เจรจาซื้อขายแทน ดังนั้น การที่บริษัทกวางตุ้งฯ และบริษัทไห่หนานฯ ซึ่งเป็นบริษัทท้องถิ่นจีนจะเลือกเซ็นสัญญาซื้อขายข้าวกับรัฐบาลไทยเองก็ได้ ขอแค่กลับไปรายงานรัฐบาลท้องถิ่นเท่านั้น เพราะรัฐบาลท้องถิ่นได้รับอนุญาตจากรัฐบาลกลางของจีนเรียบร้อยแล้ว

นายซู กล่าวอีกว่า ส่วนที่บริษัทกวางตุ้งฯ และบริษัทไห่หนานฯ ได้รับโควตาจากรัฐบาลกลางจีนในการซื้อขายข้าวกับรัฐบาลไทยก่อนเซ็นสัญญาหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เพราะได้รับมอบหมายจากนายบุญทรงให้ตรวจสอบเฉพาะข้อกฎหมายว่าบริษัท 2 แห่งนี้สามารถทำสัญญาซื้อขายข้าวกับรัฐบาลต่างประเทศได้หรือไม่เท่านั้น แต่หากรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทใดเจรจาซื้อขายข้าวกับรัฐบาลต่างประเทศโดยไม่มีอำนาจ เนื่องจากดำเนินธุรกิจไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท กระทรวงพาณิชย์จีนจะเรียกบริษัทไปจดทะเบียนเพิ่มเติม หรือจดทะเบียนย้อนหลัง ส่วนที่บริษัทกวางตุ้งฯ ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเพียง 12.4 ล้านหยวน แต่เซ็นสัญญาซื้อขายที่มูลค่า 1,000 ล้านหยวนก็สามารถทำได้ เพราะรัฐบาลกลางจีนมีนโยบายเปิดประตูเศรษฐกิจโลก ซึ่งบริษัทกวางตุ้งฯ สามารถกู้ยืมเงินหรือขอให้บริษัทในเครือรับรองได้ และหากไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้บริษัทต้องรับผิดชอบ โดยไม่สามารถตอบได้ว่าถ้าบริษัทไม่สามารถชดใช้ได้ รัฐบาลกลางจีนจะร่วมชดใช้แทนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบว่าบริษัท 2 แห่งนี้เซ็นสัญญาซื้อขายข้าวในนามของรัฐบาลกลางจีนหรือไม่

หลังจากพยานดังกล่าวเบิกความเสร็จ ทนายจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายเอกชนได้นำพยานซึ่งเป็นผู้ลงนามรับข้าวจากโรงสีเอกชน ขึ้นเบิกความอีก 2 ปาก โดยพยานยอมรับว่า ถูกว่าจ้างให้เดินทางไปลงนามรับข้าวขาวจากโรงสีเอกชน แต่ไม่ทราบว่าทางโรงสีขนข้าวไปเก็บรักษาไว้ที่ใด

ภายหลังศาลไต่สวนพยานจำเลย 3 ปากสุดท้ายเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยไม่ติดใจไต่สวนพยานอื่นอีก ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 25 ส.ค. เวลา 09.00 น. ส่วนที่นายบุญทรง จำเลยที่ 2 กับจำเลย ที่ 4 -5 ขอศาลแถลงปิดคดีด้วยวาจานั้น ศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็น ให้ส่งคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร จะละเอียดกว่า โดยศาลให้คู่ความยื่นคำแถลงปิดคดีส่งให้ศาลภายในวันที่ 15 ส.ค.นี้ หากไม่ส่งตามกำหนดถือว่าไม่ติดใจ ทั้งนี้ นายธนฤกษ์ นิติเศรณี รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ยังกำชับทนายความด้วยว่า ในวันฟังคำพิพากษา ขอให้จำเลยทุกคนมาศาลตามนัด

ด้านนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 2 กล่าวว่า มีความมั่นใจพยานหลักฐาน เราต่อสู้ในทุกประเด็น คงจะได้รับความเป็นธรรม ส่วนการบังคับคดีอายัดทรัพย์ในทางแพ่ง เป็นกระบวนการที่เราอยู่ระหว่างยื่นฟ้องศาลปกครอง

3."ชาญชัย" ฟ้องผู้บริหาร ทอท.-คิงเพาเวอร์ ฐานร่วมกันทุจริต ขอให้ริบทรัพย์ 1.4 หมื่นล้านคืนแผ่นดิน!
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นฟ้องผู้บริหาร ทอท.และคิงเพาเวอร์ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นฟ้องผู้บริหารบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และผู้บริหารบริษัท คิงเพาเวอร์ รวม 18 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นกรรมการหรือผู้บริหารไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ จนทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย หรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับผลประโยชน์จากการทุจริต และเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของบริษัทแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

