xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำนานฉายา “บิ๊กขี้หลี” ชื่อนี้มีที่มา?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการออนไลน์ - ท่ามกลางข่าววุ่นๆ เกี่ยวกับความรักครั้งใหม่ของชายรุ่นใหญ่ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ “พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์” กับสาวคนใหม่ “น้องเรต ยุวเรต ศรุตานนท์” ภายหลังที่ภริยาคนปัจจุบัน คุณหญิง เกิดศิริ ศรุตานนท์ ออกมาเปิดเผยว่ายังไม่ได้หย่ากับสามี จนเป็นที่ฮือฮากันทั้งบางนั้น แต่สำหรับวงการสื่อมวลชนแล้ว นี่คือ อีกตัวอย่างหนึ่งในพฤติกรรมของข้าราชการระดับสูงที่พวกเขาไม่เคยลืม กับฉายา “บิ๊กขี้หลี” ของอดีตผู้บังคับบัญชาสุภาพบุรุษโล่เงินคนนี้

ปมเหตุทั้งหมดมาแดงขึ้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2546 พลันที่ กลุ่มนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ออกแถลงการณ์ เพื่อเตือนภัยข้าราชการระดับสูงที่มีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ พยายามทาบทามนักข่าวสาวคนหนึ่งให้ไปที่ห้องพัก ในระหว่างเดินทางไปร่วมประชุม คณะรัฐมนตรี สัญจร ที่ จ.ภูเก็ต ระหว่างวันที่ 25 - 26 พ.ค. กับที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อ 31 พ.ค. - 1 มิ.ย. ทำให้ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น ถึงกับตั้งทีมสืบสวนเรื่องนี้ ประกอบด้วย พล.ต.ต.พงศพัศ พงษ์เจริญ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ ผู้บังคับการตำรวจปราบปราม โดยตั้งเป้าให้ตามหาตัวนักข่าวสาวและข้อเท็จจริง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก ทั้งในข้าราชการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และ องค์กรสตรี

ต่อมาวันที่ 7 มิ.ย. ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการทหารสูงสุด (ศรภ.) ได้ทำรายงานพฤติกรรมของข้าราชการระดับสูงคนดังกล่าวอย่างละเอียด ส่งถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รมว.กลาโหม และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผบ.สส. ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า “เรื่องทั้งหมดผมไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงลึกๆ ผู้บังคับบัญชารู้ด้วยหรือไม่ แต่มีผู้ใต้บังคับบัญชาไปทำหน้าที่เหมือนกับเป็นพ่อสื่อให้ ในลักษณะพ่อสื่อคือการไปจีบ แต่ไม่ได้เกิดพฤติกรรมการลวนลามหรืออะไร และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแน่นอนว่าตนจะต้องตักเตือน ซึ่งทราบตัวแล้วว่ามีใครบ้าง”

ทางด้าน พล.ต.อ.สันต์ ได้ออกมาชี้แจงเรื่องราวทั้งหมด โดยยืนยันว่า ในการประชุม ที่ จ.อุบลราชธานีนั้น ตนได้ผู้คุยกับผู้สื่อข่าวหญิงช่อง 7 ที่เอาเสื้อของชมรมวิทยุโทรทัศน์มามอบให้กับนักข่าวอีก 1 คน และย้ำว่า ไม่ได้พูดกับผู้สื่อข่าวคนใด แต่ข่าวถูกสร้างขึ้นมาอย่างน่าเกลียดที่สุด ตั้งแต่เกิดมาจนอายุขนาดนี้ตนไม่เคยจีบผู้หญิงโดยการเสนอรถยนต์กับบ้าน ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกันเลย

ส่วนที่ จ.ภูเก็ต นั้น พล.ต.อ.สันต์ อ้างว่า ตนเห็นสุภาพสครีคนหนึ่งแต่งกายแปลกกว่าคนอื่นเดินไปเดินมาหลายเที่ยว ไม่ติดบัตรที่หน้าอก จึงให้ตำรวจเรียกตัวมาสอบถามว่า เป็นใคร ทำไมไม่ติดบัตร พกบัตรมาหรือเปล่า ก่อนจะให้ พล.ต.ต.พงศพัศ ออกไปถามผู้สื่อข่าวข้างนอกว่า คนนี้เป็นผู้สื่อข่าวจริงหรือเปล่า เมื่อ พล.ต.อ.พงศพัศ เข้ามายืนยันเลยอนุญาตให้เดินกลับไป ใช้เวลาประมาณ 2 - 3 นาที เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในชีวิตที่เห็นหน้าผู้หญิงคนนี้ ซึ่งตนทราบตัวแล้ว แต่ขอปิดไว้ว่า เป็นใคร เพราะเจ้าตัวไม่ยอมให้การ แต่ตนจะใช้อำนาจทางศาลและความถูกต้องทางราชการ ให้เขาออกมาพูดให้ได้ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร

ต่อมา พล.ต.อ.สันต์ ได้ลงนามมอบอำนาจให้กองคดียื่นฟ้องหมิ่นประมาท หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ การ์ตูนผู้จัดกวน และ หนังสือพิมพ์บ้านเมือง เป็นล็อตแรก และมีการฟ้องหนังสือพิมพ์ นางทิชา ณ นคร ประธานเครือข่ายผู้หญิงเพื่อรัฐธรรมนูญ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “เสธ.แดง” ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก และ นางยุวดี ธัญญศิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโส นสพ.บางกอกโพสต์ เพิ่มเติมในข้อหาคล้ายกัน

กลางเดือน มิ.ย. 47 พล.ต.อ.สันต์ แจ้งความดำเนินคดีกับนางทิชา เพิ่มอีก 1 ข้อหาฐานความผิดละเมิด เรียกค่าเสียหายจำนวน 100 ล้านบาท ขณะที่ในเดือน ก.ค. ก็ได้ยื่นฟ้อง นางยุวดี ในคดีเดียวกันด้วย แต่หลังจากนั้น ศาลก็ได้พิพากษาให้ยกฟ้องคดีดังกล่าวเรื่อยมา ขณะที่ น.ส.เกวลิน กังวานธนวัฒน์ ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 นักข่าวสาวผู้เสียหาย ได้เดินทางเข้าให้การต่อศาลในฐานะพยานจำเลย ในคดี “บิ๊กขี้หลี” เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2548

อย่างไรก็ตาม ในภายหลังได้ปรากฏถ้อยคำให้การของ น.ส.เกวลิน ในฐานะพยานจำเลยในคดีที่ พล.ต.อ.สันต์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.ขัตติยะ และพวกรวม 17 คน ในคดีแพ่ง ตามคดีหมายเลขดำที่ 3968-3977/2547 ถึงพฤติกรรมของ พล.ต.อ.สันต์ ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.ภูเก็ต และ จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีใจความสรุปว่า

ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2546 น.ส.เกวลิน เดินทางไปทำข่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดภูเก็ต และ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งการเดินทางไปทำข่าวที่ จ.ภูเก็ต น.ส.เกวลิน เดินทางไปกับเครื่องบินของคณะของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยมีนักข่าวคนอื่นร่วมเดินทางไปด้วย ซึ่งในครั้งนั้นมีการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่โรงแรมภูเก็ตอาคราเดียร์ น.ส.เกวลิน เดินทางไปถึงโรงแรมดังกล่าวตอนสาย เมื่อไปถึงก็ต้องปฏิบัติหน้าที่จุดที่จะรายงานข่าวอยู่ด้านนอกโรงแรม โดยไม่มีใครแจ้งให้ทราบว่า ในการปฏิบัติหน้าที่จะต้องติดบัตรประจำตัว สำหรับ น.ส.เกวลิน มีเฉพาะบัตรแสดงตัวเป็นพนักงานของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เท่านั้น และ น.ส.เกวลิน ก็แต่งกายเหมือนทุกครั้ง คือ ใส่สูท มิได้แต่งชุดอย่างอื่นคล้ายชุดไทย

