ความจริงวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่สมมุติขึ้น ตอนเที่ยงคืนของทุกคืนคุณอยากจะตะโกนว่า “Happy New Year” หรือ “ไชโยปีใหม่” คืนไหนก็ได้ แต่ถ้าไม่ตรงกับชาวบ้านเขา จะให้ปลอดภัยก็ตะโกนอยู่แต่ในบ้านดีกว่า ไม่งั้นอาจจะงานเข้า
แต่ก่อนนี้หลายชาติรวมทั้งไทยก็ไม่ได้ถือว่าวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ในอดีตตั้งแต่สมัยโรมันเป็นต้นมา หลายชาติต่างก็ขึ้นปีใหม่ต่างๆกัน จนเมื่อมีการใช้ปฏิทินกรีกอเรียน ชาวคริสเตียนนิกายโรมันคาทอลิกได้หันมาใช้วันที่ ๑ มกราคมขึ้นปีใหม่แทนวันที่ ๒๕ มีนาคม หลายชาติก็หันมาใช้ตามจนเป็นสากล
ไทยเราก็มีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มา ๔ ครั้งแล้ว ครั้งแรกถือเอาวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนมกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ครั้งที่ ๒ มาเปลี่ยนเป็นวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ตรงกับเดือนเมษายน ตามคติพราหมณ์ ซึ่งทั้ง ๒ ครั้งนี้ถือตามจันทรคติเป็นหลัก
ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นตามสุริยะคติ กำหนดให้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบท ก็ยังถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะคนไทยถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยแล้ว วันปีใหม่ ๑ เมษายนจึงเป็นวันเหงาๆ ไม่มีการจัดงานฉลองรื่นเริงกัน เพราะคนส่วนใหญ่ยังรอไปจัดในวันสงกรานต์ จนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลประชาธิปไตยได้จัดให้มีงานรื่นเริงปีใหม่ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๗ ขึ้นในกรุงเทพฯเป็นปีแรก และได้แพร่ต่อไปตามต่างจังหวัดในปีต่อๆมา จนทุกจังหวัดจัดงานฉลองปีใหม่ในวันที่ ๑ เมษายนพร้อมเพียงกันในปี ๒๔๗๙
ในปี ๒๔๘๓ รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีนโยบายปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสากล ครม.จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งพิจารณาเรื่องวันขึ้นปีใหม่ ที่ประชุมลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก ๑ เมษายนเป็น ๑ มกราคม ด้วยเหตุผลว่าให้เป็นไปตามสากลที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก โดยเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ขัดกับหลักพระพุทธศาสนา ทั้งยังเป็นการเลิกเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพุทธศาสนาด้วย จึงได้ประกาศในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และนายพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ มีความว่า
“โดยที่จารีตประเพณีของไทยแต่โบราณมา ได้ถือวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นการสอดคล้องต้องกับคติแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งถือฤดูเหมันต์เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ ต่อมาจารีตอันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ ซึ่งใช้วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่ ครั้นภายหลังเมื่อทางราชการนิยมใช้สุริยคติ จึ่งได้ถือเอาวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นต้นปีใหม่มาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๒
แต่ในอารยประเทศทั้งปวง ตลอดถึงประเทศใหญ่ๆทางปลายบูรพทิศนี้ ได้นิยมใช้วันที่ ๑ มกราคมเป็นวันขึ้นต้นปีใหม่ การนิยมใช้วันที่ ๑ มกราคมนี้ มิได้เกี่ยวข้องกับลัทธิศาสนา จารีตประเพณี หรือการเมืองของชาติใด ประเทศใด แต่เป็นการคำนวณโดยวิทยาการทางดาราศาสตร์ และนิยมใช้กันมาเป็นเวลากว่าสองพันปี เมื่อประเทศไทยได้นิยมถือสุริยคติตามอย่างนานาประเทศแล้ว ก็เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปีใหม่เหมือนอย่างประเทศทั้งหลาย เพราะวันที่ ๑ มกราคมก็ใกล้เคียงกับวันแรม ๑ ค่ำของไทย และเป็นการใช้ฤดูหนาวเริ่มต้นปี การใช้วันที่ ๑ มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ จะเป็นการสอดคล้องตามจารีตประเพณีโบราณของไทย ต้องตามคติแห่งพระบวรพุทธศาสนา และได้ระดับกับนานาอารยประเทศทั้งมวล
อนึ่ง ได้มีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติปีปดิทิน พุทธศักราช ๒๔๘๓ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๓ และพระราชบัญญัตินั้นก็เป็นอันใช้ได้ตั้งแต่วันที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๓ เป็นอันว่าทางรัฐนั้นได้ใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันเริ่มปีใหม่แล้ว
จึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ คณะสงฆ์ และอาณาประชาราษฎรทั้งมวล นิยมถือวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ให้ถือเป็นจารีตประเพณีของชาติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และขอให้ปีใหม่วันเริ่มขึ้นในวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ นี้ จงเป็นเวลารุ่งอรุณแห่งชีวิต ให้ชาติไทยได้รับความเจริญและก้าวหน้าขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ใหญ่หลวง ให้อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงได้รับความร่มเย็นเป็นสุขทั่วกันเทอญ
ประกาศมา ณ วันที่ ๒๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓ เป็นปีที่ ๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
ด้วยประกาศฉบับนี้ ประเทศไทยจึงเริ่มใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๘๔ เป็นต้นมา ทำให้ปี ๒๔๘๓ เป็นปีที่สั้นที่สุดของประเทศไทย เคยยาวไปถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ก็หดสั้นลงแค่วันที่ ๓๑ ธันวาคม เหลือเพียง ๙ เดือนเท่านั้น
ประชาชนชาวไทยได้ต้อนรับการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่นี้ด้วยดี ต่างไปตักบาตรทำบุญที่ท้องสนามหลวงในวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๔ แทนการใส่บาตรในวันที่ ๑ เมษายน ประเทศไทยจึงก้าวเข้าสู่ความเป็นอารยประเทศอีกอย่างหนึ่งตามนโยบายของ “ท่านผู้นำ”
กิจกรรมที่นิยมปฏิบัติกันในวันขึ้นปีใหม่ก็คือ ทำบุญใส่บาตร ส่งบัตรอวยพร ให้ของขวัญ และจัดงานเลี้ยงกันในกลุ่มญาติมิตร รวมทั้งทำความสะอาดบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เพื่อให้ชีวิตปีใหม่สดใส และเป็นโอกาสดีที่จะตั้งสติทบทวนการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา เพื่อจะได้แก้ไขไม่ให้เกิดข้อบกพร่องผิดพลาดขึ้นในปีใหม่ ที่ทุกคนตั้งความหวังไว้ว่า ชีวิตจะต้องดีขึ้นกว่าปีเก่า
เมื่อเดือนธันวาคม ๒๔๙๔ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จนิวัติพระนคร และประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มีพระราชประสงค์จะพระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรไทยด้วยบทเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง “พรปีใหม่” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ นิพนธ์คำร้อง พระราชทานแก่วงดนตรี ๒ วง คือ วงดนตรีของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ ๑ มกราคม ๒๔๙๕
เพลงนี้จึงก้องในวันปีใหม่ทุกปีตลอดมา เป็นพรพระราชทานให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย สุขเกษมเปรมปรีดิ์ในปีใหม่ ซึ่งเพลงอันเป็นมงคลนี้มีเนื้อร้องว่า
สวัสดีวันปีใหม่พา
ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม
ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า
ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปราณี
ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์
ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่
ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ
ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์
สวัสดีวันปีใหม่เทอญ
นอกจากนี้ ในวันขึ้นปีใหม่ของทุกปี นอกจากพสกนิกรชาวไทยจะรอพระราชดำรัสที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพรปีใหม่ทางวิทยุกระจายเสียงและทางโทรทัศน์ เพื่อเป็นสิริมงคลในวันขึ้นปีใหม่แล้ว ยังรอ ส.ค.ส.พระราชทาน ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง เพื่อพระราชทานพสกนิกรชาวไทยเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มมาตั้งปี ๒๕๓๐ พระราชทานพรแก่เจ้าหน้าที่ผู้ถวายงาน เป็นปีแรก ปีต่อๆมาจึงพระราชทาน ส.ค.ส.แก่พสกนิกรโดยทั่วไป
ข้อความใน ส.ค.ส.แม้จะเป็นข้อความสั้นๆ แต่ก็มีความหมายลึกซึ้งและคติเตือนใจ ทรงสะท้อนปัญหาและอุปสรรคที่ประเทศชาติได้ประสบในรอบปีที่ผ่านมา กระตุ้นให้ชาวไทยมีขวัญกำลังใจในการดำเนินชีวิต
แต่...ปีนี้คิดไปก็ใจหาย ไม่มี ส.ค.ส.พระราชทานแบบนี้อีกแล้ว มีแต่คำสอนของ “พ่อ” ที่ยึดเป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้ตลอดปี