งานออกพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง เป็นวัฒนธรรมในรูปสถาปัตยกรรมขั้นสูงสุดที่สืบเนื่องมาแต่โบราณกาล แสดงออกถึงความเป็นชาติที่มีศิลปะสูงส่ง ทั้งยังแสดงถึงความกตัญญูรู้คุณต่อผู้มีพระคุณ อันเป็นสิ่งที่ปลูกฝังอยู่ในวัฒนธรรมไทยอย่างมั่นคง
งานสร้างพระเมรุมาศขึ้นในแต่ละครั้ง ได้เปิดโอกาสให้สถาปนิกสร้างสรรค์ศิลปะขึ้นตามความคิด จินตนาการ และฝีมือ เสมือนเป็นการ “สอบ” งานศิลปกรรมของแต่ละยุคสมัย
กล่าวกันว่า ผู้ที่จะสร้างสรรค์ออกแบบพระเมรุมาศได้ จะต้องเป็นผู้รอบรู้เจนจบในงานศิลปกรรมของชาติเป็นอย่างดี
งานออกพระเมรุมาศ เป็นงานราชพิธีซึ่งนานๆจะมีสักครั้ง และขณะนี้เราก็กำลังจะมีการ “สอบ” งานศิลปกรรมของกรุงรัตนโกสินทร์กันอีกครั้ง
พระเมรุมาศ มาจากคติความเชื่อในเรื่องจักรวาลและเทพเจ้าในสรวงสวรรค์ ซึ่งไทยได้รับถ่ายทอดมาจากศาสนาพราหมณ์และฮินดูตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ดังปรากฏอยู่ในหนังสือ “ไตรภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” ที่พระมหาธรรมราชา ที่ ๑ หรือพญาลิไท กษัตริย์พระองค์ที่ ๗ ของกรุงสุโขทัย ทรงนิพนธ์ไว้เมื่อราว พ.ศ.๑๘๘๘ พรรณาไว้ว่า จักรวาลอันเป็นที่ตั้งของภพภูมิทั้ง ๓ มี กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ และศูนย์กลางของจักวาลก็คือ เขาพระสุเมรุ ซึ่งบนยอดเขานี้ที่ล้อมรอบด้วยป่าหิมพานต์ เป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่สถิตย์ของพระอินทร์และเหล่าทวยเทพ
รอบเขาพระสุเมรุยังรายล้อมด้วยภูเขาย่อมๆ อีก ๗ ลูก หรือ สัตตบริภัณฑ์ ได้แก่ ยุคนธร อิสินทร กรวิก สุตทัศนะ เนมินธร วินตกะ และอัสกัณ
นอกจากนี้ยังทวีปใหญ่ ๔ ทวีปล้อมรอบเขาพระสุเมรุอยู่ คือ อุตตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศเหนือ ชมพูทวีป อยู่ทางด้านใต้ บุรพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออก และอมรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตก และยังมีทวีปเล็กๆ อยู่ระหว่างทวีปใหญ่อีก ๔ ทวีป รวมเป็น ๘ ทวีป
ล้อมรอบภูเขาและทวีปเหล่านี้ ก็คือ สีทันดรสมุทร
ในสมัยสุโขทัย โดยเฉพาะในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช การถวายพระเพลิงกษัตริย์ในยุคนั้น พระศพยังบรรจุอยู่ในพระลอง (หีบ) เมื่อถวายพระเพลิงแล้วจึงนำพระบรมอัฐิไปบรรจุในพระสถูปตามคติทางพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับสามัญชนทั่วไป
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ขอมซึ่งมีอิทธิพลปกครองย่านนี้มาก่อน ได้ตกอยู่ใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยา กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาจึงนำธรรมเนียมแบบอย่างขอมมาใช้ เพื่อแผ่พระบรมเดชานุภาพปกครองขอม การพระเมรุจึงเป็นเครื่องประกอบพระราชอำนาจและพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่นั้นมา รับคติความเชื่อแบบขอมว่า พระมหากษัตริย์เป็นพระนารายณ์หรือพระราม แบ่งภาคอวตารลงมาคุ้มครองอาณาประชาราษฎร์ให้อยู่เย็นเป็นสุข เมื่อสิ้นกาลกำหนด พระองค์ก็ต้องสวรรคต คือเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์บนยอดเขาพระสุเมรุ
