xs
xsm
sm
md
lg

“ธนาคารข้าวพระราชทาน” ฐานที่มั่นแห่งปกาเกอะญอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพลุงพะโย่ ตาโร รับพระราชทานเมล็ดข้าว ปี พ.ศ. 2519 ถ่ายโดย ดร.โรแลน ชาวเยอรมนี สมัยเขามาทำงานวิจัยในพื้นที่ในช่วงเวลานั้น
“บ้านผาหมอน” เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ของชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่หล่อเลี้ยงชีวิตด้วยการทำนาขั้นบันได โอบล้อมไปด้วยขุนเขา ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ในอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ “ชนเผ่าปกาเกอะญอ” ณ หมู่บ้านแห่งนี้ เดิมทีอพยพมาจาก “ก่อ ทู เล” รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า เข้ามาอยู่ในบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตั้งแต่สมัยที่ดอยอินทนน์ยังมีชื่อว่า “ดอยหลวงอ่างกา” คนปกาเกอะญอได้อาศัยอยู่ในแถบนี้มานานเป็นเวลามากกว่า 180 ปี

การเดินทางไปที่นั่นเต็มไปด้วยความยกลำบาก ต้องผ่านเส้นทางที่คดเคี้ยวไปมาบนภูเขาที่สูงชันจนนับไม่ถ้วน เลาะไปตามไหล่เขาขึ้นๆ ลงๆ บางครั้งทำมุมเกือบสี่สิบองศา แม้ปัจจุบันจะได้รับการบูรณะปรับปรุงถนนหนทางจนดีขึ้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังต้องใช้ความสามารถและสมรรถนะทั้งของคนและเครื่องยนต์ที่พร้อมเป็นอย่างดีในการเดินทางไปถึงที่นั่น

แต่ถ้าลองนึกย้อนกลับไปเมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้วบนพื้นที่สูงสุดแห่งสยาม บนดอยอินทนนท์แห่งนี้หนทางจะยากลำบากสักเพียงไหน ถนนที่เป็นดินแดงเต็มไปด้วยฝุ่นยามหน้าแล้งและเปียกชื้นเฉอะแฉะยามหน้าฝน เต็มไปด้วยโคลนจะลำบากสักเพียงไหน แถมบางช่วงยังสูงชัน บางครั้งก็ต้องเดินเท้าเข้าไปจึงจะถึงที่นั่นได้ แต่รู้หรือไม่ว่าในสมัยนั้น ในหลวงก็เคยเสด็จฯ ไปแล้วที่นั่นมาแล้ว ในถิ่นทุรกันดารบนภูเขาที่สูงชันบนดอยอินทนนท์แห่งนี้ พระองค์ทรงลำบากพระวรกาย เสด็จฯ ไปถึงที่นั่นแล้วทั้งสิ้น
ธนาคารข้าวเยาวชนบ้านผาหมอน
นายสุรสิทธิ์ ดลใจไพรวัลย์ นักพัฒนา, นักวิจัยท้องถิ่น, อาชีพมัคคุเทศก์อิสระและทำเกษตรพื้นบ้าน สายเลือดปกาเกอะญอโดยกำเนิดในชุมชน “บ้านผาหมอน” ได้พัฒนาหมู่บ้านของตนเองในด้านการท่องเที่ยวชุมชน “บ้านผาหมอน” เพื่อให้ชุมชนได้รับโอกาสในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนด้วยตัวเอง และนำพาชุมชนทำการท่องเที่ยวมาได้นานกว่าสิบกว่าปีแล้ว ได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องราวของที่นี่เมื่อหลายสิบปีก่อน

“บนพื้นที่ดอยอินทนนท์แห่งนี้ เมื่อก่อนได้เกิดปัญหาต่างๆ ในด้านคุณภาพชีวิตขั้นวิกฤต นั่นถือว่าเป็นตัวฉุดให้ชุมชนต้องเดินถอยหลัง เพราะความอดอยากไม่พออยู่พอกินไปทั่วทุกหย่อมหญ้าของดอยอินทนนท์ นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่กัดกร่อนชุมชนไปสู่ความเลวร้ายในการดำเนินชีวิตของผู้คนที่นี่ โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง “ฝิ่น” สิ่งเสพติดที่มาเยือนชุมชนหลังยุคสงครามโลกครั้งที่สอง โดยการอพยพมาของบางกลุ่มในพื้นที่ซึ่งมีวัฒนธรรมเพาะปลูกฝิ่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และอีกอย่างในสมัยนั้นการปลูกฝิ่นถือว่าถูกกฏหมายจึงมีการค้าการขายกันอย่างเสรี แต่เมื่อนานเข้า ฝิ่นไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดีสำหรับสังคมในเวลานั้นอีกต่อไป
ภาพจากหนังสือครบรอบวันประสูตรท่านหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี

“อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ปัญหาพื้นที่ป่าไม้เสื่อมโทรมในที่บริเวณป่าต้นน้ำ อันเนื่องมาจากการทำไร่ฝิ่นมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนเกิดภาวะขาดความสมดุลด้านการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ ทำให้การปลูกข้าวเพื่อไว้เลี้ยงชีพนั้นแทบไม่พอกินและยังมีอุปสรรคอื่นๆ ที่บวกกับสิ่งแวดล้อมบนพื้นดอยอินทนนท์มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลงเรื่อยๆ ในที่สุดความอดอยากก็ตามมาและทำให้เกิดภาวะการขาดแคลน คนบนดอยสูงแห่งนี้ไม่มีข้าวพอกินในครัวเรือนไปทั่วทั้งดอยอินทนนท์ เพราะข้าวคือต้นทุนทางการดำเนินชีวิตของคนที่นี่”

สุรสิทธิ์ เล่าให้ฟังอีกว่า ในสมัยเด็กๆ เขาจำได้ว่าในครอบครัวของเขาจะได้กินข้าววันละแค่สองมื้อ คือมื้อเช้ากับมื้อเย็นและบางวันแทบจะไม่มีกินเลยก็มี และไม่ใช่มีแค่ครอบครัวของเขาครอบครัวเดียวที่เจอสภาพปัญหาเช่นนี้ ในบางครอบครัวก็มีชีวิตที่แย่กว่านั้น

สำหรับพื้นที่บ้านผาหมอน หนองหล่ม อ่างน้อย แม่กาน้อย สบหาด เป็นชุมชนที่ตั้งของชาติพันธุ์ชนเผ่ากะเหรี่ยงปกาเกอะญอทั้งหมด ภายใต้บริเวณดอยอินทนนท์ตะวันออก และมีวิถีด้านการเกษตรในการปลูกข้าวเลี้ยงชีพของตัวเองอยู่แล้ว และแม้ชีวิตของพวกเขาจะไม่ได้ยุ่งกับฝิ่น แต่เมื่อฝิ่นได้อพยพมาพร้อมกับเพื่อนบ้านต่างถิ่นที่นำมา เมื่อเวลานานเข้า วิถีชีวิตด้านเกษตรการปลูกข้าวแบบพึ่งพาก็ถูกสังคมฝิ่นครอบงำในที่สุด นอกจากภัยธรรมชาติและผลผลิตได้น้อยในแต่ละปี จนเกิดภาวะอาหารขาดแคลนในพื้นที่ชุมชนดังกล่าว

แต่แล้วในปี พ.ศ.2517 หลังการเสด็จประพาสขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มายังชุมชนบ้านหนองหล่ม สองปีต่อมาทุกอย่างก็ค่อยๆ คลี่คลาย และเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เพราะว่าพระองค์ได้ใส่พระทัยกับการที่พระองค์ทรงเสด็จมาเมื่อครั้งก่อนนั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารข้าวขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 เมื่อครั้งทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ในเขตอำเภอจอมทอง ตำบลบ้านหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ได้พระราชทานข้าวเปลือกจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้ใหญ่บ้านหลายหมู่บ้าน เพื่อให้เป็นทุนเริ่มดำเนินกิจการธนาคารข้าวพระราชทาน โดยพระองค์ท่านได้ก่อตั้งธนาคารข้าวพระราชทานให้แก่ราษฎรพื้นที่ดอยอินทนนท์ อันประกอบไปด้วย บ้านผาหมอน บ้านอ่างกาน้อย บ้านแม่กลางหลวง บ้านหนองหล่ม และรวมถึงบ้านแม่แอบ ซึ่งเป็นชุมชนชาวเขาปกาเกอะญอ (เผ่ากะเหรี่ยง) โดยทั้งสิ้น

“ชุนชนปกาเกอะญอนั้น ให้ความสำคัญกับเรื่องข้าวมาเป็นอันดับหนึ่ง การดำรงชีวิตอยู่ของปกาเกอะญอไม่สามารถทิ้งข้าวไปได้ ข้าวและทรัพยากรธรรมชาติของพวกเรานั้นคือสิ่งจำเป็นเป็นอันมาก หลังจากที่พระองค์ท่านทรงได้ข้อมูลของชาวบ้านเรื่องข้าวไม่พอกินพอใช้แล้ว พระองค์ท่านเสด็จกลับมาพร้อมกับได้นำข้าวเปลือกพระราชทาน และได้พระทรงราชทานธนาคารข้าวพร้อมกับได้ตั้งคณะกรรมการในชุมชนให้ช่วยกันดูแล โดยมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่พระองค์ท่านได้ตั้งขึ้นมาเพื่อการดูแลและบริหารธนาคารข้าวในชุมชนได้ถือปฏิบัติมาจวบจนถึงปัจจุบัน”
สุรสิทธิ์ ดลใจไพรวัลย์ และภรรยา
“ธนาคารข้าวพระราชทาน” นับเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จและเป็นสิ่งจำเป็นมากในพื้นที่ทุรกันดาร ธนาคารข้าวพระราชทานสามารถช่วยบรรเทาความอดอยากของชุมชน ถึงแม้คนในชุมชนไม่มีเงินซื้อข้าว แต่ก็ทำให้คนในชุมชนมีข้าวกินอยู่ตลอดปี เป็นการให้ยืมข้าวและใช้คืนด้วยข้าวและให้ดอกเบี้ยนิดหน่อย แล้วแต่ว่าในแต่ละปีนั้นจะกำหนดกฎเกณฑ์ว่าควรใช้ดอกเบี้ยข้าวเท่าไหร่

“สำหรับบ้านผาหมอนตอนนี้ ธนาคารข้าวพระราชทานนั้นได้ถวายคืนให้กับพระองค์ท่านแล้วในปี พ.ศ 2545 แต่ยังคงเหลือเอาไว้อีกธนาคารหนึ่ง คือ “ธนาคารเยาวชนบ้านผาหมอน” ซึ่งถือว่าเป็นธนาคารลูกที่ครั้งพระองค์ท่านได้วางไว้และมีการสืบทอดต่อกันมา ถึงแม้เศรษฐกิจในชุมชนจะดีขึ้นอยู่ในระดับหนึ่ง แต่คนอีกส่วนหนึ่งก็ยังต้องอาศัยความช่วยเหลือจากธนาคารข้าวอยู่ ทุกๆ ปี ยังเปิดข้าวให้ครอบครัวที่ไม่พอกินมายืมข้าวจากธนาคารข้าวเยาวชนบ้านผาหมอนอยู่ จึงเป็นธนาคารข้าวสมบัติชิ้นสุดท้ายของชุมชน ตามแนวคิดธนาคารพระราชทานและดูแลกันจนถึงกลุ่มเยาวชนบ้านผาหมอนปัจจุบัน”

การที่พระองค์ทรงห่วงใยชาวเขานั้น พระองค์มิได้คิดเพื่อใคร แต่พระองค์ทรงคิดเพื่อประเทศชาติและมนุษยธรรมในการดำรงอยู่ของปวงชนชาวไทยทั้งมวล นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ต่อพสกนิกรชาวไทยภูเขา โดยพระองค์ทรงยึดสิ่งที่ชาวบ้านให้ความสำคัญอันดับหนึ่งเป็นหลักในการวางรากฐานชุมชน เพื่อเป็นการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง

“ชุมชนปกาเกอะญอบนพื้นที่ดอยอินทนนท์ที่มีการดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะพระบารมีของพระองค์ท่านและพระบรมศานุวงศ์ทุกพระองค์องค์ที่ให้ความสำคัญต่อชาวปกาเกอะญอและชาวเขาเผ่าอื่นๆ ทั่วประเทศไทย ทำให้สิ่งที่พวกเราต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ นั่นก็คือการน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีที่พระองค์ท่านทรงได้ทำไว้นั้นมากมายเหลือล้น พวกเราในฐานะคนไทยพื้นที่สูงต้องดูแลสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่คงเหลือไว้ให้ดี แม้เพียงแค่พื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ ก็มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ทุกส่วน และต้องปกป้องรักษาเองเพื่อประเทศชาติไว้ให้คงอยู่เพื่อลูกหลานสืบต่อไปในอนาคตต่อไป”
เรื่อง / ภาพ : อรวรรณ เหม่นแหลม
ภาพประกอบบางส่วน : สุรสิทธิ์ ดลใจไพรวัลย์ และจากอินเตอร์เน็ต

กำลังโหลดความคิดเห็น