xs
xsm
sm
md
lg

“เนชั่นสุดสัปดาห์” ฉบับสุดท้ายก่อนลาแผง “เทพชัย” ชี้ “พายุออนไลน์” เกินกำลังสื่อจะรับได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


MGR Online - เปิดเนื้อหา “เนชั่นสุดสัปดาห์” ฉบับสุดท้ายก่อนลาแผง “เทพชัย หย่อง” ระบุ ความเปลี่ยนแปลงไปสู่ออนไลน์ เกินกำลังที่จะรับได้ แต่ไม่ได้ยุติการรายงานและวิเคราะห์เหตุการณ์บ้านเมือง พบหลังจากนี้ย้ายไปตีพิมพ์ใน นสพ.คมชัดลึก และ เว็บไซต์

อ่านประกอบ : ลาแผงอีกราย! ยุติผลิต “เนชั่นสุดสัปดาห์” 2 มิ.ย. นี้ ฉบับสุดท้าย

วันนี้ (2 มิ.ย.) นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในการดูแลของบริษัท คมชัดลึก มีเดีย จำกัด ในเครือเนชั่น ได้ผลิตและวางแผงฉบับที่ 1305 เป็นฉบับสุดท้าย ถือเป็นการปิดตำนานนิตยสารวิเคราะห์ข่าวรายสัปดาห์ ที่โลดแล่นในวงการสิ่งพิมพ์ หลังจากจำหน่ายฉบับแรกเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2535 หรือเมื่อ 25 ปีก่อน โดยปกฉบับดังกล่าว พาดหัวว่า “อนิจลักษณะของการเมืองไทย (2535-2560)” พร้อมกับหน้าปกเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 วันที่ 12-18 มิถุนายน 2535 พาดหัวว่า “การกลับมาของอานันท์ ปันยารชุน”



เมื่ออ่านเรื่องจากปก พบว่า เป็นการลำดับเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ระบุว่า 25 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยได้ประสบวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลายครั้ง และมีการเปลี่ยนตัวละครระดับผู้นำหลายคน แต่ไม่เคยเปลี่ยนโครงสร้าง ไล่เรียงหัวข้อตั้งแต่ ม็อบรถเก๋ง-ม็อบมือถือ, ปฏิรูปการเมือง, มนต์รักประชานิยม, คนเสื้อเหลือง, คนเสื้อแดง และปรากฏการณ์นกหวีด เป็นต้น ซึ่งบทสรุปในตอนท้าย ก็คือ พลังประชาชนเดิมต่อสู้จากเผด็จการครอบครัว สู่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ตรงกันข้าม พลังประชาชนในรอบทศวรรษนี้ มีทั้งหนุน และต้านอำนาจเผด็จการ แม้ได้ความสงบ ไม่วุ่นวาย ไม่มีม็อบ แต่การทำมาหากินฝืดเคือง คนหาเช้ากินค่ำลำบาก คนชั้นกลางก็หนี้สินเพิ่ม

คอลัมน์ “เทพชัย หย่อง” ของ นายเทพชัย หย่อง ประธานกรรมการเครือเนชั่น ระบุว่า ถึงแม้จะพยายามประคับประคองกันอย่างเต็มที่ เราก็ต้องตัดสินใจยุติการตีพิมพ์เนชั่นสุดสัปดาห์ จากวันนั้นถึงวันนี้ การเมืองไทยไม่ได้เปลี่ยนอะไรมากนัก สิ่งที่เปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ คือ เทคโนโลยีการสื่อสาร ย้อนไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว การสื่อสารยังเป็นการสื่อสารแบบทางเดียว สื่อที่เป็นวิทยุและโทรทัศน์ก็ไม่ได้ทำหน้าที่รายงานเหตุการณ์บ้านเมืองอย่างตรงไปตรงมา เพราะถูกอำนาจรัฐควบคุมและกำกับจนเป็นเพียงแค่กระบอกเสียงที่ให้ข้อมูลบิดเบือน ในยุคนั้นหนังสือพิมพ์จึงเป็นสื่อที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดในการรายงานข้อมูลข่าวสาร

