ตามโบราณราชประเพณี การถวายพระเพลิงพระบรมศพเจ้านายพระบรมวงศ์นั้น นอกจากการก่อสร้างพระเมรุมาศและอาคารบริวารแล้ว ยังมีเครื่องใช้ต่างๆ สำหรับการพระราชพิธีตามพระราชอิสริยยศพระบรมศพ เป็นถาวรวัตถุอันเป็นงานประณีตศิลป์ เป็นโบราณวัตถุที่ตกทอดเป็นมรดกศิลปะมาแต่โบราณกาล เช่น ราชรถ ราชยาน เกริน เป็นต้น เครื่องใช้เหล่านี้อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากรและสำนักพระราชวัง
ราชรถในวรรณคดีหมายถึงรถศึก แต่ราชรถในพระราชพิธีเป็นเครื่องประดับพระอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ แสดงถึงฐานะที่เป็นสมมติเทพ และใช้ในพระราชพิธีสำคัญเท่านั้น เช่นในพระราชพิธีเสด็จเลียบพระนคร มีหลักฐานว่าเริ่มใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ในปัจจุบันใช้ราชรถเฉพาะในพระราชพิธีพระบรมศพเท่านั้น
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงจัดพระราชพิธีอย่างยิ่งใหญ่ ต้อนรับ เชอวาเลีย เดอ โชมองต์ ราชทูตผู้ถือพระราชสาส์นจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส มาเจริญพระราชไมตรี บาทหลวงเดอ ชัวซีได้บันทึกถึงขบวนแห่ต้อนรับไว้ว่า
“...พอถึงพระทวารชั้นนอกขบวนแห่ก็หยุด ท่านทูตลงจากเสลี่ยง แล้วเชิญพระราชสาส์นลงจากราชรถ ประคองพานพระราชสาส์นย่างเข้าไปในเขตพระราชวัง”
ท่านทูตนั้นมาเสลี่ยง แต่พระราชสาส์นมาราชรถ
ธรรมเนียมไทยเราถือว่า พระราชสาส์นที่มีลายพระหัตถ์ของพระเจ้าแผ่นดินนั้น มีความสำคัญกว่าตัวราชทูต
ครั้นสมัยพระเพทราช พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบันทึกถึงการเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์ไว้ว่า
“...สำหรับขัตติยราชประเพณี แล้วจึงให้เชิญพระโกศทองคำซึ่งใส่พระบรมศพสู่พระมหาพิชัยราชรถ...”
นอกจากนี้ยังมีการใช้ราชรถในพระราชพิธีอินทราภิเษก คือพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งที่ ๒ เมื่อทรงปราบปรามประเทศราชไว้ในพระราชอาณาจักรมากขึ้น
ในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้กล่าวถึงพระมหาพิชัยราชรถเป็นครั้งแรก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) สมุหกลาโหม กราบทูลว่า
“ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหาพิชัยราชรถ เรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย เรือพระที่นั่งไกรสรมุข เรือกระบวนใหญ่น้อย และเครื่องสรรพยุทธทั้งปวง เมืองเอก โท ตรี จัตวา ทั้งไพร่พลฝ่ายทหาร แด่พระบาทสมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ขอเดชะ”
ตอนเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.๒๓๑๐ ราชรถถูกทำลายไปทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีพระราชประสงค์ที่จะฟื้นฟูจารีตประเพณีและศิลปวัฒนธรรมครั้งกรุงเก่ากลับมาทั้งหมด จึงโปรดให้สร้างปราสาทราชวังและศิลปวัตถุอีกหลายอย่างเลียนแบบกรุงศรีอยุธยา โปรดให้สร้างราชรถขึ้น ๗ คัน มีปรากฏข้อความที่กล่าวถึงอยู่ในหนังสือ “พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี” ซึ่งข้อ ๑๗๖ ได้กล่าวไว้ว่า
“๑๗๖ ปีเถาะ สัปตศก พระโองการรับสั่งให้ช่างทำพิชัยราชรถขึ้น จะทรงพระโกศพระอัฐิ ๗ รถ ให้ตัดเสาพระเมรุตั้งทรงประดับเครื่องให้แล้วเสร็จในปีเถาะ”
ราชรถทั้ง ๗ คันที่สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ปัจจุบันยังเก็บรักษาไว้ที่โรงราชรถ ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร และยังคงใช้ในพระราชพิธีสำคัญ โดยบางองค์จะต้องได้รับการซ่อมแซมบูรณะให้งดงาม มั่นคง ก่อนนำออกใช้ ซึ่งเครื่องใช้สำคัญได้แก่
