xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” แฉประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช ส่อล็อกสเปกเอื้อผู้สัมปทานรายเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง(ภาพจากแฟ้ม)
อดีต รมว.คลังตั้งข้อสังเกต ประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ ล็อกสเปกให้ประโยชน์ผู้รับสัมปทานรายเดิมหรือไม่ หลังอธิบดีกรมเชื้อเพลิงระบุเอกชนรายใหม่ที่จะประมูลต้องร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้รับสัมปทานรายเดิมหรือเคยเป็นพาร์ตเนอร์ผู้รับสัมปทานแหล่งอื่นมาก่อน

วันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ Thirachai Phuvanatnaranubala ของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการโพสต์ข้อความหัวข้อเรื่อง “นายกจะไม่ปล่อยให้ใครมาได้ประโยชน์เรื่องพลังงาน (4)” โดยระบุว่า ผู้อ่านที่ต้องการช่วยป้องกันการหาประโยชน์จากแปลงเอราวัณ/บงกช ต้องช่วยกันแชร์ให้กว้างขวางที่สุด โปรดติดตามนายกรัฐมนตรีที่พูดว่า “ผมเอาชีวิตผมยืนยัน จะไม่ปล่อยให้ใครมาได้ประโยชน์” จะเสียชีพหรือเสียสัตย์ หรือไม่

“เนื่องจากเคยมีบุคคลของทางราชการ แสดงความเห็นต่อสื่อมวลชนว่า ควรจะให้ธุรกิจต่อเนื่องแก่บริษัท
เชฟรอน และบริษัท ปตท.สผ. ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานแปลงเอราวัณ/บงกช โดยอ้างว่า บริษัทเดิมเป็นผู้ที่รู้เรื่องเกี่ยวกับพื้นที่มากกว่ารายอื่น

ผมขอตั้งประเด็นคำถามในโพสต์นี้ที่ประชาชนสนใจมาก เกี่ยวกับข้อมูลของพื้นที่ และเกี่ยวกับระบบท่อก๊าซ ดังนี้

ข้อ 1. กระทรวงพลังงานจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพปิโตรเลียมของแต่ละแปลงแก่ผู้ที่สนใจจะเข้าประมูล เพื่อให้ทราบข้อมูลเท่าเทียมกับบริษัทเชฟรอนและ บริษัท ปตท.สผ. หรือไม่?

จะดำเนินการอย่างไร?

และกระทรวงพลังงานจะทำให้ประชาชนมั่นใจได้อย่างไรว่า การเปิดเผยข้อมูลมีความเท่าเทียมกันแน่นอน?

ข้อ 2. ปัจจุบันบริษัท ปตท.เป็นเอกชนผู้ได้ประโยชน์แต่ผู้เดียวจากการผูกขาดระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ใช่หรือไม่?

ข้อ 3. บริษัท ปตท.มีอำนาจที่จะกำหนดอัตราค่าผ่านท่อก๊าซสำหรับลูกค้าแต่ละรายให้แตกต่างกัน ได้หรือไม่?

กำหนดในกฎระเบียบใด?

ข้อ 4. ถ้าหากหลุมก๊าซใหม่อยู่นอกระบบท่อก๊าซปัจจุบัน การวางท่อเพิ่ม เพื่อเชื่อมหลุมก๊าซใหม่กับระบบเดิม เป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ใด?

ถ้าเป็นอำนาจหน้าที่ของ บริษัท ปตท. แต่ถ้าดำเนินการล่าช้า จะมีผู้อื่นใดที่สามารถแทรกแซงเพื่อเร่งการวางท่อยังไปหลุมใหม่แทน ได้หรือไม่?

ข้อ 5. บริษัทเอกชนที่อยู่นอกกลุ่ม ปตท. จะสามารถทราบค่าผ่านท่อตลอดอายุของสัญญาก่อนที่จะยื่นความจำนง หรือไม่? กระทรวงพลังงานจะทำให้ประชาชนมั่นใจได้อย่างไรว่า การประมูลจะเป็นธรรม และเท่าเทียมกัน ระหว่างบริษัทที่อยู่นอกกลุ่ม กับบริษัทในกลุ่ม?