โดย น.ส.เกวลิน ใช้เวลาว่างก่อนทำหน้าที่รายงานข่าวประมาณ 2 ชั่วโมง ไปซื้อของแห้งประเภทน้ำพริกกลับบ้าน ที่ร้านอาหารบริเวณชั้นล่างของโรงแรมระหว่างรอการจัดอาหาร จึงไปนั่งรอที่โต๊ะ ระหว่างนั้น พล.ต.ท.พงศพัศ มาเรียกโดยพูดขึ้นว่า “น้องๆ ขอเชิญไปพบ ผบ.ตร.หน่อย” น.ส.เกวลิน ถามว่า “มีอะไรคะ” พล.ต.ท.พงศพัศ บอกว่า “ท่านอยากถามอะไรหน่อย” น.ส.เกวลิน จึงเดินตาม พล.ต.ท.พงศพัศ ไปที่ห้องๆ หนึ่ง ซึ่งจัดไว้เป็นสัดส่วน มีนายตำรวจอยู่จำนวนหลายคนรวมทั้ง พล.ต.อ.สันต์ เมื่อเข้าไปในห้องแล้ว มีตำรวจเชิญให้ข้าฯ ไปนั่ง แต่จำไม่ได้ว่าคนที่เชิญเป็นใคร

ขณะนั้น พล.ต.อ.สันต์ นั่งอยู่ที่หัวโต๊ะคนเดียว น.ส.เกวลิน ถูกเรียกให้ไปนั่งอยู่ด้านข้าง ฝั่งซ้ายมือของพล.ต.อ.สันต์ เมื่อนั่งลงแล้ว พล.ต.อ.สันต์ ถามขึ้นว่า “มาจากไหน” น.ส.เกวลิน ตอบว่า มาจากช่อง 9 พล.ต.อ.สันต์ ถามว่า ทำไมไม่เคยเห็นหน้า น.ส.เกวลิน ตอบว่า ตามปกติตน ไม่ใช่นักข่าวการเมือง แต่วันนี้ตน มารายงานสด พล.ต.อ.สันต์ ถามต่อว่า ชื่ออะไร จบการศึกษาจากที่ไหน ส่วนสูงว่าสูงเท่าไร ทำไมตัดผมสั้น ก่อนถามต่อว่า มาทำข่าวอย่างไร น.ส.เกวลิน ตอบว่า มากับคณะท่านนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.สันต์ ถามว่า ตอนกลับจะกลับอย่างไร น.ส.เกวลิน ตอบว่า กลับกับคณะนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.สันต์ ถามว่า “ไม่สนขึ้นเครื่องบินตำรวจหรือ” จังหวะนั้น มีตำรวจคนหนึ่งพูดแทรกขึ้นมาว่า “แต่มีที่ว่างที่เดียวนะ” จากนั้นตำรวจที่อยู่ในห้องก็หัวเราะกัน น.ส.เกวลิน ตอบไปว่า “ไม่เป็นไรค่ะ กลับกับทีมข่าว” ช่วงนั้นตนรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ และไม่อยากที่จะคุยต่อไปแล้ว จึงบอกกับ พล.ต.อ.สันต์ ว่า “เดี๋ยวขอตัวขึ้นไปทำงาน” พล.ต.อ.สันต์ ก็แสดงท่าทางยินยอมให้ไป น.ส.เกวลิน จึงเดินออกจากห้องไปโดยไม่ได้กลับไปเอาอาหารที่สั่งไว้ ตั้งใจว่าทิ้งระยะเวลาไว้สักครู่ให้คณะของตำรวจไปเสียก่อนจึงค่อยกลับไปเอา