นายชาญชัยกล่าวว่า มายื่นฟ้อง 1 ใน 5 ประเด็นที่เคยแถลงข่าวไป เป็นประเด็นเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ โดยฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐรวม 14 คน เอกชนกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ 3 บริษัท และกรรมการผู้มีอำนาจรวม 18 คน โดยผู้ถูกฟ้องมีผู้บัญชาการทหารอากาศคนปัจจุบันรวมอยู่ด้วย โดยขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองเสนาธิการทหารอากาศ อยู่ในคณะกรรมการที่ไปอนุมัติตามที่สัญญาเขียนให้ ทอท.กับคิงเพาเวอร์เก็บรายได้เข้ารัฐ 15% จากยอดการขายสินค้าที่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่คณะกรรมการอนุมัติให้เก็บเพียง 3% ซึ่งไม่มีอำนาจทำ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐมูลค่ากว่า 14,000 ล้านบาท จึงฟ้องขอให้ศาลพิจารณาลงโทษผู้กระทำผิด และสั่งรับเงินจำนวนดังกล่าวเข้าแผ่นดินทั้งหมด ซึ่งกรณีนี้ถือว่าเป็นความเสียหายต่อรัฐที่รุนแรงมาก

ทั้งนี้ ศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณา และนัดฟังคำสั่งว่า จะรับคดีไว้เพื่อพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ เวลา 09.00 น. เป็นที่น่าสังเกตว่า ในบัญชีพยานโจทก์ที่นายชาญชัยจะนำเข้าไต่สวนทั้งหมด 83 คน มีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ด้วย โดยอยู่ในอันดับที่ 2

4.“หมอเลี้ยบ” ออกจากคุกแล้ว หลังเข้าเกณฑ์พักโทษคดีแก้สัมปทานเอื้อชินคอร์ป แต่ให้รายงานตัวจนกว่าจะครบกำหนดโทษ 25 ส.ค.นี้!
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. นายกฤช กระแสร์ทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เผยว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้รับเอกสารการปล่อยตัว นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เนื่องจากได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ ตามเงื่อนไขนักโทษชั้นเยี่ยม ที่จะได้รับการพิจารณาลดวันต้องโทษและพักการลงโทษตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ เมื่อเอกสารมาถึงเรือนจำ เจ้าหน้าที่ได้ตรวจเอกสารตามขั้นตอน และปล่อยตัว นพ.สุรพงษ์ ออกไปจากเรือนจำเมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา

นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา คณะพิจารณาพักการลงโทษของกรมราชทัณฑ์ ได้พิจารณาการพักโทษผู้ต้องขัง ที่เข้าหลักเกณฑ์การพักโทษ โดยในจำนวนดังกล่าวมี นพ.สุรพงษ์ ได้รับการพิจารณาพักโทษด้วย เนื่องจากถูกศาลตัดสินจำคุก 1 ปี และประพฤติตัวดี จนถูกจัดอยู่ในผู้ต้องขังชั้นเยี่ยม โดยคณะกรรมการให้สิทธิลดวันต้องโทษ 1 ใน 5 ซึ่งกรณีของ นพ.สุรพงษ์ ได้รับการลดวันต้องโทษไป 2 เดือน แต่หลังจากได้รับการปล่อยตัวตามเงื่อนไขได้รับการพักโทษของกรมราชทัณฑ์แล้ว นพ.สุรพงษ์ จะต้องไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติ ในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ และปฏิบัติตัวตามเงื่อนไขที่กำหนด จนกว่าจะครบกำหนดโทษที่ศาลสั่งจำคุก ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 25 ส.ค. นี้

สำหรับคดีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี้ยบ อายุ 59 ปี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร กรณีแก้ไขสัมปทานดาวเทียมเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น หรือชินคอร์ป ของนายทักษิณ ชินวัตร ต่อมาศาลฎีกาฯ ได้พิพากษาจำคุก นพ.สุรพงษ์ เป็นเวลา 1 ปี ไม่รอลงอาญา

5.ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุกแนวร่วม นปช.และพวก 4 ปี คดีวางระเบิดพรรคภูมิใจไทย!
(บน) โฉมหน้าจำเลยคดีวางระเบิดพรรคภูมิใจไทย (ล่าง) สภาพที่เกิดเหตุระเบิด
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้องนายเดชพล พุทธจง, นายกำพล คำคง, นายกอบชัย หรืออ้าย บุญปลอด, นางวริศรียา หรืออ้อ บุญสม และนายสุริยา หรืออ้วน ภูมิวงษ์ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันทำวัตถุระเบิด มีวัตถุระเบิดที่ออกใบอนุญาตไม่ได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พกพาอาวุธ(วัตถุระเบิด)ไปในเมือง โดยไม่มีเหตุสมควร และกระทำให้เกิดระเบิดฯ ตามความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 4, 38, 74 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218, 221, 222, 371

