xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพ ร.๘ มีเหตุให้ต้องสร้างพระเมรุมาศถึง ๓ ครั้ง!!! (๔)

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระเมรุมาศ ร.๘
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จขึ้นสืบพระราชสันตติวงศ์ เป็นรัชกาลที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗ ขณะยังทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมกับสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการดูแลอย่างใกล้ชิดของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ขณะนั้นพระองค์มีพระชนมพรรษาเพียง ๘ ปี ๕ เดือน ๑๓ วัน จึงต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

ใน พ.ศ.๒๔๘๑ ประชาชนคนไทยพากันปลื้มปีติไปตามกัน เมื่อมีข่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวยุวกษัตริย์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระอนุชา จะเสด็จมาเยี่ยมประเทศและประชาชนของพระองค์ระหว่างช่วงปิดภาคการศึกษา การเสด็จฯครั้งนั้นเสด็จจากเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์โดยรถไฟ มาประทับเรือเดินสมุทร “เมโอเนีย” ของบริษัทอิสต์เอเชียติ๊ก ที่เมืองมาเซลล์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๘๑ และมาทอดสมอที่เกาะสีชังในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และนายกรัฐมนตรีขึ้นไปเฝ้ารับเสด็จบนเรือเมโอเนีย ทูลเชิญทั้ง ๔ พระองค์ประทับบนเรือหลวงศรีอยุธยาที่รัฐบาลจัดถวายเป็นเรือพระที่นั่ง ผ่านสันดอนเข้ามาทอดสมอที่หน้าเมืองสมุทรปราการ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าซึ่งมีพระชนม์ ๗๖ พรรษาแล้ว เสด็จขึ้นไปรับขวัญพระราชนัดดาทั้ง ๓ พระองค์และพระสุนิสาบนเรือหลวงศรีอยุธยา ทรงชมพระสุนิสาว่าเลี้ยงพระราชนัดดาของท่านได้ดีมาก น่าเอ็นดูทุกพระองค์ ประทับอยู่เกือบชั่วโมงจึงเสด็จกลับ

เรือหลวงศรีอยุธยาได้เชิญเสด็จทั้ง ๔ พระองค์สู่กรุงเทพมหานคร เทียบท่าราชวรดิฐ ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ ทูตานุทูต ข้าราชการทั้งทหารพลเรือน และอาณาประชาราษฎร์เฝ้ารับเสด็จกันอย่างคับคั่ง ต่างปลื้มปีติจนน้ำตาไหลไปตามกัน

การเสด็จเยี่ยมพระราชอาณาจักรครั้งนี้ มีพระอาจารย์ถวายอักษรติดตามมาถวายอักษรในเรือและที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานด้วย ตลอดเวลาที่ประทับอยู่ในประเทศไทย ๕๙ วัน ได้เสด็จไปเยี่ยมราษฎรตามจังหวัดต่างๆ ทรงปราศรัยกับประชาชนทั้งทางเครื่องกระจายเสียงและต่อตัวบุคคล โดยปกติเสด็จแต่เช้า เสวยกลางวันที่ใดจะโปรดให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นร่วมโต๊ะเสวยด้วย กว่าจะเสด็จกลับก็ราว ๑๗ นาฬิกา

หลังจากนั้นก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ และในทันทีที่สงครามยุติในปี ๒๔๘๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระอนุชา ก็เสด็จมาเยี่ยมประชาชนของพระองค์อีก ถึงดอนเมืองในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ เวลา ๙.๐๐ น.

