xs
xsm
sm
md
lg

ร.๖ สั่งงานพระบรมศพก่อนสวรรคต ๑๗ ข้อ! ห้ามมีนางร้องไห้ ถ้ารักจริงก็ร้องเถิด และขอเดินทางสุดท้ายนี้แบบทหาร!! (๓)

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระเมรุมาศรัชกาลที่ ๖ เรียบง่าย สง่างาม
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะมีพระมเหสีเพียงองค์เดียวตามแบบอย่างตะวันตก แต่ก็ทรงมีพระราชประสงค์อย่างมุ่งมั่นที่จะมีสมเด็จพระหน่อเจ้าไว้สืบราชสกุลในสายของพระองค์ ทรงมีพระมเหสีด้วยความหวังที่จะมีพระหน่อนาถสักองค์หนึ่ง แต่ก็ทรงอาภัพในเรื่องนี้ ทำให้ต้องทรงลดพระอิสริยยศพระมเหสีที่ทำให้พระองค์หมดหวังในเรื่องนี้ลง จนกระทั่งพระมเหสีองค์ที่ ๓ จึงทรงครรภ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระปีติโสมมนัสยิ่ง โปรดสถาปนาพระมเหสีที่ทรงครรภ์ขึ้นเป็น “พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงประชวรด้วยพระโรคพระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) อักเสบ ต้องผ่าตัดมาแล้วครั้งหนึ่งขณะทรงศึกษาอยู่ที่อังกฤษ ต่อมามีสิ่งปกติเกิดขึ้นตรงบริเวณที่เคยผ่าตัด ผู้ใกล้ชิดกราบบังคมทูลให้ไปตรวจรักษาพระองค์ที่ต่างประเทศ แต่สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศยามนั้นตกต่ำเช่นเดียวกับเศรษฐกิจโลก ทำให้พระองค์รั้งพระทัยอยู่ จนกระทั่งพระอาการหนักขึ้นจนแน่พระทัยว่าจะมีพระชนม์ชีพอยู่ได้อีกไม่นาน โปรดให้เชิญพระองค์ไปประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน และโปรดให้พระนางเจ้าสุวัทนาเข้าประทับรอการประสูติพระราชกุมารที่พระปรัศว์ขวาของพระมหามณเฑียร

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงประชวรพระอาการทรุดหนักตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ แพทย์รายงานว่าพระโลหิตในพระอุทรเป็นพิษ ครั้นถึงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ เวลา ๑๒.๕๕ น. พระวรราชเทวีก็ประสูติเจ้าฟ้าหญิง ทรงพระราชทานพระนามไว้ล่วงหน้าทั้งชายและหญิงแล้วว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี” ซึ่งทรงเป็นเจ้านายพระองค์เดียวในราชวงศ์จักรีที่ประสูติ ณ พระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร

เจ้าพระยารามราฆพ ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก ได้เชิญพระราชกุมารประสูติใหม่เข้าเฝ้าฯ แล้วทูลว่าเป็นหญิง ทรงอ้ำอึ้งอยู่พักหนึ่งก่อนจะรับสั่งว่า “ก็ดีเหมือนกัน” ทรงพยายามยกพระหัตถ์ขึ้นจะลูบคลำพระราชธิดาด้วยหัวใจของพ่อที่อยากจะได้ลูกเป็นที่สุด แต่ก็ยกพระหัตถ์ไม่ขึ้น แพทย์ประจำพระองค์ต้องช่วยยกพระหัตถ์วางบนพระเศียรและลูบพระอุระพระราชธิดา ทรงสะอื้นพร้อมกับพระเนตรไหลลงสู่พระปราง หลังจากนั้นก็ไม่ตรัสประการใดอีก เสด็จสู่สวรรคาลัยเมื่อเวลา ๐๑.๔๕ น.ของวันที่ ๒๖ พฤศจิกายนนั้น รวมพระชนมายุได้ ๔๕ พรรษา ๙ เดือน ๒๕ วัน สถิตในราชสมบัติ ๑๕ ปี ๑ เดือน ๓ วัน

เรื่องการจัดงานพระบรมศพรัชกาลที่ ๖ นี้ พระองค์เองได้ทรงมีพระราชโองการแสดงพระราชประสงค์ไว้ตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๓ ก่อนสวรรคตถึง ๕ ปีเศษ ดังมีข้อความว่า