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ในช่วงต้นเดือน มิ.ย.-22 มิ.ย.2553 จำเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันผลิตและร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่ทำขึ้น โดยร่วมกับนายเอนก สิงขุนทด เป็นผู้เข็นรถผลไม้ที่ซุกซ่อนระเบิดไว้ในถังแก๊ส เข็นผ่านไปทางด้านหลังของอาคารที่ทำการพรรคภูมิใจไทย ใกล้ซอยพหลโยธิน 43 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม.จนเกิดระเบิดขึ้น เป็นเหตุให้ผนังด้านหลังอาคารพรรคภูมิใจไทยแตกเสียหาย เพิงโรงเรือนร้านค้าขายอาหารตามสั่ง รถยนต์ เสียหาย และนายเอนก สิงขุนทด ตาบอดทั้งสองข้างจากเหตุระเบิดดังกล่าว

ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1-3 คนละ 6 ปี 8 เดือน ส่วนจำเลยที่ 5 จำคุก 3 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 4 ยกฟ้อง

ต่อมา ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำคุกจำเลยที่ 1-4 คนละ 4 ปี ส่วนจำเลยที่ 5 จำคุก 2 ปี 8 เดือน สำหรับนายสุริยา จำเลยที่ 5 อยู่ระหว่างหลบหนีและศาลได้ออกหมายจับ แต่ยังไม่สามารถติดตามตัวมาฟังคำพิพากษาได้ ส่วนนายเอนก สิงขุนทด ซึ่งเป็นคนเข็นรถขายผลไม้ซุกซ่อนระเบิด อัยการได้แยกฟ้องเป็นคดีไปก่อนหน้านี้ ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาลงโทษจำคุก 27 ปี 6 เดือน และปรับ 50 บาท ไปเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2559

เมื่อถึงกำหนดที่ศาลนัดคำพิพากษาศาลฎีกา นางวริศรียาซึ่งได้ประกันตัวไประหว่างฎีกา ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมด้วยทนายความและคนใกล้ชิด ทั้งนี้ ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า ที่นางวริศรียา จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธณ์ลงโทษเป็นเพียงพยานบอกเล่าซัดทอดที่ไม่สามารถรับฟังได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การรับฟังพยานบอกเล่าที่ซัดทอดที่จำเลยอ้างว่าตามกฎหมายห้ามไม่ให้รับฟังนั้น แต่ก็ไม่ได้ห้ามโดยเด็ดขาดโดยศาลสามารถที่จะรับฟังประกอบกับสภาพแวดล้อมข้อเท็จจริง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว จำเลยที่ 1, 2, 5 ให้การหลังถูกจับกุมเพียง 2 วัน ซึ่งยากต่อการปรุงสรรแต่งเรื่องราว และคำให้การที่กล่าวเป็นการบอกเล่าถึงข้อมูลเหตุการณ์การกระทำผิด ซึ่งศาลสามารถที่จะรับฟังและนำไปพิจารณาประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ ไม่ได้เป็นการเชื่อคำซัดทอดเพียงอย่างเดียว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลย ที่ 1, 3, 5 และนายเอนก คนเข็นรถผลไม้ที่บรรทุกระเบิด ให้การสอดคล้องต้องกันได้ความว่า มีการประกอบวัตุระเบิดกันที่บ้านของจำเลยที่ 4 แม้จำเลยที่ 4 จะมีบ้านอีกหลังแต่พบว่าบ้านหลังดังกล่าวมีพื้นที่ไม่ไกลกัน จึงไม่เชื่อว่าจำเลยจะไม่มีส่วนรู้เห็นว่ามีการประกอบวัตถุระเบิดที่บ้านของจำเลย

ส่วนที่จำเลยที่ 4 อ้างว่า จำเลยที่ 4 ไม่ใช่สมาชิกแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เป็นเพียงเจ้าหน้าที่มูลนิธิพรรคเพื่อไทยและในคอมพิวเตอร์ของจำเลยก็ไม่มีสูตรการทำระเบิด เห็นว่าข้อเท็จจริงที่อ้างดังกล่าวเป็นเพียงข้อรู้เห็นของจำเลยเพียงคนเดียวและข้อมูลในการกระทำผิดจำเลยยิ่งต้องมีการระวังโดยการลบหรือต้องทำลาย และเมื่อพิจารณาถึงการกระทำที่สอดคล้องต้องกัน เห็นว่าฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