ข้อ 6. เมื่อสัมปทานแปลงเอราวัณ/บงกชหมดอายุ จะมีหลุมที่เจาะไว้เดิมบางหลุมที่จะสามารถผลิตปิโตรเลียมได้ทันทีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หลุมเหล่านี้จึงมีผลผลิตโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม กระทรวงพลังงานทราบว่าหลุมเจาะในลักษณะเช่นนี้มีอยู่กี่หลุม และมีอัตราการผลิตอยู่เท่าใด?

สำหรับหลุมประเภทนี้ กระทรวงพลังงานเห็นว่าควรจะใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือระบบสัญญาจ้างบริการ?

ข้อ 7. ในระบบแบ่งปันผลผลิต กระทรวงพลังงานจะตัดสินคัดเลือกผู้ชนะ จากการเปรียบเทียบสัดส่วนที่บริษัทเอกชนเสนอจะแบ่งให้รัฐบาล หรือไม่?

หากไม่ กระทรวงพลังงานจะทำให้ประชาชนมั่นใจได้อย่างไรว่า ไม่มีการลำเอียงช่วยเหลือบริษัทเอกชนบางบริษัท?

คำตอบสำหรับข้างต้นสำคัญมาก เพราะมีข่าวในกรุงเทพธุรกิจวันที่ 4 เมษายน 2560 ทำให้เกิดคำถามบางอย่าง ถึงแม้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงระบุว่า การประมูลจะเปิดกว้างให้นักลงทุนในประเทศ และต่างประเทศ เช่น ตะวันออกกลาง และจีน แต่กล่าวด้วยว่า “ผู้ที่จะเข้าร่วมประมูลไม่ใช่ใครก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์มาก่อน โดยเอกชนรายใหม่อาจจะเข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้รับสัมปทานเดิม หรือเอกชนรายใหม่จะต้องเคยร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้รับสัมปทานในแหล่งอื่นมาก่อน”

ทั้งนี้ การกำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็น และกระทรวงพลังงานจะต้องกันมิให้บริษัทที่ไม่เคยเป็นผู้สำรวจและผลิตมาก่อน เข้ามาร่วมประมูล เพราะจะเป็นช่องทางการ "จับเสือมือเปล่า" เหมือนกับกรณีที่มีข้อกล่าวหาแล้วในอดีต

แต่เหตุใดอธิบดีจึงต้องบังคับให้เอกชนรายใหม่ จะต้องเข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้รับสัมปทานเดิม

เพราะอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างไร ก็หนีไม่พ้นเป็นการสร้างเงื่อนไขให้ผู้รับสัมปทานเดิมยังสามารถเข้ามาชุบมือเปิบ ทำมาหากินในแปลงเอราวัณ/บงกชได้ต่อเนื่อง

คำพูดของอธิบดีจะทำให้ประชาชนตีความไปได้ว่า ต้องการจะล็อกสเปก เพื่อให้ประโยชน์แก่ผู้รับสัมปทานเดิม หรือไม่

ทำให้เกิดคำถามว่า เป็นการวางแผนเพื่อหาประโยชน์ส่วนตนแก่บุคคลใด หรือไม่

สำหรับเงื่อนไขว่า เอกชนรายใหม่จะต้องเคยร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับผู้รับสัมปทานในแหล่งอื่นมาก่อน ก็มีผลเป็นการให้น้ำหนักและแต้มต่อแก่ผู้รับสัมปทานรายเดิมในไทยอีกเช่นกัน ใช่หรือไม่

เนื่องจากการกำหนดหลักเกณฑ์ที่อาจเกิดการลำเอียงขึ้นได้นั้น เป็นการตราบาปให้เกิดแก่ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของ คสช. นายกรัฐมนตรีจึงควรลงโทษอย่างหนัก”
กำลังโหลดความคิดเห็น