>>เป็นเวลานานเกือบ 10 ปีที่ “ภดารี (สุชีวะ) บุนนาค” หลานสาวของคุณตา “ม.จ.ภีศเดช รัชนี” ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครการท่องเที่ยวของโครงการหลวงรูปแบบ Gourmet Tour เคียงข้างสามี “ฤทธี บุนนาค” ซึ่งเป็นอาสาสมัครเช่นเดียวกันในตำแหน่งรองผู้อำนวยการโครงการกาแฟอาราบิก้า ของโครงการหลวง ตลอดเวลาแห่งความมุ่งมั่นทุ่มเทโดยมิได้คิดถึงผลตอบแทน ไม่เพียงสืบสานปณิธานของครอบครัว แต่ยังสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงริเริ่มโครงหลวงเพื่อหวังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเขาให้ดีขึ้น
กษัตริย์นักพัฒนา ผู้ทรงวิสัยทัศน์
“พระองค์ทรงพระปรีชาทุกอย่าง ทรงมีวิสัยทัศน์กว้างและทันสมัย ไม่อยากใช้คำว่าทันสมัย ดาว่าพระองค์ท่านล้ำสมัย สิ่งที่ท่านรับสั่งเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ถึงวันนี้ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ พระองค์ท่านไม่ได้เป็นหมอดู แต่ทรงใช้เหตุและผล ประกอบองค์ความรู้ทุกอย่างที่พระองค์ท่านมีอยู่และวิเคราะห์ออกมา”
“ไม่ใช่แค่โครงการหลวงเท่านั้น แต่คือทุกโครงการพระราชดำริ เพียงแต่โครงการหลวงอาจเป็นโครงการที่ให้ภาพชัด เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์ออกมาต่อเนื่องและเป็นองค์กรค่อนข้างใหญ่ แต่จริงๆ ยังมีโครงการอีกมากมายของพระองค์ ที่แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เหมือนที่พวกเราเคยเห็นในข่าวอยู่เสมอว่าพระองค์ทรงงานอยู่ตลอด ทรงถือแผนที่ซึ่งใหญ่มากและจะขาดอยู่แล้ว จนเราอยากรู้ว่าท่านเขียนอะไรไว้ในนั้น” ดา-ภดารี (สุชีวะ) บุนนาค เผยถึงความประทับใจที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในการริเริ่มโครงหลวง
โครงการหลวง เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2512 เป็นโครงการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังจากทรงทราบถึงความยากจนของชาวเขา ทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือกต้องหันหน้าไปปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยเพื่อประทังชีวิต จึงมีพระราชประสงค์ส่งเสริมการทำเกษตรที่ราบสูง ไม่เพียงช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเขาให้ดีขึ้น ยังช่วยลดปัญหายาเสพติดและพัฒนาวงการเกษตรบ้านเราไปพร้อมกัน โดยมี ม.จ.ภีศเดช รัชนี สนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งผู้อำนวยการ
ซึมซับเจตนารมณ์ อาสาด้วยใจ
อาจเพราะท่านตา (ม.จ.ภีศเดช รัชนี) บุกเบิกและทำงานในโครงการหลวงมานานกว่า 40 ปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ภดารีจะคลุกคลีมากับกิจกรรมต่างๆ ในโครงการหลวงตั้งแต่เด็ก บ่อยครั้งมีโอกาสไปเยือน Gourmet Tour ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางในช่วงวันหยุดยาวกับครอบครัว ทัวร์ทานอาหารที่มีชื่อเสียงของโครงการหลวง หากแต่ในตอนนั้นยังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากเท่ากับปัจจุบัน เนื่องจากไม่ได้มีรูปแบบเหมือนอย่างที่เป็นในปัจจุบัน จนเมื่อ 10 กว่าปีก่อนภดารีได้รับคำแนะนำจากเชฟท่านหนึ่งในการครีเอตรูปแบบใหม่ๆ ของ Gourmet Tour ด้วยการทานอาหารในบรรยากาศสวนสวยหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสวนดอกไม้ แปลงชา ท่ามกลางเสียงดนตรี ลิ้มลองอาหารจากฝีมือสุดยอดเชฟที่หมุนเวียนกันมาโชว์เสน่ห์ปลายตะหลิว
