โดย สุทธิดา มะลิแก้ว
‘École Nouvelle de la Suisse Romande’ คือชื่อโรงเรียนแห่งหนึ่งที่อยู่ในเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นโรงเรียนเอกชนที่มีนักเรียนท้องถิ่นสวิสไปเรียนที่นั่นและเป็นโรงเรียนประจำสำหรับนักเรียนต่างชาติที่มาจากประเทศต่างๆด้วย โรงเรียนนี้คงจะไม่น่าอะไรที่เป็นเรื่องสลักสำคัญแต่อย่างใดกับคนไทยที่อยู่ห่างไกลกันนับหมื่นกิโลเมตรเช่นนี้
ทว่า ความไกลนี้กลับไม่ใช่อุปสรรคสำหรับใครต่อใครอีกต่อไป ตรงกันข้ามกลับรู้สึกว่าโรงเรียนแห่งนี้มีความใกล้ชิดและมีความสำคัญยิ่งต่อจิตใจคนไทยเมื่อรับรู้ว่า ณ. โรงเรียนพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยเคยศึกษาที่นี่ ดังนั้น หากใครก็ตามที่ได้มาที่สวิตเซอร์แลนด์ไม่มากก็น้อยที่จะย้อนรำลึกไปให้เห็นเรื่องราวในอดีตขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ณ. โรงเรียนแห่งนี้
“ โรงเรียนแห่งนี้ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1906 ที่ตั้งชื่อว่า Ecole Nouvelle เพราะ Nouvelle แปลว่าใหม่ ซึ่งหมายถึงมีแนวทางใหม่ในการเรียนการสอน มีการสอนทั้งนอกห้องเรียนและในห้องเรียนซึ่งแตกต่างไปจากการสอนแบบดั้งเดิม” ลีซองดร์ เซ. เซไรดารีส์ เริ่มต้นกล่าวถึงโรงเรียนแห่งนี้ ให้ฟังในโอกาสที่ทีมผู้สื่อข่าวจากไทยไปเยือน เอกอล นูแวล เดอ ลา ซูอิส โรมองด์ ซึ่งคำแปลเต็มๆของชื่อโรงเรียนนี้คือ โรงเรียนใหม่แห่งภาคสวิตเซอร์แลนด์ ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส
ลีซองดร์ เซไรดารีส์ เป็นผู้รวบรวมบันทึกความทรงจำของ “เกลย์อง เซ.เซไดดารีส์”ผู้เป็นพ่อซึ่งครูส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่อานันทมหิดลและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 แห่งราชจักรีวงศ์ ที่มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ชื่อว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 และเจ้านายไทยในโลซาน “ (King Bhumibol and the Thai Royal Family in Lausanne) ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้พบกับบุคคลผู้เป็นต้นเรื่องคือครูเกลย์อง แต่ก็ต้องถือว่าเป็นเกียรติและเป็นเรื่องน่ายินดีที่เราจะได้รับรู้เรื่องราวของในหลวงทั้ง 2 พระองค์อีกครั้งจากผู้ที่ได้รับมรดกเรื่องราวทั้งหมดมาจากผู้เป็นพ่อซึ่งเคยได้ถวายงานใกล้ชิดตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์จนกระทั่งทรงครองราชย์ และถวายงานให้กับในหลวงรัชกาลที่ 9 นานถึง 26 ปี
“จากแนวทางใหม่นี้เองคนจากทั่วโลกก็อยากมาเรียนที่นี่ และการเรียนที่นี่จึงทำให้ได้มีเพื่อนจากทั่วโลกด้วย ส่วนไทยนั้น อันที่จริงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวเองก็มีพระวิสัยทัศน์กว้างไกล พระองค์ส่งเหล่าพระราชโอรสของพระองค์ออกไปทั่วโลกเพราะอยากให้รู้จักกับทั่วโลกซึ่งเป็นผลดีต่อการมีสัมพันธไมตรีต่อกันด้วย สำหรับพระมหากษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์นั้น ก่อนหน้าที่จะเข้ามาเรียนที่โรงเรียนนี้ ในปี 1932 พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ( พระยศขณะนั้นคือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ได้แนะนำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า หรือหม่อมสังวาลย์ในขณะนั้น) ให้หาโรงเรียนให้เจ้าฟ้าทั้ง 2 พระองค์ในยุโรป สมเด็จย่าได้เลือกสวิตเซอร์แลนด์เพราะเห็นว่ามีการศึกษาที่ดีสุดและปลอดการเมืองโลก” คุณเลีซองดร์กล่าวต่อ