วัฒนธรรมไทยเราปลูกฝังให้มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณอย่างมั่นคง อาณาประชาราษฎร์ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ที่มีต่อชาติบ้านเมือง จึงสร้างพระเมรุขึ้นกลางพระนคร จินตนาการให้ยิ่งใหญ่เหมือนเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล อันเป็นภพภูมิสวรรค์ที่มนุษย์ไม่อาจไปถึง ประหนึ่งว่าได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพบนเขาพระสุเมรุ ส่งพระวิญญาณกลับสู่สรวงสวรรค์
ด้วยแรงใจในความสำนึกต่อพระมหากรุณาธิคุณ ประกอบกับเป็นชาติที่มีมรดกวัฒนธรรมทางศิลปะที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง การก่อสร้างพระเมรุมาศแม้จะเป็นสถาปัตยกรรมเฉพาะกิจ หรือสถาปัตยกรรมชั่วคราว แต่ช่างฝีมือไทยก็ใช้จินตนาการสร้างงานสถาปัตยกรรมตามความเชื่อในเรื่องไตรภูมิ ให้เป็นงานวิจิตรศิลป์ที่เลิศเลอและยิ่งใหญ่ เพื่อเทิดพระเกียรติของพระมหากษัตริยาธิราช สร้างพระเมรุมาศให้เทียบเทียมเขาพระสุเมรุสืบต่อมาทุกยุคสมัย
งานพระเมรุมาศในยุคต้นของกรุงศรีอยุธยาไม่มีการบันทึกไว้ งานพระเมรุมาศครั้งแรกที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารก็คือ พระเมรุมาศที่สมเด็จพระเอกาทศรถโปรดให้สร้างถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่เรียกว่า “พระสุเมรุมาศ” ซึ่งพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ได้กล่าวไว้ว่า
“...แล้วพระบาทสมเด็จพระเอกาทศรุทอิศวรบรมนาถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว บำเพ็ญพระราชกุศลแล้ว ก็ตรัสให้แต่งการซึ่งจะถวายพระเพลิงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสร็จสรรพประดับด้วยเครื่องรจนาลังการทั้งหลาย หมายเป็นอาทิคือพระสุเมรุมาศ สูงเส้น ๑๑ วา ศอกคืบ...”
๑ เส้น ๑๑ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ก็คือ ๖๒ เมตร ๗๕ เซนติเมตร สูงเกือบเท่าพระปรางค์วัดอรุณฯ ซึ่งสูง ๖๗ เมตร
พงศาวดารฉบับเดียวกันได้กล่าวถึงพระเมรุมาศที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าปราสาททอง พระราชบิดา ว่า
“...สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบำเพ็ญพระราชกุศลแล้วตรัสให้แต่งการซึ่งจะถวายพระเพลิงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสร็จสรรพประดับเครื่องรจนาลังการทั้งหลาย หมายเป็นอาทิคือ พระเมรุมาศสูงสองเส้นสิบเอ็ดวาศอกคืบ...”
๒ เส้น ๑๑ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ก็คือ ๑๐๒ เมตร ๗๕ เซนติเมตร สูงเท่าครึ่งของพระปรางค์วัดอรุณฯ และสูงเกือบเท่าพระปฐมเจดีย์ซึ่งสูง ๑๐๗ เมตร
พระเมรุมาศที่ทำสถิติสูงที่สุดจนถึงปัจจุบัน ก็คือพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งสมเด็จพระเพทราชา ผู้ชิงอำนาจขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงประชวรหนัก ดำรัสให้สร้าง ซึ่งพงศาวดารฉบับเดียวกันกล่าวว่า
“...สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อได้ปราบดาภิเษก พระชนม์ได้ ๕๑ พรรษา แล้วสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีดำรัสสั่งเจ้าพนักงาน ให้แต่งการพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า พระเมรุมาศใหญ่สูง ๓ เส้น...”