ภายหลังออกจากห้อง น.ส.เกวลิน ก็ไปอยู่ที่จุดซึ่งต้องรายงานข่าว ประมาณครึ่งชั่วโมง จึงชวน นางสาวปิยะกมล สันทัดการ เพื่อนนักข่าวลงไปเอาของที่สั่งไว้ นางสาวปิยะกมล ถาม น.ส.เกวลิน ว่า ทำไมจึงต้องชวนลงไปด้วย ไปคนเดียวไม่ได้หรือ น.ส.เกวลิน บอกว่า ไม่กล้าลงไปคนเดียว จากนั้นจึงเล่าเหตุการณ์ให้นางสาวปิยะกมล ฟัง นางสาวปิยะกมล จึงลงไปเป็นเพื่อนผ่านห้องที่ไปพบ พล.ต.อ.สันต์ ก่อนหน้านั้น เห็น พล.ต.อ.สันต์ ยังอยู่ในห้องดังกล่าว

ต่อมา น.ส.เกวลิน ไปรับอาหารที่สั่งไว้ ขณะจะจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ พล.ต.ท.พงศพัศ ไปหา น.ส.เกวลิน ขอเบอร์โทรศัพท์ น.ส.เกวลิน จึงให้เบอร์โทรศัพท์ที่ทำงานซึ่งเป็นเบอร์กลางไป ตอนกลับ น.ส.เกวลิน เดินผ่านห้องที่ พล.ต.อ.สันต์ นั่งอยู่ พล.ต.อ.สันต์ เรียก น.ส.เกวลิน จากในห้องว่า “อ้าวจะไปไหน” น.ส.เกวลิน บอกว่า จะกลับแล้ว ระหว่างนั้น พล.ต.อ.สันต์ พูดกับ น.ส.เกวลิน เป็นลักษณะประวิงเวลาที่จะชวนคุยต่อ แต่จำรายละเอียดไม่ได้ น.ส.เกวลิน พูดตัดบทแล้วรีบกลับไป

ทั้งนี้ ขณะที่เดินทางไปถึงโรงแรม น.ส.เกวลิน เข้าไปห้องพักก่อน ขณะผ่านเข้าไปนั้นไม่มีการตรวจบัตรประจำตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจเลย ทั้งนี้ เมื่อ น.ส.เกวลิน เดินทางไปถึงคณะรัฐมนตรีก็เริ่มมีการประชุมแล้ว ภายในโรงแรมจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำอยู่ตามจุดต่างๆ แต่ผู้คนที่ไปใช้บริการก็ยังคงไปใช้บริการตามปกติ ไม่เห็นมีการเข้มงวดตรวจบัตรแต่อย่างใด ขณะพล.ต.อ.สันต์ พูดคุยกับน.ส.เกวลิน นั้น พล.ต.อ.สันต์ มองหน้า น.ส.เกวลิน แต่ น.ส.เกวลิน ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของ พล.ต.อ.สันต์

ขณะที่ จ.อุบลราชธานี นั้น น.ส.เกวลิน ได้พักร่วมกับ นางอนัญญา ตั้งใจตรง (ไสยมรรคา) ผู้สื่อข่าวสายการเมืองของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ที่โรงแรมลายทอง ซึ่งในช่วงที่คณะรัฐมนตรีเดินทางไปถึงโรงแรมลายทอง พล.ต.ท.พงศพัศ ได้เรียก น.ส.เกวลิน ไปพบบอกว่า ให้ไปหานาย คือ พล.ต.อ.สันต์ โดยไม่ได้แจ้งเหตุผล บอกเพียงว่า นายอยากพบ ขณะนั้น น.ส.เกวลิน ยืนอยู่บริเวณหน้าห้องผู้สื่อข่าวใกล้ๆ กับห้องรักษาความปลอดภัย ใส่สูทแต่งตัวพร้อมออกรายการสด และยังคงยืนเฉยๆ พล.ต.ท.พงศพัศ จึงเข้ามาจับแขนดึง น.ส.เกวลิน ไปโดยมิได้พูดอะไร แต่ น.ส.เกวลิน ไม่ยอมไป จังหวะนั้น นางยุวดี จำเลยที่ 2 ตะโกนขึ้นว่า “ทำอะไรน้องเขา ไปยุ่งอะไรเค้า” พล.ต.ท.พงศพัศ จึงปล่อยมือจากการจับแขน และหลังจากนั้น น.ส.เกวลิน ก็มิได้พบ พล.ต.ท.พงศพัศ อีก