แล้วชีวิตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทยทั้ง 2 พระองค์ ในสวิตเซอร์แลนด์ก็เริ่มต้นขึ้น
เดิมสมเด็จย่าอยู่ที่อพาร์ตเมนต์เลขที่ 16 ถนนทิสโซส์ ต่อมาย้ายเข้ามาอยุ่ในบ้านหลังใหม่และได้ตั้งชื่อว่าวิลล่า วัฒนา ตามพระนามของพระวัสสาอัยยิกาเจ้าผู้เป็นสมเด็จย่าของเจ้าฟ้าทั้ง 2 พระองค์และพระพี่นางเธอ และหาครูพิเศษมาสอนให้กับเจ้าฟ้าทั้ง 2 พระองค์
“ พ่อของผมได้รับการแนะนำให้มาเป็นครูพิเศษให้กับทั้ง 2 พระองค์ เนื่องจากพ่อของผมเคยเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ มาก่อนก็เลยแนะนำให้ทั้ง 2 พระองค์เรียนที่นี่ซึ่งสมเด็จย่าก็เห็นด้วย” ลีซองดร์ ได้เล่าถึงที่มาของการเข้ามาเรียนที่นี่
และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นเหตุผลสำคัญเช่นกันว่าทำไมคนไทยที่อยู่ห่างไกลจากสวิตเซอร์แลนด์มากมาย ที่มาถึงตอนนี้จึงมีความรู้สึกใกล้ชิดกับโรงเรียนนี้ ที่นี่เปรียบเสมือนที่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นเป้าหลอมให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ธ ผู้สถิตในดวงใจของไทยทั้งปวง ด้วยระบบการเรียนการสอนแบบธรรมชาติที่เรียกว่า “Natural Approach” และหลักการของโรงเรียกที่ว่า”เป็นโรงเรียนสำหรับทุกคนจากทุกภูมิภาค” และความใกล้ชิดระหว่างครูกับนักเรียน ทำให้นักเรียนที่นี่ ไม่โดดเดี่ยวแต่เรียนก็เรียนรู้ที่จะอยู่ได้ด้วยตนเอง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์ได้ศึกษาอยู่ที่นี่นานถึง 10 ปี คือ 1935-1945 ก่อนจะมีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป มุมมองการใช้ชีวิต ความคิด และ จิตใจที่เห็นแก่ประโยชน์ของราษฎรเป็นหลักและมีวิสัยทัศน์ที่มองเห็นการไกลเสมอที่มีในองค์ในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น น่าจะเกิดจากการหล่อหลอมด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่ การอบรมที่ดีจากพระราชมารดา การถวายการดูแลและสั่งสอนจากครูเกลย์อง และการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้อันพื้นฐานการศึกษาตั้งแต่เด็กที่นำไปต่อยอดทางความคิดได้ เนื่องจากในการศึกษาที่นั่นไม่ได้สอนวิชาการอย่างเดียวแต่สอนให้ใช้ชีวิต และสอนให้คิดได้เอง ผนวกกับการอบรมที่ดีจากพระมารดา
“เป็นการเรียนที่พระองค์เรียนรู้ว่าจะเรียนอย่างไร เรียนรู้ที่จะคิด” (learn how to learn and learn to think) ลีซองดร์ผู้เป็นลูกชายของครูกล่าว
การได้มาพบกับลีซองดร์ ผู้เป็นลูกชายผู้ที่ได้อ่านเรื่องราวบันทึกของพ่อที่มีถึงลูกศิษย์ทั้งสองคน และได้อ่านจดหมายที่เขียนถึงกันระหว่างครูกับศิษย์ทั้ง 2 รวมทั้งฟังเรื่องราวจากปากของผู้เป็นพ่อ แล้วได้นำเรื่องราวต่างๆมาถ่ายทอดให้ฟังต่อนั้นก็นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ทำให้เราได้รับรู้เรื่องราวของพระองค์เพิ่มขึ้น และไม่สงสัยเลยว่า ทำไม พระองค์จึงเป็นที่ภาคภูมิใจของชาวสวิตเซอร์แลนด์ โดยเฉพาะในคนที่ใกล้ชิดและคนที่ติดตามประวัติศาสตร์
