น่าน - “เล่าป่า แซ่เติน” พ่อเฒ่าชาวเมี่ยนเมืองน่าน ผู้เป็นใบ้ หลั่งน้ำตาถ่ายทอดความรู้สึกจากก้นบึ้งหัวใจ หลังถวายงานรับใช้ “พ่อหลวง ร.๙” ยาวนานถึง 40 ปี เผยแม้เป็นชนเผ่า-พูดไม่ได้ ยังทรงมีพระเมตตาถามไถ่-ให้โอกาส ทั้งยังมีพระมหากรุณาธิคุณชาวเมี่ยนห้วยสะนาว เลิกทำไร่เลื่อนลอยกันทั่ว
รายงานข่างแจ้งว่า ครอบครัว “แซ่เติน” ชนเผ่าเมี่ยน อยู่บ้านเลขที่ 75 หมู่ 2 บ้านห้วยสะนาว ต.ป่ากลาง อ.ปัว จ.น่าน เป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่มีโอกาสได้ถวายงานเป็นช่างเครื่องเงินรับใช้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวได้ถวายงานรับใช้ยาวนานถึง 40 ปี คือ นายเล่าป่า แซ่เติน ปัจจุบันอายุ 80 ปี พิการเป็นใบ้ แม้จะพูดไม่ได้แต่ได้พยายามถ่ายทอดความรู้สึกผ่านท่าทาง และแววตาที่แดงก่ำมีน้ำตาซึม แสดงถึงความอาลัยยิ่งต่อพระองค์ท่าน
นายกมล แซ่เติน หลานชาย ได้แปลความรู้สึกของเล่าป่าให้ฟังว่า ช่วงที่เป็นช่างเงินถวายงานที่วังสวนจิตรลดา มีชนเผ่าเข้ามาถวายงานหลายชนเผ่า ทั้งชนเผ่าเย้า เผ่าม้ง เผ่าไทยใหญ่ ฯลฯ ซึ่งในหลวงจะทรงเสด็จฯ ลงมาเยี่ยมเยียนและตรวจงานเป็นประจำ
นายกมลบอกว่า “เล่าป่า” มีโอกาส 4-5 ครั้งที่พระองค์ทรงมาตรวจฝีมืองานอย่างใกล้ชิด โดยพระองค์จะทรงมานั่งข้างๆ เพื่อดูฝีมืองาน และมีพระราชปฏิสันถาร ถามไถ่ ทักทาย แต่ด้วยเหตุที่เล่าป่าเป็นใบ้ไม่สามารถสื่อสารกับพระองค์ท่าน ได้แต่รู้สึกปลาบปลื้มซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
และเมื่อคราวที่ “เล่าป่า” ต้องเดินทางกลับบ้าน ยังเคยทรงมีรับสั่งว่า “กลับบ้านไปพักผ่อนให้หายเหนื่อย แล้วให้กลับเข้าวังอีกนะ” โดยเล่าป่าได้รับพระราชทานรางวัลทั้งจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเครื่องเงินที่ “เล่าป่า” ออกแบบถวายที่ทรงโปรดคือ ชิ้นงานเรือ งานที่ทำเป็นเครื่องเงินผสมทอง ลวดลายวิจิตร
“แม้เป็นชนเผ่า เป็นใบ้พิการ ยังทรงมีพระเมตตาให้โอกาส ให้ความรู้ จนสามารถมีเงินส่งเสียกลับมาให้ครอบครัวที่บ้านได้” เล่าป่าถ่ายทอดความประทับใจและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
นายกมลบอกเล่าลำดับเหตุการณ์ที่ทำให้ครอบครัวได้มีโอกาสรับใช้ถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่าย้อนหลังไปถึงช่วงปี พ.ศ. 2515 ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ ต.ป่ากลาง อ.ปัว จ.น่าน และตนได้เข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ และได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องเงินที่ครอบครัวทำขึ้นแด่พระองค์ ตอนนั้นการทำเครื่องเงินยังไม่เป็นที่นิยม ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำไร่เลื่อนลอยกัน กระทั่ง 2 ปีต่อมา ทางราชการได้มาแจ้งว่าในหลวงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ผู้ที่ทำเครื่องเงินถวายในครั้งนั้นเข้าวังเพื่อทำงานเป็นช่างเงินถวายงาน ตนเองและน้าชาย คือ นายเล่าป่า แซ่เติน จึงได้เก็บอุปกรณ์การทำเครื่องเงินลงหีบไม้ใบใหญ่เดินทางไปที่พระราชตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ เริ่มต้นทำงานเป็นช่างเงินถวายงาน และยังได้ไปทำงานเป็นช่างเงินในอีกหลายที่ ทั้งพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ วังไกลกังวล และพระราชวังสวนจิตรลดา ซึ่งก็เป็นทั้งช่างตีเงิน และร่วมถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนอื่นๆ ด้วย
นายกมลบอกว่า และช่วงที่อยู่ที่พระราชวังสวนจิตรลดา พระองค์ท่านทรงมีรับสั่งว่า “ทำเงินนั้นคงขายได้ยาก ต้องทำทองคำด้วย ขายได้ดีกว่า” จึงทรงให้ช่างทองที่บ้านหม้อมาสอนทำทองคำ ทำให้มีความรู้และประสบการณ์งานช่างทอง ช่างถมทองด้วย จนมีทักษะวิชาความรู้ติดตัวมาเป็นอาชีพจนถึงทุกวันนี้
“ได้อยู่ถวายงานได้ประมาณ 5 ปี ด้วยความเป็นห่วงครอบครัวจึงได้ขอกลับบ้าน แต่เล่าป่ายังอยู่รับใช้ถวายงานมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2517-2557 รวม 40 ปี”
น.ส.บุญานิส แซ่เติน อายุ 47 ปี สมาชิกครอบครัว “แซ่เติน” รุ่นที่ 3 กล่าวว่า พระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านทรงมีต่อชนเผ่าเมี่ยนบ้านห้วยสะนาว คือ ทำให้คนในหมู่บ้านต่างๆ ของ ต.ป่ากลาง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากอาชีพการทำเครื่องเงิน ไม่ต้องไปบุกรุกแผ้วถางตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยอีก มีโอกาส มีชีวิต และมีอนาคตที่มั่นคง
โดยครอบครัว “แซ่เติน” ได้ยึดถือคำสอน และแบบอย่างที่พระองค์ท่านทรงสอน และทำให้ดู คือ ความพอเพียง ซึ่งพระองค์ทรงเริ่มจากช่างเครื่องเงินเพียง 2-3 คน และขยายจนเป็นศูนย์ศิลปาชีพ เพื่อให้คนไทยทุกเชื้อชาติได้มีโอกาสมีเรียนรู้ฝึกทักษะกลายเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้ ทำให้ตนและทุกคนในครอบครัวยึดถือ ความพอเพียงเป็นแบบอย่างในการประกอบธุรกิจ และการดำเนินชีวิตมาจนทุกวันนี้