xs
xsm
sm
md
lg

ร.๓ ขอย้ายไปรอสวรรคตนอกพระที่นั่งทรงประทับ! ด้วยเกรงพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่อาจรังเกียจ!! (๒)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค

พระเมรุมาศรัชกาลที่ ๔ ซึ่งอลังการสูงใหญ่เป็นครั้งสุดท้าย
พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๓ ได้บันทึกความตอนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรอาการมาก เห็นจะเป็นโรคใหญ่เหลือกำลังแพทย์จะเยี่ยวยา ทรงมีกระแสพระราชดำรัสถึงผู้สืบราชสมบัติไว้ดังนี้

“...กรุงเทพมหานครศรีอยุธยาขอบขัณฑเสมาอาณาจักรกว้างขวาง พระเกียรติยศก็ปรากฏไปทั่วนานาประเทศ ถ้าทรงพระมหากรุณาพระราชทานอิสริยยศมอบให้พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งซึ่งพอพระทัย ให้เสวยราชสมบัติแทนพระองค์ต่อไป แต่ตามชอบอัธยาศัยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียวนั้น เกลือกเสียสามัคคีร้าวฉาน ไม่ชอบใจไพร่ฟ้าประชาชนและคนมีบรรดาศักดิ์ทำราชกิจทุกพนักงาน ก็จะเกิดอุปัทวภยันตรายเดือดร้อนแด่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร์จะได้รับความลำบาก เพราะมิพร้อมใจกัน ด้วยกำลังทรงพระมหากรุณาเมตตากับไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นอันมาก ทรงพระราชดำรัสให้จดหมายกระแสพระราชโองการปฏิญาณยกพระนามพระรัตนตรัยสรณคมน์เป็นประธานพยานให้เห็นจริงในพระราชหฤทัยแล้ว ทรงพระราชดำรัสยอมอนุญาตให้เจ้าพระยาพระคลังซึ่งว่าที่สมุหพระกลาโหม พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา พระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุหนายก กับขุนนางทั้งปวง จงมีความสโมสรสามัคคีปรึกษาพร้อมกัน เมื่อเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดที่มีวัยวุฒิปรีชา รอบรู้ราชานุวัตร เป็นศาสนูปถัมภก ยกบวรพุทธศาสนา และปกป้องไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร รักษาแผ่นดินให้เป็นสุขสวัสดิ์โดยยิ่ง เป็นที่ยินดีแก่มหาชนทั้งปวงได้ ก็สุดแต่จะเห็นดีประนีประนอม พร้อมใจกันยกพระบรมวงศ์องค์นั้นขึ้นเสวยมไหสวรรยาธิปัตย์ถวัลยราช สืบสันตติวงศ์ดำรงราชประเพณีต่อไปเถิด”

ปกติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันออก ครั้นทรงประชวรหนักทรงพระราชปรารภว่า ถ้าสวรรคตลง ณ ที่นั้น พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ต่อๆไปอาจรังเกียจ จึงโปรดให้เชิญพระองค์ออกไปบรรทมรอวันสวรรคตทางองค์ตะวันตก ซึ่งจะไม่เกี่ยวข้องกับการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป แล้วพระองค์ก็เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิมานองค์ตะวันตก หลังจากพระราชทานพระราชดำรัสให้นำออกส่งแก่เสนาบดีไม่ถึง ๒ เดือน ในวันพุธที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๓๙๔ สิริรวมพระชนมายุ ๖๓ พรรษา ๒ วัน สถิตในราชสมบัติ ๒๖ ปี ๘ เดือน ๑๒ วัน

เจ้าพนักงานถวายพระเครื่องต้นทรงตามขัตติยราชประเพณี เชิญพระศพเข้าสู่พระบรมโกศทองคำจำหลักลายกุดั่นประดับพลอยนวรัตน์ ตั้งกระบวนแห่ออกประตูสยามราชกิจ ไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ กล่าวถึงงานพระบรมศพไว้ว่า

