xs
xsm
sm
md
lg

“โครงการหลวงแม่ลาน้อย”...เที่ยวตามรอยพ่อ ชมนาขั้นบันไดแสนงาม/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
ทุ่งนาขั้นบันได บ้านดง โครงการหลวงแม่ลาน้อย
“อำเภอแม่ลาน้อย” เป็นอำเภอสงบงามท่ามกลางแวดล้อมแห่งขุนเขาในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

อ.แม่ลาน้อย ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองร้อยนา” เพราะเป็นดินแดนที่มากไปด้วยท้องทุ่งนา ชาวนาที่นี่นิยมทำนาปลูกข้าวไปตามสภาพภูมิประเทศ

ใครที่ไป อ.แม่ลาน้อย ในช่วงฤดูทำนาจะได้เห็นบรรยากาศของท้องทุ่งนาอันหลากหลายอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น ทุ่งบนพื้นราบแบบทางภาคกลาง ทุ่งนาขั้นบันไดน้อยๆบนเนินเตี้ยๆความลาดชันไม่มาก และทุ่งนาขั้นบันไดตามไหล่เขาที่แม้จะมีความลาดชันสูง แต่ชาวนาที่นี่ก็สามารถปลูกข้าวไล่ระดับไปตามภูมิประเทศท่ามกลางแวดล้อมของขุนเขาได้อย่างสวยงาม
อ.แม่ลาน้อย เมืองร้อยนา กับบรรยากาศแห่งท้องทุ่งนาที่พบเห็นได้ทั่วไป
สำหรับหนึ่งในจุดเที่ยวชมทุ่งนาขั้นบันไดอันสวยงามที่ถือเป็นไฮไลท์อันโดดเด่นของ อ.แม่ลาน้อย และ จ.แม่ฮ่องสอนก็คือในบริเวณพื้นที่ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย” แห่งบ้านดง ต.ห้วยห้อม ที่ถือเป็นหนึ่งในจุดเที่ยวชมทุ่งนาขั้นบันไดชั้นเลิศ สวยงามติดอันดับต้นๆของเมืองไทย

1...

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆว่า “โครงการหลวงแม่ลาน้อย” ถือเป็น 1 ใน 38 โครงการหลวงใต้ร่มพระบารมี
ไร่ของชาวบ้านบนขุนเขาท่ามกลางสายหมอกที่ลอยปกคลุม
เดิมชาวบ้านที่นี่(เคย)ปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย และทำไร่แบบผิดวิธี จนผืนป่าในหมู่บ้านถูกทำลายกลายเป็นป่าเสื่อมโทรมเกิดสภาพแห้งแล้งกันดาร ยังผลให้ชาวบ้านที่นี่อยู่กันอย่างยากไร้แร้นแค้น

แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังพระองค์ท่านเสด็จฯมา ทรงนำโครงการหลวงมาพลิกฟื้นผืนแผ่นดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เขียวขจี พร้อมทั้งนำองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้ชาวบ้านได้รู้จักวิธีการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน และหยุดการทำไร่เลื่อนลอยอันเป็นสาเหตุสำคัญของการตัดไม้ทำลายป่า

ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่โครงการหลวงแม่ลาน้อยและพื้นที่ใกล้เคียง มีสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีพออยู่พอกินไม่ยากจนไม่ลำบากยากแค้นเหมือนแต่ก่อน แถมหลายๆคนที่รู้จักใช้เงินบริหารเงินนั้นจัดได้ว่าเป็นผู้มีฐานะดีทีเดียว

