xs
xsm
sm
md
lg

พระโกศจันทน์ เริ่มมาแต่สมัยพุทธกาล! จนถึงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี... สมเด็จพระเทพฯจึงให้งดเผาศิลปะอันล้ำค่า!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

แบบร่างพระโกศจันทน์พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ส่วน  ฐานคือที่ประดิษฐานพระหีบ
พระโกศจันทน์ คือ พระโกศที่สร้างด้วยไม้จันทน์ ซึ่งเป็นไม้มงคล มีกลิ่นหอม เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลอ่อน เสี้ยนตรง เนื้อละเอียด แห้งแล้วนำมาเลื่อย ไสกบ ตกแต่งง่าย ต้นจันทน์ยืนต้นตายตามธรรมชาติจนผิวนอกผุเปื่อยแล้ว เหลือแก่นไม้ จะมีกลิ่นหอมจัด นำมาเป็นเชื้อเพลิงในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง และงานเกี่ยวกับพระศาสนาเท่านั้น

ใน “ปฐมสมโพธิกถา” พระนิพนธ์สมเด็จสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวถึงการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า ความว่า

“กษัตริย์มัลลราชทั้งหลาย ก็กระทำตามคำของพระอานนท์เถรบอกนั้นทุกประการ ให้กระทำซึ่งจิตกาธาน คือ เชิงตะกอน แล้วไปด้วยแก่นจันทน์สูงถึง ๑๒๐ ศอก แลท่อนจันทน์ทั้งหลายอันเรียงรายลำดับภายนอกหีบพระพุทธสรีระ”

และในหนังสือ “ไตรภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” ซึ่งพระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือ พญาลิไท ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ได้พรรณาการจัดพระศพพระยามหาจักรพรรดิว่า

“เมื่อนั้น จึงพระยาจักรพรรดิราชนั้น ธก็ทิพธรชงคตพิธรชะโลมด้วยกระแจะจวงจันทน์...แล้วจึงยกสพสงสการด้วยแก่นจันทน์”

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน กล่าวถึงขบวนอัญเชิญพระบรมโกศสมเด็จพระนารายณ์ ความว่า

“แลรถสมเด็จพระสังฆราชสำแดงพระอภิธรรมกถา แลโปรยข้าวตอกดอกไม้ รถโยง รถท่อนจันทน์ แลรูปนานาสัตว์”

ในสมัยรัตนโกสินทร์ ประกาศเรื่องการพระเมรุพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง หมายกำหนดการถวายพระเพลิงพระบรมศพข้อ ๒๘ ความว่า
“ได้อัญเชิญพระลองพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธาน ประกอบพระโกศจันทน์ และประดับเครื่องถวายพระเพลิง”

จากบันทึกข้างต้นที่กล่าวถึง “ไม้จันทน์” ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้น เป็นพระราชประเพณีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ต่อเนื่องถึงสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ไม้จันทน์ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการถวายพระเพลิงพระบรมศพมาตลอด

พระโกศไม้จันทน์มีลักษณะเป็นโกศแปดเหลี่ยม มียอดประกอบด้วยโครงลวดตาข่ายประดับลายฉลุเป็นลายซ้อนไม้ทั้งองค์ องค์พระโกศไม้จันทน์สามารถแยกได้เป็นสามส่วน คือพระโกศรูปแปดเหลี่ยมถอดออกได้เป็น ๒ ส่วน โดยผ่าแยกตรงมุมเหลี่ยมโกศ นำมาประกอบเข้าได้โดยไม่เห็นรอยต่อ และมีฝาครอบตอนบนอีกชิ้นหนึ่งรวมเป็น ๓ ส่วน

การสร้างพระโกศจันทน์จะเริ่มจากการขยายแบบและนำเหล็กเส้นมาผูกเป็นโครง แล้วปิดโครงทั้งหมดด้วยตาข่ายลวด ส่วนไม้จันทน์นำไปตัดเป็นท่อนๆ แล้วซอยเป็นแผ่นจนได้ขนาดตามที่ต้องการ หลังจากนั้นก็นำไม้จันทน์ไปฉลุลายซ้อนไม้เป็นลายต่างๆ ที่สื่อความหมายของศิลปะไทยด้านสถาปัตยกรรม และนำลายไม้จันทน์ที่ได้มาผูกเข้ากับตะแกรงลวดโดยรอบ จัดวางโดยเน้นความสวยงามเป็นหลัก ให้ดูมีการเคลื่อนไหวและดูมีน้ำหนัก

ตอนกลางของฝาฐานพระโกศจันทน์ จะตัดเป็นช่องสี่เหลี่ยมกว้างและยาว ๘๔ ซม. เพื่อให้ฐานพระโกศจันทน์สอดเข้าไปตั้งอยู่บนฝาตะแกรงฐานลองใน ช่องกลางนี้จะเป็นตัวยึดพระโกศไว้อย่างแน่นหนาพอดี ส่วนใต้ฐานลองก็เปิดโล่งใช้ในการสุมฟืนบนพระจิตกาธาน

