เอเอฟพี - องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เตือนในวันอังคาร (15) ระบุ เด็กๆ ชาวไนจีเรีย 75,000 คนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในไม่กี่เดือนข้างหน้า ท่ามกลางภาวะความอดอยากที่รุมเร้าพื้นที่แถบตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศซึ่งเป็นเขตการก่อความไม่สงบของกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ “โบโก ฮารัม”
กลุ่มนักรบญิฮาด โบโก ฮารัมได้ใช้พื้นที่ที่ถูกรุมเร้าไปด้วยปัญหาความยากจนนี้ในการก่อความรุนแรงและแพร่กระจายความหวาดกลัวนับตั้งแต่ทางกลุ่มจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลไนจีเรียเมื่อปี 2009 เป็นเหตุให้ผู้คนหลายล้านต้องอพยพออกนอกพื้นที่ ขณะที่การเพาะปลูกและการค้าขายต้องหยุดชะงัก
ประธานาธิบดี มูฮัมมาดู บูฮารี ผู้นำไนจีเรียได้อ้างการกลับเข้ายึดคืนดินแดนจากกลุ่มโบโก ฮารัม แต่ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่แถบตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรียได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 20,000 ราย และอีก 2.6 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากบ้านเรือนของตน ท่ามกลางภาวะความอดอยากที่ก่อตัวขึ้น
ปีเตอร์ ลุนด์เบิร์ก ผู้ประสานงานด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติเผย วิกฤตดังกล่าวได้เผยตัวออกมาในระดับที่มีความรวดเร็วสูง
“จากการประเมินของเราเมื่อไม่นานมานี้ ประชาชนจำนวน 14 ล้านคนอยู่ในภาวะที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมภายในปี 2017” ลุนด์เบิร์กกล่าวที่กรุงอบูจา เมืองหลวงของไนจีเรีย พร้อมเผยในจำนวนนี้มีเด็กๆ 400,000 คนตกอยู่ในภาวะที่ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ขณะที่ราว 75,000 คนอาจต้องเสียชีวิตในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
ยูเอ็นหวังจะแก้ปัญหาด้วยการเข้าถึงกลุ่มประชากรเป้าหมายราวครึ่งหนึ่งในจำนวน 14 ล้านคน ซึ่งถือเป็นกลุ่มประชากรที่ใหญ่กว่าของเบลเยียม ขณะที่รัฐบาลไนจีเรียจะทำงานแก้ปัญหาให้แก่ประชากรส่วนที่เหลือ
อย่างไรก็ดี ลุนด์เบิร์กระบุว่า ทางสหประชาชาติไม่มีทรัพยากรด้านการเงินที่เพียงพอในการรับมือกับวิกฤตในครั้งนี้ และเรียกร้องให้บรรดาหุ้นส่วนระหว่างประเทศมีส่วนร่วมในการจัดหาความช่วยเหลือ เช่นเดียวกับภาคเอกชน และบรรดาผู้ใจบุญในไนจีเรียเพื่อต่อสู้กับปัญหานี้
ในเวลานี้เมืองไมดูกูรีที่เป็นเมืองเอกของรัฐบอร์โนทางตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรียและเป็นบ้านเกิดของกลุ่มโบโก ฮารัมมีขนาดของประชากรเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เป็นกว่า 2 ล้านคนจากผลพวงของบรรดาผู้คนที่เข้ามาลี้ภัยอาศัยอยู่ตามค่ายพักพิงสำหรับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ
ที่ผ่านมาแม้ทางโครงการอาหารโลกจะเตือนถึงสภาพที่ไม่ต่างจากการเกิดภาวะอดอยาก แต่ทางยูเอ็นยังมิได้ประกาศการเตือนภัยฉุกเฉินสู่ระดับที่ 3 ซึ่งเป็นระดับที่ร้ายแรงที่สุด ซึ่งการประกาศหากเกิดขึ้นจริงก็จะช่วยดึงดูดความสนใจที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเงินช่วยเหลือมาสู่ไนจีเรีย
ไรอัน คัมมิงส์ ผู้อำนวยการของบริษัทด้านการข่าว “ซิกแนล ริสก์”เผยว่า พื้นที่ที่มีผู้คนประสบปัญหาด้านมนุษยธรรมในไนจีเรียนั้นครอบคลุมถึงเขตรอยต่อพรมแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไนเจอร์ แคเมอรูน และชาดในภูมิภาคแอ่งทะเลสาบชาด โดยที่ระดับของภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรียนั้นถูกประเมินไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นอย่างมาก
“มีการคาดการณ์ว่าผู้คน 1 ล้านคนยังคงอาศัยอยู่ในชุมชนที่ความช่วยเหลือใดๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากปัญหาด้านความมั่นคงที่ยังดำเนินต่อไปในพื้นที่” คัมมิงส์กล่าวเสริม
ขณะนี้ได้เกิดความหวาดกลัวว่ากลุ่มโบโก ฮารัมจะฉวยโอกาสใช้ประโยชน์จากความล้มเหลวของรัฐบาลไนจีเรียและประชาคมระหว่างประเทศในการรับมือกับปัญหานี้ในการดึงดูดผู้คนเข้าร่วมการต่อสู้ของกลุ่มตน