ที่สำคัญคือชาวบ้านในพื้นที่โครงการหลวงแม่ลาน้อย(หรือในอีกพื้นที่โครงการหลวงหลายๆแห่งใต้ร่มพระบารมี)นั้น พวกเขาได้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ขุนเขาแมกไม้ สายธาร ได้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางอากาศอันพิสุทธิ์ ได้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายพอเพียง ซึ่งมนุษย์เงินเดือนผู้ต้องดิ้นรนในป่าคอนกรีตพากันอิจฉาพร้อมทั้งพาหัวใจโบยบินออกไปยัง“ชนบท” หรือ “บ้านนอก” ด้วยความรู้สึกถวิลหา
ในช่วงฤดูทำนาหน้าฝน จะพบกับความเขียวขจีของท้องทุ่งนาได้ทั่วไปใน อ.แม่ลาน้อย
สำหรับความเป็นมาของโครงการหลวงแม่ลาน้อยนั้น “คุณตาเลอะ ขันเขียว”(ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ชาวกะเหรี่ยง“บ้านห้วยห้อม” ที่เป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญของโครงการหลวงแม้ลาน้อย ได้เล่าย้อนอดีตเอาไว้(ตอนนั้นคุณตาเลอะมีอายุ 77 ปี) ผ่านสารคดีชุด“ประพาสต้นบนดอย”*** เอาไว้ว่า

“...ก่อนที่ในหลวงจะเสด็จมาที่บ้านห้วยห้อม ได้มีกลุ่มมิชชันนารีเข้ามาส่งเสริมอาชีพ และการศึกษาให้กับคนที่นี่ แล้วก็ส่งเสริมให้ปลูกถั่วแดงและถั่วเขียว และก็ให้เลี้ยงแกะด้วย หลังจากที่เขาส่งเสริมไปแล้ว ทำให้ได้ยินถึงหูของในหลวงท่าน ท่านก็เลยเสด็จมาที่บ้านห้วยห้อมเนี่ย”
แปลงพืชผักที่บ้านดง โครงการหลวงแม่ลาน้อย
สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินมายังบ้านห้วยห้อมและในพื้นที่โครงการหลวงแม่ลาน้อย(ปัจจุบัน) ได้มีบันทึกไว้ในเอกสาร(โบชัวร์)ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อยว่า

-9 มกราคม 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จทรงเยี่ยมชาวบ้านห้วยห้อม

-4 กุมภาพันธ์ 2519 ทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จทรงเยี่ยมราษฎรบ้านห้วยห้อมอีกครั้ง และทรงรับหมู่บ้านห้วยห้อมอยู่ในโครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา โดยใช้ทุนทรัพย์ส่วนพระองค์

-1 มีนาคม 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ทรงมีกระแสรับสั่งให้ส่วนราชการเข้ามาพัฒนาในพื้นที่
ทุ่งนาขั้นบันได บ้านดง โครงการหลวงแม่ลาน้อย
-21 กุมภาพันธ์ 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จทรงเยี่ยมราษฎรบ้านดง และได้ทรงรับสั่งหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ให้ช่วยพัฒนาอาชีพด้านเกษตรกรรม สังคม และสาธารณสุข

-ปี 2523 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ได้เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบโดยใช้พื้นที่ บ้านดง เป็นที่ทำการทั้งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางที่เคยมีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีหรือสมเด็จย่า ทรงเป็นคนก่อตั้ง

-14 มีนาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จทรงเยี่ยมราษฎร ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ครั้งหลังสุด ทรงรับสั่งให้รักษาป่าไม้ต้นน้ำ และการปลูกพืชเชิงอนุรักษ์โดยใช้หญ้าแฝก
หนูนา อาหารจากธรรมชาติของคุณลุงแห่งบ้านดง
2...

โครงการหลวงแม่ลาน้อย ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมอาชีพต่างๆ พัฒนางานด้านการเกษตรแก่ชาวบ้านในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมุ่งส่งเสริมให้มีการใช้ดินที่ถูกต้องภายใต้ระบบหลักการอนุรักษ์ดินและน้้ำ

โครงการหลวงแม่ลาน้อยตั้งอยู่บนความสูง 900-1,100 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีประชากรในพื้นที่ประกอบด้วย 2 ชนเผ่าหลักๆ คือ ชาวละว้า(ลัวะ)และชาวปกาเกอะญอ(กะเหรี่ยง)
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย มาพลิกฟื้นผืนแผ่นดินที่แห้งแล้งให้อุดมสมบูรณ์
สำหรับหมู่บ้านดงที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานศูนย์ฯ และเป็นศูนย์กลางของโครงการหลวงแห่งนี้ เป็นหมู่บ้านเล็กในป่าใหญ่ ตั้งอยู่ท่ามกลางภูมิประเทศของขุนเขา ชาวหมู่บ้านดงเป็นชาวละว้าที่อพยพมาจากต่างถิ่นมาตั้งถิ่นฐานรกรากที่นี่ พวกเขามีอาชีพหลักคือทำการเกษตร ทำนาปลูกข้าว ปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์