พระมหาพิชัยราชรถ เป็นราชรถขนาดสูงใหญ่เช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา สูง ๑,๑๒๐ ซม.ยาว ๑,๕๓๐ ซม. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อการพระบรมศพสมเด็จพระปฐมบรมราชชนก ใน พ.ศ.๒๓๓๘ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๔๒ ได้ใช้พระมหาพิชัยราชรถทรงพระโกศสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดีอีกครั้ง หลังจากนั้นได้อัญเชิญพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินมาตลอด
ในงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ใช้พระมหาพิชัยราชรถเป็นราชรถทรงพระโกศ ซึ่งนับเป็นพระเกียรติสูงสุด
พระมหาพิชัยราชรถได้รับการซ่อมบูรณะมาแล้ว๓ ครั้ง คือ
ครั้งแรก ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสริมความมั่นคงเพิ่มล้อที่ใต้ตัวรถอีก ๑ ล้อ เพื่อรับน้ำหนักตัวรถ บุษบก และพระโกศ ให้เคลื่อนย้ายสะดวกขึ้น และซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดทั่วไปให้มีสภาพสมบูรณ์ สวยงามเหมือนเดิม
ครั้งที่สอง ในรัชกาลที่ ๙ กรมศิลปากรได้ดำเนินการซ่อมเพื่อความมั่นคงถาวร และเพื่อสงวนรักษางานประณีตศิลป์ของชาติให้ดำรงอยู่ยั่งยืน บูรณะเสร็จในปี ๒๕๓๐
และครั้งที่สามในการถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในปี ๒๕๓๘ กรมศิลปากรกับกรมสรรพาวุธทหารบก ได้ร่วมกันดำเนินการซ่อม โดยกรมศิลปากรรับผิดชอบด้านวิจิตรศิลป์ เช่นลวดลายต่างๆ กรมสรรพาวุธรับหน้าที่ซ่อมแซมช่วงล่างของราชรถทั้งหมด
พระมหาพิชัยราชรถมีน้ำหนักถึง ๔๐ ตัน ใช้กำลังคน ๒๐๖ คน ข้างหน้า ๑๖๐ คน ข้างหลัง ๔๖ คน
๑.พระเสลี่ยงแว่นฟ้า ๑ องค์ สำหรับเชิญพระโกศพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปประดิษฐานที่พระยานมาศสามลำคาน มีลักษณะเป็นฐานแท่นไม้สี่เหลี่ยมสลักลายปิดทองประดับกระจกทั้งองค์ มีคานหาม ๒ คาน ขนาดกว้าง ๐.๗๓ เมตร ยาว ๒.๗๐ เมตร ปลายคานประดับหัวเม็ดทรงมัณฑ์ปิดทองเรียบ ใช้คนหาม ๘ คน ตัวแท่นฐานเป็นฐานสิงห์ปากบัว สลักลายปิดทองประดับกระจกส่วนต่างๆ
๒.พระยานมาศสามลำคาน มีลักษณะเป็นคานหามขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้ปิดทอง มีพนักงานและคานหาม ๓ คาน คนหาม ๒ ผลัด ๖๐ คน สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ใช้เชิญพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
๓.พระยานมาศสามลำคานมีขนาดกว้าง ๑.๘๕ เมตร ยาว ๗.๑๕ เมตร สูง ๐.๘๐ เมตร ตอนกลางตั้งแท่นไม้แกะสลักย่อมุมไม้สิบสอง ปิดทองประดับกระจกสีสลับลายทั้งองค์ เป็นศิลปกรรมที่ประณีตยิ่งชิ้นหนึ่ง ตรงกลางพื้นพระยานมาศติดรางเหล็กเล็กวางขนาน ๑ คู่ สำหรับจานฐาน เพื่อเลื่อนเชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนยานมาศสามลำคาน มีแท่นเป็นเก็จด้านหน้าและด้านหลัง สำหรับเจ้าพนักงานภูษามาลานั่งประคองพระบรมโกศ
พระยานมาศองค์นี้เคยซ่อมบูรณะเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๒๗ แล้วเสร็จเดือนมีนาคม ๒๕๒๘
๔.พระเสลี่ยงกลีบบัว ๑ องค์ สำหรับพระราชาคณะนั่งอ่านพระอภิธรรมนำพระบรมศพ โดยกระบวนพระราชอิสริยยศจากพระบรมมหาราชวังไปยังหน้าวัดพระเชตุพนฯ เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ
