ศิลปินยอดเยี่ยมรางวัลพู่กันทอง และศิลปินรางวัลจิตรกรรมบัวหลวง 4 สมัย “ธีระวัฒน์ คะนะมะ” เผยความซาบซึ้งใจกับการได้เป็น 1 ใน 8 ศิลปินซึ่งได้ถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยการวาดภาพประกอบพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก”
อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยที่น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระองค์ทรงมอบบทพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” ซึ่งเป็นของขวัญอันงดงามล้ำค่าแก่พสกนิกรชาวไทยของพระองค์ โดยนำคำสอนในเรื่องของ “ความเพียร” มาสอนให้แก่ประชาชนของพระองค์ผ่านบทพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” ซึ่งเป็นหนังสือที่พระองค์ท่านได้มีพระราชดำรัสไว้ว่า “หนังสือเล่มนี้เป็นที่รัก”
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2539 ระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินออก ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โปรดเกล้าฯ ให้สื่อมวลชนเข้าเฝ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พร้อมแจ้งให้ทราบถึงหนังสือพระราชนิพนธ์เล่มล่าสุดเพื่อจัดพิมพ์ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกในโอกาสที่พระองค์ทรงครองราชย์ ๕๐ ปี
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชปรารภว่าอยากพระราชทานของขวัญงดงามนี้ให้แก่ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า โดยจัดพิมพ์ 2 ภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทรงสืบค้นเรื่องราวของพระมหาชนกในพระไตรปิฎก และทรงแปลด้วยพระองค์เอง ภายในหนังสือ มีภาพวาดฝีพระหัตถ์ รวมถึงภาพประกอบโดยศิลปินที่มีชื่อเสียงอีกหลากหลายท่าน
“พระมหาชนก” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พิมพ์เผยแพร่เป็นฉบับปกแข็ง ขนาด 11 x 11 นิ้ว บรรจุกล่องสวยงาม นอกจากเนื้อหาทรงคุณค่าแล้วยังมีภาพวาดประกอบของจิตรกรชื่อดัง 8 คน คือ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ประหยัด พงษ์ดำ, ปรีชา เถาทอง, พิชัย นิรันต์, เนติกร ชินโย, จินตนา เปี่ยมศิริ, ปัญญา วิจินธนสาร และธีระวัฒน์ คะนะมะ ผลงานจิตรกรระดับชาติถูกตีพิมพ์เป็นภาพประกอบเนื้อหา ด้วยภาพวิจิตรประณีตสีสวยสดใส ทำให้เป็นหนังสืออันล้ำค่าที่น่าอ่านและน่าเก็บรักษาไว้เป็นอย่างยิ่ง
“ธีระวัฒน์ คะนะมะ” เป็น 1 ใน 8 ศิลปินที่มีโอกาสได้ร่วมวาดภาพประกอบบทพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นมงคลกับชีวิตและภาคภูมิใจมากที่ได้รับโอกาสที่ดีที่สุดในครั้งนี้
ในวันวาน เขาคือเด็กต่างจังหวัดซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดมหาสารคาม และมีใจรักในด้านศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ จบการศึกษาชั้นประถมและมัธยมและระดับอาชีวศึกษา (ปวช.) ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม จากนั้นจึงมาเรียนต่อระดับปริญญาตรี ศิลปบัณฑิต สาขาศิลปไทย ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาเคยใช้ความสามารถในด้านศิลปะในต่างประเทศมาแล้ว โดยการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จากนั้นจึงมีโอกาสถวายงานในการเขียนภาพประกอบบทพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” และเขียนภาพประดับตกแต่งพระเมรุมาศในงานถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
