xs
xsm
sm
md
lg

54 ภาพ 54 ศิลปิน น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รวมประวัติศาสตร์ความรู้สึก จากศิลปินเมืองไทยมากกว่า 50 ชีวิต ที่น้อมจิตน้อมใจถวายรักอาลัยในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านผลงานภาพวาด พร้อมบอกกล่าวเล่าถึงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ
ภาพโดย สายฝน โอสถ และ วธน กรีทอง ตามลำดับ
1. สายฝน โอสถ
“ประทับใจท่านในความเป็นศิลปิน ทั้งเรื่องดนตรีและเรื่องถ่ายภาพ ท่านทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความเป็นศิลปิน ทรงเป็นผู้ปกครองประเทศที่ดีที่สุดในโลก”

2. วธน กรีทอง
“ในชีวิตที่ผ่านมาทั้งชีวิตของข้าพเจ้า 49 ปี ไม่เคยมีสักวินาทีที่ไม่มีในหลวงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล แม้จะรู้ดีว่าสักวันจะต้องมีวันนี้ แต่ก็ไม่เคยคิดเลยว่าจะเสียใจได้ขนาดนี้ ห้วงเวลานั้นเหมือนใครเอาประเทศไทยของข้าพเจ้าไป ประเทศไทยที่มีในหลวงเป็นแบบอย่างแห่งความเพียร และแบบอย่างทุกย่างก้าว ข้าพเจ้าเขื่อว่า
ไม่มีใครลืมพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานเหนื่อยกว่าใครพระองค์นี้”
ภาพโดย กิติพงษ์ มากสิน และ ชวัส จำปาแสน ตามลำดับ
3. กิติพงษ์ มากสิน
“ความรู้สึกที่มีต่อพ่อหลวง คนไทยทุกคนรักในหลวงและผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนสามารถตายแทนในหลวงได้ นอกจากพ่อและแม่แล้ว บุคคลที่ทำให้เรามี
ความรู้สึกว่าสามารถที่จะตายแทนได้ ก็มีแต่ในหลวงนี่แหละ ลองคิดดูว่าคุณงามความดีของพระองค์ท่านมีมากมาย ขนาดไหน”

4. ชวัส จำปาแสน
“ผมพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่ในหลวงทรงมอบไว้แก่ปวงชนชาวไทยมาโดยตลอด คือการคิดและการปฏิบัติแบบยั่งยืน ท่านทรงเป็นแบบอย่างให้ผมตระหนักว่าหากคิดและทำอะไรก็ควรจะเข้าใจและวิเคราะห์ในสถานการณ์นั้นอย่างถ่องแท้จริงๆ นอกจากนี้แล้วท่านยังแสดงให้ผมเห็นว่าทฤษฎีต่างๆ ที่เราศึกษา เป็นเพียงสมมุติฐาน

“ความรู้ที่แท้จริงนั้นต้องลงมือทำเพื่อให้ได้ประสบการณ์ วิเคราะห์ สังเคราะห์และแก้ไข้ ปรับใช้ให้เข้ากับตนเอง สถานการณ์และสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม ท่านได้มอบแนวทางการหาความเหมาะสม และความสมดุล ของงาน สังคม และชีวิต เพียงเท่านี้ก็มีค่ามากมายต่อชีวิตของผม ในแบบที่นักคิดนักพัฒนาคนอื่นๆไม่สามารถเทียบเท่าได้เลย ผมจะยึดมั่นและเดินตามรอยท่านต่อไปครับ ข้าพระพุทธเจ้า น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้”
ภาพโดย นายเจษฎา เมินทุกข์ และ ก้องศักดิ์ พูนผลวัฒนาภรณ์ ตามลำดับ
5. นายเจษฎา เมินทุกข์
ชื่อภาพ “ในหลวงของปวงประชา” เทคนิคสีน้ำและตรายาง โดยการนำตราประทับ (ตรายาง) เลข 9 มาผสมผสานกับสีน้ำ เพื่อให้เกิดภาพที่มีมิติ
เปรียบเสมือนพระราชกรณียกิจ รวมทั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์ ซึ่งมากมายจนหาที่เปรียบมิได้ เป็นผลให้ปวงประชาเป็นสุขศานต์

6. ก้องศักดิ์ พูนผลวัฒนาภรณ์
ชื่อภาพ “ภาพจำในวัยเยาว์” เทคนิคดินสอเเละปากกาบนกระดาษ เกิดจากความประทับใจในพระองค์ท่าน ภาพจำผมตั้งเเต่เกิดมา ท่านก็อายุ 50 พรรษา เห็นจะได้ ผมก็เห็นท่านทำงานตลอดไม่เคยหยุด คอยเเก้ปัญหาต่างๆ ให้ประชาชน เเละมีงานตามพระราชดำริต่างๆ มากมาย ยามเมื่อท่านให้โอวาทมีเเต่สิ่งที่ดีๆ ต่อชีวิตทั้งนั้น ส่วนภาพนี้ที่ผมอยากวาด เพราะตอนเด็กที่เรียนประถมผมเคยรับเสด็จท่าน ได้เห็นท่านโบกมือให้ ขณะนั้นผมยืนโบกธงพร้อมพูดว่า “ทรงเจริญ” เป็นบุญของผมที่ในชีวิตนี้เคยได้รอรับเสด็จ มีโอกาสได้เห็นพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัวถึง 4 ครั้ง ผมวาดด้วยความระลึกถึงท่านอย่างมาก”
ภาพโดย พรพรรณ ศรีธนาบุตร และ ศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิท ตามลำดับ
7. พรพรรณ ศรีธนาบุตร
ชื่อภาพ “พ่อหลวงองค์อัครศิลปิน” สีน้ำบนกระดาษ ขนาด 35x55 ซม.
“ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดในโลกนี้แล้วที่รักและดูแลทุกข์สุขของประชาชนและประเทศชาติได้ดีเท่ากับพระเจ้าอยู่หัวของเรา หากจะกล่าวถึงสิ่งที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติเพื่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทยตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ มีมากมายมหาศาลจนไม่สามารถจะกล่าวได้หมด และสำหรับข้าพเจ้า ท่านทรงเป็นอัครศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่จะสถิตย์อยู่ในดวงใจของข้าพเจ้าตลอดไป”

8. ศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิท
ชื่อภาพ “คุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของเหรียญ 25 สตางค์” สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 120 x 120 ซม.
“แนวความคิดที่มีต่อเหรียญ 25 สตางค์ ในทางมูลค่าแม้จะไม่มากมาย แต่ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญมูลค่าเล็กๆ นี้ กลับได้สะท้อนภาพที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความทุ่มเท เหน็ดเหนื่อย และเสียสละอันยิ่งใหญ่ ที่ตลอดระยะเวลา 70 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงอุทิศให้กับประชาชนคนไทยทุกคนด้วยความรักยิ่ง พระองค์ท่านทรงอยู่เคียงข้างเราตลอดเสมอมา และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป”
ภาพโดย ไปรพจน์ จุลวงศ์ และ บรรจบ เหลาสุภาพ ตามลำดับ
9. ไปรพจน์ จุลวงศ์
“บทเพลงพระราชนิพนธ์ ท่วงทำนองเพลงไพเราะที่สุด มีพลังมากมายมหาศาล ฟังบ่อยที่สุด ฟังกี่ครั้งก็สร้างแรงบันดาลใจให้มีพลังได้ทุกครั้งเสมอมา... รักพระองค์ท่าน”

10. บรรจบ เหลาสุภาพ
“ความรู้สึกที่มีต่อพระองค์ทัน อธิบายลำบากนะครับ แต่ก็คงเหมือนๆ กับทุกคนที่รักและเทิดทูนพระองค์ คือดีใจที่ได้เกิดมาอยู่ภายใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ และการสูญเสียในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าในโลกใบนี้คงไม่มีมนุษย์คนไหนหนีพ้นเรื่องเกิดแก่เจ็บตายไปได้ แต่ก็ยังทำให้คนที่รักพระองค์ท่านใจหาย อาลัย ทำใจได้ยากอยู่ดีครับ ผมเลือกวาดรูปพระองค์ท่านตอนผนวช เพราะผมชอบสถานะของท่านในตอนนั้น ที่เป็นแบบอย่างของชายไทยที่ต้องมีสักครั้งที่จะเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร และยิ่งได้อ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น ระหว่างท่านกับรัฐบาลในขณะนั้น ยิ่งรู้สึกทรงเห็นใจท่านอย่างมาก”
ภาพโดย จรัญ คงสังข์ และ อ.จุลจิต เสน่ห์งามเจริญ ตามลำดับ
11. จรัญ คงสังข์
ชื่อภาพ “รัชกาลที่ 9” สีน้ำบนกระดาษ เทคนิคระบายสีน้ำบนกระดาษ
“ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ชอบศิลปะ ตอนเด็กๆ ตั้งแต่จำความได้ เวลาวาดภาพบุคคล ก็จะดูแบบจากหน้าปกสมุด ซึ่งมีพระบรมรูปฉายาลักษณ์ในหลวงเป็นแบบวาดแล้ววาดอีก พระองค์ท่านได้สร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ทุกๆ ด้านในการดำเนินชีวิต”

12. อ.จุลจิต เสน่ห์งามเจริญ
“คำว่าพ่อ...พ่อที่ไม่เคยหยุดงาน พ่อที่เสียสละความสุขส่วนตน พ่อที่ยอมลำบาก พ่อที่เหนื่อยแค่ไหนก็ไม่เคยหยุด พ่อที่ห่วงใยทุกข์สุขพสกนิกรไม่เคยขาด
ไม่ว่าเราจะเกิดอีกกี่ชาติ ก็ไม่เจอมหาราชที่ชื่อภูมิพล”
ภาพโดย คุณณัฐวีร์ ตั้งเจริญกุล และ วรเชษฐ พรหมหนู ตามลำดับ
13. คุณณัฐวีร์ ตั้งเจริญกุล
“จะขอทำความดีอย่างที่พ่อทำ” “พ่อ” คือต้นแบบในการดำเนินชีวิตของผม ผมได้รับแรงบันดาลใจมากมายในทุกภาพที่วาดพระองค์ท่าน กว่า ๗๐ ปีที่เราเห็นจนชินตาคือภาพที่พระองค์ทรงงานหนักเพื่อประชาชนของพระองค์ หยาดเหงื่อชโลมกายอยู่ในป่าเขาในถิ่นทุรกันดานนั่นแสดงให้เห็นว่า ทั้งชีวิตของพระองค์ทรงมีแต่ประชาชนทำทุกอย่างเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งคงไม่มีใครในโลกใบนี้ทำได้อย่างพระองค์ ไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่ผมจะไม่รักพระองค์ สิ่งที่ผมจะตอบแทนพระองค์ได้นั่นก็คือ ตราบใดที่ผมยังมีลมหายใจ ผมจะวาดภาพ “พ่อ” รัชกาลที่ ๙ ต่อไป แม้อาจดูเป็นสิ่งเล็กๆ ของใครๆ แต่เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในหัวใจดวงเล็กๆ ของผม”