“ลุศักราช ๑๒๑๔ ปีชวด (พ.ศ.๒๓๙๕) จัตวาศก เป็นปีที่ ๒ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เร่งทำการพระเมรุให้ทันในฤดูแล้ง เจ้าพนักงานจับการทำพระเมรุมาศขนาดใหญ่สูงตลอดยอด ๒ เส้น มียอดปรางค์ ๕ ยอด ยอดภายในมีพระเมรุทองสูง ๑๐ วา ตั้งเบญจารองพระบรมโกศ มีเมรุทิศทั้ง ๘ มีราชวัติ ๒ ชั้น มีฉัตรเงิน ฉัตรทอง ฉัตรนาค รายตามราชวัติชั้นใน ฉัตรเบญจรงค์ รายตามราชวัติชั้นนอก มีโรงรูปสัตว์รายรอบไปในราชวัติฉัตรเบญจรงค์ มีระทาดอกไม้สูง ๑๒ วา ๑๖ ระทา มีเครื่องประดับประดาในพระบรมศพครบทุกสิ่งทุกประการ ตามเยี่ยงอย่างประเพณีพระบรมศพมาแต่ก่อน มีการวิเศษออกไปกว่าพระเมรุมาศแต่ก่อนคือ เจาะผนังเป็นช่องแกลทำเป็นซุ้มยอดประกอบติดกับผนัง ทำเรือนตะเกียงใหญ่ในระวางมุขทั้ง ๔ เป็นที่ประกวดประขันกันอย่างยิ่ง ขอแรงในพระบวรราชวัง ซุ้ม ๑ ในสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ซุ้ม ๑ ในสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ซุ้ม ๑ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ ซุ้ม ๑ ซุ้มตะเกียงนั้นสูง ๓ วา มีเครื่องประดับประดาและเรือนไฟเป็นการช่างต่างๆ มีรูปลั่นถันสูง ๖ ศอกข้างประตูทุกประตู มีศาลาหลวงญวนทำกงเต๊ก ๗ วัน ๗ คืน และโปรดให้เจ้าสัว เจ้าภาษี ผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปคำนับพระบรมศพตามอย่างธรรมเนียมจีน มีเครื่องเซ่นทุกวัน นอกจากนั้นจะพรรณาไปก็ยืดยาวนัก ด้วยของมีตำราอยู่แล้ว จับการทำเมรุมาศตั้งแต่เดือน ๑๑ มา ๘ เดือนจึงสำเร็จ”

งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรเป็นไข้ป่าการจากเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยปราคา ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงคำนวนสุริยปราคาได้แม่นทั้งเวลาและสถานที่ที่จะเห็นสุริยปราคาครั้งนี้ได้ชัดเจนที่สุด ซึ่งทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยขจรขยาย และนักดาราศาสตร์ของโลกต่างเทิดพระเกียรติยอมรับว่าพระองค์ทางเป็นนักดาราศาสตร์สำคัญของโลกพระองค์หนึ่ง แต่สิ่งนี้พระองค์ต้องทรงแลกมาด้วยพระชนม์ชีพ ได้รับเชื้อไข้ป่ามาจากแดนธุรกันดาร ทำให้สิ้นพระชนม์หลังจากที่เสด็จกลับมาพระนครได้เพียง ๓๗ วัน

ขณะทรงประชวรหนัก พระองค์ก็ยังมีพระสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และรู้พระองค์ว่าใกล้จะถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพแล้ว จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาแจ้งแก่พระราชวงศ์และเสนาบดีที่กำลังประชุมกันถึงผู้สืบสันตติวงศ์ พระราชทานพระบรมราชานุภาพให้ปรึกษาจงพร้อมกัน เมื่อเห็นว่าผู้ใดปรีชาสามารถที่จะรักษาแผ่นดินไว้ได้ ก็ยกให้ผู้นั้น สุดแต่จะประชุมพิจารณาเห็นชอบพร้อมกัน พระองค์จะไม่ทรงมอบหมายเจาะจงให้ผู้ใดเป็นผู้สืบราชสมบัติ

ต่อมาได้พระราชทานพระธำมรงค์เพชรบูชาพระพุทธบุรุษรัตน์ และพระราชทานเครื่องยศสิ่งของมีค่าและเงินตราแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเป็นอันมาก โปรดให้จดคาถาเป็นคำมคธขอขมาสงฆ์ และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่เข้าเฝ้าถึงที่ทรงประชวร ทรงขอขมาและแจ้งกำหนดให้ทราบว่า พระองค์จะเสด็จสวรรคตในวันนั้น

