กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออกโรงเตือนแฟชั่นเลี้ยงชะมดขาย “กาแฟขี้ชะมด” มีสิทธิ์ติดคุกไม่รู้ตัว เพราะทั้งชะมดและอีเห็น มีทั้งสัตว์ป่าคุ้มครองและไม่คุ้มครอง เผย อัตราโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 4 หมื่น จำคุกไม่เกิน 4 ปี ส่วนพวกเข้าข่ายทารุณไม่ดูแลเอาใจใส่ต้องเจอดีเช่นกัน แนะหากไม่แน่ใจให้สอบถามมายังสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า
ธุรกิจขายเมล็ดกาแฟ ลงไปจนถึงเครื่องดื่มกาแฟชนิดต่างๆ หลากหลายรสนิยมยังกลายเป็นเทรนยอดฮิตของคนรุ่นใหม่ที่มุ่งเข้ามาประกอบเป็นอาชีพ ล่าสุด กระแสโซเชียลกำลังให้ความสนใจกิจการ “บลูโกลด์ คอฟฟี่” ร้านกาแฟระดับพรีเมียมของ นายเกียรติศักดิ์ คำวงษา นักศึกษาปริญญาตรีจบมาหมาดๆจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และยังมีไร่กาแฟตั้งอยู่ ต.โพนจาน อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ในพื้นที่กว่า 200 ไร่ พร้อมต้นกาแฟ “โรบัสต้า” นับพันต้นมาปลูก เพื่อรองรับธุรกิจร้านกาแฟในกรุงเทพฯ อีกทั้งเตรียมขยายสาขาและส่งออกไปยังเกาหลี อังกฤษ เนื่องจากทางไร่มีเมล็ดกาแฟสูตรพิเศษอันเป็นที่ต้องการของบรรดาคอกาแฟ ทั่วโลกนั่นคือ “กาแฟขี้ชะมด”
นายเกียรติศักดิ์ หรือ น้องเฟลม เล่าว่า ต้นพันธุ์กาแฟโรบัสต้า นำมาจาก จ.เลย สามารถเติบโตในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากกระแสกาแฟขี้ชะมดมาแรง ได้ราคาดี จึงทดลองทำฟาร์มเลี้ยงชะมดเพื่อผลิตกาแฟขี้ชะมด ปัจจุบันมีราคาตกกิโลกรัมละ 2 - 3 หมื่นบาท ผลิตเท่าไหร่มีลูกค้าซื้อหมด ส่วนที่เป็นกาแฟชงขายราคาแก้วละ 400 - 500 บาท ก็มีลูกค้านิยมดื่มเช่นกัน ซึ่งผลพวงจากการเลี้ยงชะมดยังมี “ไขชะมด” ซึ่งเหมาะนำมาทำสบู่ หรือเครื่องสำอางอยู่ระหว่างแนะนำสินค้าน่าจะเป็นรายได้ที่ดีอีกทางหนึ่ง
“เราศึกษามาแล้วว่าชะมดเป็นสัตว์ป่าชนิดหนึ่งสามารถนำมาเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์โดยไม่ผิดกฎหมาย” ตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์สื่อออนไลน์ นายเกียรติศักดิ์ ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน
ย้อนกลับไปดูรายงานคอลัมน์ Hot share ซึ่ง MGR ออนไลน์เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา ข่าวพาดหัว “เปิดเบื้องหลังกาแฟขี้ชะมดสุดโหด อีเห็น ถูกจับขังกรงเอาขี้เครียดจัดตายอนาถ” มีผู้สนใจติดตามจำนวนมาก โดยมีรายละเอียดจากการโพสต์ข้อความของ ดีเจ ปูเป้ ภาธีตา กันตามระ ตีแผ่เบื้องหลังกาแฟขี้ชะมด ว่า สำนักข่าว BBC ได้ปลอมตัวลงพื้นที่ฟาร์มต่างๆ ซึ่งมิได้ระบุว่า อยู่ในประเทศไทย หรือประเทศเพื่อนบ้าน ได้นำอีเห็น มาขังไว้ในกรงและขุนอาหาร เน้นเมล็ดกาแฟเป็นส่วนใหญ่ มีการเร่งเอาอุจจาระเพื่อนำไปขาย จนเกิดความเครียด มีภาพให้เห็นบาดแผลต่างๆ ที่เกิดจากการเลี้ยงดูอย่างตามมีตามเกิด และบางตัวทนไม่ไหวต้องล้มตายไปอย่างน่าอนาถ
วันนี้ (20 มิ.ย.) ทีมข่าว Hot share สอบถามไปยัง นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถึงประเด็นที่ว่า ชะมดเป็นสัตว์ป่าที่สามารถนำมาเลี้ยงเพาะพันธุ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการทารุณสัตว์ ได้รับการชี้แจงว่า ชะมด และ อีเห็น มีด้วยกันหลายชนิด มีทั้งอยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าคุ้มครอง และไม่ใช่สัตว์ป่าคุ้มครอง แบ่งเป็นดังนี้ 1. ชะมดเช็ด หรือ ชะมดเชียง 2. ชะมดน้ำ หรือ อีเห็น 3. ชะมดแผงสันหางดำ 4. ชะมดแผงหางปล้อง 5. อีเห็นลายเมฆ หรือ ชะมดแปลงลายแถบ 6. อีเห็นลายเสือ หรือ ชะมดแปลงลายจุด 7. อีเห็นลายเสือโคร่ง หรือ อีเห็นลายพาด ทั้งหมดนี้คือกลุ่มสัตว์ป่าคุ้มครอง ส่วนที่ไม่ใช่สัตว์ป่าคุ้มครองมี 3 ชนิด คือ อีเห็นหน้าขาว หรือ อีเห็นหูด่าง อีเห็นข้างลาย และ อีเห็นเครือ ดังนั้น ก่อนจะนำมาเลี้ยงหรือขยายพันธุ์ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯทราบทุกครั้ง
ส่วนการนำไปเลี้ยงและมีการกระทำเข้าข่ายทารุณสัตว์นั้น อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า มีความผิดตามกฎหมายอย่างแน่นอน โดยอัตราโทษปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท จำคุกไม่เกิน 4 ปี เพียงแต่ว่า ตอนนี้ฟาร์มต่างๆ ยังเป็นลักษณะปิด ไม่มีข้อมูลชัดเจน หากประชาชนมีเบาะแสสามารถแจ้งมายังกรมอุทยานฯได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม จากข่าวที่นำเสนอไปก่อนหน้าถึงการให้อาหารที่ไม่ถูกต้อง จนชะมดต้องล้มตายเพราะความเครียดนั้น อยากทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้เลี้ยงว่าชะมด หรือ อีเห็น ยังคงมีสัญชาตญาณของสัตว์ป่า การนำมาขังในที่แคบ ย่อมทำให้เขาเกิดความเครียดอยู่แล้ว และยิ่งให้เมล็ดกาแฟจำนวนมาก ก็จะไม่ได้สารอาหารพอเพียงกับร่างกาย อาหารของสัตว์พวกนี้ คือ ผัก ผลไม้ ส่วนเมล็ดกาแฟแค่ส่วนประกอบเท่านั้น และยังสร้างปัญหากับระบบขับถ่าย เพราะไม่ย่อย หากใครอยากทราบรายละเอียดหรือต้องการคำแนะนำสามารถติดต่อได้ที่ นายบัญญัติ ฉายอรุณ ผอ.ส่วนคุ้มครองสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ที่กรมอุทยานฯ ในเวลาราชการได้ทุกวัน