จากจุดนั้นภดารีระดมเหล่าทีมอาสาฯ ล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนฝูงคนสนิทมาช่วยกันเนรมิตไอเดียนี้ให้เป็นรูปเป็นร่าง หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “ฤทธี บุนนาค” (สามี) ที่ครั้งหนึ่งมาเยือนโครงการหลวงในฐานะแขก แต่เพราะซาบซึ้งในแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยประชาชนและชาวเขา โดยมีพระราชประสงค์ให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีจากการพึ่งพาตนเองได้ ฤทธีจึงไม่ได้เป็นเพียงอาสาส่วน Gourmet Tour ที่สถานีอ่างขางเท่านั้น แต่ยังเป็นอาสาในส่วนโครงการกาแฟของโครงการหลวง ถึงปัจจุบันนานกว่า 8 ปีแล้ว
“ที่ผ่านมาผมเคยได้ยินโครงการหลวงทำอะไร แต่ไม่เคยสัมผัส เมื่อได้สัมผัสสิ่งที่พระองค์ท่านมีพระราชดำริ ช่วยให้ชาวบ้านมีความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากเมื่อก่อนภูเขาหัวโล้น แต่ตอนนี้กลายเป็นพื้นที่เขียว ทั้งที่โครงการนี้ใช้เวลามากพอสมควร เพราะไม่ได้บังคับชาวบ้าน ทำให้ผมประทับใจและอยากเข้ามาทำงานที่นี่ ประจวบกับขณะนั้นฝ่ายกาแฟมีปัญหาเรื่องสต๊อก ท่านภีเลยให้ผมเข้ามาช่วย จากนั้นก็ได้ทำงานที่นี่มาตลอด” ฤทธีย้อนถึงนาทีที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครอย่างไม่ลังเล
ความสำเร็จจากการร่วมแรงร่วมใจ
ช่วงแรกของการทำหน้าที่อาสาสมัครในโปรเจกต์ Gourmet Tour ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางของภดารี เป็นการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเนื้องาน แต่เพราะการจัดงานมีต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีปีละ 3 ครั้ง จึงทำให้ทีมงานเกิดความชำนาญและพัฒนารูปแบบการจัดงานให้ดีขึ้นทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกเชฟ, การครีเอตเมนูอาหาร, นักดนตรี ตลอดจนการจัดสถานที่ที่จะสร้างความประทับใจให้กับผู้ร่วมทริป โดยมีท่านตา ม.จ.ภีศเดช ให้การสนับสนุนอยู่ห่างๆ
“ลักษณะเหมือนจัดทัวร์กับเซตอัพอีเวนต์ทุก 3 ชั่วโมง เพราะเรามีบริการถึง 4 มื้อในแต่ละวัน ฉะนั้นแต่ละมื้อแขกจะทานอาหารในสถานที่ไม่เหมือนกัน เราเซตอัพตลอดเวลา ถึงตอนนี้ก็ยังเหนื่อย เพราะเราต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 ตี 5 กว่าจะนอนก็เที่ยงคืน แต่เรื่องจิตใจเหนื่อยน้อยลง เพราะพวกเรารู้งานมากขึ้น สบายใจมากขึ้นที่ได้แบ่งหน้าที่กันทำงาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีเรื่องเซอร์ไพรส์หน้างานได้ทุกครั้ง เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า”
ภดารีเผยถึงการทำงานที่เหนื่อยแต่สนุก เพราะท้ายสุดแล้วทุกการลงแรงแข็งขันล้วนคุ้มค่า ปัจจุบันโปรเจกต์ Gourmet Tour ของโครงการหลวง กลายเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสร้างชื่อที่เกิดจากการพูดกันปากต่อปากและสร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือนได้ทุกครั้ง ชนิดที่ว่าต้องจองคิวกันล่วงหน้าข้ามปี แต่ละทริปรับจำนวนจำกัดไม่เกิน 120 คน ด้วยเหตุผลเพราะต้องการดูแลแขกทุกท่านได้อย่างทั่วถึง ใกล้ชิด
“เราโชคดีทีมงานอ่างขางทำงานสามัคคีกันดีมาก หัวหน้าของอ่างขางเป็นคนเก่งและวางแผนทุกอย่างได้เนี้ยบ ดาถือว่าทั้งหมดที่ทำให้ Gourmet Tour เกิดขึ้นมาได้ เพราะมีทีมที่ดี หลายคนไม่ได้มีหน้าที่จัดอีเวนต์ เพราะเราไม่ใช่บริษัทจัดอีเวนต์ แต่พอถึงเวลาทุกคนมาช่วย ทีมบัญชีออกมาเสิร์ฟ ทีมวิจัยในห้องแล็บมาช่วยเซตอัพ ชาวเขาที่ปกติปลูกผักอยู่ตามไร่ก็มาช่วยกัน”
เจริญรอยตามคำสอนพ่อ
