xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

‘ไม้จันทน์หอม’ แห่งผืนป่ากุยบุรี ไม้มงคลชั้นสูงสู่ ‘พระบรมโกศ’ แห่งองค์พระมหากษัตริย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ไม้จันทน์หอม เป็นไม้มีกลิ่นหอมและถือเป็นไม้มงคลชั้นสูงสำหรับประกอบพระราชพิธีทางศาสนา โดยตามโบราณพระราชประเพณีนิยมนำมาสร้าง พระบรมโกศ สำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง

มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าประเทศไทยใช้ไม้จันทน์หอมมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ขณะที่ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีการนำมาสร้างพระโกศและพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงหลายพระองค์ เช่น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และรวมถึงสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จสังฆราชสกลมหาปริณายก

สำหรับในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีการนำไม้จันทน์หอม 19 ต้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 100ซ.ม. จากผืนป่ากุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ อันเป็นแหล่งอนุรักษ์สายพันธุ์ตามธรรมชาติที่พบต้นจันทน์หอมมากที่สุดในปัจจุบันมาจัดสร้างพระบรมโกศไม้จันทน์ ตกแต่งพระเมรุมาศ และจัดทำดอกไม้จันทน์เพื่อใช้ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพ

อย่างไรก็ดี ในการนำไม้จันทน์หอมมาใช้งาน มีขั้นตอนและกรรมวิธีพอสมควร เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกที่จะเลือกตัดเฉพาะไม้จันทน์หอมที่ยืนต้นตายเองตามธรรมชาติ โดยจะนำ ผิวนอกที่ผุเปื่อยออกให้หมดเหลือแต่เนื้อไม้ที่มีความละเอียด และแก่นไม้ซึ่งมีกลิ่นหอมจัด

ทั้งนี้ หลังจากที่พบไม้จันทน์หอมที่ต้องการแล้ว จะต้องมีการทำพิธีบวงสรวงก่อนที่จะตัดไม้จันทน์หอมลงมาใช้ตามประเพณีโบราณ โดยเมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้มีพิธีบวงสรวงตัดไม้จันทน์หอมทั้ง 19 ต้นในฤกษ์เวลา 14.09 - 14.39 น. ซึ่งมี วุฒิ สุมิตร รองราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการ ทำการหลั่งน้ำเทพมนต์ พร้อมเจิมบริเวณต้นไม้จันทน์หอม ขณะที่โหรหลวงลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ภูษามาลาไกวบัณเฑาะว์ พร้อมหลั่งน้ำเทพมนต์เจิมขวานทองสำหรับใช้ตัดต้นไม้จันทน์หอม ท่ามกลางประชาชนจำนวนมากที่เข้าร่วมพิธี และเก็บเครื่องบวงสรวงนำไปบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อชีวิต

สำหรับขั้นตอนต่อไปทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะดำเนินการส่งมอบไม้จันทน์หอมทั้งหมดให้แก่สำนักช่าง 10 หมู่เพื่อจัดสร้างพระโกศในพระราชพิธีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างสมพระเกียรติ ซึ่งไม้จันทน์หอมจะถูกนำมาแปรรูปจากท่อนไม้ขึ้นเป็นลวดลายขึ้นเป็นพระบรมโกศไม้จันทน์ เป็นต้นว่า เลื่อยเป็นแผ่นบาง ๆ ปรุ ฉลุลาย แล้วนำมาประกอบติดกับโครง ส่วนลวดลายที่ใช้ประกอบมีทั้งสิ้น 35 ลาย เช่น ลายหน้ากระดาน, ลายบัว, ลายท้องไม้, บัวคว่ำ, บัวหงาย เป็นต้น

กล่าวสำหรับ ไม้จันทน์หอมจัดเป็นไม้มีค่าและหายาก พบมากในแถบพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพราะสภาพป่าดิบแล้งเหมาะแก่การเจริญเติบโต ไม้จันทน์หอมเป็นไม้โตช้าลำต้นไม่ใหญ่มากนัก มีกลิ่นหอมทุกส่วนของลำต้น ตั้งแต่ แก่น เปลือก กระพี้