“เวลานี้ข้าพเจ้ากำลังมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ จึงขอสั่งข้อความไว้ดังต่อไปนี้

๑.ถ้าข้าพเจ้าสวรรคตลง ณ แห่งหนึ่งแห่งใด นอกจากในพระบรมมหาราชวัง ให้เชิญพระบรมศพโดยเงียบๆ เข้าไปยังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ให้จัดการสรงน้ำพระบรมศพในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน แล้วจึงให้เชิญไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

๒.ในเวลาที่ตั้งพระบรมศพที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และในเวลาอื่นๆต่อนี้ไปตลอด ห้ามมิให้มีนางร้องไห้ ถ้าผู้ใดรักข้าพเจ้าจริง ปรารถนาจะร้องไห้ก็ให้ร้องจริงๆเถิด อย่าร้องเล่นละครเลย

๓.ในงานทำบุญ ๗ วันทุกๆ ๗ วัน ไปจนถึงงานพระเมรุ ขอให้นิมนต์พระซึ่งข้าพเจ้าเคยชอบพอมาเทศน์ อย่าให้นิมนต์ตามยศ และนอกนั้นก็ให้นิมนต์พระเปรียญที่มีท่าทางจะเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาสืบไป

๔.งานพระเมรุ ขอให้กำหนดภายหลังวันสวรรคตเร็ววันที่สุดที่จะทำได้ ถ้าจะทำได้ภายในฤดูแล้งแห่งปีสวรรคตแล้วก็ยิ่งดี เพราะการไว้พระบรมศพนานๆ เป็นการเปลืองเปล่าๆ

๕.ในการทำบุญ ๗ วัน เมื่อไว้พระศพก็ดี และในงานพระเมรุก็ดี ขอให้จัดทำพิธีกงเต๊ก ถ้าไม่มีใครศรัทธาทำให้ข้าพเจ้า ขอให้ทายาทของข้าพเจ้าหาพรตอานัมนิกาย จีนนิกาย มาทำให้ข้าพเจ้า

๖.ส่วนงานพระเมรุขอให้รวบรัดตัดกำหนดการลงให้น้อย คือ ตัวพระเมรุให้ปลูกตรงถาวรวัตถุ ใช้ถาวรวัตถุนั้นเองเป็นพลับพลาทรงธรรม

๗.ก่อนที่จะยกพระศพไปสู่พระเมรุ ให้มีงานศราทพรตที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทวันเดียว

๘.ญาติวงศ์ของข้าพเจ้า และข้าราชการกระทรวงต่างๆ ถ้ามีความปรารถนาจะทำบุญให้ข้าพเจ้า ก็ให้ทำเสียให้เสร็จในขณะที่ตั้งพระบรมศพอยู่ก่อนงานพระเมรุ ส่วนงานพระเมรุขอให้เป็นงานหลวงอย่างเดียว

๙.สังเคดขอให้จัดของที่เป็นประโยชน์สำหรับพระสงฆ์ที่จะได้รับไป และให้เลือกพระสงฆ์ที่จะได้สังเคดนั้น ให้เลือกพระสงฆที่จะใช้สังเคดจริง จะไม่เอาไปขาย

๑๐.ส่วนของแจก ขอให้เลือกเป็นหนังสือ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งด้วยกิจการที่ข้าพเจ้าได้ทำเป็นประโยชน์มาแล้วแก่แผ่นดิน อีกอย่างหนึ่งขอให้เป็นหนังสือที่จะเป็นประโยชน์แก่พระศาสนา

๑๑.ในการแห่พระบรมศพ ตั้งแต่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปถึงวัดพระเชตุพน ให้ใช้พระยานมาศตามประเพณี จากวัดพระเชตุพนไปพระเมรุ ขอให้จัดแต่งรถปืนใหญ่เป็นรถพระบรมศพ เพราะข้าพเจ้า เป็นทหาร อยากจะใคร่เดินทางระยะสุดท้ายนี้อย่างทหาร

๑๒.ในกระบวนแห่นี้ นอกจากทหาร ขอให้จัดมีเสือป่าและลูกเสือเข้าสมทบร่วมกระบวนด้วย และ ขอให้นักเรียนโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ได้เข้ากระบวนด้วย