ลองในนี้ต้องใช้โลหะไร้สนิม ทั้งนี้เพื่อให้รับน้ำหนักและยึดตัวพระโกศจันทน์ที่จะตั้งอยู่บนลองใน และกันเปลวไฟในเวลาถวายพระเพลิงพระบรมศพชั้นในสุด ที่จะลามออกมาด้านนอกมากเกินไป จนเกิดความเสียหายแก่พระเมรุมาศ ทั้งยังช่วยเก็บความร้อนขณะเผาให้อยู่ภายในวงจำกัด

ลายที่ใช้ประดับพระโกศจันทน์นี้ ประกอบด้วย ลายกระจัง ลายหน้ากระดาน ลายท้องไม้ ลายเส้นลวด ลายดอกไม้เอว ลายบัวกลีบขนุน ลายเฟือง ลายอุบะ ลายบัวค่ำบัวหงาย ลายกระจังปฎิญาณ ลายยอดกลีบพระโกศ ลายดอกไม้ไหว ประดับด้วยความสวยงามและแสดงฐานันดรศักดิ์ เช่น ลายกระจังปฎิญาณ จะต้องติดที่แนวหน้ากระดานบน ของฐานพระโกศหรือพระราชยาน ประกอบด้วยลายอันวิจิตรงดงามเต็มพระอิสริยยศ แสดงถึงฐานานุศักดิ์แห่งพระศพที่สถิตอยู่ภายในพระโกศ ซึ่งประดิษฐานอยู่บนพระเมรุ อันเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ ตามคติความเชื่อว่าเป็นที่สถิตของพระผู้เป็นเจ้าและเหล่าทวยเทพ

เมื่อครั้งพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๓๙ การสร้างพระโกศจันทน์มีความแตกต่างไปจากอดีตที่เคยมีมาในประวัติการจัดสร้างพระโกศแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือมิใช่สร้างแต่พระโกศอย่างเดียว แต่ได้เพิ่มการจัดทำฐานพระโกศอีกชั้นหนึ่ง เป็นความแตกต่างไปจากโบราณ มีลักษณะพิเศษเพิ่มขึ้นมา คือสร้างฐานพระโกศทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า รองรับองค์พระโกศทรงแปดเหลี่ยมอีกชั้นหนึ่ง รูปทรงคล้ายกับหีบศพของคนสามัญ ทั้งนี้เพราะพระศพของพระองค์ประทับอยู่ในพระหีบ ไม่ใช่พระโกศ

ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เนื่องจากเมื่อคราวทำพิธีสรงน้ำพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระราชินีในรัชกาลที่ ๗ “สมเด็จย่า”ได้ทอดพระเนตรอยู่ด้วย ทรงได้เห็นพิธีสุกำ หรือการมัดพระบรมศพ ลงในพระบรมโกศ ซึ่งเป็นไปด้วยความทุลักทุเลอย่างมาก ทรงตรัสว่า “อย่าทำกับฉันแบบนี้ อึดอัดแย่” เมื่อท่านเสด็จสวรรคต จึงอัญเชิญพระศพท่านประทับในพระหีบ แทนพระบรมโกศ

การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ มิใช่การยกเลิกธรรมเนียมประเพณีเก่าแต่อย่างใด แต่เป็นพระราชประสงค์ส่วนพระองค์ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดธรรมเนียมประเพณีแต่อย่างใด
ต่อมาในคราวพระบรมศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตลอดจนพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ก็เป็นพระราชประสงค์ส่วนพระองค์ที่จะประทับในพระหีบ เช่นเดียวกับพระราชมารดาของพระองค์

แต่ก่อนการสร้างพระโกศจันทน์ในแต่ละครั้ง จะถูกเผาไปพร้อมกับพระบรมศพ จึงไม่มีให้ช่างรุ่นหลังได้ดูแบบอย่าง นอกจากรูปถ่าย ความเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๒๘ สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริว่า “ควรเก็บพระโกศจันทน์ไว้เป็นตัวอย่างการสร้าง เพราะตัวอย่างในการสร้างไม่มีแล้ว ช่างที่เคยเห็นเคยทำมาชำนาญก็ล้มหายตายจากไป” ทำให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่มีการเผาพระโกศจันทน์ ถอดออกเมื่อเสร็จสิ้นการทรงวางดอกไม้จันทน์ของพระบรมวงศ์ ก่อนถวายพระเพลิงพระศพ

ปัจจุบันพระโกศจันทน์องค์นี้ประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังมีรอยไหม้บริเวณฐานพระโกศจันทร์ด้วย เช่นเดียวกับพระโกศจันทร์ทรงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระพี่นางเธอฯ

พระโกศจันทน์ ศิลปะล้ำค่าของชาติซึ่งควรอนุรักษ์ ได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ไม่ถูกเผาทำลายไปอย่างแต่ก่อน
ส่วนฝาพระโกศจันทน์
สองส่วนของพระโกศจันทน์ประกบกันเข้าหุ้มพระลองที่บรรจุพระศพ
ช่างขึ้นโครงพระโกศจันทน์ก่อนที่จะประดับด้วยไม้จันท์กว่า ๒ หมื่นชิ้น
พระโกศจันทน์สมเด็จพระพี่นางเธอฯ บนพระเมรุมาศ
กำลังโหลดความคิดเห็น