6.“วิลาสินี” คว้าชัย ผอ.ไทยพีบีเอส แต่ส่อเค้ามีปัญหา ทั้งในแง่กระบวนการ-จริยธรรมผู้เข้ารอบ!
(ซ้ายบน) รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล (ซ้ายล่าง) นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ (ขวา) รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
หลังจาก ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการไทยพีบีเอส เพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีนำเงินไทยพีบีเอสซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ จนถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ได้มีมติเลือก รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล เป็นผู้อำนวยการไทยพีบีเอสคนใหม่แล้ว

ทั้งนี้ ไทยพีบีเอสได้ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อรับการสรรหาเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ระหว่างวันที่ 5 เม.ย. - 4 พ.ค. 2560 และขยายเวลารับสมัครออกไปถึงวันที่ 2 มิ.ย. 2560 โดยมีผู้สมัครทั้งสิ้น 9 ราย และยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ถอนตัว 2 ราย คงเหลือผู้สมัครเข้าแสดงวิสัยทัศน์ และรับการสัมภาษณ์ทั้งสิ้น 7 รายเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้แก่ นายอนุสรณ์ ศิริชาติ, นายพัชระ สารพิมพา, นายสุพจ จริงจิตร, นายวุฒิกร ทิวะศศิธร, นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ, นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ และ รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล

สำหรับผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาเพื่อเสนอรายชื่อให้คณะกรรมการนโยบายคัดเลือกรอบสุดท้าย 2 คน คือ นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล อดีตรองผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ยุค ทพ.กฤษดา ผลปรากฏว่า รศ.ดร.วิลาสินีได้รับเลือกด้วยคะแนน 2 ใน 3 ของผู้เข้าร่วมประชุม อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ในการคัดเลือกครั้งนี้ มีกรรมการนโยบาย 2 คน ที่เข้าร่วมประชุม แต่ไม่ร่วมคัดเลือก ผอ.ไทยพีบีเอสคนใหม่ โดยให้เหตุผลว่าการสรรหาไม่ถูกต้อง

โดย รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม ส.ส.ท. ซึ่งเป็น 1 ในผู้ที่เข้าร่วมประชุม แต่ไม่ร่วมคัดเลือก ผอ.ไทยพีบีเอสคนใหม่ ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า ตนมีเหตุผลที่ไม่ร่วมคัดเลือก 3 ประการ คือ จากการสอบถามนายแก้วสรร อติโพธิ ซึ่งเป็นกรรมการธรรมาภิบาล เรื่องกระบวนการสรรหา ได้รับแจ้งว่า กระบวนการน่าจะไม่ถูกต้อง เพราะแทนที่จะใช้วิธีพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครแต่ละคนว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่ แล้วส่งให้คณะกรรมการนโยบายคัดเลือกอีกครั้ง กลับใช้วิธีให้คณะกรรมการแต่ละคนเลือกผู้สมัครได้ 2 คนที่คะแนนสูงสุดเข้ารอบ ซึ่งอาจเข้าข่ายว่าเป็นการตัดสิทธิคนอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้นายณัฐวัฒน์ อริย์ธัชโภคิน กรรมการธรรมาภิบาลอีกคนซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายก็เห็นด้วย นอกจากนี้นายพิพัทธ์ ชนะสงคราม กรรมการนโยบายอีกคนซึ่งไม่ร่วมคัดเลือก ผอ.ไทยพีบีเอสคนใหม่ ก็เห็นตรงกับตนว่าการคัดผู้สมัครมาแค่ 2 คนน่าจะน้อยเกินไป และกรรมการสรรหาควรมีรายละเอียดให้คณะกรรมการนโยบายมากกว่านี้

รศ.ดร.ณรงค์ ยังกล่าวด้วยว่า ผู้สมัครที่เข้ารอบทั้งสองคนดังกล่าวยังมีความเสี่ยงเรื่องจริยธรรมด้วยตามข้อกำหนดของ ส.ส.ท.ที่ระบุไว้ว่า ผู้บริหารจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับอย่างเคร่งครัด แต่นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ยังมีคดีที่ต้องพิสูจน์ในศาล ขณะที่ รศ.ดร.วิลาสินี ก็มีเรื่องที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) สั่งให้ตรวจสอบการซื้อหุ้นกู้ของไทยพีบีเอสว่า ทำผิดระเบียบการจ่ายเงิน ซึ่ง รศ.วิลาสินีร่วมลงนามเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น