นอกจากนี้ก็ยังมีงาน“ทอผ้า” เป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมาแต่ช้านาน ของผู้หญิงชาวละว้า ผ้าทอถือเป็นสิ่งสำคัญของชาวละว้า ปัจจุบันมีทั้งลวดลายโบราณและลวดลายประยุกต์ ซึ่งทางโครงการหลวงได้เข้ามาส่งเสริมและจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ผ้าฝ้ายทอมือละว้า” ขึ้น ภายใต้การบริหารจัดการของกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านดง ซึ่งเป็นกิจกรรมการส่งเสริมนอกภาคการเกษตร เช่นเดียวกับ การทอผ้าทอขนแกะ การทำเครื่องเงิน และการแปรรูปกาแฟ
ศูนย์เรียนรู้ผ้าฝ้ายทอมือละว้า ในพื้นที่ศูนย์ฯแม่ลาน้อย
ขณะที่งานในภาคการเกษตรนั้น ทางโครงการหลวงได้เข้ามาส่งเสริมและพัฒนาการปลูกพืชผักในโรงเรือน และการปลูกพืชผัก แบบขั้นบันได โดยมี พืชผักที่เด่นๆ อาทิ พริกเม็กซิกัน เสาวรส เคพกูสเบอร์รี่(โทงเทงฝรั่ง) ผักสลัด กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค ผักเบเบี้ฮ่องเต้ รวมไปถึงการส่งเสริมการปลูกกาแฟ (ที่เป็นผลิตภัณฑ์เด่นของบ้านห้วยห้อม ซึ่งจะนำเสนอเรื่องราวของบ้านห้วยห้อมในโอกาสต่อไป)

โดยในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย(บ้านดง)นั้น จะมีโรงเรือนปลูกพืชผักให้ผู้สนใจได้ชม นอกจากนี้ก็ยังมีบ้านพัก มีสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการ และมีโฮมสเตย์(ที่บ้านห้วยห้อม) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ที่ต้องการมาพักค้างท่องเที่ยวสัมผัสกับวิถีชาวบ้านอย่างใกล้ชิด
โรงเรือนปลูกพืชพักของโครงการหลวงแม่ลาน้อย
3...

โครงการหลวงแม่ลาน้อยมีไฮไลท์สำคัญทางการท่องเที่ยวอยู่ที่ทุ่งนาขั้นบันไดอันสวยงาม ซึ่งเดิมนั้นชาวบ้านในพื้นที่ปลูกข้าวกันตามมีตามเกิด เมื่อฝนตกน้ำก็ไหลชะหน้าดินไป อีกทั้งน้ำยังไหลผ่านไปไม่เหลือน้ำไว้สำหรับทำนา ทางโครงการหลวงจึงเข้ามาส่งเสริมการทำนาแบบขั้นบันได เพื่อจะได้มีน้ำกักเก็บไว้ปลูกข้าว พร้อมทั้งมาส่งเสริมการการปลูกหญ้าแฝกเพื่อช่วยยึดผิวดินและป้องกันการพังทลายของหน้าดิน
คุณตาเลอะ ขันเขียว เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่(ภาพ ททท.แม่ฮ่องสอน)
คุณตาเลอะ ขันเขียว(คนเดิม) เล่าย้อนอดีต(ผ่านสารคดีชุด“ประพาสต้นบนดอย”) ถึงความประทับใจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จมาทรงแนะนำให้รู้จักวิธีการบริหารจัดการน้ำและรักษาป่าต้นน้ำลำธาร ในพื้นที่โครงการหลวงแม่ลาน้อย ว่า

