xs
xsm
sm
md
lg

“พล.อ.สายหยุด” พลิกบันทึกถอดบทเรียนที่มาเมืองเก่าสุโขทัย-วันพ่อขุนรามฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุโขทัย - เปิดบันทึก “พล.อ.สายหยุด เกิดผล” อดีต ผบ.สส.-ประธานคณะรัฐบุคคล สายเลือดชาวสุโขทัย ย้อนรอยถอดบทเรียนก่อนเป็น “เมืองเก่า : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนฯ” ที่เคยเป็นชุมชนเก่าแก่ มีแม้กระทั่งสุสานจีนโบราณ ฯลฯ

วันนี้ (16 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันพ่อขุนรามคำแห่งมหาราช ที่กำลังจะมาถึงในวันพรุ่งนี้ (17 ม.ค.) ถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย และเป็นวันแห่งความภาคภูมิใจของชาวสุโขทัย ที่ต่างพร้อมใจกันประกอบที่พิธีบวงสรวง-ถวายพวงมาลา ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัน ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย อย่างพร้อมเพรียงทุกปี ทั้งนี้ ตามมติ ครม.ปี 2532 กำหนดให้วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นวันรัฐพิธี โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ โดยถือเอาวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ขณะผนวชอยู่ ทรงพบหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2376 เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชอาณาจักรสุโขทัย

พล.อ.สายหยุด เกิดผล อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประธานคณะรัฐบุคคล ชาวสุโขทัยที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้มีการจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เมืองโบราณสุโขทัย เดิมมีสภาพเป็นป่ารกชัฏ และเป็นที่ล่าสัตว์ของชาวบ้านเมืองเก่า ซึ่งปลูกบ้านเรือนอยู่กันหนาแน่นบริเวณวัดตระพังทอง (วัดประจำหมู่บ้าน)

กระทั่งในปี พ.ศ. 2495 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ได้เดินทางมาตรวจราชการ และเล็งเห็นความสำคัญจึงอนุมัติงบประมาณ 3 ล้านบาท แล้วมอบหมายให้นายเชื่อม ศิริสนธิ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ดำเนินการถางป่า บูรณะเบื้องต้นจนมองเห็นโบราณสถาน ทำให้เมืองโบราณสุโขทัยได้รับการประกาศคุ้มครองในปีถัดมา และประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในปี พ.ศ. 2519

พล.อ.สายหยุดเล่าอีกว่า ช่วงนั้นหน่วยงานเกี่ยวข้องได้มีการบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด เพื่อจัดระเบียบผู้คนที่ปลูกบ้านเรือนอาศัยอยู่ในพื้นที่โบราณสถานมายาวนาน ซึ่งมีแม้กระทั่งสุสานจีนอยู่ภายในกำแพงเมือง ในที่สุดก็เกิดความขัดแย้งรุนแรง และถึงทางตันจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ตนซึ่งได้รับมอบหมาย จึงส่งกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ลงพื้นที่ปฏิบัติการจิตวิทยามวลชนเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง ด้วยวิธีเจรจาพูดคุยกับชาวบ้านเมืองเก่า ชี้ให้เขาเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการท่องเที่ยวที่จะมีตามมา รวมทั้งมีการจัดสรรพื้นที่ทั้งสี่มุมเมืองให้ปลูกบ้านใหม่ พร้อมจ่ายค่าชดเชยความเสียหายต่างๆ และว่าจ้างชาวบ้านให้มาบูรณะโบราณสถาน เพื่อให้เกิดความรักหวงแหน และมีสำนึกในการอนุรักษ์ร่วมกันต่อไปด้วย

“แม้แต่เถ้ากระดูกปู่ย่าตายายเขาก็ยังเก็บไว้ที่นี่ เขาอยู่กันมาก่อน ต้องให้เกียรติเขา จะไล่เขาออกไปเปล่าๆไม่ได้ ต้องหาที่ให้เขาอยู่ หาอาชีพให้เขาทำ ถ้าใช้แต่อำนาจก็มีแต่จะขัดแย้งกัน จะเข้าใจกันได้ก็ต้องพูดจากัน ต้องสามัคคีกัน งานจึงจะสำเร็จ”