14. วรเชษฐ พรหมหนู
“ในภาพเขียนนี้มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพื้นหลังเป็นป่าไม้ ซึ่งข้าพเจ้าต้องการแสดงให้เห็นถึงคุณอันใหญ่หลวงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงมีต่อป่าไม้และส่งผลมายังความเป็นอยู่ของประชาชนดังพระราชดำรัสที่ว่า ปลูกป่าในใจคน คือ การปลูกป่าลงบนแผ่นดิน “เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ลง
ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านันก็พากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง” อันสะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน”
ภาพโดย สุธี แคนยุกต์
15. สุธี แคนยุกต์
“ชอบรูปนี้มากครับ เพราะแสดงให้เห็นถึงการที่พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของคนไทยทั้งประเทศ ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะอย่างยากยิ่งที่จะมีใครเหมือน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของปวงชนชาวไทยและของโลกอย่างแท้จริง ขอกราบใต้พระบาทน้อมส่งดวงพระวิญญาณสู่บรมพิมาน สถิตบนสรวงสวรรคาลัย”
ภาพโดย บัญชา มะ และ ธีระวัฒน์ คะนะมะ ตามลำดับ
16. บัญชา มะ
“ชื่อภาพ “อัฉริยราชา อัครศิลปิน” (สเก็ตช์สีน้ำ) ในฐานะที่ผมเป็นศิลปิน สิ่งแรกๆ ที่มองเห็นในตัวพระองค์ท่านก็คือ ท่านทรงวาดรูปเก่ง ถ่ายรูปสวย ทรงเครื่องดนตรีได้หลายชนิด เป็นนักแต่งเพลงที่ไพเราะลึกซึ้ง เพียงเท่านี้ก็รู้สึกทึ่งมากแล้ว เพราะความสามารถทั้งหมดนี้รวมอยู่ในคนคนเดียวกัน

“นอกจากนั้น ท่านยังทรงเป็นนักคิด นักประดิษฐ์ นักพัฒนา นักกีฬา นักวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักการเกษตร นักการปกครอง และนักอะไรอีกมากมายที่เขียนบรรยายได้ไม่หมด และที่สำคัญ ทรงนำความสามารถในทุกด้านเหล่านี้มาพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์สุขแก่พสกนิกรของพระองค์อย่างทุ่มเท ภูมิใจครับที่เกิดเป็นคนไทยและเกิดในแผ่นดินรัชกาลที่ ๙ ของพระองค์”

17. ธีระวัฒน์ คะนะมะ
“เมื่อคราวที่ครั้งหนึ่งในชีวิต อันถือเป็นมงคลสูงสุดยิ่งนักที่ผมเองเป็นแค่ผู้วาดรูปคนหนึ่งที่ได้ร่ำเรียนวิชาศิลปะ รักและชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็กจนเติบโต ได้รับความรู้จากครู อาจารย์ ที่ท่านคอยแนะนำมอบทักษะความรู้ความคิด กระบวนการในการสร้างสรรค์ต่างๆ อย่างมากมาย ผมเองมิเคยคิดว่าจะได้มีโอกาสนำเอาความรู้ทั้งหมดนั้นถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขียนภาพประกอบบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง “พระมหาชนก” อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ที่ล้ำค่า ที่พระองค์ทรงแสดงให้เห็นถึงธรรมะที่ว่าด้วยความเพียรเป็นอีกชาดกหนึ่งที่สำคัญ ที่พระองค์ต้องการจะถ่ายทอดให้กับปวงชนชาวไทยให้ยึดถือไว้เป็นสำคัญ

“ในกาลนั้น ศิลปินผู้เขียนภาพ ทั้งหมดมี ๘ ท่าน และทีมที่ปรึกษา ท่านผู้จัดทำหนังสือ ได้น้อมนำเอาความรู้ทั้งหมดมอบไว้ให้กับหนังสือนี้อย่างถอดหัวใจ เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ คราวนั้น แม้งานจะยากลำบาก ทั้งการทำความเข้าใจการตีความในสัญญลักษณ์ต่างๆ การสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นแบบศิลปไทยร่วมสมัย การทำให้รูปผลงานทั้งหมดในเล่มสวยงามลงตัว และกลมกลืนกันไประหว่างศิลปินแต่ละท่านที่มีเอกลัษณ์เฉพาะตัวอันแตกต่างให้เป็นเสมือนเข้ากันได้อย่างดี ที่สำคัญปัญหาต่างๆ ความยากของการวาดภาพ ค่อยๆ ถูกทำให้หายไป ด้วยใจของพวกเรา ที่รักในพระองค์ท่าน ที่จะต้องทำให้หนังสือที่พระองค์ท่านได้มีพระราชดำรัสไว้ว่า “หนังสือเล่มนี้เป็นที่รัก” ยิ่งทำให้จิตใจของพวกเราไม่สามารถเป็นอื่นได้ นอกจากน้อมเกล้าถวายและมอบความรัก

ความตั้งใจไปกับหนังสือนี้ และจะใช้ความเพียรที่มีอยู่มุ่งสู่ความสำเร็จดั่งที่พระองค์ได้ทรงตั้งไว้ให้จงได้ “นี่เองที่ถือเป็นมงคลแห่งชีวิต” ภาพแห่งการงานนั้นยังเด่นชัดและตรึงใจมาโดยตลอด แม้จะผ่านมาแล้ว ๒๐ ปี ที่สำคัญ หนังสือเล่มนี้ได้ให้อะไรกับชีวิตมากมาย ได้บอกให้รู้ว่าคนเราหากจะพบความสำเร็จแล้ว ต้องมีความเพียรเป็นที่ตั้ง ผมเองได้ยึดเอามาปฏิบัติตลอดชีวิตนั้นเรื่อยมา ซึ่งมีแต่ความผาสุข เจริญรุ่งเรือง อย่างที่พระองค์เคยตรัสอวยพรให้กับเหล่าศิลปิน ในวันที่เสด็จวัดบวรนิเวศน์วิหาร คราวที่ทำพิธีรัชมังคลาภิเษก “เหรียญพระมหาชนก” และพระองค์ทรงมีพระราชปรารภว่า “ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม พลานามัยที่
สมบูรณ์”
ภาพโดย คุณกฤษณา กัลยกรสกุล และ อวยพร เรืองศรี ตามลำดับ
18. คุณกฤษณา กัลยกรสกุล
“พ่อคือแสงสว่างทีไม่เคยดับ พ่อคือกษัตริย์ที่ก้องโลก พ่อคือราชาเหนือราชา คือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”