การเป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ของการทำงานสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังความปลาบปลื้มมาให้ภดารี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครอบครัวของเธอตลอดสามชั่วอายุคน ล้วนได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้จากพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไม่ว่าจะท่านตาผู้สนองงานเบื้องพระยุคลบาท หรือเมื่อครั้งคุณแม่ของเธอแต่งงานก็ได้รับพระราชทานน้ำสังข์ รวมถึงตัวภดารีซึ่งศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนจิตรลดาที่พระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งขึ้น จนเมื่อเธอแต่งงานก็ได้รับพระราชทานน้ำสังข์เช่นกัน เหล่านี้ล้วนนำความภาคภูมิใจและอุ่นใจที่ได้เกิดมาเป็นข้ารองบาท มีเจ้านายให้จงรักและภักดี
“พระองค์ท่านทรงเป็นกันเอง ไม่เคยถือองค์ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ดาไม่ได้ใกล้ชิดขนาดถวายงานโดยตรงเหมือนท่านตา แต่ดาได้ยินท่านตาพูดตลอด และเป็นสิ่งหนึ่งที่จำได้เสมอ คือ ท่านตาเป็นหม่อมเจ้า คนมักคิดว่าการเป็นเจ้าเป็นเรื่องสูงส่ง แต่ท่านตาบอกเป็นเจ้าแล้วดีอย่างไร ทำไมเราต้องทำตัวสูงกว่าใคร ดูพระเจ้าอยู่หัวสิ พระองค์ยังประทับนั่งพื้นเลย”
“พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเคยสั่งว่าต้องทำตามนี้ แต่พระองค์จะทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่าง สิ่งที่ท่านตาทำทุกวันนี้ คือท่านตาทำตามพระเจ้าอยู่หัว คือปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดี ดาเชื่อว่าผู้ที่ทำงานใต้เบื้องพระยุคลบาท สิ่งที่เขาทำคือปฏิบัติตัวตามรอยพระเจ้าอยู่หัว เพราะท่านทรงเป็นตัวอย่างที่ดีให้แล้ว ดารู้สึกว่าดาเกิดมาในครอบครัวที่รับใช้พระเจ้าอยู่หัว ฉะนั้นสิ่งที่ดาคิดว่าทำได้ดีมาก คือเราจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งที่ท่านตาปฏิบัติคือทำตนตามรอยสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติ สิ่งนี้เชื่อมโยงมาถึงพ่อแม่ของเรา และเราก็ซึมซับปฏิบัติตามกันมาอีกที” ภดารีเผยถึงการเจริญรอยตามแนวทางของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นคุณตาและถ่ายทอดมาสู่รุ่นของเธอ
ปลูกกาแฟ พลิกฟื้นชีวิตชาวบ้าน
นอกจากภดารีแล้ว ฤทธีสามีของเธอก็มีจิตอาสาร่วมสืบสานแนวพระราชดำริ ด้วยการเป็นอาสาในตำแหน่งรองผู้อำนวยการโครงการกาแฟอาราบิก้า ซึ่งเป็นส่วนงานรับผิดชอบการพัฒนาพันธุ์กาแฟใหม่ๆ ส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกกาแฟที่มีคุณภาพ แลกเปลี่ยนความรู้ในการเพาะปลูกจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนรับซื้อกาแฟจากชาวบ้านในราคายุติธรรมเพื่อช่วยกระจายผลผลิตไปยังผู้บริโภค และนำกำไรกลับมาพัฒนาความเป็นอยู่ให้ชาวบ้านและชุมชน
“ประมาณกว่า 40 ปีที่แล้ว ท่านภีได้พบกับนายอำเภอท่านหนึ่งมาจากปาปัวนิวกินี แนะนำกับท่านภีว่าเชียงใหม่ควรปลูกกาแฟ เพราะภูมิอากาศเหมือนกับปาปัวนิวกินี เหมาะกับการปลูกกาแฟได้ดี ชาวบ้านจะมีรายได้ ท่านภีนำเรื่องนี้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรับสั่งให้ปลูกกาแฟ ทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องนี้มาก เพราะครั้งหนึ่งเสด็จพระราชดำเนินหลายกิโลเมตรเพื่อทอดพระเนตรต้นกาแฟแค่ไม่กี่ต้นบนดอยอินทนนท์
