xs
xsm
sm
md
lg

เป็นครั้งแรกที่พระศพ “สมเด็จย่า” และ “พระพี่นาง” ไม่ได้บรรจุลงพระโกศ แต่บรรจุในพระหีบ (๕)

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๘ สำนักพระราชวังได้มีประกาศว่า

“สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีประทับรักษาพระอาการประชวร ณ ตึก ๘๔ ปี โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๓๘ ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงให้ทราบเป็นระยะแล้วนั้น

แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ พระอาการประชวรได้ทรุดหนักลงตามลำดับ และสวรรคตเมื่อเวลา ๒๑ นาฬิกา ๑๗ นาที วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๘ รวมพระชนมายุ ๙๔ พรรษา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดการพระบรมศพถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามราชประเพณี ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในราชสำนักไว้ทุกข์ถวายมีกำหนด ๑๐๐ วัน ตั้งแต่วันสวรรคตเป็นต้นไป

อนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเข้าถวายน้ำสรงพระบรมศพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งประดิษฐาน ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลา ๙ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๖ นาฬิกา วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๘”

ต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือเวียน ขอความร่วมมือข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ร่วมไว้ทุกข์ถวายจนครบ ๑๐๐ วัน เช่นเดียวกับข้าราชสำนัก ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือรวมไปถึงพสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่า เพราะต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของ “สมเด็จย่า” ที่ทรงมีต่อประชาชนและประเทศชาตินับอเนกอนันต์

นอกจากนี้ยังมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบดูแลให้ทุกจังหวัดมีส่วนร่วมในการจัดถวายสักการะพระบรมศพ และเชิญชวนให้ประชาชนไว้ทุกข์โดยทั่วกัน รวมทั้งขอความร่วมมือสถานบริการต่างๆ ให้งดหรือลดการแสดงเกี่ยวกับความบันเทิงโดยคำนึงถึงช่วงเวลาตามความเหมาะสม พร้อมกันนี้ได้ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องขอความร่วมมือจากสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ให้ประกาศเผยแพร่กำหนดการพระราชพิธีพระบรมศพ เชิญชวนประชาชนไปถวายสักการะพระบรมศพ และควบคุมดูแลรายการที่ออกอากาศในช่วงเวลา ๑๕ วัน ให้เหมาะสมแก่โอกาสในแต่ละช่วงเวลา

ในการนี้กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ทุกจังหวัดจัดตั้งพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ ศาลากลางจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถวายน้ำสรงพระบรมศพหน้าพระฉายาลักษณ์ในวันพุธที่ ๑๙ กรกฎาคม ตั้งแต่เวลา ๙.๐๐ น. ถึง ๑๖.๐๐ น. และให้ทุกจังหวัดงดจัดงานรื่นเริงเพื่อเป็นการไว้ทุกข์ถวายสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ในการประดิษฐานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกอบเครื่องตั้งแต่งเพื่อถวายพระเกียรติยศตามราชประเพณีดังนี้

พระโกศพระบรมศพ ประดิษฐาน ณ มุขด้านทิศตะวันตกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร ซึ่งโดยธรรมเนียมราชประเพณี พระบรมศพจะได้รับการเชิญสู่พระโกศโลหะปิดทองชั้นใน ประกอบชั้นนอกด้วยพระลองทองใหญ่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นสำหรับทรงพระบรมศพรัชกาลที่ ๕

การตกแต่งประดับพระโกศนั้น โดยปกติมีลดหลั่นกันหลายชั้นตามพระเกียรติยศพระศพ ในครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องประดับพระลองทองใหญ่ครบทุกอย่างตามโบราณราชประเพณีที่ทรงมีพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีของพระมหากษัตริย์ คือยอดพระลองประดับด้วยพุ่มดอกไม้เพชร ถัดลงมาที่ชั้นกระจังฝาพระลองประดับด้วยดอกไม้เพชร เรียกว่าดอกไม้ฝา ฝาครอบพระลองห้อยเฟื่องเพชรโดยรอบ และมีพู่เงินห้อยประดับเป็นระยะทุกมุม เอวพระลองประดับดอกไม้เพชรโดยรอบ เรียกว่าดอกไม้เอว

ในการจัดเตรียมงานถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้น คณะรัฐมนตรีมีมติให้เตรียมการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติ นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการและเลขานุการ มีหัวหน้าหน่วยงานตลอดจนผู้ทรงคุณที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้องตามราชประเพณี และสมพระเกียรติ

ในการจัดเตรียมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพด้านต่างๆ อาทิ การจัดงานพระราชพิธี การก่อสร้างพระเมรุมาศ สิ่งก่อสร้างประกอบพระเมรุมาศ ราชรถ พระยานมาศ และส่วนประกอบพระราชพิธี การประชาสัมพันธ์ การรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย และการจราจร การจัดทำจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึก การบันทึกภาพเหตุการณ์ และการแสดงนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เป็นต้น

นอกจากนี้กรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้ออกแบบและจัดสร้างโกศจันทน์และพระจิตกาธาน โดยกรมป่าไม้ได้จัดหาไม้จันทน์ที่ล้มหมอนนอนไพรในบริเวณอุทยานแห่งชาติต่างๆมาเป็นวัสดุ

เนื่องจากกรมศิลปากรได้รับแนวพระราชดำริจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่าในงานครั้งนี้น่าจะมีมหรสพสมโภชด้วย จึงนำผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแสดงนาฏศิลป์เข้าเฝ้า ทรงเห็นชอบให้กรมศิลปากรจัดการแสดงมหรสพที่สำคัญของไทย ๔ ประเภท ได้ โขน ละคร หนังใหญ่ และหุ่นกระบอก ใช้ผู้แสดงประมาณ ๘๐๐ คน จัดสร้างโรงมหรสพที่ด้านเหนือของท้องสนามหลวงขึ้น ๓ โรง ประกอบด้วยโรงโขนและหนังใหญ่ โรงละคร และโรงหุ่นกระบอก

เนื่องจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างล้นพ้น และทรงเป็นที่เคารพรักของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ ทางคณะกรรมการคาดว่าจะมีประชาชนจากทุกทิศมาเข้าถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวงเป็นจำนวนมาก จึงได้จัดให้มีจุดรับดอกไม้จันทน์จากประชาชนตามจุดต่างๆในท้องสนามหลวง ๘ จุด พร้อมดอกไม้จันทน์จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ ดอก ดอกไม้จันทน์บางส่วนที่ประชาชนนำมาถวาย จะจัดใส่พานให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ๑๖ นาย พร้อมกองลูกเสือเกียรติยศ นำขึ้นไปถวายที่หอเปลื้องในพระเมรุมาศ ๑ ชั่วโมงก่อนเวลาเสด็จฯถวายพระเพลิง ส่วนที่เหลือ กรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพิจารณาวัดที่เหมาะสมเขตละวัด รวม ๓๘ วัด จัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ในวันอาทิตย์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๓๙ เวลา ๑๖.๓๐ น. พร้อมกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ เมรุมาศ ท้องสนามหลวง และนำดอกไม้จันทน์ไปเผาตั้งแต่เวลา ๒๒ น. ซึ่งเป็นเวลาเสด็จฯ ถวายพระเพลิงพระบรมศพ (จริง)หลังจากเสร็จพระราชพิธีสำคัญนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้รื้ออาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆในเมรุมาศมณฑล ได้แก่ พระที่นั่งทรงธรรม ซ่างและทับเกษตร ทิมและรั้วราชวัติ ไปถวายและปลูกสร้างในบริเวณวัดปทุมวนาราม ตามโครงการพัฒนาวัดปทุมวนาราม เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี ส่วนศาลาลูกขุน ๒ หลัง นำไปปลูกสร้าง ณ สำนักสงฆ์ธุดงคสถานถาวรนิมิต จังหวัดนครนายก”

งานพระเมรุมาศสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๑ สำนักพระราชวังได้มีแถลงการณ์ ความว่า

“สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จประทับรักษาพระอาการประชวร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงให้ทราบเป็นระยะแล้วนั้น

แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ พระอาการประชวรได้ทรุดตามลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา ๒ นาฬิกา ๕๔ นาที วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๑ รวมพระชันษา ๘๔ ปี”

ในเวลา ๑๕.๐๐ น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เข้าร่วมพระราชพิธีอัญเชิญพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จากโรงพยาบาลศิริราชไปยังพระบรมมหาราชวัง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีสรงน้ำพระศพ ซึ่งประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพถวายพระเกียรติสูงสุดตามราชประเพณี ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในราชสำนัก ไว้ทุกข์ถวายมีกำหนด ๑๐๐ วัน นับตั้งแต่วันสิ้นพระชนม์เป็นต้นไป

ส่วนสำนักนายกรัฐมนตรี ก็มีประกาศให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่ง ลดธงครึ่งเสา มีกำหนด ๑๕ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๑๑ เป็นต้นไป ต่อมาได้ขยายระเวลาเป็น ๑๐๐ วัน เช่นเดียวกับข้าราชสำนัก