19. อวยพร เรืองศรี
“ผมเติบโตมาในยุคสมัยรัชกาลที่ ๙ สมัยที่มีองค์ภูมิพลเป็นพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่เด็กจนโตผมเห็นพระองค์ท่านทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ ทรงสนพระทัยให้การดูแลทุกข์สุขของพสกนิกรชาวไทย โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย ซึ่งไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดในโลกเสมอเหมือน จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมปวงชนชาวไทยต่างรักพระองค์ท่าน แม้วันนี้พระองค์ท่านเสด็จสถิต ณ สรวงสวรรค์ เราคนไทยต่างรู้สึกตรงกัน พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ไม่เคยทิ้งประชาชนของพระองค์ไปไหนเลย และยังคงสถิตในดวงใจของปวงชนชาวไทยไปนิรันดร์”
ภาพโดย สมบัติ อินรัสพงศ์ และ สมโภชน์ ศิริวาลย์ ตามลำดับ
20. สมบัติ อินรัสพงศ์
“ในหลวงคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมเรียนศิลปะ ในสมัยเด็กๆ เรียนชั้นประถมผมวาดรูปในหลวงส่งครูในวิชาวาดเขียน ครูจึงคัดเลือกเป็นตัวแทนไปแข่งขันวาดรูป ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าเราต้องเรียนศิลปะ กว่า 60 ปีที่คนไทยเห็นพระองค์ท่านทรงงานหนัก เพื่อความผาสุกของลูกไทยทุกคนโดยไม่เลือกชนชั้นและศาสนา ผมโชคดีที่เกิดในรัชสมัยของท่าน ผมรักในหลวง”

21. สมโภชน์ ศิริวาลย์
“ผมมีความประทับใจท่านมากอย่างชัดที่สุดท่านได้เป็นแบบอย่างของความมีเมตตาต่อทุกคน ท่านเป็นนักพัฒนาและมีความสามารถในหลายๆ ด้าน ท่านมีความเพียรมานะอดทนต่อหน้าที่ ความมานะอดทนนี้เป็นสิ่งที่ผมยึดไว้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตมาตลอดครับ ความเพียรพยายามนั้นมีค่าต่อการดำเนินชีวิตมากครับ ผมรักในหลวงครับ...
ภาพโดย ชัชวาลย์ รักษา
22. ชัชวาลย์ รักษา
“กษัตริย์ที่คนไทยเรียกพ่อ กษัตริย์ที่ทรงเป็นแบบอย่างของความดีงามทุกด้าน ทั่วโลกสรรเสริญ เป็นบุญลูกแล้วที่ได้เกิดในแผ่นดินพ่อ ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป”
ภาพโดย สิปาง สวนแก้ว และ สุรศักดิ์ พุทธานุวัตร ตามลำดับ
23. สิปาง สวนแก้ว
“พระองค์ท่านเป็นทั้งตัวอย่างและแรงบัลดาลใจในการทำงาน ทุกครั้งที่วาดภาพพระองค์ท่านคล้ายได้รับพร สำหรับข้าพเจ้าแล้วพระองค์เปรียบเสมือนเทวดาผู้มาจากฟากฟ้าแสนไกล”

24. สุรศักดิ์ พุทธานุวัตร
“ผมรักท่านเพราะสิ่งที่ท่านทำให้ประชาชนธรรมดาอย่างพวกเรา ช่วยแก้ปัญหาช่วยทุกอย่างในทุกๆ อย่างของชีวิตเราในหลวงทรงเมตาช่วยเหลือเรามาตลอด ไม่ว่าจะฝนแล้งท่านก็ทำฝนให้ ดินไม่ดีท่านก็แก้ดินให้กับมาดี น้ำไม่มีท่านก็ทำที่เก็บน้ำ น้ำท่วมท่านก็แก้ปัญหาทำที่เก็บน้ำทำทางเดินน้ำ รถติดท่านก็สร้างสะพาน ปลูกฝิ่นท่านก็สร้างอาชีพอื่นที่ดีกว่าให้ น้ำเสียท่านก็สร้างเครื่องมือแก้น้ำเสีย ผมไม่สามารถเขียนสิ่งท่านช่วยประชาชนอย่างเราได้หมด เพราะสิ่งที่ท่านทำมาตลอด มันเยอะมากจริงๆ ผมรักในหลวงรัชกาลที่ 9 มากครับ”
ภาพโดย เทพพิทักษ์ โพธิ์นาแค
25. เทพพิทักษ์ โพธิ์นาแค
“ผมรักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9”
ภาพโดย ผศ.ธรรมศักดิ์ เอื้อรักสกุล
26. ผศ.ธรรมศักดิ์ เอื้อรักสกุล คณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต
“ผมได้แรงบันดาลใจจากพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่านที่ตรัสถึง ความเป็นศิลปิน หมายถึง ความสามารถตามธรรมชาติที่จะเห็นความงามและคิดถึงความงาม เมื่อเกิดความคิดแล้ว ก็ต้องอาศัยวิชาความรู้หรือเทคนิค เช่น วิชาช่าง เป็นต้น จึงจะแสดงออกมาเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม หรือศิลปกรรมในลักษณะอื่นๆ ได้