หลังสงคราม คนไทยและคนจีนในเมืองไทยเกิดความเข้าใจผิดกันอย่างรุนแรง มีการปะทะกันด้วยอาวุธจนเกือบเป็นจลาจล แม้จะยุติลงได้แต่ความขุ่นข้องหมองใจก็ยังคุกรุ่นอยู่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงหาโอกาสเสด็จเยี่ยมชาวจีนในสำเพ็งพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชา ชาวจีนในไทยพากันปลื้มปีติเป็นล้นพ้น บรรยากาศความขุ่นข้องหมองใจกันภายในชาติก็มลายหายไป

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีหมายกำหนดการจะเสด็จกลับไปศึกษาต่อในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๘๙ แต่แล้วโดยไม่คาดฝัน พระองค์ได้เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืนปริศนาในวันที่ ๙ มิถุนายนนั้น สิริรวมพระชนมายุ ๒๐ พรรษา ๘ เดือน ๓๐ วัน สถิตอยู่ในราชสมบัติ ๑๒ ปี ๓ เดือน ๗ วัน

แม้พระองค์ทรงมีเวลาไม่มากที่ประทับในประเทศไทย แต่ก็ทรงประทับอยู่ในหัวใจคนไทย ในวันสวรรคตประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงประเพณีไว้ทุกข์จากสีขาวมาเป็นสีดำแล้ว ทั่วทั้งประเทศไทยจึงดำมืดไปด้วยความโศกเศร้าอาดูร

ขณะเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลยังไม่ได้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามพระราชประเพณี เพียงแต่ทางการเตรียมประกอบการพระราชพิธีไว้ในโอกาสอันควร ด้วยประการฉะนี้ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ด้วยความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ของคณะรัฐมนตรี จึงได้ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย” ให้เจ้าพนักงานพระราชพิธีจัดนพปฎลเศวตฉัตรกางกั้นถวายสืบไป

ทางการได้อัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศล และให้ประชาชนได้ถวายสักการะตามประเพณี แต่การดำเนินการสร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้น มีเหตุที่ทำต้องให้สร้างถึง ๓ ครั้ง

การดำเนินงานสร้างครั้งแรก

ในเดือนตุลาคม ๒๔๘๙ นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กรมศิลปากรดำเนินการสร้างพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งกำหนดจะให้มีขึ้นในราวเดือนมีนาคม ๒๔๙๐ โดยตั้งงบประมาณเป็นเงิน ๒,๘๙๑,๐๐๐ บาท

ขณะนั้นเป็นเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ เพิ่งยุติลงได้ไม่นาน สิ่งของต่างๆในท้องตลาดขาดแคลนและมีราคาสูงมาก กระทรวงพาณิชย์ต้องช่วยจัดหาของบางอย่างที่หายาก เช่นผ้าสีต่างๆ ซึ่งต้องใช้มากในงานนี้ กรมศิลปากรได้ลงมือซื้อของและปลูกสร้างโรงงานชั่วคราวสำหรับดำเนินการสร้างพระเมรุมาศในเดือนตุลาคมนั้น และจัดเขียนแบบอย่างเดียวกับพระเมรุมาศของรัชกาลที่ ๖ เพียงย่อให้ย่อมลงเล็กน้อย แต่แล้วการดำเนินการก็ต้องชะงักลงในขั้นตอนนี้ ด้วยเหตุผลตามคำแถลงการณ์ของสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๘๙ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เห็นว่า เวลานี้บ้านเมืองอยู่ในภาวะอัตคัดขาดแคลน เครื่องอุปกรณ์การสร้างพระเมรุมาศก็ขาดแคลนและมีราคาสูงมาก งบประมาณการพระบรมศพที่รัฐบาลตั้งไว้นั้นก็เป็นเงินก้อนใหญ่อยู่มากแล้ว แต่คณะผู้สำเร็จราชการฯก็ยังสงสัยอยู่ว่า เวลาทำจริงคงจะสิ้นเปลืองกว่านั้นมาก ควรจะรอการถวายพระเพลิงไว้ฤดูแล้งหน้าเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๔๙๐ ทั้งในโอกาสนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชก็จะทรงบรรลุนิติภาวะแล้วด้วย นับว่าเป็นโอกาสอันเหมาะกาละอีกประการหนึ่ง ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลเห็นชอบ ก็ขอให้สั่งระงับการสร้างพระเมรุมาศไว้ คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า เมื่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีบัญชามาดั่งนี้ และการเลื่อนกำหนดไปนี้ก็เป็นที่ต้องพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลก็เล็งเห็นในพระมหากรุณาธิคุณและรับสนองให้เป็นไปตามบัญชา จึงได้สั่งให้ระงับการสร้างพระเมรุมาศไว้ และจะได้เตรียมการปฏิบัติให้พร้อมมูลเพื่อจัดการพระเมรุถวายพระเพลิง ดั่งบัญชาของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไป”