ต่อมาเวลาประมาณ 22.00 น. มีคนนำจดหมายไปสอดไว้บริเวณช่องว่างใต้ประตู จ่าหน้าซองเขียนชื่อ น.ส.เกวลิน จึงเอาจดหมายฉบับดังกล่าวมาดู ปรากฏว่า ไม่ปิดผนึก แกะออกดูภายในจดหมายเขียนข้อความว่า “พรุ่งนี้เวลา 08.30 นาฬิกา ให้ไปขึ้นเครื่องบินตำรวจ ลงชื่อ พลตำรวจตรี สุรสิทธิ์ สังขพงศ์” น.ส.เกวลิน ก็งง ซึ่ง นางอนัญญา ก็เห็นจดหมายฉบับดังกล่าว อ่านดูแล้ววางไว้บนโต๊ะในห้องพัก โดยในคืนนั้นหลังจากที่ น.ส.เกวลิน หลับไปแล้วก็มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น นางอนัญญา เป็นคนรับโทรศัพท์ น.ส.เกวลิน จึงคิดว่าเป็นโทรศัพท์ถึงตน เพราะได้ยินเสียงนางอนัญญา พูดถามไปว่า “เกวลินไหน” หลังจากนั้นนางอนัญญา พูดปฏิเสธว่าไม่มี แล้ววางหูโทรศัพท์

หลังจากไปทำข่าวที่ จ.อุบลราชธานีแล้ว ต่อมาจึงทราบว่า นักข่าวสายทำเนียบรัฐบาลมีหนังสือมาถามสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จนกระทั่งมีการออกคำแถลงการณ์เตือนนักข่าวที่จะออกไปทำข่าวให้ระมัดระวัง แต่น.ส.เกวลิน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำหนังสือดังกล่าว แจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหนังสือพิมพ์ลงข่าว มีคนมาสอบถามเหตุการณ์จากหลายคน แต่ก็มิได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ใครฟัง เพราะคิดว่าเป็นผู้หญิงพูดอะไรไป ก็มีแต่เสียหาย การทำตัวให้เงียบที่สุดจะเป็นประโยชน์เสียกว่า

ทั้งนี้ น.ส.เกวลิน ยืนยันว่า ไม่เคยรู้จัก พล.ต.อ.สันต์ เป็นการส่วนตัวมาก่อน ไม่เคยพูดคุยกัน เพิ่งจะพบพล.ต.อ.สันต์ และพูดคุยกันครั้งแรกที่จังหวัดภูเก็ตขณะเรียกไปสอบถามนั้น พล.ต.อ.สันต์ มิได้สอบถามถึงเรื่องที่ไม่ติดบัตรแสดงตัวเลย วันนั้น น.ส.เกวลิน ไม่ได้ติดบัตรประจำตัวนักข่าว ตามปกติการเดินทางไปทำข่าวของนักข่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร จะต้องติดบัตรประจำตัว แต่ในส่วนของ น.ส.เกวลิน ซึ่งทำหน้าที่รายงานสดนั้น ไม่มีการติดบัตรใดๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจและข้าราชการฝ่ายอื่น ซึ่งร่วมไปประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรจะต้องติดบัตรประจำตัวหรือไม่ ไม่ทราบ พอจะทราบว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรแต่ละที่ต้องใช้กำลังตำรวจและทหารไปรักษาความปลอดภัยนับพันคน จะมีการกำหนดเขตรักษาความปลอดภัยกันอย่างไรนั้น ไม่ทราบ ทราบว่า พล.ต.อ.สันต์ เป็นหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร หากเกิดเหตุร้าย พล.ต.อ.สันต์ จะต้องรับผิดชอบ

