xs
xsm
sm
md
lg

ตัวตนของคนจริง! “หมู นนทรี” นักผจญเพลิงผู้มีชีวิตเป็นเดิมพัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เป็นกระแสชื่นชมอย่างล้นหลามสำหรับการทำงานของเจ้าหน้าที่อาสาดับเพลิงนายหนึ่งซึ่งได้ฝ่าวงล้อมของเปลวไฟในย่านชุมชนวัดพระยาไกร เพื่อเข้าไปช่วยเหลือหนึ่งชีวิตสี่ขาอย่าง “สุนัข” จนมีการแชร์คลิปและดูชมเกือบ 2 ล้านในเวลาข้ามคืน

เขาคือ “หมู นนทรี” หรือ “ณัฐพล อติโรจนสมบัติ” อาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยแห่งประเทศไทย หนุ่มใหญ่วัย 32 ปี ผู้เลือกเดินบนเส้นทางนักดับเพลิงมากว่าครึ่งค่อนชีวิตด้วยจิตอาสา

นอกจากเรื่องราวที่น่าชื่นชมซึ่งทำให้ตระหนักถึงคุณค่าแห่งชีวิต ไม่ว่าคนหรือสัตว์ หลังจากเปลวเพลิงและควันไฟในบ้านหลังนั้นและบ้านอีกหลายๆ หลัง ตึกรามอาคารอีกหลายแห่ง จะจางหายไปแล้ว แต่เปลวไฟในชีวิตของคนธรรมดาคนหนึ่งซึ่งถูกจุดขึ้นด้วยความมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือผู้ทุกข์ร้อน ยิ่งนานวัน ยิ่งดูเหมือนว่าจะไม่มีแววมอดดับ

และนี่ก็คือเรื่องราวของเขาผู้นั้น ชายผู้มีรหัส “ใต้ 32”...

(1)
เพราะเราเป็นพี่น้องกัน
หนึ่งชีวิตไม่ว่าคนหรือสัตว์

“เราคิดว่าทุกคนเป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติ เป็นพ่อแม่เรา หมามันก็มีชีวิตเหมือนกัน บางคนเลี้ยงแล้วรักเหมือนลูกเลย ดังนั้น ถ้าเราช่วยได้ เราก็ต้องช่วย”

อาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยแห่งประเทศไทย หนุ่มใหญ่วัย 32 ปี รหัสใต้ 32 สังกัดฐานนนทรี เปิดเผยถึงเสี้ยววินาทีฝ่าดงเพลิงเข้าช่วยเหลือ ‘เจลลี่’ สุนัขวัย 6 ปี จากเหตุการณ์ไฟไหม้ย่านชุมชนวัดพระยาไกร ซอยเจริญกรุง 99 แยก 7 ถนนเจริญกรุง เขตบางคอแหลม เมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา

“วันนั้นตอนประมาณ 08.30 น. ได้รับแจ้งว่ามีเหตุไฟไหม้ชุมชนวัดพระยาไกรที่เป็นเขตรับผิดชอบของเรา แล้วก็ใกล้ๆ บ้านย่านสะพานแขวน ก็รีบวิ่งไปแต่งตัว และขึ้นรถมุ่งหน้าไปดับไฟ

“ตอนแรก รู้แค่นั้น เราก็เอาสายน้ำเข้าไปฉีด เพราะไฟยังไม่ลุกลามมาก แต่บังเอิญน้ำขาด จังหวะที่เราลงมาเติม ไฟก็ลุกโหม ทีนี้ คุณลุงเจ้าของบ้านก็มาแจ้งกับทีมงานว่ามีหมาตัวหนึ่งติดอยู่ในบ้าน ด้วยความที่เราใส่ชุด SCBA และเครื่องช่วยหายใจพร้อม ก็เลยเป็นหน้าที่ของเรา


“ถามว่าทำไมถึงต้องทำขนาดนั้น คือเรารู้สึกว่าเขาก็อยู่โลกเดียวกับเรา อากาศเดียวกัน ใช้ชีวิตเหมือนเรา กินข้าวอะไรเหมือนกัน คือถ้าเขามีทุกข์ ถ้าเราช่วยได้ เราก็ช่วย ง่ายๆ แค่นั้น ไม่ได้คิดอะไรมากมาย”

