xs
xsm
sm
md
lg

“สุรชัย” ฝาก กมธ.วิฯ กม.ลูก ทำตาม ม.77 ชี้โจทย์ใหม่กฎหมายไม่ผ่านให้ใครทำต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
รองประธาน สนช.เผยไทม์ไลน์กฎหมายลูก คาด กรธ.ส่งฉบับสุดท้ายมาให้ไม่เกิน 1 ธ.ค. ชี้ตามรัฐธรรมนูญเมื่อ กม.ผ่าน 3 วาระต้องชงให้องค์กรอิสระ หรือ กรธ.ไม่เกิน 15 วัน ให้ดูตรงตามเจตนารมณ์หรือไม่ ถ้าไม่ก็ตั้ง กมธ.ร่วม รับบทเฉพาะกาลไม่ได้เขียนใครจะทำต่อหากกฎหมายไม่ผ่าน ฝาก กมธ.เช็กตาม ม.77 ยิบ ป้องกันความเสี่ยง

วันนี้ (20 พ.ค.) ที่โรงแรมนิว แทรเวิล ลอดจ์ จ.จันทบุรี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะและรวบรวมเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวระหว่างการสัมมนา เรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ...” โดยบรรยายสรุปภาพรวมกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญตามบทเฉพาะกาล มาตรา 267 ว่าด้วยการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ว่า กระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมีกฎเกณฑ์ที่ใช้อยู่ 2 ข้อ คือตามมาตรา 267 และในบทถาวร มาตรา 130-132 ที่กำหนดคะแนนลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญต้องมีคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแค่กึ่งหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะครบกำหนดในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ ส่วนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะต้องร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ฉบับ จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันนับแต่วันประกาศรัฐธรรมนูญ หรือ ครบกำหนดวันที่ 1 ธ.ค. 60 หรือเป็นวันที่ กรธ.จะส่งฉบับสุดท้ายให้ สนช.

นายสุรชัยกล่าวอีกว่า เมื่อผ่านกระบวนการของคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และที่ประชุม สนช.ให้ความเห็นชอบในวาระสามเรียบร้อยแล้ว จะยังประกาศใช้เป็นกฎหมายไม่ได้ เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดว่าจะต้องส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ และ กรธ.ด้วย แต่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า สนช.จะต้องส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกี่วัน ซึ่งความเห็นส่วนตัวคิดว่าต้องยึดบทถาวรของรัฐธรรมนูญ คือ 15 วัน

นายสุรชัยกล่าวต่อว่า เมื่อส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญแล้วไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้องก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องพิจารณาตรวจสอบเพื่อทำความเห็นกลับมาภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าตรงถือว่าจบกระบวนการ ส่งให้นายกรัฐมนตรีเพื่อรอทูลเกล้าฯ ถวาย แต่ถ้าเห็นว่าไม่ตรงตามเจตนารมณ์ จะต้องตั้งกรรมการร่วมเพื่อพิจารณา ประกอบด้วย 11 คน คือ สนช.5 คนโดยคัดเลือกมาจาก กมธ.ที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง, กรธ.5 คน และประธานองค์กรอิสระ หรือประธาน กมธ.ที่เกี่ยวข้องจำนวน 1 คน อีกทั้งบทเฉพาะกาลก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องตั้งภายในกี่วัน ขึ้นอยู่กับ สนช. ทั้งนี้ ภายใน 15 วันต้องเสนอต่อ สนช.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ถ้า สนช.มีมติไม่ถึง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ถือว่าเป็นอันตกไป ซึ่งบทเฉพาะกาลเขียนทิ้งไว้แค่นี้ โดยไม่ได้ระบุว่าใครจะเป็นคนเขียนต่อไป เป็นโจทย์ที่รออยู่ข้างหน้า

“ในกระบวนการส่งให้นายกรัฐมนตรี เพื่อรอการทูลเกล้าฯ ถวาย คือ มาตรา 145 และมาตรา 148 ต้องรอ 5 วัน เพื่อดูว่ามีประเด็นปัญหาส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยบุคคลที่จะยื่นเรื่องต่อศาล คือ นายกรัฐมนตรีหรือสมาชิก สนช. 1 ใน 10 เข้าชื่อกัน ด้วยเหตุผลที่ว่ามีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้น สมาชิกต้องระวังเรื่องกระบวนการพิจารณาอาจถูกทักท้วงให้ตรวจสอบได้ กระบวนการที่จะตรวจสอบมีหนึ่งกระบวนการที่เป็นของใหม่กำหนดไว้ คือ ในมาตรา 77 ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมกังวล และฝาก กมธ.ไว้ เพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยขอความกรุณาตรวจสอบตาม ม.77 จะเป็นการดี การพิจารณากฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ เกี่ยวข้องกับมาตรา 77 แม้มาตรา 267 ไม่ได้กำหนดไว้ แต่เราก็ต้องยึดบทถาวรต้องจัดให้มีการรับความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นระบบ โดยต้องเปิดเผยต่อประชาชนอย่างน้อยต้องลงเว็บไซต์ให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบได้ โดยจะต้องนำข้อต่างๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้นนำมาประกอบการพิจารณาทุกขั้นตอน ทีนี้คำถามคือ ขณะพิจารณาทำตามขั้นตอนหรือยัง ถ้ายังกรุณากลับไปทำด้วย รวมทั้งการเขียนรายงาน เจ้าหน้าที่จะต้องไม่เขียนรูปแบบเดิมๆ ต้องแจกแจงขั้นตอนในกระบวนการทั้งหมด” รองประธาน สนช.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น