พล.ต.อ.สันต์ ใช้เวลาพูดกับน.ส.เกวลิน ในห้องครั้งแรกประมาณ 10 นาที การพูดคุยของ พล.ต.อ.สันต์ กับ น.ส.เกวลิน นายตำรวจซึ่งนั่งอยู่ในห้องดังกล่าวก็ได้ยิน ระหว่างพูดคุยกับพล.ต.อ.สันต์ พล.ต.อ.สันต์ มิได้เสนอบ้าน รถยนต์ หรือประโยชน์ตอบแทนอื่นใดๆ แก่ น.ส.เกวลิน ทั้งไม่มีนายตำรวจคนใดพูดเรื่องดังกล่าว พล.ต.อ.สันต์ มิได้จับเนื้อต้องตัว น.ส.เกวลิน ข่าวที่หนังสือพิมพ์นำไปลงจะได้มาจากไหนที่ไหนอย่างไร ไม่ทราบ และไม่เคยพูดคุยกับเพื่อนนักข่าว เกี่ยวกับเรื่องที่มีข่าวว่ามีนายตำรวจเสนอบ้าน รถยนต์ เงินทองล่อใจเหยื่อ

น.ส.เกวลิน ยืนยันว่า ไม่เคยมีตำรวจคนใดมาติดต่อพยานเพื่อสอบคำให้การ ส่วนจะไปติดต่อผู้บังคับบัญชาตน ตนไม่ทราบ ขณะพล.ต.ท.พงศพัศ มาบอกน.ส.เกวลิน ว่าให้ไปหานาย น.ส.เกวลิน มิได้สอบถามว่านายที่ว่านั้น คือใคร ทั้งมิได้ถามว่า ไปเพื่ออะไร เหตุที่ได้ถาม เพราะตั้งใจไว้แล้วว่าจะไม่ไป ส่วนใครจะเป็นคนเขียนจดหมาย และนำจดหมายไปวางที่ห้อง ไม่ทราบ ที่จังหวัดอุบลราชธานี ทราบว่า พล.ต.อ.สันต์ เปลี่ยนเวลาเดินทางจากกำหนดเดิมตอนเที่ยงเป็นเดินทางกลับตอนเช้า ตามปกติจะมีนักข่าวนั่งเครื่องบินตำรวจหรือไม่ ไม่ทราบ หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรแล้ว ไม่เคยพบกับ พล.ต.อ.สันต์ อีก ขณะที่น.ส.เกวลิน พูดขอตัวจะกลับไปที่ห้องพัก พล.ต.อ.สันต์ มิได้แสดงอาการโกรธเคือง

ผลสรุปของคดีนี้ ศาลฎีกาก็ได้พิพากษายืนยกฟ้อง ตามที่ศาลอุทธรณ์ได้ชี้ว่า การที่พวกจำเลยให้สัมภาษณ์และเขียนบทความ รวมทั้งการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ตามฟ้องโจทก์นั้น ถือว่าเป็นการเสนอข่าวไปตามเหตุการณ์ที่เชื่อโดยสุจริตว่ามีเหตุจริง ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นการชี้แนะตักเตือนนักข่าวผู้หญิงให้ระมัดระวังต่อการปฏิบัติหน้าที่ และยังเป็นการทักท้วงการปฏิบัติตัวของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งโจทก์ก็อยู่ในฐานะ ผบ.ตร. ที่ถือได้ว่าเป็นตำแหน่งที่ประชาชนและสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ได้หากเห็นว่า ผบ.ตร. ประพฤติตัวไม่เหมาะสม เมื่อฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 - 17 เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งอยู่ในวิสัยที่ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถกระทำได้แล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในวงการข้าราชการระดับสูงกับสื่อมวลชนกับการคุกคามทางเพศ ที่แม้ภายหลังอาจจะมีหรือไม่มีเหตุการณ์เหล่านี้ แต่อย่างน้อยนี่คือบทเรียนชิ้นดีของเหล่าบรรดาข้าราชการกับการวางตัวต่อนักข่าว ที่หากกระทำการผิดพลั้งก็อาจเกิดเป็นคดีความอันยาวนานจนก่อให้เกิดรอยร้าวแทนสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันจนหมดอำนาจก็เป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น