ทั้งนี้ พายุของความเปลี่ยนแปลงลูกล่าสุด ดูจะเกินกำลังของคนในวงการสื่อไทยที่จะรับมือได้ ความจริงมันไม่ได้ถาโถมใส่เฉพาะสื่อในประเทศไทยเท่านั้น แต่สื่อทั่วโลกก็โดนกระหน่ำกันถ้วนหน้า ทุกวันนี้สื่อสิ่งพิมพ์ไม่ได้มีความหมายต่อสังคมมากเหมือนที่เคยเป็น เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ทำให้เราเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารได้ทุกที่ทุกเวลา เราสามารถรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้แทบจะทันที ผ่านทางโทรศัพท์มือถือโดยไม่ต้องเดินไปที่แผงหนังสือ หรือเปิดเครื่องรับโทรทัศน์ด้วยซ้ำ คนรุ่นใหม่แทบไม่แตะหนังสือพิมพ์ด้วยซ้ำ เพราะทุกอย่างที่อยากรู้อยากเห็นวิ่งเข้ามาหาผ่านทางมือถือ หรือเครื่องมือสื่อสารยุคใหม่ในรูปแบบอื่นๆ ตลอดเวลา

“เนชั่นสุดสัปดาห์ เห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ และได้พยายามปรับตัวมาตลอด เราเป็นสื่อแรกๆ ที่ขยายตัวเข้าไปในโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เข้าถึงท่านผู้อ่านได้รวดเร็วและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น แต่แม้กระนั้นก็ตาม การปรับตัวของเราก็ไม่สามารถช่วยให้เรายืนต้านกระแสความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ต่อไปได้ ด้วยยอดผู้อ่านที่ลดลง และการสนับสนุนจากบรรดาสปอนเซอร์ที่หันเหไปหาสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ทำให้เราต้องตัดสินใจทำในสิ่งที่เราพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอด เราจำเป็นต้องยุติเนชั่นสุดสัปดาห์ ในรูปแบบของนิตยสารรายสัปดาห์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราจะยุติบทบาทการรายงานและวิเคราะห์เหตุการณ์บ้านเมือง” นายเทพชัย กล่าว

ขณะที่รายงานพิเศษของ นางณิชชา เจาวัฒนา เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของเนชั่นสุดสัปดาห์ เมื่อปี 2535 ระบุว่า มาจากเซกชั่น กรุงเทพธุรกิจสุดสัปดาห์ ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่มี นายประจักษ์ มะวงศ์สา เป็นบรรณาธิการ ในช่วงนั้นทีมข่าวการเมืองเนชั่นสุดสัปดาห์แข็งแกร่ง เริ่มจาก หนึ่ง มงคล เป็นหัวหน้าข่าว มี บุญเลิศ ศุภประภาวณิชย์, ปรเมษฐ์ ภู่โต, ปราณี ศรีกำเหนิด, อัญชลี อุชชิน, อนันต์ ลือประดิษฐ์, ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข, มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ ฯลฯ มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งที่ 2 หลังนายประจักษ์ ย้ายไปอยู่ไอทีวี ก็ได้ นายพงษ์ศักดิ์ ศรีสด มาเป็น บก.เนชั่นสุดสัปดาห์ และเสริมทีมโดย นายบัณฑิต จันทศรีคำ หรือ แคน สาริกา, ไพศาล สังโวลี, สินีพร มฤคพิทักษ์, ปิยาวันทน์ ประยุกต์ศิลป์, ณัฏฐวี ประยุกต์ศิลป์, ภาวินี อินเทพ, นิติราษฎร์ บุญโย มาถึงยุคที่นายบัณฑิต เป็น บก. ไม่ว่าบรรยากาศภายใน ภายนอก จะเป็นอย่างไร บ้านหลังนี้ไม่เคยสะทกสะท้านต่อกระแสที่เกิดขึ้น กลับทำให้เรารักกัน พร้อมผลึกกำลังเป็นหนึ่ง