การลงมือในการปลูกสร้างพระเมรุมาศในครั้งนี้ กรมศิลปากรได้จ่ายเงินเป็นค่าสิ่งของและค่าแรงไปแล้วรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๖๓๑,๐๒๓.๙๘ บาท งบประมาณเหลืออยู่ ๒,๒๕๙,๙๗๖.๐๒ บาท แต่สิ่งของที่ซื้อไว้ก็เก็บไว้ใช้ได้ คงสูญเสียไปแต่ค่าแรงและสิ่งของบางอย่างที่เก็บไว้ข้ามปีไม่ได้ เช่น ไม้ไผ่ ปอ คิดเป็นเงินไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท

การดำเนินงานสร้างครั้งที่ ๒

นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเมื่อเดือนกันยายน ๒๔๙๑ ให้กรมศิลปากรเตรียมการปลูกสร้างพระเมรุมาศได้ โดยกำหนดว่าจะถวายพระเพลิงในราวเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ กรมศิลปากรได้ลงมือปลูกสร้างพระเมรุมาศในเดือนตุลาคม ๒๔๙๑ ตั้งเสาโครงพระเมรุมาศ สร้างพระที่นั่งทรงธรรม ทำเครื่องประดับองค์พระเมรุ มีฐานเขียง เสาโคม ฉนวน ฐานปัทม์ ฐานสิงห์ กาบพรหมศร เครื่องยอด สลักลายกระดาษทองย่น เย็บผ้าบุทำฉัตรโปร่งและเทวดาถือตาลปัตรไฟ ทำม่านทององค์พระเมรุ ทำโครงพระโกศจันทน์ งานเหล่านี้ยังไม่ทันเสร็จ ก็พอดีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงประสบอุปัทวเหตุทางรถยนต์ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่สามารถเสด็จกลับมาประเทศไทยได้ นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๑ ให้งดการสร้างพระเมรุไว้ เพราะต้องเลื่อนกำหนดการถวายพระเพลิงออกไปอีก ตามคำแถลงการณ์ของสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๑ มีความว่า