เสลี่ยงกลีบบัวมีลักษณะเป็นแท่นไม้แกะสลักลวดลายต่างๆ ปิดทองประดับกระจกทั้งองค์ มีคานหาม ๒ คาน ขนาดกว้าง ๐.๘๒ เมตร ยาว ๔.๒๐ เมตร เคยซ่อมเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ซ่อมเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๘
๕.เกรินบันไดนาค สำหรับเลื่อนเชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นสูงหรือลงต่ำ เช่น ลงจากพระมหาพิชัยราชรถขึ้นสู่พระเมรุมาศ มี ๒ ชุด แกะสลักลายไทยประดับกระจกชุดที่เชิญพระบรมศพขึ้นกว้าง ๑.๔๐ เมตร ยาว ๕.๑๔ เมตร สูง ๔.๔๑ เมตร ชุดที่เชิญพระบรมศพลงกว้าง ๑.๕๓ เมตร ยาว ๙.๙๐ เมตร สูง ๔.๔๔ เมตร มีล้อเลื่อนติดไม้ใต้ฐานรับน้ำหนัก เคลื่อนย้ายได้สะดวก
๖.ม้าหรือเกยเทียบเกริน เป็นส่วนประกอบของเกรินบันไดนาค
๗.ฐานรอง หรือจานรับพระโกศพระบรมศพ สำหรับเลื่อนพระโกศไปตามรางเลื่อนต่างๆ เป็นไม้รูปแปดเหลี่ยม มีล้อเลื่อน ๔ ล้อ กว้าง ๐.๙๑ เมตร สูง ๐.๙๑ เมตร
๘. ธรรมาสน์กลีบบัว สำหรับสมเด็จพระราชาคณะแสดงพระธรรมเทศนาในการพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ
๙. พระที่นั่งราเชนทรยาน ๑ องค์ สำหรับเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ เป็นพระราชยานบุษบกคานหาม ใช้คนหาม ๕๖ คน ใช้เป็นพระราชยานสำหรับแห่อย่างใหญ่ที่เรียกว่า ขบวนแห่พยุหยาตราสี่สาย คือมีริ้วขบวน ซ้าย-ขวา ข้างละ ๔ แถว สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นพระราชยานไม้ รูปบุษบก แกะสลักลายปิดทองประดับกระจกทั้งองค์ มีคานหาม ๔ คน กว้าง ๑.๐๓ เมตร ยาว ๕.๔๘ เมตร สูง ๔.๒๓ เมตร องค์บุษบกประกอบด้วยฐาน ๒ ชั้น ชั้นที่ ๑ เป็นฐานสิงห์ ชั้นที่ ๒ เป็นฐานเชิงบาตร ประดับด้วยครุฑยุดนาคปิดทอง ส่วนต่างๆ แกะสลักลวดลายประดับกระจก ได้ซ่อมบูรณะเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ เสร็จมีนาคม ๒๕๒๘
๑๐. พระวอสีวิกากาญจน์ ๑ องค์ เป็นราชยานคานหามสำหรับพระราชขัตติยราชนารีประทับ โดยเสด็จในกระบวนพยุหยาตราสถลมารคหรือกระบวนราบ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีลักษณะเป็นพระวอไม้แกะสลักลายปิดทอง ประดับกระจก ทรงหลังคาคฤห์ มีคานหาม ๒ คาน กว้าง ๐.๘๖ เมตร ยาว ๓.๘๐ เมตร สูง ๑.๗๗ เมตร ตัวพระวอเป็นฐานสิงห์ ได้รับการซ่อมแซมครั้งหลังสุดเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ แล้วเสร็จเดือนมีนาคม ๒๕๒๘
๑๑. บุษบกทอง เป็นที่ประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิ เมื่อเชิญจากพระเมรุมาศท้องสนามหลวงมาบำเพ็ญกุศลที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ลักษณะเป็นบุษบกย่อมุมไม้สิบสอง โครงสร้างเป็นไม้บุด้วยทองคำ ดุนลายประดับกระจกและพลอยสีขาวทั้งองค์ กว้าง ๐.๙๓ เมตร ยาว ๐.๙๓ เมตร สูง ๓.๘๔ เมตร ฐานบุษบกมี ๓ ชั้น ชั้นที่ ๑ เป็นฐานสิงห์ ชั้นที่ ๒ เป็นฐานเชิงบาตร ประดับครุฑยุดนาค ไม้บุทองโดยรอบ ๒๔ ตัว ชั้นที่ ๓ เป็นฐานเชิงบาตรประดับเทพพนม ไม้บุทองโดยรอบ ๒๔ องค์ เคยซ่อมบูรณะเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๗ เสร็จเดือนเมษายน ๒๕๒๘
งานศิลปกรรมอันวิจิตรเลิศล้ำเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นงานศิลปะชิ้นเอกของโลก แสดงถึงความรุ่งเรืองทางศิลปะของไทย และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าของชาติ ซึ่งขณะนี้กรมศิลปากรได้เปิดให้ประชาชนเจ้าชมฟรี ที่โรงราชรถ ในบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ในเวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น.