“ครั้งที่สอง พระองค์ท่าน(เสด็จมา)บอกให้ขุดน้ำมาทางสวน ผมก็ถามว่า พอมีงบประมาณช่วยชาวบ้าน เอาน้ำเข้าสวนบ้างมั้ย ในหลวงก็แนะนำว่าให้เอากระบอกไม้ไผ่ มาเจาะรู เอาน้ำเข้าสวน แล้วก็เอาเฮลิคอปเตอร์มารับผมกับชาวบ้านอีกสองคนไปดูงานที่ดอยสุเทพ ผมก็เลยเห็นว่า พวกเขาทำกระบอกไม้ไผ่เจาะรู แล้วต่อน้ำมาจากภูเขาโน่น

“พอเสด็จครั้งที่สาม มีหมู่บ้านข้างๆยังทำไร่หมุนเวียนอยู่ ในหลวงก็บอกว่า ทำแบบนี้ไม่ได้ ถ้าทำแบบนี้ น้ำเสียหายหมด มีคนต้องมีน้ำ มีคนต้องมีป่า มีคนต้องมีที่ทำกิน ต้องรักษาป่าต้นน้ำลำธารเอาไว้

ท่านบอกผมอย่างนี้ว่า ถ้าจะพออยู่ได้ ต้องทำอ่างเก็บน้ำอย่างนี้นะ ต้องกักอย่างนี้ แล้วใส่หินถมดิน ต้องมีที่ระบายน้ำ แล้วอ่างเก็บน้ำนี่ก็ยาว 50 เมตรด้วยกัน พอท่านบอกว่ามีคนต้องมีน้ำ ต้องเก็บน้ำไว้ใช้ ผมก็ลงมือขุดบ่อ สามบ่อ มีบ่อพ่อเก็บน้ำไว้ใช้ บ่อแม่เอาไว้ใช้ในนาข้าว แล้วก็บ่อลูกเอาไว้ใช้ในสวนกาแฟด้วย”
ทุ่งนาขั้นบันได บ้านดง โครงการหลวงแม่ลาน้อย
มาวันนี้ผลสำเร็จจากโครงการหลวงแม่ลาน้อย ได้เปลี่ยนสภาพพื้นที่จากป่าเสื่อมโทรม พลิกฟื้นให้กลายเป็นผืนดินทำกินอันอุดมสมบูรณ์ ในช่วงฤดูทำนา ที่หมู่บ้านดงจะงดงามไปด้วยท้องทุ่งนาขั้นบันไดอันโดดเด่นสวยงามท่ามกลางขุนเขาโอบล้อม

ในช่วงฤดูฝนทุ่งนาขั้นบันไดที่นี่จะดูเขียวจีสดสวยสบายตา ขณะที่ในช่วงยามเช้าไปจนถึงช่วงสายๆ จะมีสายหมอกฝนลอยไต่ไล่เลี่ยปกคุลมยอดเขา เป็นฉากหลังประดับทุ่งนาดูสวยงามโรแมนติกชวนฝันเป็นยิ่งนัก

ส่วนในช่วงฤดูหนาวราวเดือน พ.ย.-ธ.ค. ท้องทุ่งนาขั้นบันไดที่นี่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองอร่ามรอวันเก็บเกี่ยว
ในช่วงฤดูทำนา ทุ่งนาขั้นบันไดที่บ้านดง จะมีผู้คนเดินทางมาเที่ยวชมความงามกันไม่น้อย
สำหรับบรรยากาศวิวทิวทัศน์ของท้องทุ่งนาขั้นบันไดอันสวยงามของที่นี่ วันนี้ได้กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมความงาม

หลายๆคนเมื่อมาเยือนที่นี่ต่างซึมซับในแก่นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แล้วนำกลับไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตตามรอยพ่อ

นับเป็นความสุขใจใต้ร่มพระบารมี บนคำสั้นๆว่า“พอเพียง” ที่ยั่งยืนและยิ่งใหญ่กระไรปานนั้น...
ทุ่งนาขั้นบันได บ้านดง โครงการหลวงแม่ลาน้อย
“...พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ...”

“...คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข...”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541
******************************************

หมายเหตุ ***สารคดี “ประพาสต้นบนดอย” เป็นสารคดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ผลิตโดยบริษัท พาโนราม่า เวิลด์ไวด์ ซึ่งถ่ายออกอากาศเมื่อปี 2550 และถูกนำเผยแพร่ครั้งล่าสุดหลังการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9
กำลังโหลดความคิดเห็น