xs
xsm
sm
md
lg

“ก้าวแรกสู่ 9 ที่ยิ่งใหญ่”...เที่ยวตามรอยพ่อ จาก "ตลาดบ้านโป่ง" ถึงโครงการ "ชั่งหัวมัน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ”
แม้จะผ่านมาเป็นระยะกว่า 1 เดือนแล้ว ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จสวรรคต แต่พระราชกรณียกิจต่างๆ ที่พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยพัฒนาโครงการพื้นที่ต่างๆ เพื่อความเป็นอยู่ของราษฏร สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเกิดเหตุการณ์อันน่าประทับใจเล่าขานมาถึงปัจจุบัน
วงเวียนช้างที่ตลาดบ้านโป่ง ได้รูปเพื่อรำลึกถึงเหตุกาณ์ไฟไหม้
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้จัดกิจกรรม “ก้าวแรกสู่ 9 ที่ยิ่งใหญ่” เส้นทางท่องเที่ยว 9 เส้นทาง ซึ่งคัดเลือกโครงการตามพระราชดำริ หรือสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินเพื่อเยี่ยมเยือนพสกนิกรนำมาผูกโยงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวให้ประชาชนได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นแรงบันดาลใจในการเดินตามรอยของพ่อ โดยเส้นทางแรกที่ได้ไปเยือน คือ ตลาดบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ
ทั้งตลาดล่างตลาดบนสองฟากถนน ไฟไหม้หมด
ในหลวง ร.9 เสด็จเยี่ยมราษฎรชาวบ้านบ้านโป่ง
ตลาดบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี นั้นในอดีตถือเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญในจังหวัดราชบุรี และเป็นชุมทางการค้าสำคัญริมแม่น้ำแม่กลอง จนเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2497 ได้เกิดเหตุไฟไหม้ครั้งรุนแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ทำให้ชาวบ้านหลายคนหมดเนื้อหมดตัวจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่ได้สร้างประวัติศาสตร์จารึกอยู่ในความทรงจำของชาวบ้านโป่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จไปเยี่ยมราษฎรผู้ประสบความเดือดร้อนโดยไม่มีหมายกำหนดการ และไม่มีใครคาดคิด นอกจากนั้นพระองค์ยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 1 แสนบาท จึงเป็นที่ปลาบปลื้มแก่พสกนิกรชาวบ้านโป่งจนถึงทุกวันนี้
วงเวียนช้างที่ตลาดบ้านโป่ง
โดยนาย ประสาร สุภากรเดช ผู้อยู่ในเหตุการณ์ไฟไหม้บ้านโป่งได้เล่าให้ฟังว่า “สมัยนั้นเรียนอยู่ในโรงเรียน ม.1 ประมาณช่วงบ่ายสอง ได้มีชาวบ้านตะโกนบอก ตลาดบ้านโป่งไฟไหม้ ตัวเองมีบ้านอาศัยอยู่ในตลาด จึงรีบวิ่งกลับบ้านเพื่อไปดู พอไปถึงเพลิงได้ไหม้ลุกลามรวดเร็วด้วยแรงลมในตอนนั้น ซึ่งสามารถพัดไฟจากอีกฝั่งมาฝั่งแม้จะมีถนนเล็กๆ คั่นกลางก็ตาม โดยภายในตลาดนั้นโดนไฟไหม้หมดจะเหลือเพียงแค่ ที่ว่าการอำเภอบ้านโป่ง เทศบาลเมืองบ้านโป่ง และโรงเรียนเทศบาล ซึ่งอยู่ตรงข้ามเพลิงทำให้รอดอย่างหวุดหวิด สมัยนั้นอาคารบ้านเรือนเป็นไม้ติดๆ กัน มีจำนวน 300-400 หลังที่อาศัยอยู่ในตลาด ซึ่งต้นเพลิงเขาวางเพื่อแค่เอาเงินประกันเท่านั้น แต่ไม่คาดคิดว่าจะรุนแรง จึงได้เกิดเหตุน่าเศร้าแบบนี้”
บ้านโป่งในปัจจจุบัน