๓ เส้น ก็คือ ๑๒๐ เมตร
น่ายกย่องช่างไทยในสมัยนั้น ที่ก่อสร้างอาคารไม้ได้สูงถึงขนาดนี้ ไม่แน่ใจว่าวิทยาการสมัยนี้ยังทำได้หรือเปล่า
พระเมรุมาศที่สูงขึ้นไปเสียดฟ้านี้ ความจริงก็เป็นเพียงอาคารครอบพระเมรุทองที่ตั้งพระบรมศพไว้ภายในนั่นเอง
งานพระเมรุมาศในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพงศาวดารได้บันทึกเกี่ยวกับการก่อสร้างและตกแต่งพระเมรุมาศมณฑล ให้ความรู้ในเชิงศิลปสถาปัตยกรรมไทยไว้อย่างเพริดพริ้ง ถ่ายทอดคติความเชื่อในเรื่องพระเมรุมาศออกมาเป็นรูปธรรมได้อย่างสวยงาม ก็คือพระเมรุมาศในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งทรงจัดงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระราชบิดา โดยโปรดฯให้ขุนสุเมรุทิพราช เป็นนายช่างอำนวยการก่อสร้างพระเมรุมาศ
รับสั่งให้สร้างพระเมรุใหญ่ปิดทองประดับกระจกเป็นลวดลายต่างๆ มีเพดานสามชั้นลดหลั่นลงมา พระเมรุใหญ่มีความสูงถึงยอด ๔๕ วา ฝาเป็นแผงหุ้มผ้าปิดกระดาษปูพื้นแดง เขียนเป็นชั้นนาค ชั้นครุฑ ชั้นอสูร ชั้นเทวดา ชั้นพระอินทร์ และชั้นพระพรหม ตามอย่างลักษณะของเขาพระสุเมรุ
ฝาด้านในเขียนเป็นภาพดอกสุมณฑาทองและดอกสุมณฑาเงินสลับกัน หลังคาหรือเครื่องพระเมรุเป็นหลังคาชั้นบัณแถลง และมีมุขซ้อนกัน ๑๑ ชั้น เครื่องบนนี้เป็นไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก
พระเมรุมาศหรือพระเมรุใหญ่มีประตูทั้ง ๔ ทิศ ประตูนี้ปิดทองทึบจนถึงเชิงเสา ตั้งรูปกินนรและรูปอสูรทั้ง ๔ ประตู ตรงกลางพระเมรุมาศด้านในก่อเป็นแท่นเชิงตะกอนซึ่งมีเสาปิดทองประดับกระจกเป็นที่ตั้งพระบรมโกศ รอบๆพระเมรุมาศมีเมรุทิศ ๔ เมรุ เมรุแทรก ๔ เมรุ รวมเป็น ๘ เมรุ ทั้งเมรุทิศและเมรุแทรกปิดทองประดับกระจกเป็นลวดลายประดับต่างๆ แล้วตั้งรูปเทวา รูปวิทยาธร รูปคนธรรพ์ และรูปสัตว์หิมพานต์รอบพระเมรุเป็นชั้นลดหลั่นกัน
สัตว์หิมพานต์ตั้งรอบพระเมรุมาศนี้ มี ครุฑ กินนร คชสีห์ ราชสีห์ เหม หงส์ นรสิงห์ สิงโต มังกร เหรา นาคา ทักกะทอ ช้าง ม้า และเลียงผา
ถัดจากรูปสัตว์หิมพานต์ออกมากั้นด้วยราชวัติโดยรอบสามชั้น ราชวัติปิดทอง ปิดนาค และปิดเงิน แล้วตีเชือกเป็นทางเดินที่สำหรับเชิญพระบรมศพ ริมทางตั้งต้นไม้กระถาง ประดับด้วยฉัตรและธง
เป็นการบันทึกที่ทำให้คนรุ่นหลังเป็นร้อยๆปีต่อมาได้เห็นภาพพระเมรุมาศในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้ชัดพอสมควร
งานถวายพระเพลิงพระบรมศพของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาที่นับว่ากร่อยที่สุด ก็คืองานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ หรือพระเจ้าเอกทัศน์
เมื่อพระเจ้าตากสินกู้กรุงศรีอยุธยาคืนได้ ก็ทรงทราบว่าพระบรมศพพระเจ้าเอกทัศน์ถูกสุกี้พระนายกองนำไปฝังไว้ที่โคกพระเมรุ จึงรับสั่งให้ขุดขึ้นมาบรรจุในพระโกศที่ทำขึ้นโดยสังเขป ตั้งเครื่องทำพระเมรุหุ้มด้วยผ้าขาว นิมนต์พระสงฆ์เท่าที่พอหาได้มาทำพิธี ถวายพระเพลิงตามราชประเพณีเท่าที่พอจะทำได้ในยามบ้านแตกสาแหรกขาด