ค่ำวันนั้น สำนักพระราชวังได้ออกประกาศเรื่องการถวายสักการะพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ความว่า

ด้วยสำนักพระราชวังได้กำหนดการถวายสักการะพระบรมศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ดังนี้

เปิดศาลาสหไทยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง ให้ประชาชนได้เข้าถวายสักการะหน้าพระฉายาลักษณ์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. ตั้งแต่วันที่ ๓-๙ มกราคม ๒๕๕๑ ซึ่งในการนี้ได้จัดสมุดลงนามถวายสักการะไว้ด้วย ให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทใน เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๑ เป็นต้น

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นอกจากทรงเป็นพระโสทรเชษฐภคินีของพระมหากษัตริย์ถึง ๒ พระองค์ และทรงอภิบาลพระอนุชาทั้ง ๒ มาตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญพระชันษา ยังได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมาย เพื่อแบ่งเบาพระราชภารกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกทั้งยังทรงรับเป็นพระธุระในการส่วนพระองค์สมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงอุทิศพระองค์เพื่อความผาสุกของประชาชนอย่างไม่ทรงเหน็ดเหนื่อย การเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระองค์จึงยังความโศกเศร้าอาลัยแก่พสกนิกรโดยทั่วกัน

ดร.วิษณุ เครืองาม ผู้เชี่ยวชาญงานพระราชพิธี ได้กล่าวถึงการจัดเตรียมงานด้านการพระราชพิธีพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯว่า มีจุดน่าสังเกตหลายจุดที่ควรแก่การบันทึกไว้เป็นจดหมายเหตุ

ดร.วิษณุชี้ว่า แม้โดยพระอิสริยยศของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จะเทียบกับชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้พระราชทานพระอิสริยยศพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯในขั้นสูงสุด โดยอนุโลมตามโบราณราชประเพณี ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นที่เดียวกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ขณะเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯยังทรงได้รับพระราชทาน “พระโกศทองใหญ่” เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศพระศพ ซึ่งถือว่าเป็นพระโกศที่อยู่ในลำดับชั้นสูงสุด ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น โดยในรัชกาลปัจจุบัน มีพระราชวงศ์ ๘ พระองค์ที่ทรงได้รับพระราชทานพระโกศทองใหญ่ รวมถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางรำไพพรรณี และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศสูงสุด ในโอกาสการบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ๗ วัน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเศวตฉัตร ๗ ชั้น แทนเศวตฉัตร ๕ ชั้น กางกั้นพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๑ ว่าเป็นสมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีที่ทรงเคารพนับถือ ในฐานะที่ทรงมีอุปการคุณมาแต่หนหลัง อีกทั้งทรงพระคุณแก่ชาติบ้านเมืองเป็นอเนกปริยาย เป็นที่ประจักษ์แก่ตาแก่ใจของมหาชนทั่วไป เมื่อเสด็จสิ้นพระชนม์ เป็นเหตุให้พระองค์และประชาชนทุกชนชั้นอาลัย ระลึกถึงพระคุณเป็นอันมาก ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯพระองค์นั้น ทรงพระเกียรติคุณเป็นที่เชิดชูแห่งพระราชวงศ์ ควรได้รับพระเกียรติยศใหญ่ยิ่ง โดยอนุโลมตามโบราณราชประเพณี จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เจ้าพนักงานจัดเศวตฉัตร ๗ ชั้นกางกั้นพระโกศ พระราชทานเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติยศให้ปรากฏสืบไป ประกาศ ณ วันที่ ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๑ เป็นปีที่ ๖๓ ในรัชกาลปัจจุบัน