หลังจากนั้นวันที่ 13 กันยายน เวลาประมาณ 10.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ทรงขับรถพระที่นั่งมายังที่เกิดเหตุด้วยพระองค์เอง พร้อมด้วยสมุหราชองครักษ์ โดยไม่มีใครได้รู้ล่วงหน้า คุณลุงได้เล่าความรู้สึกให้พวกเราฟังว่า “ตอนนั้นเมื่อได้ยินข่าวว่าในหลวงเสด็จ ทุกคนต่างพาไปรอรับเสด็จ ปลื้มปิติหายเหนื่อย ตอนเด็กๆ รู้ว่า พ่อแม่สอนให้รักพระองค์ แต่พอโตขึ้นเห็นพระองค์ทรงทำงานหนัก เลยระลึกถึงพระองค์และทำความดีโดยการเป็นจิตอาสา ประธานเครือข่ายผู้สูงอายุอำเภอบ้านโป่งเพื่อช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ของผู้สูงอายุชาวบ้านโป่ง”
ประสาร สุภากรเดช ผู้อยู่ในเหตุการณ์ไฟไหม้บ้านโป่ง
และนั่นจึงเป็นเหตุการณ์เรื่องเล่าของชาวบ้านโป่ง ถึงแม้อดีตที่ผ่านมา สร้างความเจ็บปวดจากมือวางเพลิงเผาผลาญตลาดบ้านโป่งวอดวายเสียหายครั้งใหญ่ เพียงแค่หวังเงินประกัน 30,000 บาท ทำให้ประชาชนประสบเคราะห์กรรมไร้ที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เป็นความทรงจำที่มิอาจลืมเลือนของชาวบ้านโป่งได้ แต่ด้วยพระราชอัธยาศัยการเสด็จเยี่ยมตลาดบ้านโป่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในขณะที่ราษฎรกำลังทุกข์แสนสาหัสในครั้งนั้น ทำให้หัวใจที่ห่อเหี่ยวสิ้นหวังของชาวตลาดบ้านโป่ง กลับมีชีวิตชีวาและมีพลังที่จะเผชิญชีวิตกันต่อไป จึงได้กลายเป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดให้ลูกหลานได้รับรู้ถึงความประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้
“โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ”  จังหวัดเพชรบุรี
จากเส้นทางเสด็จเยี่ยมราษฎรครั้งแรกในรัชกาลจังหวัดราชบุรีสู่โครงการพระราชดำริครั้งสุดท้าย จังหวัดเพชรบุรี ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อชาวเกษตรกรในการที่จะพัฒนาส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมที่ยั่งยืน จึงได้จัดตั้ง “โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ” โครงการที่พระองค์ได้ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์รวบรวมพืชเศรษฐกิจนานาชนิด เพื่อเป็นแนวทางให้ชาวเกษตรกรโดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
โคนมใน โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ”  จังหวัดเพชรบุรี
เดิมพื้นที่ในแถบนี้เป็นดินลูกรัง แห้งแล้ง และเป็นพื้นที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อซื้อที่ดินในแถบนี้จากชาวบ้าน เนื้อที่ประมาณ 250 ไร่ จากนั้นทรงโปรดเกล้าฯ ให้กองงานส่วนพระองค์ สำนักพระราชวัง เข้าพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดทำเป็นโครงการทดลองด้านเกษตร และทรงมีรับสั่งว่าเมื่อทำเสร็จจะเสด็จไปทอดพระเนตรโครงการด้วยพระองค์เอง
“ชั่งหัวมัน”  ชื่อที่มาของโครงการพระราชดำริ
สำหรับชื่อของโครงการ “ชั่งหัวมัน” นี้ เกิดขึ้นจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เสด็จไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล มีชาวบ้านนำมันเทศซึ่งเป็นพืชที่ปลูกอยู่ในท้องถิ่นมาถวาย เมื่อต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯ เลยรับสั่งให้เจ้าหน้าที่นำหัวมันเทศนั้นไปวางบนตาชั่งในห้องทรงงาน และเมื่อเสด็จกลับมาหัวหินทรงพบว่ามันเทศหัวนั้นแตกใบออกมา จึงมีรับสั่งให้นำหัวมันเทศนั้นไปปลูกใส่กระถางไว้ในวังไกลกังวล แล้วมีพระราชดำรัสให้จัดหาพื้นที่เพื่อทดลองปลูกมันเทศซึ่งเป็นพืชที่สามารถปลูกขึ้นได้ทุกที่ แม้ว่าจะวางตั้งทิ้งไว้บนตาชั่งนั่นเอง
สวนผักพื้นบ้าน
นอกจากจะมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการชั่งหัวมันขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ยังได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมโครงการนี้ด้วยพระองค์เอง ซึ่งจะเห็นได้จากพระตำหนักทรงงานที่ตั้งอยู่ภายในโครงการ เป็นบ้านธรรมดาสองชั้น ไม่ได้หรูหรา หรือตกแต่งอย่างงดงาม แต่เป็นสถานที่ที่ใช้เพื่อทรงงานและพักผ่อนพระอิริยาบถเมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมโครงการนี้
 ชนินทร์ ทิพย์โภชนา สังกัด กองงานส่วนพระองค์ ผู้จัดการโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ
“โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ” จึงเป็นโครงที่พัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเกษตรกรมาโดยตลอด โดยนาย ชนินทร์ ทิพย์โภชนา สังกัดกองงานส่วนพระองค์ ผู้จัดการโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ ได้กล่าวเกี่ยวกับโครงการว่า “โครงการแห่งนี้ตั้งขึ้นตามพระราชดำริของพระองค์เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์รวบรวมพันธุ์พืชและเป็นตัวอย่างในการทำเกษตรบนพื้นที่แห้งแล้งให้เกษตรกรได้นำไปเป็นแบบอย่าง รวมทั้งยึดแบบแผนในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ พร้อมหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงลงใช้ในพื้นที่จริง
แปลงข้าวในโครงการ
“ปัจจุบันโครงการแห่งนี้ได้บริหารจัดการมุ่งเน้นการสร้างรายได้ให้พอเพียงสำหรับการใช้จ่ายดำเนินการโครงการ ซึ่งในตอนนี้โครงการชั่งมันหัวสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยรายได้ตัวเอง โครงการช่างหัวมันจึงเป็นธุรกิจเชิงเกษตรเต็มรูปแบบที่เน้นผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล ให้มีคุณภาพ ครบวงจร ปลูกและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่นี่ ส่วนสำหรับเป้าหมายของโครงการในอนาคต คือการเดินหน้าสู่การปลูกพืชพันธุ์แบบออแกนิคเพื่อเป็นแบบอย่างของชาวเกษตรกรต่อไป”
พระตำหนักทรงงานของในหลวง ร.9
ตลอดระยะเวลาแปดปีในการดำเนินโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ นอกจากจะเป็นแหล่งรวบรวมพืชเศรษฐกิจ และโครงการตัวอย่างสำหรับเกษตรกรให้เข้ามาศึกษาแล้ว ประชาชนทั่วไปก็ยังสามารถเข้ามาเยี่ยมชมโครงการ เพื่อนำไปปรับไปใช้หรือสร้างแรงบันดาลใจในชีวิตได้อีกด้วย
Golden Place สถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากโครงการ
นี่เป็นเพียงเส้นทางแรกในเส้นทางโครงการ “ก้าวแรกสู่ 9 ที่ยิ่งใหญ่” ทุกๆ เส้นทางการท่องเที่ยวนั้น ล้วนมีความหมายและคุณค่า เป็นเรื่องราวที่พระองค์ท่านได้เสด็จไปเยี่ยมเยือนช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหา และช่วยเหลือหาทางแก้ไข จนกลายเป็นโครงการพัฒนาต่างๆ ตามแนวพระราชดำริ และอื่นๆ อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ให้พวกเราได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ที่พระองค์ท่านได้ทรงเป็นแบบอย่างให้พวกเรามาโดยตลอด
บรรยากาศรอบๆ โครงการ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ” ตั้งอยู่ที่บ้านหนองคอกไก่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เปิดให้เข้าเยี่ยมชมทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะควรติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-3247-2700-1
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น