ส่วนคอลัมน์ “I See T” ของ จักรกฤษณ์ สิริริน ที่เขียนคอลัมน์ให้กับเนชั่นสุดสัปดาห์ มาตั้งแต่ปี 2549 ระบุว่า แม้จะเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ที่ไม่ได้เป็นพนักงานประจำ นอกจากความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่แล้ว ยังต้องรักษาพื้นที่ตีพิมพ์ไว้อย่างสุดชีวิต ประสบการณ์ 20 ปี ในวงการสื่อมวลชน ถือว่าได้ผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ ในบ้านเมืองด้วยกันมา ครั้งหนึ่งเกิดเหตุการณ์คนร้ายยิง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งสื่อในเครือผู้จัดการ เป็นประวัติศาสตร์การพิมพ์ซ้ำของนิตยสารวิเคราะห์ข่าว เพราะเนชั่นสุดสัปดาห์เล่มยิงสนธิ ขายดีจนต้องพิมพ์เพิ่ม ที่สำคัญก็คือ ผ่านเหตุการณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ สวรรคต และการเปลี่ยนรัชกาล เป็นในหลวงรัชกาลที่ 10 ในปัจจุบัน เนชั่นสุดสัปดาห์ ได้จัดทำฉบับพิเศษในหลวงรัชกาลที่ ๙ และต่อมาได้กลายเป็นของหายาก เพราะฉบับพิเศษดังกล่าว ขายดีจนต้องพิมพ์เพิ่มอีกครั้ง

คอลัมน์ “มายาประเทศ” ของ ซิเดอร์ บางนา พูดถึงการปิดตัวของ เนชั่นสุดสัปดาห์ ว่า ใจหายและเสียดาย เพราะเนชั่นสุดสัปดาห์ ถือเป็นที่แรกของการทำงานข่าว เป็นที่เรียนรู้ทำข่าวให้เป็นบทวิเคราะห์ บทวิจารณ์ และขยายประเด็นเป็นรายงานพิเศษ จริงๆ ได้ทราบข่าวมานานเกี่ยวกับการปิดตัว แต่ไม่นึกว่าตอนจะเอากันจริงๆ จะรวดเร็วฉับพลันเช่นนี้ แต่ด้วยเหตุผลหลายอย่างๆ ทุกคนก็เข้าใจได้ว่างานเลี้ยงต้องมีวันเลิกรา ต้องจากกันไป แต่ทีมงานชุดเดิมมีบางท่านก็เกษียณตัวเอง บางท่านก็หันไปทำอาชีพอื่น แต่คนที่อยู่ก็ทำงานให้เนชั่นกรุ๊ปต่อไป โดยจะนำเรื่องแนว Human Interest สไตล์เนชั่นสุดสัปดาห์ และการวิเคราะห์ข่าว www.komchadluek.net และหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

และคอลัมน์ “ขยายปมร้อน” ของ อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ ระบุว่า การต้องจากกันจึงทำให้ใจหายไม่น้อย การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไป แม้จะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ย่อมกระทบกับความรู้สึกได้ไม่น้อย ตราบเท่าที่เรายังไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน แต่ในฐานะคนเขียนหนังสือ คนผลิตเนื้อหา ขอขอบคุณท่านผู้อ่านที่สนับสนุนและติดตามกันเสมอมา แม้เราจะไม่ได้พบกันในช่องทางนี้อีก แต่เราก็ยังจะพบกันในช่องทางอื่นและสื่อในเครือเนชั่น แม้โลกจะเปลี่ยนไป แต่เรายังภูมิใจในการทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนที่เป็นทั้งกระจกสะท้อน และป้ายบอกทางต่อไป ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหนก็ตาม.






กำลังโหลดความคิดเห็น