xs
xsm
sm
md
lg

“ทีมฝนหลวง” เจ๋งคว้าที่ 1 ประกวดหุ่นยนต์ RDC2017 ได้ไปแข่งต่อที่จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

00 1  ดร. จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)
เอ็มเทค / สวทช. เปิดเวทีฉลอง 10 ปี ให้เด็กไทยโชว์ทักษะการสร้างหุ่นยนต์ในหัวข้อ “รัชกาลที่ ๙ กับการเกษตร” น้อมนำแนวพระราชดำริเกษตรยั่งยืนสู่สนาม “การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย (RDC2017)” หาตัวแทนเด็กไทยร่วมแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ จัด “การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 10” (Robot Design Contest 2017, RDC2017) รอบชิงชนะเลิศ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ทักษะความสามารถของเยาวชนไทยด้านการศึกษาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อเฟ้นหาเยาวชนตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันระดับนานาชาติ IDC RoBoCon 2017 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 6 - 19 สิงหาคมนี้ ซึ่ง Zhejiang University เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันต่อไป

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการเอ็มเทค ในฐานะประธานจัดการแข่งขัน กล่าวถึงการแข่งขันฯ ว่า ปัจจุบันหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางในทุกภาคอุตสาหกรรม เอ็มเทค จึงได้ใช้เวทีการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์นี้ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 10 เพื่อเปิดโอกาสและกระตุ้นให้เยาวชนไทยได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์มากขึ้น ผู้เข้าแข่งขันจะได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะด้านการสร้างและออกแบบหุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรม และเรียนรู้การทำงานเป็นทีมตลอดจนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะช่วยสร้างและผลักดันให้เกิดบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีคุณภาพและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคต

สำหรับปีนี้เราจัดในหัวข้อ “รัชกาลที่ ๙ กับการเกษตร” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานแนวทางการจัดการเกษตรทฤษฎีใหม่ให้กับเกษตรกรไทย โดยการเลือกจัดสรรพื้นที่ทำเกษตรอย่างเหมาะสม มีทั้งส่วนเพาะปลูกเพื่อการบริโภคและจำหน่าย ส่วนที่อยู่อาศัยและการเลี้ยงสัตว์ ส่วนกักเก็บน้ำเพื่อการใช้ภายในไร่นา ทำให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ ลดค่าใช้จ่าย เกื้อหนุนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี และยังนำของเสีย หรือมูลของสัตว์กลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งในรูปของปุ๋ย อาหารเลี้ยงสัตว์ และพลังงาน ผู้จัดฯ จึงคิดโจทย์ให้ผู้แข่งขันได้ระดมทักษะความสามารถมาใช้ในการสร้างหุ่นยนต์ที่มีประสิทธิภาพและช่วยส่งเสริมการเกษตรได้”

ด้าน ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกฎกติกาการแข่งขันในปีนี้ ว่า ได้จำลองปัญหาการเกษตรแบบพื้นที่ราบสูงจาก จ.น่านมาเป็นสนามแข่งขัน ซึ่งพื้นที่จะมีทั้งพื้นราบและราบสูงเชิงเขามีปัญหาเรื่องการขนส่งน้ำขึ้นไปทำการเพาะปลูก โดยปีนี้ผู้จัดฯ ได้พานักศึกษาไปสัมผัสพื้นที่จริงมาเพื่อนำมาเป็นพื้นฐานในการออกแบบหุ่นยนต์ ให้อิสระในการทำงานจึงไม่มีการกำหนดขนาดและจำนวนของหุ่นยนต์ในแต่ละทีม เพื่อจะได้ออกแบบให้เหมาะกับภารกิจต่างๆ โดยทุกทีมมีเวลาแข่งขันเพียง150 วินาที ที่จะต้องบังคับหุ่นยนต์ให้ไปกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกรวม 10 ต้น ก่อนจะลงมือปลูกต้นกล้าทั้งบนพื้นราบและเนินสูงอย่างน้อย 20 ต้น และต้องขนลูกปิงปองที่เป็นตัวแทนของน้ำจำนวนต้องสัมพันธ์กับต้นกล้าที่ปลูก ขึ้นไปเก็บไว้บนพื้นที่ด้านบนของสนามซึ่งจำลองเป็นสระกักเก็บน้ำ จากนั้นทำปุ๋ยหมักจากวัชพืชที่ถอนทิ้งร่วมกับมูลวัวที่อยู่ในส่วนเลี้ยงสัตว์จึงจะเกิดคะแนน นอกจากนั้นอาจทำ Bingo เพื่อชัยชนะได้ด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อการแข่งขันเสร็จสิ้น ปรากฏทีมผู้ชนะเลิศการแข่งขัน RDC 2017 ได้แก่ “ทีมฝนหลวง” ประกอบไปด้วย นายวิวัฒน์ ศิลารักษ์ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล นายธัญญรัตน์ หงษ์คงคา จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร นางสาวฐิติมา สุขจิตร จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม นายมาซูวัน ดือเระ จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ นายสุทิวัส ญาณชโลทร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งหมดจะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วม “การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ หรือ IDC RoBoCon 2017” ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 6 - 19 สิงหาคม นี้ โดยมีประเทศที่เข้าร่วม คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ อียิปต์ เม็กซิโก และ ประเทศไทย

ด้าน นายธัญญรัตน์ หงษ์คงคา จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ตัวแทนทีมผู้ชนะ กล่าวถึงชัยชนะในครั้งนี้ ว่า ดีใจมากที่ชนะเพราะการทำงานครั้งนี้ค่อนข้างหนักและเครียดกันมาก ปัญหาติดขัดก็มีบ้าง ซึ่งก็ค่อยๆ ช่วยกันวางแผน ส่วนเทคนิคที่คิดว่าทำให้ทีมเราชนะนั้น ตนคิดว่า อยู่ที่คนบังคับ และ การวางหุ่นในแต่ละแพตเทิร์น เราต้องคิดให้ดีก่อนว่า เราวางหุ่นแบบนี้จะมีประโยชน์อย่างไรให้ทำได้ง่าย เก็บได้เยอะ และเร็วที่สุด “สำหรับการไปแข่งขันที่จีนในเดือนสิงหาคมนี้ ผมคิดว่าคงเตรียมตัวทั้งในเรื่องภาษาอังกฤษ และทำการบ้านเรื่องแมคคานิกส์ที่เราจะใช้ในการสร้างหุ่น ที่จะช่วยซับพอร์ตทุกคนในทีมให้ได้ดีที่สุด และผมจะพยายามเรียนเทคนิคของเพื่อนต่างชาติเพื่อนำมาประยุกต์สำหรับการเรียนออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ต่อไปในอนาคต ก็ฝากเพื่อนๆ คนไทยช่วยกันเชียร์พวกเราด้วยนะครับ”นายธัญญรัตน์ กล่าว
002  ดร.สุรัช ขวัญเมือง

ทีมฝนหลวง ผู้ชนะการแข่งขัน RDC2017

ทีมหญ้าแฝก ผู้ชนะรางวัล Best Design Award
 เวทีการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ RDC2017

กำลังโหลดความคิดเห็น