“รัฐบาลได้เตรียมงานพระเมรุมาศเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล กำหนดในราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจะเสด็จสู่พระนครประมาณเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๙๒ เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ แต่ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุปัทวเหตุโดยรถยนต์พระที่นั่ง จะต้องประทับรักษาพระองค์ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ประมาณ ๘-๑๐ เดือน เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนี้ จึงได้สอบถามกรมศิลปากรผู้สร้างพระเมรุมาศว่า พระเมรุมาศที่ลงมือสร้างไว้นั้นจะควรรื้อหรือรักษาไว้ เพราะเหตุใด ตลอดจนการเงิน ก็ได้รับคำชี้แจงว่าไม่ควรรื้อ แต่ควรจะสร้างสิ่งถาวรอันอาจเก็บรักษาไว้ได้อีก ๑ ปีต่อไปเสียให้เสร็จ แล้วทำเครื่องปกคลุมรักษาไว้จนกว่าจะถึงกำหนดวันถวายพระเพลิงในคราวหน้า ดั่งนี้จะประหยัดเงินได้มาก งบประมาณที่เหลืออยู่อาจจะทำต่อได้จนเสร็จไม่ต้องเพิ่มงบประมาณ แต่ถ้ารื้อออกหมด ถึงกำหนดสร้างใหม่ก็จะต้องตั้งงบประมาณเริ่มต้นใหม่ เงินที่เสียไปแล้วก็เสียเปล่า เมื่อได้ความดั่งนี้ นายกรัฐมนตรีจึงได้เข้าเฝ้าประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เรียนพระปฏิบัติเกี่ยวกับเหตุการณ์อันจะต้องเลื่อนงานถวายพระเพลิง ตลอดทั้งผลของการก่อสร้างพระเมรุมาศ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้พิจารณาเห็นพ้องกันว่า เป็นการจำเป็นและสมควรอย่างยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะต้องทรงรับการรักษาพยาบาลตามคำแนะนำของแพทย์ต่อไปก่อน และมีความยินดีที่ได้ทราบว่า ตามความเห็นของกรมศิลปากรมีหนทางที่จะรักษาการก่อสร้างที่ดำเนินไปแล้วนั้นไว้ได้โดยไม่ต้องรื้อถอน และถ้าได้ดำเนินการก่อสร้างต่อไปอีกบ้างตามสมควรแล้วรักษาไว้ รอการบูรณะในขั้นสุดท้ายเมื่อจะถวายพระเพลิง ก็พอจะทำได้โดยไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากขึ้นกว่าที่ประมาณไว้เดิมดั่งนี้ ประกอบกับเหตุผลที่การจะถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้น สมควรจะได้กระทำเมื่อสมเด็จพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงสืบสัตติวงศ์ได้เสด็จประทับทรงเป็นเจ้าภาพอยู่ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงตกลงเห็นพ้องกันว่า ในชั้นนี้ควรจะเลื่อนกำหนดการถวายพระเพลิงออกไป ส่วนจะกำหนดต่อไปข้างหน้าเมื่อใด จะได้เรียนพระราชปฏิบัติและสอบสวนความเห็นของแพทย์อีกก่อน...”

เมื่อเป็นเช่นนี้ กรมศิลปากรก็ทำต่อไปตามที่เห็นสมควร แล้วเอาไม้ตีรั้วกั้นโดยรอบไว้ ใช้พระที่นั่งทรงธรรมเป็นที่เก็บวัสดุที่ซื้อมาแล้ว ค่าใช้จ่ายในการสร้างพระเมรุมาศครั้งที่ ๒ นี้ สิ้นไปเป็นเงิน ๗๔๖,๐๒๐.๔๙ บาท งบประมาณคงเหลือ ๑,๕๑๓,๙๕๕.๕๑ บาท

การดำเนินงานสร้างครั้งที่ ๓

การสร้างพระเมรุมาศครั้งที่ ๓ กรมศิลปากรได้รับคำสั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๒ ให้ดำเนินการปลูกสร้างพระเมรุมาศต่อไปจนแล้วเสร็จ ส่วนกำหนดวันถวายพระเพลิงแน่นอนเมื่อใดจะแจ้งให้ทราบในภายหลัง

ต่อมาก็ได้รับทราบคำสั่งว่า กำหนดการถวายพระเพลิงสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เป็นวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๙๓ นอกจากนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระราชทานเพลิงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ ณ เมรุมาศนี้เป็นงานต่อท้ายพระบรมศพอีก ๔ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ในวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๔๙๓ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ในวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๔๙๓ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ กับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย พร้อมกันทั้ง ๒ พระองค์ในวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๔๙๓

กรมศิลปากรได้ลงมือดำเนินการสร้างพระเมรุมาศครั้งที่ ๓ นี้ในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๒ และแล้วเสร็จในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๔๙๓

การถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้กำหนดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๘ มีนาคม ถึงวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๙๓ เป็นเวลา ๕ วัน ในวันที่ ๔ เมษายน ได้มีการบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ณ วัดสุทัศน์เทพวราราม
การปักซุงเป็นเสาพระเมรุมาศ
การขึ้นโครงสร้างพระเมรุมาศ
กำลังโหลดความคิดเห็น