xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเขาโครงการหลวงฯลงดอย กราบสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ ๙

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางจ๊ะ เลาจาง วัย 50 ปี (คนกลาง)
คณะเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิโครงการหลวง และชาวเขา จำนวนกว่า 1,700 คน ที่มาด้วยความตั้งมั่น สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เคลื่อนแถวเข้าสู่ประตูวิเศษไชยศรี กราบสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เบื้องหน้าพระบรมโกศ เป็นคณะแรกวันนี้

วันนี้ (14 ธ.ค.) สำหรับบรรยากาศการเข้ากราบถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งในวันนี้ดำเนินมาเป็นวันที่ 59 ของการพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเปิดให้ประชาชน

โดยเมื่อเวลา 04.50 น. มูลนิธิโครงการหลวงนำคณะชาวไทยภูเขาที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณภายใต้โครงการหลวงจาก 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดพะเยา รวม 7 ชนเผ่า ได้แก่ ลาหู่ ปะหล่อง จีนยูนนาน ปกาเกอะญอ ลีซอ อาข่า และ ม้ง พร้อมเจ้าหน้าที่โครงการหลวงกว่า 200 คน รวมทั้งสิ้น 1, 741 คน เข้ากราบสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เป็นชุดแรก ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ โดยชาวเขาต่างแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง พร้อมนำผลผลิตจากแปลงของตนเองที่ได้รับพันธุ์พืชพระราชทานจากในหลวง รัชกาลที่ ๙ มาทูลเกล้าฯ ถวายด้วย

แม้ชาวเขาส่วนใหญ่จะอดหลับอดนอน หลับไม่เต็มตื่น แต่ทุกคนก็มีสีหน้ายิ้มแย้มไม่แสดงอาการเหนื่อยให้เห็น เพราะมีความตั้งใจจะมาถวายสักการะพระบรมศพ “พ่อหลวง” ของพวกเขาอย่างใกล้ชิดสักครั้งหนึ่งในชีวิต

ด้าน นางพรนันทน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์และท่องเที่ยวมูลนิธิโครงการหลวง เปิดเผยว่า ชาวเขาทุกรู้สึกปลาบปลื้มใจที่ได้มากราบสักการะในวันนี้ ก่อนที่จะเดินทางมาทุกคนได้เตรียมผลิตผลของตนเองที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพันธุ์พืชเขตเหนือ อาทิ ข้าวดอย ข้าวก่ำ ข้าวใหม่ สตรอว์เบอร์รี พันธุ์ 80 อโวคาโด จากดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มะเขือม่วง ดอกกุหลาบ จากศูนย์พัฒนาโครงหลวงทุ่งเรา อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ งานหัตถกรรม ทั้งผ้าพันคอ กางเกง เสื้อผ้า จากเผ่ามูเซอ ชุดปะหล่อง รวมถึงพืชผักอื่นๆ กะหล่ำปลีหัวใจ กระหล่ำปลีหวาน ผักกาดหอมห่อ ผักกาดขาวหยก โอ๊คลีฟเขียว โอ๊คลีฟแดง บัวหิมะ ฯลฯ จากพื้นที่ทางภาคเหนือทั้งหมด ซึ่งเป็นผลผลิตจากการส่งเสริมของโครงการหลวง เพื่อให้สํานักพระราชวังนําไปเป็นอาหารแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่มากราบสักการะต่อไป

“สมัยก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฏรทางภาคเหนือทุกปี ชาวเขาก็จะได้รับพระราชทานพืชพันธุ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ ทำให้เขามีรายได้ สามารถเลี้ยงตนเองได้ แม้ระยะหลังในหลวง รัชกาลที่ ๙ ไม่ได้เสด็จเองก็จะมีผู้แทนพระองค์คอยติดตาม คอยสอบถามอยู่เสมอ ทุกหลังคาบ้านของชาวเขามีพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ ๙ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ ที่พระราชทานโครงการหลวง จนทำให้พวกเขามีอาชีพมั่งคงมีรายได้ จากการปลูกพืชเขตหนาวทดแทนฝิ่น แม้บางคนไม่เคยรับเสด็จฯ แต่ก็รักพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพราะพ่อแม่ ปูย่าตายาย ก็ต่างเล่าให้ฟังว่าทรงทำสิ่งใดบ้างให้กับพวกเขา ทำให้ในวันนี้มีชาวเขาที่พร้อมใจกันมาตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ” นางพรนันทน์ กล่าว

ด้าน นายคำแดง ลายเฮิง อายุ 54 ปี ชาวเขาเผ่าปะหล่อง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรที่เลิกปลูกฝิ่นตามพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ ๙ หันมาประกอบอาชีพสุจริตด้วยการปลูกไม้ผลไม้ดอกทดแทน จนมีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง กล่าวด้วยความตื้นตันใจว่า ผมเคยเฝ้าฯ รับเสด็จฯพระองค์อย่างใกล้ชิด 2 ครั้งที่ดอยอ่างขาง สมัยยังเป็นหนุ่มแน่นได้เห็นชาวบ้านชาวเขาเอาของมาถวายหลายอย่าง ซึ่งตัวเองดีใจมากๆ เคยได้ถวายพระพุทธรูปด้วย

“ผมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์มาก ถ้าไม่มีในหลวง รัชกาลที่ ๙ ชีวิตพวกเราคงลำบากกว่านี้ แต่ก่อนปลูกฝิ่นเลี้ยงชีพมีรายได้ แต่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ในการซื้อขายเพราะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย พอในหลวง รัชกาลที่ ๙ มาส่งเสริมและมีเจ้าหน้าที่จากโครงการหลวงมาแนะนำการปลูกการเกษตร ช่วงแรกจึงปลูกบ๊วยและลูกพลัม แต่ปัจจุบันหันมาปลูกผักอินทรีย์และชา วินาทีที่ทราบข่าวว่าพระองค์เสด็จสวรรคตก็เสียใจ ไม่เป็นอันทำการทำงาน นึกถึงพระองค์ตลอด” นายคำแดงกล่าว

ด้าน นายนาโม หมันเฮิง พ่ออุ้ยเผ่าปะหล่องวัย 88 ปี จากอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อดีตเคยเดินรอนแรนด้วยสองเท้า จากเขตปกครองไทยใหญ่ ฝั่งประเทศพม่า รวมระยะเวลา 18 วัน 18 คืน พร้อมกับเพื่อนบ้านอีก 8 ครอบครัวมาอยู่เมืองไทย ตอนแรกร่อนเร่ไม่มีหลักแหล่ง หากินโดยปลูกฝิ่นปลูกข้าวโพดเลี้ยงชีพ กระทั่งทราบข่าวว่าในหลวง รัชกาลที่ ๙ จะเสด็จฯ มาที่ดอยอ่างขาง จึงพากับไปเฝ้าฯ รอรับเสด็จฯ หวังพึ่งพระบารมีขออาศัยภายใต้พระบรมโพธิสมภาร เจ้าตัวกล่าวว่า ถ้าไม่มีพระองค์ผมคงไม่ได้เป็นคนไทย วันนั้นผมกราบแทบพระบาท ทูลขอมาอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย ขอเป็นลูกเป็นหลานของพระองค์

พ่ออุ้ยเผ่าปะหล่อง เล่าต่อว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๙ รับสั่งถามคณะมีใครมาบ้าง ก็ถวายรายงานว่ามีพระ ผู้สูงอายุ และเด็ก ด้วยพระเมตตาทรงรับพวกผมไว้โดยทรงมีพระบรมราชานุญาตให้อยู่ในพื้นที่ หมู่บ้านนอแล หมู่ที่ 14 ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งพระราชทานเงินจำนวน 5,000 บาท เพื่อสร้างศาลาวัดให้ประกอบศาสนกิจ ด้วยความตื่นเต้นและดีใจตนจึงทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูปซึ่งอุ้มติดตัวมาเพื่อตอบแทนพระเมตตา หลังจากนั้น ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ปลูกผักผลไม้, ดอกกุหลาบ และ ชา ส่งผลผลิตให้กับโครงการหลวง ซึ่งรายได้ไม่ใช่แค่ลืมตาอ้าปากได้ แต่ยังส่งเสียลูกหลานได้ร่ำเรียนมีการศึกษา เรียนจบปริญญาตรีหมดทุกคน

“ถ้าไม่มีในหลวง รัชกาลที่ ๙ ผมคงไม่ได้เป็นคนไทย เมื่อรู้ว่าพระองค์สวรรคตก็ทุกข์ใจมาก กินข้าวปลาไม่ได้ 5 - 6 วัน ชีวิตผมเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ ภูมิใจที่ได้เป็นคนในแผ่นดินของพระองค์” นายนาโม กล่าว

ด้าน นางจ๊ะ เลาจาง วัย 50 ปี ชาวอำเภอเชียงดาว เผยความรู้สึกเป็นภาษาของชนเผ่า โดยให้ลูกสาว น.ส.สาวิตรี เลาจาง อายุ 33 ปี คอยเป็นผู้แปลให้ว่า สมัยอยู่อำเภอฮอด จ.เชียงใหม่ พวกเราไม่รู้จะทำอะไรจึงปลูกฝิ่นและทำไร่รับจ้างไปทั่วโดยไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง เมื่อในหลวง รัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ มารับทราบปัญหา ทรงขอให้ทุกคนเลิกปลูกฝิ่น โดยพระราชทานที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 5 ไร่ ที่อำเภอเชียงดาว หลังจากนั้น ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น เพาะปลูกข้าวโพดหวาน ปลูกผัก แม้จะไม่ร่ำรวยแต่พออยู่พอกิน ลูกหลานมีที่ดินทำกิน

สำหรับภาพที่ถือมาวันนี้ นางจ๊ะ เล่าให้ฟังว่า “พ่อได้ผูกเชือกข้อพระกรพ่อหลวงกับแม่หลวง เมื่อปี 2520 ตามความเชื่อของชนเผ่าเราคือถวายพระพรทั้งสองพระองค์ทรงพระเจริญ ไม่ให้มีโรคภัยไข้เจ็บ ภาพนี้จึงเป็นสิ่งที่มีค่าของครอบครัวเรา วันนี้ในหลวง รัชกาลที่ ๙ อยู่บนฟ้าแล้ว พวกเราคิดถึงพระองค์มาก ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ พวกเราตั้งใจจะทำมาหากินด้วยความพอเพียงตามที่ท่านสั่งเสียไว้”










กำลังโหลดความคิดเห็น