“ก็ช่วย”
อาสาหนุ่มใหญ่ตอบสั้นๆ อย่างคนที่เคยผจญกับกองเพลิงมากว่า 1,000 ครั้ง กับวันเวลากว่าครึ่งชีวิตที่ณัฐพลหมุดหมายช่วยเหลือทุกชีวิตทุกลมหายใจไม่เปลี่ยนแปลง แม้บางครั้งอาจจะต้องสละความสุขส่วนตัวจากครอบครัว ภรรยา ลูกๆ ทั้งสองคนในวัยขวบครึ่งและสามขวบครึ่ง กระทั่งอันตรายที่อาจพรากลมหายใจ

“ช่วยได้ก็ต้องช่วย…เรื่องตรงนี้มันจะซึมซับไปเอง คือตั้งแต่เป็นอาสาสมัครกู้ภัย ป่อเต็กตึ๊ง ตอนอายุ 15 จนอายุประมาณ 20 มาเป็นอาสาดับเพลิง ลงทุนเรียนจนถึงขั้นแอดวานซ์ ซื้ออุปกรณ์เองทั้งหมด บางทีเวลานอนๆ อยู่ ตี 2-3 ก็ต้องออกไป จังหวัดระยองก็ไป จังหวัดเพชรบุรีก็ไป บางทีทานข้าวอยู่กับแฟนหรือกำลังไปทานข้าว หากเกิดเหตุ เราผละตัวออกไปก่อนเลย ดับก่อนค่อยกิน หรือไม่ก็ให้แฟนขับรถกลับบ้านก่อน แล้วเราโทร.ไปแจ้งให้เพื่อนๆ เอาชุด เอารถมาให้ที่เกิดเหตุ ส่วนเราโบกวินมอเตอร์ไซค์บึ่งไปทันที ได้ยินเสียงหวอ ก็จะคิดว่าจะเป็นยังไงนะ จะดับยัง เพราะเรารู้ถึงหัวอก ถึงความรู้สึกของคนที่ประสบภัย อย่างครั้งแรกที่ก้าวเข้ามาทำหน้าที่นี้ จำได้ไม่ลืมเลย

“เหตุการณ์เกิดที่ชุมชนทางรถไฟบางกอกใหญ่ ก่อนแยกบางขุนนนท์ เราไปตกปลากลับมา เสร็จแล้วก็อาบน้ำมารอที่จุด เราก็กระโดดไปกับพี่ชาย เผื่อมีเหตุช่วยเหลือกู้ภัยตามหน้าที่ บังเอิญวันนั้นพี่ชายให้เข้าไปช่วย เราก็เลยได้เห็นภาพป้าคนหนึ่งที่ประสบเหตุ แกยืนอยู่ข้างถนน มองบ้านตัวเองแล้วร้องไห้ กอดกองเสื้อผ้าแล้วนั่งร้องไห้ เราไปตรงนั้น เรารู้ถึงความรู้สึกนั้นว่าคนที่ไม่เหลืออะไรออกมาจากบ้านเป็นอย่างไร

“นึกถึงเรายามที่เราพลาดมั่งอะไรมั่ง ก็อาจจะมีคนมาช่วยเรา ก็เหมือนสร้างบุญไปเรื่อยๆ มองเป็นเรื่องตรงนี้ เหมือนเราสร้างบุญเรื่อยๆ เราก็ทำไว้ๆๆ เผื่อวันหนึ่ง เราพลาด อาจจะมีคนมาช่วยเราบ้าง เพราะชีวิตคนเราไม่แน่นอน เหมือนเป็นเกราะป้องกันตัวเรา พ่อแม่ก็สอนมาว่า ช่วยได้ก็ช่วย ท่านก็มีจิตใจทางด้านนี้ ท่านช่วยใครได้ก็ช่วย เห็นตั้งแต่เด็กๆ เพื่อนๆ ผมเข้ามา หิว คดข้าวกินได้เลย เปิดตู้เย็น จัดเลย