ขณะเดียวกันยังทรงมีพระราชวินิจฉัยให้จัดสร้างพระเมรุอย่างวิจิตรงดงามในรูปแบบทรงปราสาท พร้อมเปลี่ยนเศวตฉัตรจากเดิมที่ออกแบบไว้ ๕ ชั้น เป็น ๗ ชั้นตามพระโกศ โดยผู้ออกแบบร่างพระเมรุ คือ น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ และอดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้ศึกษาจากการออกแบบพระเมรุของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และยึดเค้าโครงพระเมรุของสมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี เป็นต้นแบบ โดยใช้ไม้จันทน์หอมเป็นวัสดุหลัก พร้อมกันนี้ยังยึดหลักความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุตามแบบโบราณราชประเพณี ด้วยการจำลองปราสาทซึ่งเปรียบเสมือนที่สถิตของเหล่านางฟ้า เทวดา มาเป็นตัวองค์พระเมรุ ส่วนยอดพระเมรุ ประกอบด้วยยอดชั้นเชิงกลอน ๕ ชั้น ต่อยอดด้วยชั้นบัวกลุ่ม จนถึงปลายยอดประดับเศวตฉัตร ๗ ชั้น ชานชาลาบันไดด้านในพระเมรุ ได้เพิ่มเติมสัตว์หิมพานต์ทวิบาทประดับไว้ ๔ จุด ได้แก่ กินนร ประดับด้านทิศตะวันตกเป็นทางเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ อัปสรสีหะ รูปครึ่งคนครึ่งสิงห์ ประดับด้านทิศเหนือที่เชิญพระศพขึ้นพระเมรุ นกกัณฑิมา นกที่ถือกระบองคอยปกป้องไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามา ประดับด้านทิศใต้ และหงส์ เป็นเสารับผูกสายโยงหรือสายสิญจน์จากพระเมรุมายังพระที่นั่งทรงธรรม และโยงจากพระศพมายังพระสงฆ์ในการสดับปกรณ์

ส่วนเอกลักษณ์สำคัญของพระเมรุอยู่ที่หน้าบันทั้ง ๔ ทิศ ซึ่งได้อัญเชิญตราพระลัญจกร “กว” ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มาประดิษฐานที่หน้าบันพระเมรุ

สำหรับราชรถที่ใช้ในการพระราชพิธีพระบรมศพในสมัยรัตนโกสินทร์ มี ๕ องค์ แต่ราชรถองค์สำคัญที่สุดมีอยู่ ๒ องค์ คือ พระมหาพิชัยราชรถ เป็นราชรถเชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ชั้นสูง ส่วน เวชยันตราชรถ เป็นราชรถสำหรับเชิญพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหาพิชัยราชรถ เป็นรถเชิญพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นำกระบวนแห่พระศพไปยังพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง เพื่อให้สมพระเกียรติยศที่สุด

เมื่อครั้งงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นครั้งแรกที่พระศพของพระองค์ไม่ได้บรรจุลงในพระโกศ แต่บรรจุในพระหีบ ในงานพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ก็เช่นกัน นายพรเทพ สุริยา เจ้าของร้าน “สุริยาหีบศพ” เผยว่า ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการจัดสร้างหีบพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โดยสร้างหีบพระศพทรงหลุยส์ผสมบุษบก จากแผ่นไม้สักทองอายุ ๑๐๐ ปีขนาดใหญ่เพียงแผ่นเดียวไม่มีรอยต่อ ไม้ดังกล่าวนำมาจากจังหวัดเชียงใหม่ และใช้หมึกจีนพ่นสีโอ๊คม่วง ขนาดกว้าง ๒๖ นิ้ว ความยาว ๒.๒๙ เมตร น้ำหนักเกือบ ๓๐๐ กิโลกรม ใช้เวลาเตรียมการประมาณ ๓๐ วัน และเหตุที่เลือกสีโอ๊คม่วงเป็นสีพ่นนั้น นอกจากจะเป็นสีที่มีความเข้มแข็ง น่าเชื่อถือ และเหมาะสมกับงานแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ให้ทำหีบพระศพให้คล้ายกับหีบพระศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งใช้หมึกจีนสีโอ๊คม่วงเช่นกัน

เจ้าของร้านสุริยหีบศพกล่าวเพิ่มเติมว่า หีบพระศพดังกล่าวประกอบด้วยปุ่มมะค่าทองรอบใบ ลวดลายของหีบพระศพเป็นลายดอกกุหลาบ แสดงถึงความรัก ส่วนด้านขอบล่างเป็นลายหลุยส์ ฝาด้านบนเป็นบุษบก ๓ ชั้น

ภายในหีบพระศพใช้ผ้าไหมสีครีมทองประดับตกแต่งดิ้นชายรอบ ซึ่งทางสุริยาหีบศพเป็นผู้ออกแบบเองทั้งหมด ใช้ช่างแกะสลัก ๓ คน ช่างประกอบหีบพระศพ ๕ คน รวมเป็น ๘ คน ภายใต้การดูแลของสำนักพระราชวังตลอดเวลาการผลิต ๓๐ วัน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงตรวจงานด้วยพระองค์เอง และรับสั่งว่า “สวยดี”

ส่วนพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็บรรจุในพระหีบเช่นกัน
ขบวนพระบรมศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
หีบพระศพกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
กำลังโหลดความคิดเห็น