“พ่อของผมบอกว่าชอบชีวิตในช่วงนั้นมากเพราะได้สอนเด็กนักเรียนที่ สมบูรณ์แบบมากทั้ง 2 คน และ เราเองก็รู้สึกเป็นเกียรติมากที่มีกษัตริย์ 2 พระองค์มาเรียนที่นี่” ลีซองดร์ เล่าถึงเรื่องที่รับรู้มา และสิ่งที่เรารับรู้จากการถ่ายทอดต่อของลีซองดร์ว่า ทั้ง 2 พระองค์มีความสามารถมากอันมีผลการเรียนเป็นที่ประจักษ์ที่โรงเรียน และทางโรงเรียนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างแท้จริง มีคำชมเชย รวมทั้ง ความภาคภูมิใจนี้ยังทำให้โรงเรียนได้จัดให้มีห้องที่เก็บผลงานหรือของที่ได้รับพระราชทานจากในหลวง ร.9 สิ่งของอื่นๆที่เป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีกับไทย นอกจากนั้นสิ่งที่พระองค์ได้ริเริ่มไว้ก็ยังคงมีถึงปัจจุบัน คือทาง Ecole Nouvelle ได้ส่งครูไปอบรมครูที่สอนภาษาฝรั่งเศสเป็นเวลา 2 เดือนที่พระราชวังไกลกังวล ผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้ประกาศนียบัตรด้วย
สิ่งที่พิเศษสุดที่เราได้รับรู้อีกเรื่องหนึ่งคือ คือเรื่องพระราชอัธยาศัยที่มีต่อผู้อื่น ที่แม้ว่าจะเป็นประมหากษัตริย์ที่มีพสกนิกรเทิดทูนไว้เหนือเกล้าแต่พระองค์ก็ยังเป็นอ่อนน้อมถ่อมตน รวมทั้งเป็นคนที่สำนึกบุญคุณของคนอื่นเป็นอย่างยิ่ง
“พระองค์ท่านเคยกล่าวขอบใจ และพระองค์ท่านกล่าวกับผมว่าท่านไม่เคยลืมที่พ่อผมได้อุทิศตนถวายงานอย่างซื่อสัตย์ ไม่เคยลืมที่พ่อผมทำให้ทั้งกับพระองค์และพี่ชาย ท่านบอกผมเช่นนี้” ลีซองดร์กล่าวด้วยน้ำเสียงเกือบจะเครือๆเล็กน้อย
ไม่เพียงแค่คนโรงเรียนนี้ แต่ชาวสวิสจำนวนไม่น้อยที่ทุกครั้งที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสวิตเซอร์แลนด์ก็พูดถึงและชื่นชมในพระปรีชาสามารถของในหลวง ร.9 หรือกล่าวถึงกษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์ที่เป็นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสวิตเซอร์แลนด์ ดังเช่น ในการกล่าวต้อนต้อนรับผู้สื่อข่าวไทยที่สถาบัน IHTTI สถาบันการการศึกษาด้านการบริหารการโรงแรมและออกแบบ แห่งมณฑลเนอชาแตล ( Neuchatel ) ตัวแทนที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับมณฑลเนอชาแตลยังได้หยิบยกเรื่องราวว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยพำนักอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ถึง 19 ปี ยังได้กล่าวถึงศาลาไทยทีสวิตเซอร์แลนด์ว่า ในหลวง ร.9 ได้พระราชทานให้เป็นของขวัญกับเมืองโลซานน์เพื่อเป็นที่ระลึกที่พระองค์ได้พำนักอยู่ที่อย่างมีความสุข ขึ้นมากล่าวเพื่อให้เห็นว่าไทยกับสวิตเซอร์แลนด์นั้นมีความใกล้ชิดกัน
แม้แต่คนที่อาจไม่เคยเกี่ยวข้องกับพระองค์เลย แต่หากได้มีโอกาสได้รับรู้เรื่องราว หรือคนที่อาจเคยถวายงานให้แม้เพียงเล็กน้อย เมื่อมาถึงวันนี้ล้วนพูดถึงพระองค์ท่านด้วยความชื่นชมและรู้สึกเป็นเกียรติอันสูงส่งที่มีโอกาสได้รับใช้พระองค์ท่าน แอนมารี ก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น