“คือการเสียสละช่วยเหลือต้องทำเหมือนกินอาหาร กินข้าว ทุกวันๆ คือคนที่ทำไปแล้วมันจะเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่ได้ทำเหมือนขาดหายไป ซึ่งตรงนี้มันก็เกิดจากความผูกพัน การที่เราได้เห็นคนที่เราช่วยเหลือเขาหมดทุกข์ ใบหน้าที่เคร่งเครียด เขากลับมายิ้มได้อีกครั้ง เมื่อเราช่วยเขาสำเร็จ เราก็มีความสุข ทำให้คนยิ้มได้ ทำให้หายทุกข์ อยู่โลกเดียวกับเรา อากาศเดียวกัน ใช้ชีวิตเหมือนเรา กินข้าวอะไรเหมือนกัน ช่วยได้ก็ต้องช่วย”

(2)
ไม่ใช่ฮีโร่หรือวีรบุรุษ
แค่คนธรรมดาที่อยากช่วยเหลือ

“เอาจริงๆ ไม่คิดว่าจะดังเลย ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นฮีโร่ด้วยซ้ำ พี่ๆ น้องๆ หลายคนน่าจะเป็นฮีโร่มากกว่าผม ผมยังมีแวะให้เวลาครอบครัวบ้าง ไปทำธุระบ้าง ไปดูกิจการอพาร์ตเมนต์ของครอบครัวบ้าง แต่เพื่อนๆ น้องๆ พี่ๆ บางคน เขาแทบจะกินนอนกันประจำจุด สแตนด์บายรอช่วยเหลือ ผมเลยไม่คิดว่าผมเป็นฮีร่งฮีโร่อะไร

“งานดับเพลิง เราคิดว่าไม่น่ากลัว แม้ว่าพอมาดู ไฟมันก็แรง แฟลชโอเวอร์ ไฟที่ทะลุออกจากบ้านก็เลียหัวอยู่ แต่เราคิดว่าชุดเราป้องกันเราได้ ก็เลยไม่กลัว คิดว่ายังไงก็ช่วยได้ หลังจากวันนั้น รุ่งขึ้นอีกวันก็ไปดู ตอนแรกคุณลุงแกส่งน้องเจลลี่ไปอยู่ท่าข้าม แต่ตอนนี้ไปอยู่ต่างจังหวัดแล้ว ไม่บาดเจ็บ รอดปลอดภัย คุณตาเขาก็ขอบคุณขอบใจ เขารักของเขา เราก็อยากให้มันปลอดภัย มันเป็นหมาที่คนในครอบครัวรัก ส่วนข้าวของแกไมได้ห่วงอะไรมาก”

หน่วยระห่ำสู้ไฟฉบับเมืองไทยกล่าวถึงความคืบหน้าเหตุการณ์หลังม่านเพลิงไฟดับลง


“แต่ที่เสี่ยงๆ คือดับเพลิงในอาคารบนตึกสูง อย่างโรงแรมเลอ รัฟฟิเน่ สุขุมวิท 24 มันเป็นตึกสูง 20 กว่าชั้นขึ้นไป วันนั้นไฟมันไหม้ชั้น 18 คนติดอยู่ชั้น 24 ผมอยู่ใกล้กับเพื่อนสองคน หลังรับทราบข่าวก็มุ่งหน้าไป เราก็ขึ้นไปได้แค่ชั้น 17 พอไปถึงที่เกิดเหตุ มันเป็นตึกสูงแล้วน้ำในอาคารใช้ไม่ได้ เนื่องจากเขาปิดวาล์วไว้ แต่โชคดีเป็นโรงแรมหรูมีสระว่ายน้ำทุกห้อง เพื่อนคนหนึ่งต้องดำเนินการเอาเครื่องขึ้นมาเพื่อมาดูดน้ำในห้องโรงแรม