ในสมัยกรุงธนบุรี ไม่ปรากฏว่ามีงานออกพระเมรุเลย พระศพชั้นสูงก็มีแต่กรมพระเทพามาตย์ พระราชชนนี ซึ่งสิ้นพระชนม์ขณะที่สมเด็จพระเจ้าตากสินต้องเสด็จไปราชการสงคราม เมื่อเสร็จแล้วจึงเสด็จกลับมาทำพระเมรุพระราชทานเพลิงพระอังคาร ซึ่งพงศาวดารบันทึกไว้ว่า
“ครั้นถึง ณ วันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๕ ค่ำ ทรงพระกรุณาให้เชิญพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ ลงเรือบัลลังก์ มีเรือแห่เป็นกระบวนไปแต่ตำหนักแพ แห่เข้าไป ณ วัดบางยี่เรือใต้ แล้วเชิญพระโกศขึ้นสู่พระเมรุ นิมนต์พระสงฆ์สดับปกรณ์หมื่นหนึ่ง ทรงถวายไทยทานเป็นอันมาก ครบสามวันแล้ว เชิญพระโกศลงเรือแห่กลับเข้าพระราชวัง”
ในสมัยรัตนโกสินทร์ ก็ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีออกพระเมรุเช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยาตลอดมา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระกระแสพระราชดำรัสสั่งถึงการพระบรมศพของพระองค์ไว้ในพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งว่า
“แต่ก่อนมา ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง ก็ต้องปลูกเมรุใหญ่ ซึ่งคนไม่เคยเห็นแล้วจะนึกเดาไม่ถูกว่าโตใหญ่เพียงไร เปลืองทั้งแรงคน และเปลืองทั้งพระราชทรัพย์ ถ้าจะทำในเวลานี้ก็ดูไม่สมกับการที่เปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ไม่เป็นเกียรติยศยืดยาวไปได้เท่าใด ไม่เป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวง กลับเป็นความเดือดร้อน ถ้าเป็นการศพท่านผู้มีพระคุณ หรือผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่อันควรจะได้เกียรติยศ ฉันไม่อาจจะลดทอน ด้วยเกรงว่าคนจะไม่เข้าใจ ว่าผู้นั้นประพฤติไม่ดีอย่างหนึ่งอย่างใด จึงไม่ทำการศพให้สมเกียรติยศซึ่งควรจะได้ แต่เมื่อตัวฉันเองแล้ว เห็นว่าไม่มีข้อขัดข้องอันใด เป็นถ้อยคำที่จะพูดได้ถนัด จึงขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่นั้นเสีย ปลูกแต่ที่เผาอันพอสมควร ณ ท้องสนามหลวง แล้วแต่จะเห็นสมควรกันต่อไป”
เมื่อพระองค์สวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเคารพต่อพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ แบบแผนงานพระเมรุพระบรมศพซึ่งได้สืบทอดมาตั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงมีการเปลี่ยนแปลงลดขนาดลงในงานพระบรมศพสมเด็จพระปิยะมหาราชเป็นครั้งแรก แม้จะประหยัดลงแต่ก็งดงามสมพระเกียรติ และเป็นแบบฉบับมาจนถึงปัจจุบัน
นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา การออกแบบก่อสร้างพระเมรุหรือเมรุเพื่อการถวายพระเพลิงนั้น ได้มีการออกแบบและจัดสร้างตามชั้นฐานันดรด้วย คือ
พระมหากษัตริย์, พระมเหสี และพระยุพราช สร้างพระเมรุกลางเมือง เป็นพระเมรุมาศ
ชั้นเจ้าฟ้า พระเมรุกลางเมือง หรือ วัด เป็นพระเมรุเครื่องยอด
ขุนนาง สถานที่คือวัด และใช้เมรุผ้าขาว
สมเด็จพระสังฆราช พระเมรุกลางเมือง เป็นพระเมรุผ้าขาว
ส่วนเหตุผลข้อหนึ่งที่ต้องสร้างพระเมรุกลางเมืองสำหรับพระมหากษัตริย์ พระมเหสี พระยุพราช และชั้นเจ้าฟ้านั้น ก็เพราะจะมีผู้คนมาในพระราชพิธีจำนวนมาก เกินกว่าวัดหนึ่งวัดใดจะรับได้