“ภาพนี้ได้วาดโดยใช้แนวคิดจากพระบรมราโชวาท คือถ่ายทอดความงามองค์ประกอบให้สมบูรณ์กว่าภาพถ่าย โดยใช้ค่าน้ำหนัก สีให้ลดทอนลง เพิ่มรายละเอียดของป่าไม้ธรรมชาติและบรรยากาศภาพให้สวยงามยิ่งขึ้น เพื่อเน้นอารมณ์โดยรวมของภาพให้เป็นเอกภาพ”
ภาพโดย พีระ โภคทวี
27. พีระ โภคทวี
“ชื่อภาพ “ในสายพระเนตร” เทคนิคระบายสีน้ำบนกระดาษ ขนาด 56x76 ซม. ปีที่วาด 2559
“ในการวาดภาพในหลวงแต่ละครั้ง แม้เราจะเป็นผู้ถ่ายทอดภาพวาดออกมา แต่จริงๆ แล้วเป็นเราเองที่รู้สึกเหมือนได้รับพลังและแรงบันดาลใจจากพระองค์ เพราะขณะที่วาดนั้นเราได้มองดูภาพของพระองค์ ทำให้เราได้ทบทวน และสำนึกถึงความรักและความเสียสละที่พระองค์ทรงมีให้แก่ประชาชนอย่างถึงที่สุด”
ภาพโดย บุญกว้าง นนท์เจริญ
28. บุญกว้าง นนท์เจริญ
ชื่อภาพ “แสงแห่งความหวัง”
“แนวคิดมาจาก ตลอดรัชกาลพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่เราเห็นอยู่เนืองนิตย์ คือความเอาใจใส่ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกร ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะอยู่ห่างไกลเพียงใดตราบใดที่พระองค์ยังทรงงาน ตราบนั้นแสงแห่งความหวังจะสาดทั่วแผ่นดินไทย”
ภาพโดย อนันต์ ประภาโส
29. อนันต์ ประภาโส
“จากวันนั้นฉันเด็กๆ ภาพในเมื่อครั้งอดีตพ่อไปทุกหนทุกแห่ง ฉันไม่เคยลืมเลือน พ่อเดินขึ้นเขาป่าใหญ่ พ่อเดินลุยโคลนสีดำแดดแรงหรือฝนกระหน่ำ พ่อไม่บ่นเลย จวบจนเมื่อฉันเติบใหญ่ ภาพเดิมยิ่งดูยิ่งใหญ่ พ่อยังทุ่มและเทใจ คิดเรื่องช่วยคนไทย พ่อคอยคิดริเริ่ม เกิดเป็นโครงการมากมาย ปรัชญาพ่อนี้ยิ่งใหญ่ พอเพียงก็พอ พ่อคอยถามคอยฟัง เมื่อลูกพลั้งทำความผิดคอยคิดคอยเตือน และเป็นดั่งแสงแห่งความหวัง พ่อเอาชนะสงคราม แห่งความหิวโหยและยากจนพ่อทนแบกทุกข์เอาไว้เอง
พ่อมีรักแท้ให้เปล่า ให้เรามีความอบอุ่นพ่อเป็นพลังเจือจุน เกื้อหนุนผืนแผ่นดินไทยจากวันนี้ ฉันจะอยู่ เพื่อเดินตามรอยเท้าไปพ่อคือแรงบันดาลใจ ให้เราพากเพียรพ่อเป็นแรงบันดาลใจ ให้เราทำดี”
ภาพโดย สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ, ศุภณัฏฐ์ เรืองรอง และ โอภาส ชมชื่น ตามลำดับ
30. สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ
“ชื่อภาพ “พระผู้ทรงงาน” พระผู้ทรงงาน พระเจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่ ที่ตั้งใจทำงานให้กับประชาชนโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จนได้รับการยกย่องเป็นกษัตริยที่ยิ่งใหญ่ เกรียงไกรในระดับโลก ในฐานะที่ข้าพเจ้าเกิดในยุคสมัยรัชกาลที่ 9 มีความภาคภูมิใจ และมีความสุขใจ และจะขอทำคุณงามความดีให้กับบ้านเมืองและประเทศชาติ อย่างสุดความสามารถ เพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน และเดินตามรอยพ่อที่เป็นแบบอย่างให้กับข้าพเจ้า”

31. ศุภณัฏฐ์ เรืองรอง
“พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในการทำความดีโดยปราศจากเงื่อนไข ผมรู้สึกซาบซึ้งในพระจริยวัตรของพระองค์ท่านและตั้งปณิธานว่าจะทำความดีตามรอยเท้า
พ่อตลอดไป”

32. โอภาส ชมชื่น
ชื่อภาพ “The King 9” เทคนิค Color Etching ขนาด 31.5 x 50 cm.
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในไทย ทรงมีแนวทางพระราชดำริในการอนุรักษ์ป่าไม้ น้ำ และดิน ให้ระบบนิเวศธำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ในภาพนี้แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ภูเขา ทะเล และสัตว์อนุรักษ์ของไทย”
ภาพโดย บุญเชิด เข็มเงิน
33. บุญเชิด เข็มเงิน
ชื่อภาพ “เบื้องหลังผู้ปิดทองหลังพระ” เทคนิค หมึกจีน ขนาด 30 x 20 cm.
“...การทำงานด้วยน้ำใจรักต้องหวังผลงานนั้นเป็นสำคัญ แม้จะไม่มีใครรู้
ใครเห็นก็ไม่น่าวิตก เพราะผลสำเร็จนั้นจะเป็นประจักษ์พยานที่มั่นคง...” (พระบรมราโชวาท รัชกาลที่ 9)
ภาพโดย สมรักษ์ มณีมัย และ ยุทธนา พงศ์ผาสุก ตามลำดับ
34. สมรักษ์ มณีมัย
ชื่อภาพ “May you forever be my King” charcoal on paper ขนาด 51 x 64 cm
“ขอแปรเปลี่ยนการสูญเสียและความเศร้าครั้งยิ่งใหญ่นี้ เป็นพลังในการสร้างสรรค์วิชาชีพที่ข้าพเจ้ารัก”

35. ยุทธนา พงศ์ผาสุก
“ผมมองพระบรมสาทิสลักษณ์พระองค์ท่าน ผมวาด ผมมีความสุข...ผมวาดพระบรมสาทิสลักษณ์องค์ท่านด้วยหัวใจ”
ภาพโดย กิตติ พลศักดิ์ขวา
36. กิตติ พลศักดิ์ขวา
“จากแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่สนพระทัยในความทุกข์สุขของชาวไทยทั่วประเทศโดยสละเวลาส่วนพระองค์และทุ่มเทพระวรกายในการดูแลราษฎรประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าเพื่อนำความสุขความร่มเย็นมายังพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