“ธีระวัฒน์ คะนะมะ” เคยได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย รวมถึงรางวัลยอดเยี่ยม “พู่กันทอง” ในโอกาสที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 36 พรรษา ของธนาคารกสิกรไทย และล่าสุดในปี 2536 รางวัลที่ 1 ในโอกาสสมเด็จพระสังฆราชฯ มีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา ของธนาคารกสิกรไทย
ครั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมุ่งหวังให้ภาพประกอบในหนังสือบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” นี้เป็นไปในแบบศิลปะร่วมสมัย พระองค์จึงทรงงานร่วมกับกลุ่มศิลปินดังกล่าวนี้ตั้งแต่ปี 2537 และสำเร็จลุล่วงในปี 2539 เพื่อเป็นของขวัญแก่พสกนิกรของพระองค์ทุกหมู่เหล่าให้ได้เสพศิลป์ชิ้นเอกแห่งรัชกาลที่ 9 โดยถ้วนหน้ากัน ซึ่งในช่วงขณะนั้นพระสุขภาพของพระองค์ไม่แข็งแรงเท่าไรนัก แต่พระองค์ก็ยังทรงมีพระวิริยอุตสาหะทรงงานร่วมกับศิลปินเพื่อทำของขวัญอันล้ำค่างดงามวิจิตรนี้ไว้เพื่อพสกนิกรของแผ่นดิน ด้วยอัจฉริยภาพทางด้าน “อัครศิลปิน” ของพระองค์
“พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญกับรูปเขียนมาก” ธีระวัฒน์ เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ทรงคุณค่าแต่หนหลัง
“เพราะรับสั่งว่ารูปเขียนเป็นตัวนำ เวลาเปิดหนังสือปั๊บอยากดูรูป พออยากดูรูปแล้วอยากอ่านเรื่อง
“ส่วนศิลปินไทยทั้ง 8 ก็ได้น้อมนำเอาความรู้ความสามารถทั้งหมด สร้างสรรค์ผลงานกันอย่างสุดฝีมือ และทุ่มเทจิตใจทั้งหมดเพื่อพระองค์ท่าน ซึ่งภาพแห่งความทรงจำที่ยังคงชัดเจนอย่างมิลืมเลือน ทุกช่วงเวลาของการทำงาน ได้มีผู้รอบรู้หลายท่านมาให้ความรู้รายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความกระจ่าง ที่สำคัญที่สุด พระองค์ยังได้ทรงติดตามผลงานในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การทอดพระเนตรภาพร่าง และที่ประทับใจแก่ศิลปินมากที่สุด คือศิลปินได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด พระองค์ทรงมีคำแนะนำและข้อวิจารณ์อย่างเป็นกันเองมากจนผลงานสำเร็จลงได้อย่างดีในเวลาต่อมา”
จากนั้น ในวันเปิดตัวหนังสือและแสดงผลงานภาพเขียน ณ ศาลาดุสิดาลัย พระองค์เสด็จพร้อมสมเด็จพระเทพฯ ได้ทรงทอดพระเนตรทุกผลงาน และได้ทรงตรัสกับศิลปินทุกท่านนานมาก และอีกไม่นานจากนั้น พระองค์ได้เสด็จฯ ยังวัดบวรนิเวศวิหาร ในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกเหรียญพระมหาชนก พระองค์ได้ทรงหยุดหันมาทางศิลปินและตรัสแก่ศิลปินอยู่นาน และหนึ่งในหลายเรื่องที่สำคัญคือทรงตรัสว่า “ขอให้ทุกคน มีความสุขความเจริญและร่ำรวย กันทุกคนๆ นะ”
