MGR Online - ไทยพีบีเอสเปิดเผยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีอดีตผู้บริหารนำสินทรัพย์ไปซื้อหุ้นกู้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หลักร้อยล้าน ระบุไม่ผิด องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย-ไม่พบหลักฐานผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน - ไม่ขัดแย้งกับหลักธรรมาภิบาล เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสื่อสาธารณะ
วานนี้ (1 มิ.ย.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส ได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการซื้อตราสารหนี้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ซึ่งตกเป็นข่าวเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ว่า นายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผอ.ไทยพีบีเอส และผู้บริหารบางส่วนได้นำสินทรัพย์สภาพคล่อง (รายได้ที่ยังไม่ถึงกำหนดใช้จ่าย) ไปซื้อตราสารหนี้ ซีพีเอฟ ทำให้สังคมเกิดความกังวลว่าจะกระทบความเป็นอิสระในการทำหน้าที่สื่อสาธารณะ จนในที่สุดนายกฤษดาได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560
สำหรับผลการตรวจสอบจาก คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ มีรายละเอียดดังนี้
“ตามที่คณะกรรมการนโยบายได้มีคำสั่งองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการซื้อตราสารหนี้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) นั้น
บัดนี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบาย และคณะกรรมการนโยบายเห็นว่าผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ สอดคล้องกับมติของคณะกรรมการนโยบายในคราวประชุมครั้งที่ 8/2560 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 ดังนี้
ประการที่หนึ่ง พิจารณาจากพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 แล้ว ส.ส.ท. สามารถซื้อหุ้นกู้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ได้ แม้ว่าคณะผู้บริหารยังมิได้ดำเนินการให้ถูกต้อง ครบถ้วนทุกขั้นตอนตามที่กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้
ประการที่สอง การซื้อหุ้นกู้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ยังไม่ปรากฏหลักฐานที่จะชี้ให้เห็นได้ว่า การซื้อหุ้นกู้ครั้งนี้มีผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน เนื่องจากราคาซื้อ-ขาย เป็นราคาที่ใกล้เคียงกับรายอื่นในช่วงเวลาเดียวกัน
ประการที่สาม การซื้อหุ้นกู้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ขัดแย้งกับหลักธรรมาภิบาล เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสื่อสาธารณะที่กำหนดไว้ในข้อบังคับองค์การฯ ว่าด้วยจริยธรรมของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน พ.ศ. 2551 และข้อบังคับองค์การฯ ว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและการเผยแพร่รายการ พ.ศ. 2552
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายกำลังดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ โดยเฉพาะ ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและกลั่นกรองการบริหารจัดการ การเงินและการหารายได้แล้ว
จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
1 มิถุนายน 2560"
สำหรับกรณีดังกล่าว นายกฤษดา อดีต ผอ.ไทยพีบีเอส เคยเปิดเผยกับสื่อมวลชน ว่า เดือนมกราคม 2560 ได้นำเงินทุนหมุนไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จากธนาคารที่ทำหน้าที่จัดจำหน่ายมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท เป็นการลงทุนหุ้นกู้ลักษณะการซื้อตราสารหนี้ โดยได้ดอกเบี้ยอัตรา 3% ต่อปี ที่ไม่มีความเสี่ยง โดยไม่ได้เป็นการลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแต่อย่างใด นอกจากนี้การลงทุนซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ ดังกล่าวเป็นหนึ่งในรูปแบบการลงทุนปกติ ของ ส.ส.ท. ตาม พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ตาม มาตรา 11 เรื่องทุน ทรัพย์สินและรายได้ขององค์กร (7) ดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินขององค์กร