“แต่การเข้าออกก็ต้องเข้าปุ๊บปิดปั๊บ เพราะเปลวเพลิงรุนแรงมาก ทำให้ควันท่วม เพื่อนอีกคนก็ต้องไปดับไฟชั้น 18 ผมรับหน้าที่อาสาขึ้นไปเอาคนติดที่ชั้น 24 ซึ่งรับแจ้งว่าคนเดียว แต่ที่ไหนได้ มี 2 คน มีพี่เลี้ยงกับเด็ก และเป็นชาวต่างชาติ สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง บอกให้เปิดประตูให้เรา เพราะเราเปิดไม่ได้ ประตูมี 3 ประตู เราก็ต้องเคาะหาก่อน อยู่ที่ห้องไหน ก็เคาะหาจนเจอห้อง ก็บอกให้เปิดประตู เขาก็ไม่เปิด จังหวะนั้น เราใช้อากาศไปเยอะแล้วจากชั้น 17 ขึ้นมา 24 ก็ครึ่งหนึ่งแล้ว เหลืออีกครึ่งหนึ่งเท่านั้น เราก็ต้องรีบตัดสินใจพังประตูเข้าไป บังเอิญเด็กดันมาอยู่หลังประตู โดนกระเด็นไป ต้องไปไล่คว้า เพราะตกใจ

“ถึงเวลาเอาลง คนเดียวกับผู้ประสบภัยสองราย อีกคนเป็นเด็ก เราอุ้มไว้ที่มือขวา เอามือซ้ายปิดจมูก คนพี่เลี้ยงเกาะหลังเดินตามเราลงมา ก็สื่อสารไม่ได้ ใช้คำว่า Go Go Go อย่างเดียว อากาศก็กำลังจะหมด ต้องรีบ แต่เราจะก้าวสองขั้นบันไดก็ไม่ได้ พี่เลี้ยงก็จะหล่น ไม่ก้าวตาม แต่ท้ายที่สุดก็รอดลงมาได้ปลอดภัย”

นักดับเพลิงหนุ่มกล่าว ด้วยดวงหน้าที่เปี่ยมไปด้วยความสุข เช่นเดียวกับหลายๆ เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ๆ อย่างสนามบินสุวรรณภูมิ หรืออาคาร SCB ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาใหญ่ ย่านรัชโยธิน ที่เปลี่ยนตึกคอนกรีตให้เป็นทะเลเพลิง

“ถามว่าเสี่ยงไหม มันก็เสี่ยงนะ กลัวไหม เมื่อก่อนไม่กลัว แต่ทุกวันนี้ก็มีกลัวๆ เพราะว่ามีลูกมีครอบครัว เมื่อก่อนตัวคนเดียว ไม่เคยกลัวอยู่แล้ว เพิ่งเริ่มกลัวเมื่อ 3 ปีที่แล้ว มีแฟนมีลูก แต่ก็ยังลุยยังสู้เหมือนเดิม แค่คิดมากกว่าเดิม เวลาจะตัดสินใจทำอะไร

“ก็คิดเหมือนคนอื่นเขาคิดเหมือนกันนะ ทำไมเราไม่อยู่บ้านเฉยๆ มานั่งรอเหตุ นั่งอะไรต่ออะไร นอนๆ อยู่มีใครโทร.มาเรียก ไม่ต้องอดหลับอดนอน ตื่นก็ตื่นไปไหนมาไหน เที่ยวสบาย ก็คิด แต่มันก้าวมาตรงนี้ มันทำมานานจนเหมือนชีวิตประจำวัน จนมันไม่คิดไปแล้ว 12 ปี ไม่เคยมีอะไรอย่างนี้อยู่แล้ว ก็ยังทำมาอยู่ทุกวันนี้ ไม่คิดว่าทำแล้วดัง มีคนรู้จักเรานะ ไม่คิด