๑๓.การโยงโปรย ขอให้งด ไม่ต้องมีทุกระยะ และประคองพระโกศ ขอให้ใช้เจ้าหน้าที่กรมภูษามาลา

๑๔.การอ่านพระอภิธรรมนำพระบรมศพ ถ้าสิ้นสมเด็จพระมหาสมณ กรมยาวชิรญาณวโรรส และพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นชินวรสิริวิวัฒน์ไปแล้ว ขอให้นิมนต์พระญาณวราภรณ์ (ม.ร.ว.พระชื่น) วัดบวรนิเวศ หรือพระราชสุธี (อุปโม) วัดราชาธิวาส แต่ถ้าแม้ท่านทั้ง ๒ นี้จะนำไม่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งแล้ว จึงให้นิมนต์พระราชาคณะผู้ทรงสมณศักดิ์สูงกว่ารูปใดๆในคณะธรรมยุติกนิกาย

๑๕.ในการถวายพระเพลิง เมื่อแตรทหารบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีจบแล้ว ขอให้รวมแตรสั้นเป่า เพลงสัญญาณนอน

๑๖.ส่วนงานพระบรมอัฐิ ขอให้ทำตามระเบียบที่เคยทำมาแล้วเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง

๑๗.พระอังคาร ขอให้บรรจุใต้ฐานพระพุทธชินสีห์ในวัดบวรนิเวศวิหารส่วน ๑ อีกส่วน ๑ ขอให้กันเอาไว้ไปบรรจุใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ที่พระปฐมเจดีย์ ในโอกาสอันเหมาะ ซึ่งไม่ติดต่อกับงานพระเมรุ

พระบรมราชโองการนี้ ได้กระทำไว้เป็น ๓ ฉบับความต้องกัน พระราชทานให้เสนาบดีกระทรวงวังไปรักษาไว้ฉบับ ๑ ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กรักษาไว้ฉบับ ๑ ราชเลขาธิการรักษาไว้ฉบับ ๑ และทรงกำชับเจ้าหน้าที่ทั้ง ๓ นี้ ให้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์สืบสันตติวงศ์ เพื่อให้ทรงทราบพระราชประสงค์นี้โดยตลอดถ้วนถี่

(พระบรมนามาภิไธย) ราม.วชิราวุธ ป.ร.

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดการพระบรมศพตามพระบรมราชโองการนี้ตามพระราชประสงค์เกือบครบถ้วน เว้นแต่เฉพาะที่ขัดกับโบราณราชประเพณี เช่นการแห่พระบรมศพจากวัดพระเชตุพนไปสู่พระเมรุ ซึ่งตามพระราชประสงค์ของพระบรมเชษฐาธิราช อยากจะเดินทางระยะที่สุดนี้อย่างทหาร ก็โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนเป็นเชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นพระมหาพิชัยราชรถ ครั้นถึงพระเมรุจึงให้เชิญพระโกศพระบรมศพเลื่อนลงสู่ราชรถปืนใหญ่รางเกวียน ทหารรักษาวังฉุดเชือกชักราชรถเวียนพระเมรุ ทรงได้เดินทางระยะสุดท้ายอย่างทหารเหมือนกัน

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดขึ้นที่พระเมรุมาศท้องสนามหลวง เมื่อวันที ๒๔ มีนาคม ๒๔๖๘

การบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗ หลังครองราชย์อยู่ ๙ ปี ๓ เดือน ๕ วัน และเสด็จไปประทับที่ตำบลเวอร์ยิเนีย วอเตอร์ อันป็นชนบทใกล้กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวายโดยปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๔ มีการถวายพระเพลิงพระบรมศพที่สุสานโกลเดอรส์กรีน ประเทศอังกฤษในวันที่ ๓ มิถุนายนต่อมา

สมเด็จพระนางรำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ได้ทรงเชิญพระบรมอัฐิกลับประเทศไทย รัฐบาลโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งบังคับบัญชาสำนักพระราชวัง รับพระบัญชาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ส่งเรือรบหลวงแม่กลองไปรับพระบรมอัฐิต่อจากเรือภาณุรังษีที่หน้าป้อมพระจุลจอมเกล้าเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๒ กระบวนเรือเชิญพระบรมอัฐิเข้าเทียบท่าราชวรดิฐในเวลา ๑๕.๓๐ น.