พล.อ.สายหยุดกล่าวอีกว่า เมื่อโครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเริ่มเป็นรูปร่าง นายนิคม มูสิกะคามะ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย (ในขณะนั้น) ก็ได้ริเริ่มให้มีการจัดงาน “เผาเทียนเล่นไฟ” ขึ้น พร้อมมีกิจกรรมตามตำนาน จนกลายเป็นประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จ.สุโขทัย ที่ยิ่งใหญ่ สวยงาม และโด่งดังไปทั่วโลก สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล

สำหรับการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พล.อ.สายหยุดเปิดเผยว่า ได้มีแนวคิดจัดสร้างมาตั้งแต่แรกเริ่มการบูรณะเมืองเก่าแล้ว ทว่าติดขัดในหลายด้าน ทั้งเสถียรภาพรัฐบาลและเศรษฐกิจ แต่ในที่สุดกรมศิลปากร ก็ได้หล่อพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ให้ตามมติคณะรัฐมนตรี จึงได้มีการจัดตั้งสมาคมชาวสุโขทัยขึ้น เพื่อระดมทุนค่าใช้จ่าย 2.7 ล้านบาทให้กรมศิลป์ โดยการจัดสร้างเหรียญพ่อขุนรามฯรุ่น 1 ให้ประชาชนเช่าบูชาและมีส่วนร่วมกัน

“ผู้ว่าฯ เชื่อม ทำเรื่องถึงมหาดไทย และ ครม.มีมติให้จัดสร้างเมื่อ 7 ก.ค. 2507 จากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายชุด ทำให้การดำเนินงานล่าช้า ทั้งผมและ พล.ต.ท.กริช ปัจฉิมสวัสดิ์ พล.ท.กานต์ รัตนวราหะ และ พ.อ.นิวัติ สุนทรภู่ นั้นต้องคอยติดตามถามความคืบหน้ามาโดยตลอด”

กระทั่งการหล่อพระบรมรูปพ่อขุนรามฯ แล้วเสร็จในกลางปี 2517 แล้วมีการอัญเชิญขึ้นประดิษฐานชั่วคราวที่เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัยในปี 2518 ก่อนอัญเชิญไปประดิษฐานยังแท่นถาวรเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519 พร้อมจัดให้มีมหรสพสมโภช

พล.อ.สายหยุดยังกล่าวถึงความภาคภูมิใจของชาวสุโขทัย ถึงการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในครั้งนั้นอีกว่า ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัฐกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. มาประทับที่เหรียญพ่อขุนรามฯ เพื่อให้บูชาในการหาทุน และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้อักษรลายสือไทยเป็นข้อความใต้พระปรมาภิไธยย่อ ว่า “โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเฉลิมพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พุทธศักราช 2513” ยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธี และทรงเททองสร้างเหรียญที่ระลึกพ่อขุนรามฯด้วยพระองค์เอง พร้อมทั้งเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเททองหล่อพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ณ มณฑลพิธี กองหัตถศิลป กรมศิลปากร

“การที่พระองค์เสด็จด้วยพระองค์เองถึง 2 ครั้งนี้ มิใช่เรื่องปกติธรรมดา และเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ สมควรที่ชาวสุโขทัยจะจดจำรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณไว้ชั่วกาลนาน”

ทั้งนี้ หลังจากมีพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประดิษฐานอยู่ท่ามกลางโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย พร้อมกับมีการรื้อฟื้นจัดงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ เป็นประจำทุกปี จึงมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย-ต่างชาติ พากันหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวชมความงดงามของประเพณีโบราณ และเมืองเก่าแก่กว่า 700 ปี พร้อมกับเข้าสักการะขอพรองค์พ่อขุนรามฯกันจำนวนมาก นำรายได้เข้าสู่จังหวัดอย่างมหาศาล สร้างความกินดีอยู่ดีแก่คนท้องถิ่นด้วย









กำลังโหลดความคิดเห็น