“สมัยนั้นหลายคนสงสัยทำไมท่านภีต้องพาพระองค์มาลำบากเพื่อต้นกาแฟไม่กี่ต้น แต่พระองค์ทรงเล็งเห็นว่ากาแฟจะเป็นพืชเศรษฐกิจได้ แต่ตอนนี้ประเทศไทยปลูกผลผลิตกาแฟอาราบิก้าได้ราว 8,000 ตัน มีร้านกาแฟเกิดขึ้นเต็มไปหมด” ฤทธีย้อนถึงจุดเริ่มต้นของกาแฟโครงการหลวงเมื่อ 40 ปีก่อน ฉายให้เห็นวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมองการณ์ไกล
ต่อยอดสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
จากระยะแรกที่มาช่วยแก้ไขปัญหาเมล็ดกาแฟค้างสต๊อก มาถึงยุควัฒนธรรมเฟื่องฟูไปทั่วทุกหัวถนน กาแฟของโครงการหลวงก้าวไปข้างหน้า ด้วยการคัดสรรและพัฒนาพันธุ์ให้เหมาะกับรสนิยมการดื่มของผู้คนมากขึ้น มีโรงคั่วเป็นของตัวเอง ตลอดจนสามารถส่งออกจัดจำหน่ายให้กับโรงงานคั่วกาแฟ และมีแบรนด์กาแฟเป็นของตัวเอง จำนวนในการรับซื้อเมล็ดกาแฟจากชาวบ้านก็เพิ่มขึ้น ผลตอบรับที่ได้คือชาวบ้านมีรายได้ดีขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้น
“สิ่งที่เราพยายามคือปรับสายพันธุ์ เพราะกาแฟก็เหมือนพืชอื่นๆ ปลูกนานๆ พันธุ์จะไม่ค่อยดี เราต้องนำพันธุ์จากต่างประเทศมาผสมเพื่อพัฒนาพันธุ์ให้ดีขึ้น เพื่อรสชาติที่ดีขึ้นอย่างที่ตลาดต้องการ สมัยก่อนเราเน้นพันธุ์ที่ต้านทานโรคได้ แต่สมัยนี้คนดื่มกาแฟรู้จักกาแฟคุณภาพนำเข้าเยอะ ดังนั้นเราต้องหันมาหากาแฟที่มีรสชาติดีและคุณภาพดีด้วย เพราะตอนนี้ประเทศอาเซียนปลูกกาแฟในค่าแรงที่ต่ำกว่าเรา ถ้าเรายังทำคุณภาพไม่ดีจะสู้ตลาดประเทศอื่นไม่ได้”
ความสำเร็จของโครงการหลวงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศเท่านั้น แต่ยังได้การยอมรับในนานาชาติ จนหลายชาติเคยขอแลกเปลี่ยนความรู้ในการปลูกพืชพรรณต่างๆ อย่างที่คนไทยเคยได้ยินมาบ้างอย่างประเทศภูฏานที่มีการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่เพื่อศึกษาดูงานระหว่างกัน จนกลายเป็นที่มาความร่วมมือเพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ อีก อาทิ ลาว พม่า โคลัมเปีย ฯลฯ
“พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นที่รักของประชาชน นี่เป็นหนึ่งสิ่งที่ทำให้โครงการหลวงประสบความสำเร็จด้วย เพราะในโครงการหลวงมีอาสาสมัครที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เต็มใจมาช่วยโครงการอย่างเต็มที่ ชาวต่างประเทศส่วนใหญ่ชื่นชมโครงการของเราและต้องการนำโมเดลของเราไปใช้ในประเทศของเขาบ้าง บางครั้งเขาเข้าใจผิดว่าเราคงใช้เงินมหาศาลในการจ้างผู้เชี่ยวชาญ เราบอกเปล่าเลย ผู้เชี่ยวชาญของเราเป็นอาสาสมัครทำงานให้ด้วยใจทั้งนั้น”
น้อมนำแนวพระราชดำริสู่การปฏิบัติจริง
แม้ไม่ได้ถวายงานใกล้ชิดโดยตรง แต่การทำงานในโครงการหลวง ทำให้ฤทธีได้สัมผัสและซึมซับแนวพระราชดำริของพระองค์อย่างใกล้ชิดและลึกซึ้งมากขึ้น จนนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะแนวทางการพึ่งพาตัวเองและการทำงานแบบปิดทองหลังพระ
“พวกเราในโครงการหลวงทำอะไรเหมือนปิดทองหลังพระ ทุกอย่างเราไม่ต้องโชว์ให้คนอื่นเห็นว่าเราทำความดี จุดมุ่งหมายของเราแค่ต้องการช่วยเหลือชาวบ้าน ชาวเขา ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้รับประโยชน์และความสุขเต็มที่ แต่เรายังคงยึดแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องที่จะไม่ให้อะไรฟรี เพราะการให้ฟรีเหมือนของที่ได้มาง่าย อาจจะไม่เห็นความสำคัญ ฉะนั้นไม่ว่าเมล็ดพันธุ์ พืชพรรณ เราจึงขายชาวบ้านในราคายุติธรรม เพียงแต่เรื่ององค์ความรู้เราให้ฟรี”
ตลอดเวลากว่า 40 ปี โครงการหลวงได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืน จากการดำเนินรอยตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช :: Text by FLASH