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสด็จขึ้นไป ร.ล.แม่กลอง ถวายสักการะพระบรมอัฐิ แล้วโปรดให้พนักงานพระราชพิธีเชิญพระโกศพระบรมอัฐิลงจาก ร.ล.แม่กลอง ทหารเรือยิงปืนใหญ่ถวายเคารพ ทหารกองเกียรติยศถวายเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ชาวพนักงานประโคมมโหระทึก สังข์ แตร และกลองชนะ พนักงานพระราชพิธีเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานเหนือบุษบกราเชนทรรถ ตั้งกระบวนพยุหยาตราใหญ่ ๔ สาย มีกระบวนทหาร กระบวนพระราชอิสริยยศ แห่นำและตามพระบรมอัฐิ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ตามพระบรมอัฐิมาทางถนนมหาราช ถนนท้ายวัง ถนนสนามไชย และถนนหน้าพระลาน เข้าสู่พระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี กระบวนพระราชอิสริยยศเข้าทางประตูพิมานไชยศรี หยุดพระราเชนทรรถเทียบเกยหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พนักงานพระราชพิธีเชิญพระโกศพระบรมอัฐิลงจากบุษบกราเชนทรรถ ขึ้นประดิษฐานเหนือพระที่นั่งพุดตานถมบรมราชอาสน์ บนพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมอัฐิ แล้วเสด็จกลับ

วันที่ ๒๕ พฤษภาคม เวลา ๑๖.๐๐ น.ทหารบกยิงปืนนาที ถวายความเคารพ ๔๘ นัดที่ท้องสนามหลวง

ในเวลาเดียวกัน ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสด็จมายังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงวางพวงดอกไม้ของหลวงหน้าพระพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดุษณีภาพ ๑ นาที แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมอัฐิ ชาวพนักงานประโคมมโหระทึก สังข์ แตร กลองชนะ ทหารกองเกียรติยศถวายเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี จบแล้วพระบรมวงศานุวงศ์ คณะทูต คณะรัฐมนตรี และข้าราชการถวายสักการะ

สังการีนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นนั่งยังอาสนะบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระศรีรัตนตรัย เครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิและเครื่องทรงธรรม สมเด็จพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ แล้วพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๕๐ รูป สาดศราทพรตคาถา จบแล้วผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงทอดผ้า พระสงฆ์ทั้งนั้นสดับปกรณ์ถวายอนุโมทนา แล้วผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสด็จกลับ

วันที่ ๒๖ พฤษภาคม เวลาเช้า พนักงานพระราชพิธีเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมอัฐิสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ออกประดิษฐานเหนือพระที่นั่งพุดตานถมบรมราชาอาสน์ บนพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร

๑๐.๐๐ น. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระศรีรัตนตรัย เครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิ แล้วทรงทอดผ้าไตร ๓ หาบ พระสงฆ์ ๙ รูปสดับปกรณ์พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วทรงประเคนภัตตาหาร ๓ หาบ พระสงฆ์ ๙ รูปรับพระราชทานฉัน เสร็จแล้วถวายอนุโมทนา

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงทอดผ้า พระสงฆ์ ๑๓ รูปสดับปกรณ์พระบรมอัฐิพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมอัฐิสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ถวายอนุโมทนา แล้วผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงทอดผ้า พระสงฆ์อีก ๓๐ รูปสดับปกรณ์พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วถวายอนุโมทนา

โปรดให้พนักงานภูษามาลา เชิญพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์และพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพราชินีนาถที่กล่าวมาแล้ว ขึ้นประดิษฐาน ณ หอพระบรมอัฐิชั้นบนแห่งพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ชาวพนักงานประโคมมโหระทึก สังข์ แตร กลองชนะ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จไปส่งพระบรมอัฐิถึงที่

ต่อมาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โปรดให้เชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเปิดให้ประชาชนถวายสักการะตั้งแต่วันที่ ๑๓ ถึง ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๒ ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ น.ถึง ๑๖.๐๐ น.

ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๒ จึงได้เชิญพระราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปบรรจุ ณ พุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส ณ วัดราชบพิธ
พระร่วงโรจนฤทธิ์ หน้าองค์พระปฐมเจดีย์
สมเด็จพระนางรำไพพรรณี ทรงเชิญพระบรมอัฐิ ร.๗ กลับประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น