แอนมารี ธาลมานน์ ( Annemarie Thalmann) วัย 76 ปี เคยทำงานเป็นผู้ให้คำปรึกษา ( counselor) ให้กับนักเรียนที่สถาบัน Swiss Hotel Management School (SHMS) วิทยาเขต โคซ์ (Caux) และตอนนี้ก็ทำ part-time อยู่บ้าง ได้นั่งรอที่จะพบกับทีมผู้สื่อข่าวจากไทย แม้จะไม่เคยได้รับใช้พระองค์ท่านโดยตรงแต่เรื่องราวของพระองค์ท่านก็อยู่ในใจของแอนมารี เธอบอกว่า ดีใจมากที่ได้เจอและจะได้เล่าเรื่องราวของพระองค์ท่านว่าครั้งหนึ่งเคยเสด็จมาพำนักอยู่ที่นี่ เธอนำคณะผู้สื่อข่าวจากไทยเดินขึ้นเขาสูงไปยังสถานที่ที่ชื่อว่า Chalet de Caux ซึ่งเป็นบ้านพัก ที่เธอเล่าว่า สมเด็จพระศรีคนรินทราบรมราชชนนี หรือ หม่อมสังวาลย์ในขณะนั้น และพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์ในขณะยังทรงเป็นเจ้าฟ้าพระองค์น้อยได้เสด็จไปพำนักที่นั่นเป็นเวลา 1 ฤดูหนาวก่อนที่ พระเจ้าอยู่หัว ร.9 จะกลับไปเข้าโรงเรียนที่โลซานน์ เธอเล่าเรื่องพร้อมกับให้ชมภาพประกอบที่เธอบอกว่าเธอได้มาจากเพื่อน(รุ่นพี่) ของเธอที่เป็นพยาบาลและเคยถวายงานให้กับสมเด็จย่า
แม้ที่นี่อาจเป็นหนึ่งในสถานที่อีกหลายแห่งที่พระเจ้าอยู่หัวร. 9 ได้เสด็จไปอาจไม่ถูกบันทึกว่าเป็นสถานที่สำคัญ ทว่าสำหรับคนที่ชื่นชมหรือมีความศรัทธาในตัวพระองค์ท่านทุกสถานที่หากได้ติดตามไปจนเจอก็นับว่ามีค่ายิ่ง แอนมารีมีน้ำเสียงปลาบปลื้มยินดีที่จะได้ถ่ายทอดเรื่องนี้จริงๆ ราวกับว่าตนเองกำลังได้ถ่ายทอดเรื่องสำคัญที่สุดของชีวิตเธออยู่ รวมทั้งเธอยังได้บอกว่าเธอสนใจติดตามประวัติศาสตร์ไทยมาก
“ นอกเหนือจากคิงภูมิพลแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 5 น่าชื่นชมเป็นอย่างมากที่สามารถนำพาประเทศไทยให้ไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส และอังกฤษ ฉันรู้สึกภูมิใจแทนประเทศไทยที่เป็นเพียงประเดียวเท่านั้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รอดพ้นจากตกเป็นอาณานิคม แน่นอนว่าต้องมีการสูญเสียดินแดนบางส่วนเกิดขึ้นแต่ในสถานการณ์เช่นนั้นจำเป็นต้องตัดสินใจ และเป็นเพราะพระปรีชาสามารถและความเด็ดเดี่ยวของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นต้องตกเป็นอาณานิคมไปได้” แอนมารีกล่าวด้วยความชื่นชม
เธอบอกว่า รัชกาลที่ 5 คือผู้ที่ทำให้ประเทศไทยสามารถคงอยู่ได้ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีคุณูปการกับประเทศไทยมาก พระองค์ทำสิ่งต่างๆที่เป็นประโยชน์ให้ประเทศไทยแบบที่ไม่มีใครทำได้จริงๆ
“ฉันเสียดายอยู่อย่างหนึ่งว่าคิงอานันทะน่าจะมีพระชนม์ชีพที่ยืนยาวกว่านี้ เพราะเท่าที่อ่านประวัติ รวมทั้งคำสดุดีที่มหาวิทยาลัยเขียนรวมทั้งจากประวัติการเรียนที่โรงเรียน พระองค์ท่านเป็นที่มีความสามารถมากๆ นี่ฉันคิดไม่ออกเลยว่า หากคิงอานันทะและคิงภูมิพลได้อยู่ด้วยกันอย่างยาวนาน ประเทศไทยจะพัฒนาไปได้มากขนาดไหน” แอนมารีกล่าวซึ่งน้ำเสียงของเธอหมายความตามนั้นจริงๆ
ในการมาพบกับชาวสวิสแล้วได้ฟังสิ่งที่เขาพูดถึงหรือชื่นชมประเทศไทย สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ที่เลยกลางคนไปแล้ว ทุกคนล้วนพูดถึง คิง ภูมิพล ด้วยน้ำเสียงที่ชื่นชม ทำให้คิดได้ว่าพระองค์ท่านช่างเป็นมิ่งขวัญ ไม่ได้สถิตในใจราษฏรไทยเท่านั้น หากแต่ใครที่พบเห็นและใกล้ชิดก็มีพระองค์ท่านอยู่ในใจกันทั้งสิ้น ความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างไทยกับสวิตเซอร์แลนด์ที่แน่นแฟ้นยืนยาวมาทุกวันนี้ เราคงไม่อาจกล่าวเป็นอย่างอื่นได้เลยเลยนอกจากว่า เป็นด้วยพระบารมีและความดีงามที่พระองค์ได้เริ่มต้นเอาไว้นั่นเอง