ประจวบคีรีขันธ์ - พาไปดู “ไม้จันทน์หอม” ไม้มงคลแหล่งใหญ่ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ในป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ที่สำคัญไม้จันทน์หอมจากป่ากุยบุรีแห่งนี้ได้รับคัดเลือกนำไปใช้ในพระราชพิธีสำคัญมาแล้ว
ความอุดมสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้ผืนป่าแห่งนี้มีต้นไม้สำคัญอย่างต้นไม้จันทน์หอม กระจายอยู่เป็นจำนวนมาก และที่สำคัญไม้จันทน์หอมจากป่ากุยบุรีแห่งนี้ได้รับคัดเลือกนำไปใช้ทั้งในพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มาแล้ว
และครั้งนี้จะนำไปใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ซึ่งได้สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ผู้ที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาป่าผืนนี้เป็นอย่างมาก
“ลุงใจ หนองมีทรัพย์” อดีตเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวัย 65 ปี ถึงแม้วันนี้จะพ้นจากหน้าที่การเป็นผู้ดูแลป่าแล้วก็ตาม แต่ทุกครั้งที่มีงานสำคัญในพื้นที่อุทยานแห่งชาติป่ากุยบุรี ลุงใจ ก็มักเลือกที่จะมาช่วยงานด้วยความเต็มใจอยู่สม่ำเสมอ
ยามใดเมื่อบอกให้ ลุงใจ ไปเดินป่า ลุงใจ ยิ่งรู้สึกชอบเพราะการเข้าป่ารู้สึกเย็น ยิ่งในช่วงที่มีการสำรวจ และคัดเลือกต้นไม้จันทน์หอมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อนำไปใช้ในพระราชพิธีสำคัญด้วยแล้ว ลุงใจ ยิ่งให้ความสนใจมากขึ้น
ที่ผ่านมา ลุงใจ ได้มีโอกาสทำหน้าที่ในช่วงเวลาสำคัญนั้นมาแล้ว คือ การเดินป่าสำรวจ และคัดเลือกต้นไม้จันทน์หอมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อนำไม้จันทน์หอมไปใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ มเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งลุงใจ ได้ทำหน้าที่ทั้งการเดินสำรวจ และช่วยกันเลื่อยไม้หลังจากพิธีบวงสรวง และลงขวานทองจนแล้วเสร็จมาแล้ว
ต้นไม้จันทน์หอม ที่นำไปใช้ในพระราชพิธีนั้นจะต้องเป็นไม้จันทน์หอมที่ยืนต้นตายตามธรรมชาติแล้วเท่านั้น
เช่นเดียวกับครั้งนี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทันทีที่ทีมข่าวชักชวน ลุงใจ ให้ช่วยพาไปดูผืนป่าที่กล่าวขานกันว่ามีไม้จันทน์หอมเป็นจำนวนมากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ลุงใจ ไม่รีรอพาเข้าไปในที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และพาเข้าไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ด้านหลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ด้วยความที่คุ้นเคยกับผืนป่ากุยบุรีมานานหลายสิบปีทันที
ทำให้ทราบดีว่า ป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรีแห่งนี้มีต้นไม้จันทน์หอม กระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ตรงตรงกับข้อมูลของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ที่ระบุเหมือนกันว่า ปัจจุบันนี้มีต้นไม้จันทน์หอมหลากหลายขนาด ตั้งแต่ต้นกล้าที่เพิ่งเริ่มแตกใบไปจนถึงต้นรุ่นๆ จนไปถึงหนุ่มสาว และขนาดใหญ่เฉลี่ยมีอายุตั้งแต่ 1 ปี ไปจนถึง 100 กว่าปีก็มี และระหว่างเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ยังรายล้อมไปด้วยไม้ชนิดอื่นๆ อีกด้วย แต่สิ่งสำคัญคือไม้จันทน์หอม ซึ่งลุงใจ ได้พาไปดูต้นมีอายุเป็นร้อยปีที่มีความสูงมากถึง 15 เมตรด้วย
ที่สำคัญ “ลุงใจ” บอกว่า ต้นไม้จันทน์หอมในผืนป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรีเหล่านี้ล้วนเป็นผลผลิตจากธรรมชาติแทบทั้งสิ้น ซึ่งเกิดจากลูกที่ร่วงหล่นลงมา และมักเจริญเติบโตในช่วงที่มีฝนตกลงมาทำให้พื้นดินชุ่มชื้น ต้นไหนตายลงก็จะมีต้นใหม่เกิดขึ้นมาทดแทนในบริเวณใกล้เคียงกัน โดยไม่จำเป็นต้องปลูกในผืนป่าบริเวณนี้ เพราะเดินไปไม่ไกลกันมากก็มักพบต้นไม้จันทน์หอมกระจายอยู่ทั่วไป เพียงแต่ต้นใหญ่บ้างเล็กบ้าง หรือต้นที่กำลังจะตาย หรือตายตามธรรมชาติก็มีให้เห็น เพราะต้นไม้จันทน์หอมจะเจริญเติบโตได้ดีในป่าดิบแล้งพื้นราบ จะไม่ไม่ค่อยพบบนพื้นที่ภูเขาสูงมากนัก