“นี่เองที่ถือเป็นมงคลแห่งชีวิต จากนั้น ผมเองได้น้อมนำเอามงคลนี้ไปใช้การปฏิบัติตน แก่ชีวิตตลอดเรื่อยมา ตามอย่างที่พระราชปรารภในหนังสือ พระมหาชนก ว่า ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม พลานามัยที่สมบูรณ์”
ธีระวัฒน์ บอกว่า การที่มีโอกาสได้ร่วมเขียนภาพประกอบ “พระมหาชนก” ถือเป็นมงคลสูงสุด เพราะตัวเขาเองเป็นเพียงผู้วาดรูปคนหนึ่งที่ได้ร่ำเรียนวิชาศิลปะ รักและชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็กจนเติบโต ได้รับความรู้จากครู อาจารย์ ที่ท่านคอยแนะนำมอบทักษะความรู้ความคิด กระบวนการในการสร้างสรรค์ต่างๆ อย่างมากมาย
“ผมเองมิเคยคิดว่าจะได้มีโอกาสนำเอาความรู้ทั้งหมดนั้นถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขียนภาพประกอบบทพระราชนิพนธ์ เรื่องพระมหาชนก อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ที่ล้ำค่า ที่พระองค์ทรงแสดงให้เห็นถึงธรรมะที่ว่าด้วยความเพียร เป็นอีกชาดกหนึ่งที่ซึ่งสำคัญ ที่พระองค์ต้องการจะถ่ายทอดให้กับปวงชนชาวไทยให้ยึดถือไว้เป็นสำคัญ”
ในกาลนั้น แม้งานจะยากลำบาก ทั้งการทำความเข้าใจการตีความในสัญญลักษณ์ต่างๆ การสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นแบบศิลปะไทยร่วมสมัย การทำให้รูปผลงานทั้งหมดในเล่มสวยงามลงตัว และกลมกลืนกันไประหว่างศิลปินแต่ละท่านที่มีเอกลัษณ์เฉพาะตัวอันแตกต่างให้เป็นเสมือนเข้ากันได้อย่างดี
“แต่ปัญหาต่างๆ ก็ค่อยๆ ถูกทำให้หายไป ด้วยใจของพวกเราที่รักในพระองค์ท่าน ที่จะต้องทำให้หนังสือที่พระองค์ท่านได้มีพระราชดำรัสไว้ว่า “หนังสือเล่มนี้เป็นที่รัก” ยิ่งทำให้จิตใจของพวกเราไม่สามารถเป็นอื่นได้ นอกจากน้อมเกล้าถวายและมอบความรักความตั้งใจไปกับหนังสือนี้ และจะใช้ความเพียรที่มีอยู่มุ่งสู่ความสำเร็จดั่งที่พระองค์ได้ทรงตั้งไว้ให้จงได้
“ภาพแห่งการงานนั้นยังเด่นชัดและตรึงใจมาโดยตลอด แม้จะผ่านมาแล้ว 20 ปี ที่สำคัญ หนังสือเล่มนี้ได้ให้อะไรกับชีวิตมากมาย ได้บอกให้รู้ว่าคนเราหากจะพบความสำเร็จแล้ว ต้องมีความเพียรเป็นที่ตั้ง ผมเองได้ยึดเอามาปฏิบัติตลอดชีวิตเรื่อยมา ซึ่งมีแต่ความผาสุก เจริญรุ่งเรือง อย่างที่พระองค์เคยตรัสอวยพรให้กับเหล่าศิลปิน ในวันที่เสด็จวัดบวรนิเวศน์วิหาร คราวที่ทำพิธีรัชมังคลาภิเษก “เหรียญพระมหาชนก”
และตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนถึง 13 ม.ค. 2560 “ธีระวัฒน์ คะนะมะ” มีผลงานร่วมแสดงภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในนิทรรศการ “จิตรกรรมบัวหลวง เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ” โดย ศิลปินโครงการจิตรกรรมบัวหลวง ซึ่งเขาเองได้ถูกเชิญให้ร่วมส่งภาพเข้าร่วมแสดงด้วยในฐานะศิลปินที่เคยได้รับรางวัลของจิตรกรรมบัวหลวงมาก่อนถึง 4 รางวัล ทั้งเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง เคยได้รับมาหมดแล้ว ในครั้งนี้เขาได้ส่งภาพที่ชื่อว่า “พ่อหลวงแห่งปวงไทย” ที่วาดด้วยสีอะคริลิก ขนาด : 90 x 70 cm. เข้าร่วมแสดง
เรื่อง : อรวรรณ เหม่นแหลม
ภาพ : ธีรวัฒน์ คะนะมะ