เมื่อพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ออกจากที่เฝ้าไปแล้ว โปรดให้พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ พยุงพระองค์พลิกพระเศียรทับพระพาหา เหมือนท่าพระไสยาสน์ ตรัสว่าเขาตายกันดังนี้
จากนั้นก็ทรงเจริญพระกรรมฐานสมาธิภาวนานิ่ง จนเสด็จสู่สวรรคต

วันอันสุดแสนวิปโยคนั้น ตรงกับวันที่ ๑ ตุลาคม จุลศักราช พ.ศ.๒๔๑๑ นับทางจันทรคติตรงกับพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นวันมหาปวารณา เหมือนเสด็จพระราชสมภพ สิริรวมพระชนมายุ ๖๓ พรรษา ๑๑ เดือน ๑๓ วัน อยู่ในราชสมบัติ ๑๖ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน

ครั้นรุ่งขึ้นวันศุกร์ เจ้าพนักงานจัดเตรียมการสรงสักการะพระบรมศพ เตรียมขบวนแห่ และที่ประดิษฐานพระบรมศพพร้อมเสร็จ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อยประชุมพร้อมกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม (หลังเก่า) แต่เช้า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงให้พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ไปเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถ ที่พระตำหนักสวนกุหลาบ ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ก็ประชวรด้วยไข้ป่าจากการตามเสด็จพระราชบิดาเช่นกัน พระกำลังอ่อนเพลีย เมื่อทรงทราบการสวรรคตของพระราชบิดาก็ทรงโศกศัลย์จนไม่สามารถจะทรงพระราชดำเนินได้ ต้องเชิญเสด็จด้วยพระเก้าอี้หามขึ้นไปที่พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ ที่สรงพระบรมศพ พอทอดพระเนตรเห็นพระบรมศพพระบรมชนกนาถ พอยกพระหัตถ์ขึ้นถวายบังคมก็ทรงสลบแน่นิ่งไป หมอหลวงที่ตามเสด็จแก้ไขพอฟื้นคืนได้สมปฤดี แต่พระกำลังยังอ่อนแอไม่สามารถจะเคลื่อนพระองค์ลงจากพระเก้าอี้ได้ จึงมีรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนปราบปรปักษ์ ถวายน้ำสรงทรงเครื่องพระบรมศพแทนพระองค์ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่เห็นว่าจะให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่นั่นต่อไป เกรงว่าพระอาการจะกำเริบ จึงสั่งให้เชิญเสด็จไปยังพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย ซึ่งจัดไว้เป็นที่ประทับจนกว่าจะได้ทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปราบปรปักษ์ สรงน้ำทรงเครื่องพระบรมศพแล้วเชิญลงพระลองเงิน แห่พระบรมศพเป็นกระบวนมาออกประตูสนามราชกิจ เชิญพระโกศขึ้นตั้งบนพระยานมาศสามลำคาน ประกอบพระโกศทองใหญ่ มีพระมหาเศวตฉัตรกั้นแห่กระบวนใหญ่ไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นประดิษฐานเหนือแว่นฟ้าทองคำในมหาปราสาทด้านตะวันตก ตั้งเครื่องสูง เครื่องราชูปโภค ตั้งเตียงพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม ๒ เตียง และมีนางร้องไห้ มีเครื่องประโคมตามอย่างพระบรมศพแต่ก่อน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่เสด็จถวายบังคมพระบรมศพและบำเพ็ญพระราชกุศล สนองพระเดชพระคุณด้วยประการต่างๆทุกวัน

การทำพระเมรุมาศถวายพระเพลิง มีจดหมายเหตุว่าด้วยการเกณฑ์เครื่องทำพระเมรุมาศตอนหนึ่งว่า

“โปรดเกล้าให้พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ผู้น้อยและท่านเสนาบดี จัดการทำพระเมรุมาศตามอย่างพระเมรุมาศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทันกำหนดถวายพระเพลิงพระบรมศพในฤดูหนาว เดือนสาม ปีมะเส็ง เอกศก และเจ้าเมือง ผู้รั้ง กรมการหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือซึ่งขึ้นมหาดไทย กลาโหม กรมท่า ก็ได้ทรงพระมหากรุณาให้ทำราชการฉลองพระคุณต่างพระเนตรพระกรรณ รักษาพระราชอาณาเขต ณ เมืองเอก โท ตรี จัตวา มีบรรดาศักดิ์ตามตำแหน่งทั่วกัน ควรฉลองพระเดชพระคุณให้สมแก่ชื่อเสียง โดยทรงกรุณาชุบเลี้ยงมาในการครั้งนี้จนทุกเมือง”