ความที่ไม้จันทน์หอมมีกลิ่นหอมไม่ว่าเป็นหรือยืนต้นตาย เปรียบได้ดังคนเมื่อเกิดมาทำความดี ทว่า ตายไปแล้วความดีก็ยังคงอยู่ คนโบราณจึงนำไม้จันทน์หอมมาเผาศพเป็นธรรมเนียมประเพณีจวบจนปัจจุบัน

กระนั้นก็ดี การใช้ไม้จันทน์หอมไม่ได้จำกัดว่าต้องใช้ในงานพิธีของเจ้านายเพียงอย่างเดียว สามัญชนก็สามารถใช้ไม้จันทน์หอมหากสามารถจัดหาได้ เพราะอย่างที่กล่าวในข้างต้นว่าเป็นไม้มีค่าและหายาก

ข้อมูลจากนิตยสารสารคดี ฉบับที่ 345 ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับร่องรอยของธรรมเนียมปฏิบัติ การใช้ดอกไม้จันทน์เพื่อแสดงความเคารพศพของคนไทย เอาไว้ว่า

“ในสมัยก่อนจะนิยมใช้ไม้จันทน์เฉพาะในงานศพของราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น เนื่องจากไม้จันทน์หายากและมีราคาแพง ต่อมาสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพจึงได้คิดค้นให้ใช้ไม้จันทน์ทำเป็นแผ่นบาง ๆ มัดเป็นช่อเรียกว่าดอกไม้จันทน์เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานศพได้นำไปวางที่เผาศพและนิยมใช้จนถึงปัจจุบัน

“ไม้จันทน์ อยู่ในสกุล Santalum album L. วงศ์ Santalaceae แก่นมีน้ำมันกลิ่นหอมจัด ในอดีตจึงมีผู้นิยมนำไปทำหีบศพ บ้างใช้เป็นฟืนฌาปนกิจ นอกจากช่วยบรรเทากลิ่นแล้ว ยังเชื่อกันว่ากลิ่นหอมของไม้จันทน์จะนำดวงวิญญาณสู่สวรรค์ เป็นการให้เกียรติผู้ล่วงลับ

“ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๕ ไม้จันทน์เริ่มหายาก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงคิดประดิษฐ์ไม้จันทน์เทียม โดยนำไม้จันทน์มาไสเป็นแถบบาง แล้วจัดเป็นช่อดอกไม้เล็ก ๆ ฟืนฌาปนกิจจึงถึงกาลพัฒนาเป็น ดอกไม้จันทน์ ให้แขกผู้มาร่วมงานนำไปวางบนพานหน้าโลงศพเป็นการเผาหลอก แล้วจึงรวบรวมดอกไม้จันทน์ทั้งหมดไปเผาตอนเผาจริง ช่วงแรกมีใช้เฉพาะพิธีหลวง ต่อมาแพร่ขยายในหมู่สามัญชน เมื่อความนิยมสูงขึ้น ไม้จันทน์ก็ยิ่งหายากจนแทบหาไม่ได้ ท้ายที่สุดจึงต้องเปลี่ยนวัสดุ

“ปัจจุบันคนไทยหันมาใช้ใบลานสีขาวหรือกระดาษสีครีม เพราะหาง่ายและราคาถูก นำมาพับเป็นรูปดอกไม้ ต่าง ๆ เช่น กุหลาบ ทานตะวัน (แต่ยังรวมเรียกว่า ดอกไม้จันทน์) สีสันของดอกไม้จันทน์ ก็มีหลากหลายเพื่อสร้างทัศนคติใหม่ให้การเคารพศพ ไม่ใช่โศกเศร้าเพียงอย่างเดียว ...ทว่า ดอกไม้จันทน์ จะเป็นสื่อแทนความรักความอาลัย ซึ่งผู้มีชีวิตจะได้มอบสิ่งที่ดีที่สุดแก่ผู้ที่จากไป เป็นครั้งสุดท้าย...”


กำลังโหลดความคิดเห็น