“ทำด้วยความสุข ด้วยใจ ทุกคนพี่น้องอาสาที่อยู่ตรงนี้ ก็เหมือนกันทุกคน อาจจะดูไม่ดีบ้าง อาจจะมาจากเคยเกเรกันมาก่อนบ้าง ผมก็เกเรมาก่อน อดีตก็เหมือนวัยรุ่นทั่วๆ ไป ชอบรถ เรามาอยู่ร่วมกัน เรื่องรถอันนั้นคือความชอบ เป็นคนธรรมดา มีดีบ้างไม่ดีบ้าง ทุกวันนี้ก็รับงานดับเพลิงในสนามแข่งรถ ทุกวันนี้คนเห็นเฟซบุ๊กผมอาจจะไม่เชื่อว่าผมคืออาสาดับเพลิงหรือคนในคลิป เราคิดว่าเราไม่ต้องโชว์ใคร ทำตรงนี้ ใครจะรู้ไม่รู้เรื่องของเรา แต่เรื่องช่วยเหลือเราทำ อันนี้คือความรัก เราทำๆ กัน เราก็ชวนกันทำเรื่องดีๆ ก็ทำให้เราไม่ก้าวออกไปจากจุดอื่น มีเพลิงไหม้ที่ไหน เราก็พร้อมที่จะไปช่วยเหลือ แค่นั้น”

(3)
ช่วยกันคนละไม้คนละมือ…ระวังฟืนไฟ
บทส่งท้ายที่จะพิทักษ์ภัยและสร้างรอยยิ้มของเหล่านักผจญเพลิง

“ช่วงนี้ก็อากาศหนาว เป็นหน้าที่แห้ง เหตุเพลิงไหม้จะเกิดขึ้นมากที่สุด เราควรระมัดระวังเรื่องไฟ ออกไปไหนจากบ้าน ปิดไฟให้เรียบร้อย และควรดึงปลั๊กไฟออกทุกครั้ง อย่าเสียบคาไว้ เช็กหัวเตาแก๊สให้ดี ตรวจทานให้ดีก่อนออกจากบ้าน คือวิธีป้องกันเบื้องต้น

“แต่ถ้าเป็นไปได้ ที่บ้านควรมีถังดับเพลิงประจำบ้านเผื่อเกิดเหตุไม่คาดคิด ถ้าเกิดเพลิงไหม้ เห็นปุ๊บจะได้ฉีดดับก่อน ถ้าดับก็ดับเลย แต่ถ้าไม่ดับให้หนี และตั้งสติโทร.แจ้งให้ไว พวกเรานักดับเพลิงทุกคน คนที่ใกล้จะไปถึงก่อนและช่วยเหลือได้ทันท่วงที”

อาสาหนุ่มกล่าวแนะนำวิธีการเบื้องต้นในการป้องกันการเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่จะนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างมหาศาลแก่ทั้งชีวิตและทรัพย์สินส่วนตัว รวมไปถึงคนรอบข้าง

“ไม่อยากให้ประมาทจนเกิดเหตุการณ์ที่สูญเสียเกิดขึ้น อย่างหลายๆ เหตุการณ์ที่ลุกลามบ้าง เราไปไม่ทันบ้าง จนมีผู้เสียชีวิต เราทำตรงนี้ ประจำจุดกันทุกวัน เราก็อยากให้ทุกครั้งๆ ภาวนาไม่ให้เกิดเหตุ ไม่ใช่เพราะเราทำฟรี ไม่มีรายได้ แต่ความสูญเสีย ถ้าเกิดเราไม่เจอกับตัวเอง ไม่เห็นกับตา เราอาจไม่เข้าใจความรู้สึกนั้น”

แม้รอยยิ้มและคำขอบคุณจะเหมือนเงินค่าตอบแทน คำขอบคุณขอบใจและมิตรไมตรีจะช่วยพยุงหล่อเลี้ยงแรงอาสาให้มุ่งมั่นคงอยู่ แต่ถึงกระนั้น หากไม่เกิดเหตุการณ์เลยจะดีกว่า

“ก็ดีใจครับที่ได้มาทำตรงนี้ ก็คือทำแล้วบางทีเราเห็นรอยยิ้มและคำถาม “กินอะไรไหมลูก” “พักดื่มน้ำก่อนพ่อหนุ่ม” เราก็มีความสุข ทำให้คนยิ้มได้ ทำให้หายทุกข์ เราก็จะทำต่อไป มันอยู่ในสายเลือดเราไปแล้ว ก็ช่วยเหลืออย่างที่บอก ช่วยเหลือได้ก็ช่วยไม่มีอะไรมาก”

เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พลภัทร วรรณดี

กำลังโหลดความคิดเห็น