จดหมายเหตุอีกตอนกล่าวว่า

“อนึ่ง ให้มหาดไทย กลาโหม กรมเมือง นายอำเภอ บอกข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายทหารพลเรือน ฝ่ายหน้าฝ่ายในพระราชวังหลวง พระราชวังบวร เสมียน ทนาย สม ทาส เชลย ราษฎร ไพร่ โกนศีรษะแต่ ณ วันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ให้พร้อมกันจงทุกหมู่ทุกกรม เมื่อวันถวายพระเพลิงนั้นไม่ต้องโกนอีก หมายบอกให้รู้กันจงทุกหมู่กรม”

ครั้นถึงเดือน ๔ ปีมะเส็ง เอกศก จึงโปรดฯให้ถวายพระเพลิงพระบรมศพ

งานพระเมรุมาศพระบาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานกระแสพระราชดำริเป็นพระราชหัตถเลขา ให้ลดขนาดพระเมรุมาศที่จะถวายพระเพลิงพระบรมพระองค์เองลง ปลูกแต่พอถวายพระเพลิง ไม่ต้องยิ่งใหญ่ตามธรรมเนียมเก่า จนเป็นแบบแผนมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนั้นยังมีการเปลี่ยนแปลงตามประเพณีเก่าอีก ดังประกาศ คือ

“มีรับสั่งสมเด็จพระบรมโอรสธิราชซึ่งได้สำเร็จราชการแผ่นดิน ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า สมเด็จพระบรมราชชนก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประชวรพระโรคพระธาตุพิการมาแต่ ณ วันที่ ๑๖ ตุลาคม พระโรคกลายไปในทางพระวักกะพิการ แพทย์ได้ประกอบพระโอสถถวาย พระอาการหาคลายไม่ ถึง ณ วันเสาร์ที่ ๒๒ ตุลาคม เสด็จสวรรคตเวลา ๒ ยามกับ ๔๕ นาที จะได้เชิญพระบรมศพสู่พระโกศ แห่จากพระราชวังดุสิตไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม

ความเศร้าโศกสาหัสอันบังเกิดขึ้นในพระบรมมหาราชวังครั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงแน่พระราชหฤทัยว่า จะเป็นความเศร้าโศกแก่ประชาชนทั้งหลายทั่วไปในพระราชอาณาจักร เพราะเหตุที่สมเด็จพระบรมราชชนกาธิราชได้ทรงพระกรุณาทำนุบำรุงมาทั่วกัน

อนึ่ง ตามโบราณราชประเพณี ในเวลาพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ราษฎรทั้งหลาย ต้องโกนผมแทนการไว้ทุกข์ทั่วทั้งพระราชอาณาจักร แต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถได้ทรงมีพระราชดำรัสสั่งไว้ว่า การไว้ทุกข์ดังเช่นที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมเป็นเครื่องเดือดร้อนอยู่เป็นอันมาก ให้ยกเลิกเสียเถิด

ประกาศมา ณ วันที่ ๒๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙

นอกจากนี้ยังมีประกาศของเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล อีกฉบับ ว่า

“ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ได้สังเกตเห็นราษฎรทั้งหลายไม่เลือกว่าชั้นใด ชาติใด เมื่อได้ทราบข่าวว่าสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเสียแล้ว ต่างพากันเศร้าโศกอาดูรด้วยความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จนถึงเวลาเมื่อเชิญพระศพมาสู่พระราชวัง ก็ยังอุส่าห์พากันมาร่ำร้องไห้เสียงเซ็งแซ่ตลอด ๒ ข้างทาง บางหมู่ก็พากันเดินตามพระบรมศพมาจนถึงพระบรมมหาราชวัง เจ้าพนักงานจะห้ามปรามสักเท่าใดๆ ก็ไม่ฟัง เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเห็นความสวามิภักดิ์อันหนักแน่นลึกซึ้งของราษฎรทั้งหลายมาปรากฏเฉพาะพระพักตร์เช่นนี้ มีพระราชหฤทัยเต็มตื้นไปด้วยความสงสาร และทรงแน่พระราชหฤทัยว่า ราษฎรทั้งหลายคงจะมีความปรารถนาอยู่เป็นอันมากที่จะได้มากราบถวายบังคมพระบรมศพ โดยความกตัญญูกตเวทีและความเสน่หาอาลัย

เพราะฉะนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า ถ้าราษฎรทั้งหลายไม่เลือกว่าชั้นใด ชาติใด ภาษาใด ชายหรือหญิง แม้มีความประสงค์จะมาแสดงความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท กราบถวายบังคมพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เข้ามาได้เดือนละครั้งตามกำหนดเวลาดังนี้

วันที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ เดือนพฤศจิกายน ตรงกับวัน ที่ ๓ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ วันที่ ๔ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ วันที่ ๕ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ วันที่ ๖ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๒ วันที่ ๗ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ตั้งแต่เวลาบ่ายโมงจนไปถึงเวลาบ่าย ๕ โมงครึ่ง ส่วนเดือนธันวาคมและเดือนต่อๆ ก็คงมีกำหนดวันที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ เวลาเดียวกัน จนกว่าจะได้ถวายพระเพลิง แต่ผู้ที่จะมากราบถวายบังคมพระบรมศพนั้น ควรแต่งตัวอย่างเรียบร้อยตามธรรมเนียมไว้ทุกข์ คือผู้ชายนุ่งขาว สวมเสื้อขาว ผู้หญิงนุ่งขาว สวมเสื้อขาว ห่มขาว ถ้าเป็นชาติที่มีธรรมเนียมไว้ทุกข์ดำ ก็แต่งกายตามลัทธิแห่งตน และถ้าจะมีดอกไม้ธูปเทียนหรือพวงมาลัยมากระทำสักการะบูชาด้วยก็ยิ่งดี จะมีเจ้าพนักงานคอยเป็นธุระจัดการให้ผู้ที่มานั้น ได้กราบถวายบังคมพระบรมศพตามความปรารถนา”

ต่อมาในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับเป็นประธานในการประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี ปรึกษาหารือในเรื่องการทำพระเมรุมาศถวายพระเพลิง ตกลงกันโดยหัวข้อใจความดังนี้

พระเมรุท้องสนามหลวงงด ซ่อมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นถาวรวัตถุที่ประดิษฐานพระบรมโกศ
ทำพระเบญจาทองคำรองพระโกศ เพราะได้ทรงเก็บทองคำไว้สำหรับมีอยู่แล้ว

เลิกการฉลองต่างๆ คือ ดอกไม้เพลิงและการมหรสพต่างๆ และไม่ต้องมีการตั้งโรงครัวเลี้ยง
เลิกต้นกัลปพฤกษ์ เปลี่ยนเป็นพระราชทานของแจก

สังเค็ดนั้น มีสังเค็ดเอกชั้นเดียว แต่แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือสำหรับบุคลอย่างหนึ่ง สำหรับอารามอย่างหนึ่ง สำหรับทานสถานต่างๆ คือ โรงเรียนและโรงพยาบาลเป็นต้นอย่างหนึ่ง ส่วนสำหรับอารามนั้น จะได้พระราชทานไปยังอารามทุกศาสนา คือ วัดญวน วัดบาทหลวง สุเหร่าแขก และศาลเจ้ากวางตุ้ง เป็นต้น
ทำพระเมรุบุษบกน้อย ณ ท้องสนามหลวงเป็นที่ถวายพระเพลิง มีพระที่นั่งทรงธรรมหลังหนึ่ง มีโรงที่พักและเครื่องสูง ราชวัติ ฉัตร ธง ประดับประดาตามพระเกียรติยศ

การถวายพระเพลิงนั้น เชิญพระโกศพระศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปเข้ากระบวนที่หน้าวัดพระเชตุพน มาตั้งพระบรมโกศที่พระเมรุท้องสนามหลวง เวลาเย็นถวายพระเพลิง รุ่งขึ้นเวลาเช้าแห่พระบรมอัฐิเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ได้กระทำที่พระเมรุมาศท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ ๑๖
มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๓
งานพระเมรุมาศรัชกาลที่ ๔
ระทาดอกไม้ไฟ เป็นครั้งสุดท้ายในรัชกาลที่ ๔ เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น