xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดกนย.นัดถก16มี.ค.นี้ชี้ขาดTPBSซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - ผอ.ไทยพีบีเอส แจงซื้อหุ้นกู้ “ซีพีเอฟ”มูลค่า 100 ล้านบาท เป็นการลงทุนปกติ ผลตอบแทนสูง 3% ย้ำไม่กระทบการเสนอข่าว พร้อมถูกตรวจสอบ ขณะที่คณะกรรมการนโยบาย (กนย.) เรียกประชุม 16 มี.ค.นี้ เพื่อพิจารณาได้รับการอนุมัติตามขั้นตอน สาเหตุที่ต้องเลือก "ซีพีเอฟ" ทั้งที่บางรายอันดับเครดิตดีกว่า รวมถึงขัดหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

จากกรณีที่ผู้บริหารขององค์การการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ได้นำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมต่อการทำหน้าที่สื่อสาธารณะนั้น นายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้อำนวยการ ไทยพีบีเอส เปิดเผยว่า เดือนม.ค.ที่ผ่านมาได้นำเงินทุนหมุนไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ ของบมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ จากธนาคารที่ทำหน้าที่จัดจำหน่ายมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท โดยได้ดอกเบี้ยอัตรา 3% ต่อปี ที่ไม่มีความเสี่ยง และไม่ได้เป็นการลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การลงทุนซื้อหุ้นกู้ ซีพีเอฟ ดังกล่าว เป็นหนึ่งในรูปแบบการลงทุนปกติ ของ ส.ส.ท. ตาม พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ตาม มาตรา 11 เรื่องทุน ทรัพย์สินและรายได้ขององค์กร (7) ดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินขององค์กร

โดยตามพ.ร.บ.ไทยพีบีเอส ได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีสุราและยาสูบอัตรา 1.5% สูงสุดไม่เกินปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับการจัดสรรตลอดปี แต่ช่วงต้นปีจะได้รับเงินจัดสรรก้อนใหญ่กว่าทุกช่วง คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่ต้องบริหารเงินทุนหมุนเวียนในแต่ละปีให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินแนะนำการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงสุดภายใต้ พ.ร.บ. กำหนดให้สามารถดำเนินการได้

สำหรับรูปแบบการลงทุนที่ผ่านมา เพื่อบริหารเงินและสินทรัพย์องค์กร ตามมาตรา 11 (7) ใช้วิธีทั้งการลงทุนระยะสั้นและระยะยาว เช่น การฝากเงินกับธนาคารทั้งรัฐและเอกชน ,การลงทุนตราสารหนี้ ทั้งภาคเอกชน พันธบัตรภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ เพื่อกระจายความเสี่ยงและบริหารเงินทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการลงทุนซื้อหุ้นกู้ ซีพีเอฟ ผ่านการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์แล้วว่า เป็นหุ้นกู้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับ A+ สูงที่สุดเมื่อเทียบกับหุ้นกู้บริษัทเอกชนและพันธบัตรขณะนั้น ซึ่งอยู่ที่ราว 2% รวมทั้งสูงกว่าเงินฝากธนาคารระยะสั้นและระยะ 12 เดือน ซึ่งในแต่ละปีไทยพีบีเอส มีผลตอบแทนจากการบริหารเงินทุนหมุนเวียนและการลงทุนต่างๆ ประมาณ 40 ล้านบาทต่อปี

นายกฤษดา กล่าวอีกว่าการซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ ไม่มีผลต่อการนำเสนอข่าวของกลุ่มซีพี ซึ่งไทยพีบีเอสพร้อมให้ทุกองค์กรและประชาชน ตรวจสอบการนำเสนอข่าวเครือซีพีหลังจากนี้ ที่ยังมุ่งผลประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอส ฝากเงินกับธนาคารรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการลงทุนให้เกิดดอกผลจากเงินทุนหมุนเวียน และธนาคารที่ฝากเงิน ไม่มีผลต่อการนำเสนอข่าวของไทยพีบีเอส แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม การบริหารเงินทุนดังกล่าวได้แจ้งต่อ คณะกรรมการนโยบาย เดือนก.พ.ที่ผ่านมา และพร้อมชี้แจงในการประชุมบอร์ด นโยบายอีกครั้งในเดือนมี.ค.นี้

**."บอร์ดไทยพีบีเอส"นัดถก16มี.ค.

รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการนโยบาย (กนย.) 9 คน ที่มีนายจุมพล รอดคำดี เป็นประธาน เตรียมเรียกประชุมบอร์ดเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 16 มี.ค.นี้

สำหรับประเด็นที่จะมีการสอบถาม อาทิ ตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) การอนุมัติโครงการใด ที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท ต้องรายงานให้ กนย.รับทราบ เช่น กรณีซื้อตราสารหนี้ซีพีเอฟ ได้รายงานกนย.พิจารณาแล้วหรือไม่

ทั้งนี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ กนย.เคยเห็นชอบในหลักการตาม มาตรา 11 ว่าด้วยเรื่อง ทุน ทรัพย์สิน และรายได้ขององค์กร ในวงเล็บ 7 ที่ระบุว่า ดอกผลที่เกิดจากเงิน หรือทรัพย์สินขององค์กรไปแสวงหาผลประโยชน์ได้ แต่โดยหลักการต้องเป็นการลงทุนที่มั่นคงด้านการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และความแข็งแกร่งทางการเงิน สำหรับตราสารหนี้ซีพีเอฟ เป็นอย่างไร

นอกจากนี้มีการตั้งข้อสังเกต ว่า เหตุใด นายกฤษดา เลือกซื้อตราสารหนี้ซีพีเอฟ ที่ได้รับการจัดอันดับ ระดับ A เหตุใดไม่เลือกลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่น ที่มีการจัดอันดับดีกว่า เช่น ธนาคารออมสิน ที่ฟิทช์ จัดระดับ AAA และที่ผ่านมาได้มีผลการศึกษาการลงทุนประกอบการตัดสินใจหรือไม่ และเหตุใดไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการให้พนักงาน และผู้บริหาร กนย.รับทราบ และการกระทำดังกล่าวของ นายกฤษดา ถูกต้องตามกฎหมาย หรือวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กรไทยพีบีเอส หรือไม่ และได้มีการเรื่องดังกล่าวให้สำนักงานกฤษฎีกาตีความว่า มาตรา 11 แล้วหรือไม่ และการซื้อตราสารหนี้ซีพีเอฟ จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์หรือไม่ อย่างไร และ การนำเสนอข่าวสารของซีพีต่อไป จะเป็นอย่างไรในอนาคต เพราะซีพี มีสื่อเป็นของตัวเองอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น