“ข้าพระพุทธเจ้า นายกิตติ พลศักดิ์ขวา ช่างเขียนภาพเหมือน จะน้อมนำคำสั่งสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นำมาประพฤติปฏิบัติและจะทำงานวาดภาพ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ เต็มกำลังความสามารถตลอดไปครับ”
ภาพโดย เทอดศักดิ์ ไชยกาล, สุรัชต์ สดแสงสุก และ สุวิทย์ ใจป้อม ตามลำดับ
37. เทอดศักดิ์ ไชยกาล
“สำหรับผมซึ่งเป็นช่างเขียนบ้านนอกอยู่ใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ท่านได้มีโอกาสเขียนภาพของพระองค์ท่านถือเป็นเกียรติซึ่งผมอยากถ่ายทอดความสง่างาม และความเมตตาของพระองค์ท่าน”

38. สุรัชต์ สดแสงสุก
ชื่อภาพ “The King in the childhood” เทคนิคสีน้ำบนกระดาษ ขนาด ๔๖x๖๑ เซนติเมตร ปีที่วาด ๕ ธันวาคม ๒๕๕๖
“ผมเริ่มวาดภาพพระองค์ท่านแบบตั้งใจและเริ่มเก็บข้อมูลภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่านตั้งแต่ผมเรียนจิตรกรรมสากล ปี ๑ ที่ โรงเรียนเพาะช่าง เมื่อปี ๒๕๓๒ โดยได้รับคำแนะนำเรื่องการสังเกตุภาพและข้อมูลของภาพ จากท่านอาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู อาจารย์ของผมเองครับ “ศาสตรเมธี ปัญญา เพ็ชรชู” โดยที่อาจารย์ของผมท่านก็วาดภาพในหลวงอยู่บ่อยๆ อยู่แล้ว (ศาสตรเมธี ปัญญา เพ็ชรชู เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๙) ผมจึงได้ศึกษามาจากท่านและได้วาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ตลอดมาทั้งในรูปแบบของการดรออิ้ง, สีน้ำมัน, สีอะคริลิค, สีพาสเทล และสีน้ำ จนสุดท้ายเลือกที่จะวาดด้วยสีน้ำเป็นหลัก จนเมื่อปี ๒๕๓๙ ผมได้แสดงเดี่ยวสีน้ำ ในชื่องาน “ภาพสีน้ำเฉลิมพระเกียรติ ร.๙’” เป็นการแสดงเดี่ยวสีน้ำจำนวน ๕๐ ภาพซึ่งขณะนั้นในหลวงท่านทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี จึงนับเป็นก้าวแรกของผมในการวาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ ๙ มาจวบจนปัจจุบัน

“โดยการเลือกพระบรมฉายาลักษณ์ต้นแบบ ผมจะเลือกภาพในขณะที่ท่านยังมีพระพลานามัยที่แข็งแรง ยังทรงงานช่วยพสกนิกรของท่านได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และผมจะเลือกที่จะไม่วาดภาพของพระองค์ท่านในขณะที่ประชวร เพราะผมไม่อยากให้ท่านประชวร อยากให้พระองค์ท่านแข็งแรงไปอีกนานๆ ถึงแม้ในวันนี้ ขณะนี้พระองค์ท่านจะไม่ได้อยู่กับพวกเราแล้ว ผมก็ยังจะวาดภาพพระองค์ท่านต่อไป จะรักและเทิดทูนพระองค์ท่านไว้เหนือหัวของจิตรกรคนนี้ตลอดไปครับ”

39. สุวิทย์ ใจป้อม
ชื่อภาพ “ดวงใจแห่งแผ่นดิน” เทคนิค ดิจิตอลเพนติ้ง ขนาด 60 x 80 cm. แรงบันดาลใจ
“ทุกครั้งที่เราเน็ตเหนื่อยจากการทำงานมาเราได้เห็นภาพนี้แล้ว เกิดความสุข เกิดกำลังใจไม่ทำให้เราเกิดการท้อถอย เพราะว่าพระองค์ท่านทำงานมากกว่าเราหลายร้อยพันเท่า พระองค์ยังไม่รู้สึกเน็ตเหนื่อยดูแลพสกนิกรของพระองค์ท่านทั้งประเทศ ฉะนั้น การเขียนภาพทุกครั้ง การเขียนภาพพระองค์ทุกภาพ ผมจึงไม่เกิดการย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ วาดแล้วเรามีความสุข และพระบรมราโชวาทที่พระองค์ได้ตรัสไว้เรานำไปใช้ได้จริงเห็นผลจริง และเกิดประโยชน์ได้จริงจนถึงทุกวันนี้ผมใช้ดำเนินชีวิตมาโดยตลอด แม้พระองค์ขึ้นอยู่บนสรวงสวรรค์แล้ว การวาดภาพในหลวงของผมไม่ได้ลดละและท้อถอยผมจะวาดภาพพระองค์ท่านต่อไปจนกว่าชีวิตผมจะหาไม่”
ภาพโดย นายอำนาจ ทิพยจันทร์
40. นายอำนาจ ทิพยจันทร์
“หนึ่งทุ่มตรง...คืนวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 ...วันที่ชาวไทยทั้งปวงไม่ต้องการ แม้แต่จะนึกคิด และไม่ปรารถนาแม้แต่จะได้ยิน...เมื่อสำนักพระราชวังได้แถลงอย่างเป็นทางการว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งถือว่าเป็นการสูญเสีย และวิปโยคที่สุดในชีวิตของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ

“ข้าพเจ้ามีความรู้สึกเสียใจเป็นอย่างที่สุดในชีวิต พระองค์ท่านทรงเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานให้ข้าพเจ้าหลายๆ อย่าง ข้าพเจ้าในฐานะจิตรกรที่ทำงานด้านศิลปะ วาดพระบรมสาทิสลักษณ์พระองค์ท่านมาอย่างต่อเนื่อง นับได้ตั้งแต่เริ่มแรกที่เริ่มเรียนศิลปะ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ทุกๆ ครั้งที่วาดพระบรมสาทิสลักษณ์พระองค์ท่าน ข้าพเจ้าจะเห็นพระพักตร์ท่านที่มีแต่ความเมตตา กรุณา รู้สึกถึงความอบอุ่นที่ได้รับถ่ายทอดจากพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่าน รวมทั้งแนวปฏิบัติและคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน ข้าพเจ้าได้น้อมนำมาปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน กินใช้อย่างพอเพียง ปฎิบัติตนเป็นคนดี อย่างที่พระองค์ทรงสั่งสอน ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังคงทำงานศิลปะ ข้าพเจ้าก็จะคงสร้างผลงานที่ถ่ายทอดพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านตลอดไป ตราบจนชีวิตข้าพเจ้าจะหาไม่”
ภาพโดย ชมพูนุท ศรีพินิจ, วรวรรธน์ ศาลาลอย และ ผุสดี ตาลพุดซา ตามลำดับ
41. ชมพูนุท ศรีพินิจ
“พระมหากษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยพระเมตตาหาที่สุดมิได้ พระอัจฉริยะหลายด้าน ทรงทศพิธราชธรรม เป็นบุญอย่างยิ่งที่ได้เกิดมาในรัชสมัยของพระองค์”

42. วรวรรธน์ ศาลาลอย
“มีความภาคภูมิใจทุกครั้ง ที่ได้วาดภาพพระองค์ท่าน และได้มีส่วนถ่ายทอดความรู้สึกศรัทธา ร้ก และเทิดทูนเหนือสิ่งอื่นใดออกมาเป็นงานศิลปะเท่าที่จิตรกร
คนหนึ่งพึงกระทำได้ ภาพวาดในหลวง “ทรงโบกพระหัตถ์” แทนความหมายจนยากเกินคำบรรยาย และเป็นภาพที่ชอบที่สุดครับ”

43. ผุสดี ตาลพุดซา
“ด้วยทรงเป็นประมุขของประเทศที่คนไทยรัก ท่านเป็นกษัตริย์ที่ทรงคุณค่าหาที่สุดมิได้ เป็นบุคคลที่อัจฉริยะรอบรู้และเก่งมากในศาสตร์ทุกๆ ด้าน คนไทยทุกคนรักท่านเพราะท่านทรงงานเพื่อคนไทยยากจะหาผู้นำที่ไหนได้เสมอเหมือนท่าน ข้าพเจ้าประทับใจท่านที่ท่านทรงเป็นอัครศิลปิน ไม่เคยกล้าที่จะวาดรูปท่านมานานแล้ว แต่พอมาในวันที่ท่านสวรรคตไปแล้วคนไทยต่างเศร้าเสียใจที่ไม่มีพระองค์ท่านอีกแล้ว เมื่อก่อนไม่เคยกล้าวาดรูปท่าน เพราะกลัววาดออกมาไม่งดงาม ในยามนั้น ข้าพเจ้าก็มีความรู้สึกอาลัยไม่แตกต่างจากคนไทยโดยทั่วไป จึงใช้ชั่วโมงนี้ในการวาดภาพเพื่อคลายความเศร้าใจ และระลึกถึงคุณงามความดีของท่านที่ทรงทำไว้ให้พวกเราคนไทยมหาศาล ตอนนี้วาดท่านได้แม้จะไม่สวยงามแต่ท่านก็งดงามที่สุดในใจข้าพเจ้าตราบนิจนิรันดร์”
ภาพโดย นาวี เรืองระเบียบ และ ธีธัช ธนโชคทวีพร ตามลำดับ
44. นาวี เรืองระเบียบ
“ข้าพเจ้าสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลบเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี ซึ่งเป็นพระเจ้าอยู่หัวที่ปวงชนชาวไทย
รักมากที่สุด พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งด้านความเพียร และอัฉริยะภาพในทุกๆ ด้าน พระองค์ทรงงานหนักเพื่อแผ่นดินมาตลอดทั้งชีวิตเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร
ข้าพเจ้ามีความสุขทุกครั้งที่ได้วาดภาพของพระองค์ท่านนานมากว่า 30 ปี และจะวาดต่อไปจวบจนชีวิตจะหาไม่เพื่อให้ลูกหลานของข้าพเจ้าได้รู้ซึ้งถึงคุณงานความดีและ
คำสอนที่พระองค์ท่านที่มีต่อปวงชนชาวไทย”

45. ธีธัช ธนโชคทวีพร
“แรงบันดาลใจ เมื่อสามปีที่แล้วข้าพเจ้าเขียนรูปนี้ขึ้นด้วยความรู้สึกที่งดงาม ปิติสุข อบอุ่นร่มเย็น และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป”
ภาพโดย สุบิน เมืองจันทร์ และ สุรักษ์ เวียงแสง ตามลำดับ
46. สุบิน เมืองจันทร์
ชื่อภาพ “พ่อหลวง” เทคนิคสีน้ำ
“หยดหยาดเหงื่อของพ่อหลวงที่หลั่งริน เป็นดั่งน้ำทิพย์ที่ช่วยชะโลมสร้างความชุ่มชื่นให้กับผืนแผ่นดินไทย สร้างความสุข ความปรองดองเป็นน้ำพระทัยที่หล่อเลี้ยงให้กับปวงประชาราฏร์เพื่อเป็นแนวทางในการเดินตามทางแห่งความพอเพียง”

47. สุรักษ์ เวียงแสง
“โดยปกติ ข้าพเจ้าเขียนภาพบุคคลน้อยมาก ภาพในหลวงเป็นภาพที่ข้าพเจ้าจะตั้งใจเขียนมาก เขียนด้วยหัวใจ ความรู้สึก ภาพในหลวงจึงออกมาให้ข้าพเจ้าภาคภูมิใจเสมอ ทุกๆ ครั้งที่ใช้เส้นดินสอร่าง ค่อยๆ ใช้สีและน้ำระบายในรูปขององค์ท่าน เราจะนึกเสมอด้วยความตั้งใจ ภาพทุกภาพของท่านสำคัญเสมอต้องทุ่มเทดีที่สุด ดังนั้น ผมจึงรักและหวงแหนภาพเหล่านี้ที่สุดด้วยความอิ่มเอมในหัวใจ”
ภาพโดย สาโรจน์ ตั้งตฤษณกุล
48. สาโรจน์ ตั้งตฤษณกุล
“ถึงผมจะเกิดมาไม่ครบ 32 แต่ก็มีความตั้งใจและพยายามอย่างสุดความสาารถเพื่อให้ภาพเขียนรูปในหลวงออกมาาสวยที่สุดในชีวิตการเขียนภาพของผม”
ภาพโดย ดินหิน รักพงษ์อโศก
49. ดินหิน รักพงษ์อโศก
ชื่อภาพ “ในหลวง” ขนาดภาพ : 76 x 56 cm. เทคนิค Charcoal on paper
“แรงบันดาลใจในการวาดภาพ ข้าพเจ้าเขียนภาพในหลวงด้วยความรัก
ความศรัทธายิ่ง ต้องการให้คนไทยได้เห็นพระองค์ในภาพเขียนให้มากที่สุด”
ภาพโดย โอชา ปลื้มประสงค์
50. โอชา ปลื้มประสงค์
“ทำไมถึงรักในหลวง” ประโยคคำถามสั้นๆ แต่ไม่สามารถบอกเล่าความรู้สึกได้ทั้งหมดไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือตัวอักษร แต่ทุกคนก็มีคำตอบเรื่องนี้อยู่ในใจอยู่แล้ว ความรัก ความจงรักภักดีที่มีต่อในหลวงในความรู้สึกของผมคือ ความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวงมีต่อคนไทยทุกๆ คน ในตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่ผ่านมา พระองค์ทรงงานอย่างหนักเพื่อให้คนไทยทุกๆ คนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยของพระองค์เอง เมื่อรักในหลวงก็ต้องไม่ทำให้พระองค์ไม่
สบายใจ และสิ่งหนึ่งที่ทำให้พระองค์สบายใจและไม่ยากเย็นอะไรเลย คือ “การเป็นคนดี”
ภาพโดย อนุสรณ์ ศิริปิ่น
51. อนุสรณ์ ศิริปิ่น
ชื่อภาพ “ในหลวงในความทรงจำ” เทคนิค สีน้ำบนผ้าใบ Watercolor on Canvas ขนาด : 30 x 40 ซม.
“ผมเขียนรูปนี้มาจากความรู้สึกซาบซึ้งในพระบารมีที่เปี่ยมล้นไปด้วยความเมตตา เมื่อผมมองภาพของพระองค์ท่านมันเหมือนมีแรงบันดาลใจในทุกๆครั้งที่จับพู่กัน จำนวนมากมายของรอยขีดที่อยู่บนภาพนี้ ยังไม่สามารถเทียบเท่ากับรอยฝ่าพระบาทที่ทรงดำเนินไปทั่วผืนแผ่นดินไทย”
ภาพโดย วีระวุฒิ ภูมิดง
52. วีระวุฒิ ภูมิดง
“การที่กระผมเลือกที่จะวาดภาพนี้ในความรู้สึกคิดว่า ภาพที่วาดนี้เเสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงห่วงใย ทุกข์สุขของราษฎรเป็นอย่างมาก ในขณะที่พระองค์
ท่านทรงประทับรักษาพระวรกายที่โรงพยาบาลศิริราช พระองค์ยังทรงงานด้วยความห่วงใยที่พระองค์ท่านทรงมีต่อปวงชนชาวไทย ทุกครั้งที่พระองค์ทรงงานนั้น
จะมีกล้องถ่ายรูปส่วนพระองค์ติดตัวอยู่ด้วย นั้นคือสัญลักษณ์ว่าพระองค์กำลังทรงงานเพื่อประชาชน กระผมรู้สึกภูมิใจเเละประทับใจ ที่ได้เกิดบนผืนเเผ่นดินไทย
ที่มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิศราชธรรม”
ภาพโดย ชัชวาล รอดคลองตัน
53. ชัชวาล รอดคลองตัน
“ผมได้มีโอกาสวาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงทุกปีด้วยความรักความภักดีเนื่องจากได้ร่วมกับพี่น้องศิลปินจัดงานเฉลิมพระเกิยรติต่อเนื่องมาหลายปีทุกๆ ปีด้วยความเต็มใจและภาพนี้ผมก็ตั้งใจเขียนขึ้นจนสำเร็จมาตั้งแต่ต้นปี 2559ตั้งใจที่จะสร้างงานให้สมพระเกียรติมากขึ้นๆทุกปีและยังคงจะทำต่อไปตามหน้าที่ที่สร้างสรรค์ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ด้วยคำสอนและแบบอย่างที่พระองค์ท่านได้เสียสละสร้างทำใว้ช่างยิ่งใหญ่ก็เพื่อความสุขสงบของเราประชาชนของพระองค์ท่านโดยแท้ครับ”
ภาพโดย ชิงชัย อุดมเจริญกิจ
54. ชิงชัย อุดมเจริญกิจ
ชื่อภาพ “รัชกาลที่ 9” เทคนิค สีอะครายลิค ขนาด 100x100ซม.
“สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
ข้าพระพุทธเจ้า ครอบครัวอุดมเจริญกิจ”
_______________________________________________

เรื่อง : อรวรรณ เหม่นแหลม

กำลังโหลดความคิดเห็น