ด้าน นายเอกชัย วรรณดี เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเพื่อนเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่ดูแลผืนป่าแถบนี้กล่าวยอมรับว่า ผืนป่ากุยบุรี ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์เพราะไม่เคยถูกบุกรุกแผ้วถางจากน้ำมือมนุษย์ อีกทั้งยังมีการออกลาดตระเวนตรวจตราดูแลป่าอย่างต่อเนื่อง และที่พวกเราเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติมาโดยตลอด คือ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงรับสั่งอยู่เสมอว่า ให้ทุกคนช่วยกันรักษาป่าต้นน้ำลำธาร เพราะหากป่าหมดก็จะเกิดความแห้งแล้งตามมา
“ซึ่งนี่คือเรื่องจริง ดังจะเห็นได้ว่าความสมบูรณ์ของผืนป่ากุยบุรี มีทั้งฝายชะลอความชุ่มชื้น มีเช็คแดรมขนาดเล็กกระจาอยู่ในผืนป่า ทำให้มีน้ำหล่อเลี้ยง และสร้างความชุ่มชื้น ทำให้ป่าไม้จันทน์หอมบริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ยังคงเจริญเติบโตมาถึงปัจจุบันนี้” นายเอกชัย กล่าว
ทางด้าน ลุงสมชัย โฉมงาม วัย 67 ปี หนึ่งในราษฎรอาสาพิทักษ์ป่า ของอำเภอกุยบุรี ก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปดูสถานที่ที่จะใช้ในการประกอบพิธีบวงสรวง และตัดต้นไม้จันทน์หอมซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ พร้อมกล่าวอย่างภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่มีในหลวงรัชกาลที่ ๙ อีกว่า ผืนป่ากุยบุรี หากพูดแบบภาษาชาวบ้าน ถือเป็นผืนป่าที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นแหล่งต้นไม้จันทน์หอม ซึ่งคนโบราณเชื่อว่าเป็นไม้มงคล
อีกทั้งที่ผ่านมา ไม้จันทน์หอมจากผืนป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทางสำนักพระราชวังจะคัดเลือกนำไปใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพตั้งแต่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และเมื่อครั้งล่าสุด สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งครั้งนี้จะนำไปใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ลุงสมชัย กล่าวอีกว่า ถึงแม้ว่าเส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรีแห่งนี้ที่ผ่านมาก็มีผู้สนใจเดินทางมาเที่ยวชม และศึกษาธรรมชาติของพันธุ์ไม้อยู่แล้ว และยังเป็นสถานที่ซึ่งมีการจัดทำนิทรรศการบอกเล่าถึงความเป็นมาของต้นไม้จันทน์หอม และความสำคัญของการตัดไม้จันทน์หอมแต่ละครั้งว่าถูกนำไปใช้เมื่อไหร่ ปีไหน อย่างไร และบริเวณตอไม้จันทน์หอมที่มีการตัดไปแล้วก็มีการทำเป็นอาคารไม้ทรงไทยขนาดเล็กครอบเอาไว้เพื่อไว้เป็นที่ศึกษาสำหรับผู้มาเที่ยวชม
“ลุงเชื่อว่าที่นี่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ซึ่งกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาทั้งเรื่องต้นไม้จันทน์หอม และพิธีบวงสรวงการตัดต้นไม้จันทน์หอม สำหรับเด็กเยาวชน และผู้ที่สนใจ และผู้คนทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น เพราะมั่นใจว่าหลังจากพิธีบวงสรวง และตัดไม้จันทน์หอมจากผืนป่าอุทยานแห่งชาติป่ากุยบุรี เสร็จสิ้นลงแล้ว เชื่อว่าจะถูกกล่าวขาน และถ่ายทอดสู่เด็กรุ่นหลังกันต่อไปถึงตำนานไม้จันทน์หอมแห่งป่ากุยบุรี ดินแดนศักดิ์สิทธิแห่งนี้” ลุงสมชัย กล่าว
สำหรับไม้จันทน์หอม ถือเป็นไม้มีค่าหายากของประเทศไทย จัดเป็นไม้มงคลชั้นสูงที่ใช้ในงานพระราชพิธีนับแต่สมัยพุทธกาล และพบประวัติการใช้ไม้จันทน์หอมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น และสมัยกรุงรัตน์โกสินทร์ โดยไม้จันทน์หอมจัดเป็นหนึ่งในจตุชาติสุคนธ์ หรือของหอมจากธรรมชาติ 4 อย่าง ได้แก่ ไม้กฤษณา กระลำพัก ดอกไม้หอม และไม้จันทน์หอม
การจะนำไม้ชนิดนี้มาใช้งานจะต้องเป็นไม้ยืนต้นตายตามธรรมชาติ ไม่สามารถตัดโค่นก่อนได้ เพราะจะทำให้ไม่มีกลิ่นหอมในระดับที่ใช้งานได้ รวมทั้งสิ่งสำคัญยังต้องทำพิธีขอไม้จันทน์หอมจากรุกขเทวดา โดยโหรพราหมณ์จะอ่านโองการ และตัดไม้ตามฤกษ์ดีเท่านั้น ซึ่งในครั้งนี้จึงจะมีพิธีตัดต้นไม้จันทน์หอมที่บริเวณต้นที่ 15 ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 เวลา 14.09-14.39 น.
ครั้งนี้จึงนับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของแผ่นดินไทย เพราะไม้จันทน์หอมแห่งป่ากุยบุรี จะถูกตัดนำไปใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช