xs
xsm
sm
md
lg

เดินตามรอยพ่อ...ที่ “เพาะช่าง” ภาพวาดทรงพลัง ที่เขียนด้วยอาลัยรัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักศึกษาวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์ ร่วมกันวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามแนวคิด “เดินตามรอยพ่อ” นำมาติดแสดงหน้ามหาวิทยาลัย และกระทรวงการต่างประเทศติดต่อขอนำไปจัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 28 พ.ย. - 2 ธ.ค. นี้ หลังจากนั้นทางยูเอ็นก็จะขอซื้อภาพไว้สองภาพติดไว้ที่นั่นเป็นการถาวร


นายกีรติ เกตุคำ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาจิตรกรรม มหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์ เล่าให้ฟังว่า “ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษา วาดด้วยสีน้ำมันโทนสีซีเปีย บนแผ่นไม้อัดขนาดความกว้างและสูง 120 เซนติเมตรนั้น สำหรับสีที่ใช้ ถ้าเป็นที่อื่นเขาจะเป็นโทนสีดำ ส่วนของเพาะช่างเป็นโทนสีซีเปียสีน้ำตาล วิธีแบบนี้เป็นวิธีเขียนเชิงช่างซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะของเพาะช่าง จึงเลือกที่จะเขียนแบบนี้เพื่อเป็นการบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของเพาะช่างด้วย ส่วนรูปที่เขียนก็จะมีรูปที่ในหลวงเคยเสด็จมาที่เพาะช่าง เพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์ท่านที่เสด็จมาที่เพาะช่างจะมีประมาณ 9 รูป นอกนั้นก็จะเป็นภาพพระราชกรณียกิจโดยทั่วไป”

ถามถึงความรู้สึกที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 นายกีรติ เกตุคำ กล่าวว่า
“รู้สึกตกใจตอนได้ยินข่าวครั้งแรก และรู้สึกว่าพระองค์ท่านทรงทำงานเพื่อประเทศนี้มามากพอแล้ว สิ่งที่เราอยากทำก็คืออยากตอบแทนพระองค์ท่านด้วยการทำคุณประโยชน์คืนให้กับประเทศชาติบ้าง จากสายการเรียนที่เราเรียนมา ถึงแม้จะไม่มากเท่าไร แต่เชื่อว่าคุณงามความดีที่เราตั้งใจทำ คิดดีทำดี เพื่อตอบแทนคุณประเทศโดยการมีพระองค์เป็นแบบอย่าง เชื่อว่าทุกคนก็จะได้เห็นสิ่งที่เราทำ รู้สึกภูมิใจในสิ่งเล็กๆ ที่เพาะช่างได้ทำ”


นางสาวสริตา แสงจันทร์ทิพย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาศิลปะภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์ เล่าให้ฟังว่า “สิ่งที่ทางสาขาวิชาจิตรกรรมสากล ได้ทำผลงานชิ้นนี้ ในฐานะที่เรียนในภาควิชาวิจิตรศิลป์ด้วยกัน รู้สึกเป็นเกียรติที่ทางวิทยาลัยได้ทำกิจกรรมดีๆ เพื่อรำลึกและน้อมถวายความอาลัยให้กับพระองค์ท่าน ผลงานที่ทางจิตกรรมได้ทำ ทำให้รู้สึกร่วมไปกับบรรยากาศในการทำงานนี้ด้วย ได้เห็นตั้งแต่การร่างงาน การจัดตั้งผลงาน และการลงมือทำกัยอย่างตั้งใจ ร่วมใจกันเพ้นท์ภาพออกมาได้อย่างสวยงาม เป็นการร่วมไว้อาลัยซึ่งถือเป็นตัวแทนของทางวิทยาลัยด้วยค่ะ”

สำหรับทางด้านสาขาภาพพิมพ์ที่นางสาวสริตาได้เรียน ก็มีกิจกรรมการออกแบบลายสกรีนเสื้อ สำหรับประชาชนผู้ที่สนใจต้องการนำเสื้อดำมาสกรีนได้ฟรีในวันแรกที่เพาะช่างอีกด้วย 2 แบบ และก็จะเดินสายสกรีนเสื้อฟรีเพื่อผู้ที่สนใจได้นำไปใส่ในช่วงเวลาการไว้อาลัย ซึ่งต่อไปตั้งใจว่าจะประกาศให้ประชาชนนำเสื้อดำมาสกรีนได้อีกเมื่อไร ณ จุดไหนบ้าง ต้องคอยฟังประกาศของทางวิทยาลัยต่อไป สามารถติดตามได้ทางเพจของเฟสบุ๊ค “เรารักเพาะช่าง” จะประกาศให้ทราบว่าจะมีสกรีนเสื้ออีกที่ไหนเมื่อไรบ้าง



นายพีระพล จันทร์เทพ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาจิตรกรรม มหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อแนวความคิดนี้ได้เปิดเผยให้ฟังว่า “โรงเรียนเพาะช่างก่อกำเนิดมาได้ด้วยกระแสรับสั่งของในหลวงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อจากนั้นก็ให้ในหลวงรัชการที่ 6 คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้สนองงานและริเริ่มในการสร้างโรงเรียนเพาะช่าง เพื่อให้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการช่างเป็นการทำให้ประเทศไทยพัฒนาไปได้ด้วยดี หลังจากนั้นรัชกาลที่ 6 ได้มาเปิดโรงเรียน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกกรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย มาทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการโรงเรียนเพาะช่างจนกระทั่งสิ้นพระชนม์

“ท่านเปรียบได้กับเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนเรา และหลังจากนั้นในหลวงรัชการที่ 7 ก็เสด็จมาเยี่ยมบ่อยครั้ง จนถึงในหลวงรัชกาลปัจจุบัน คือในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ก็ทรงเสด็จมาเยี่ยมบ่อยๆ นับเป็นคุณูปการของโรงเรียนเพราะช่างเป็นอย่างมากที่พระองค์ทรงเด็จมาโรงเรียนของเราบ่อยๆ เสด็จฯ มาเปิดงานศิลปกรรม มาเยี่ยมชมการศึกษาของเด็กเพาะช่าง รวมถึงอาจารย์ที่นี่ก็เคยสนองงานของพระองค์ท่านด้วย เช่น “อาจารย์จำรัส เกียรติก้อง” สนองงานด้านทางวาดภาพงานจิตรกรรมของในหลวง และหลายสิ่งที่มีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับพระองค์ท่านมีอีกมากมายที่พระองค์ได้ทรงทำให้กับโรงเรียนเพาะช่าง จนไม่อาจจะบรรยายได้หมดถึงพระมหากรุณาธิคุณและความรู้สึกที่มี


“ขั้นตอนการทำงาน เมื่อทราบข่าวของพระองค์ท่าน พวกเราก็บอกอาจารย์อุส่าห์ ไวยศรีแสง และอาจารย์สำราญ มณีรัตน์ ว่าเราจะทำ แล้วก็ทำเลยทันที โดยใช้ทุนของคณะที่มีอยู่ ใช้เวลาวาดทั้งหมด 16 ภาพ ภายใน 2 สัปดาห์ จากนักศึกษาสาขากิจกรรมทุกชั้นปีร่วมกันทำ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นประเพณีของเพาะช่างในการเขียนรูปในหลวง ทุกปีก็จะวาดรูปพระองค์และพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ทุกๆ พระองค์ติดไว้ที่หน้าวิทยาลัยในช่วงวาระสำคัญต่างๆ อย่างช่วงนี้ต้องเขียน ทั้งที่ไม่อยากให้มีในวาระเช่นนี้เลย และถึงแม้จะไม่มีในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้ว ชาวเพาะช่างก็จะเขียนภาพพระองค์ต่อไป”

นอกจากภาพดังกล่าวแล้วยังมีการจัดแสดงภาพวาดพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในพระราชอิริยาบถต่างๆ รวมถึงข้อความแสดงความอาลัยและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ บนแผ่นไม้อัดขนาดความกว้างและสูง 17 เซนติเมตร กว่า 1 พันภาพ ถูกนำมาจัดแสดงบริเวณกำแพงด้านหน้าวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ โดยภาพทั้งหมดมีทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม หัตถกรรม และงานโลหะซึ่งเป็นผลงานของกลุ่มนักศึกษา อาจารย์ รวมถึงประชาชนที่ร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจที่มีต่อพระองค์



เรื่อง / ภาพ : อรวรรณ เหม่นแหลม

กำลังโหลดความคิดเห็น