นามปากกา “ฉลามเขียว” ใน นสพ.บ้านเมือง อ้างเหตุหยุดผลิต ต้องตกงานสิ้นปีนี้ เพราะ กปปส. ชัตดาวน์กรุงเทพฯ จนเกิดรัฐประหาร อ้างถ้ามีเลือกตั้งใน 2 ปี โฆษณาจะกลับมา ด้านนักวิชาการสื่อระบุ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน อินเทอร์เน็ตเข้ามาทดแทนอำนาจการสื่อสาร ไม่ใช่เรื่องการเมือง
หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับวันที่ 3 ธ.ค. ได้ตีพิมพ์คอลัมน์เจ้าของนามปากกา “ฉลามเขียว” หัวข้อ “บาปของข้า” ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ปิดตัวลงในสิ้นปี 2559 มาจากการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. จนเกิดรัฐประหาร ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นผลทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ถึงขั้นที่กิจการสิ่งพิมพ์อยู่ไม่ได้ ซึ่งอาชีพสื่อมวลชน จะเจริญรุ่งเรืองอยู่ได้ก็เฉพาะในการปกครองระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และเสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของประชาชน
“วันนี้เราเห็นกันแล้ว เศรษฐกิจไทยเสียหาย หนักขนาดนี้เพราะ ... ซึ่งตอนแรกตัวผมก็พอมีความหวังว่า ถ้ามีเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งภายใน 2 ปี ก็พอที่จะกอบกู้กันได้ โฆษณาจะกลับมา แต่เมื่อภาวะมันอึมครึมก็เป็นธรรมชาติของเจ้าของ ทุกกิจการที่จะต้องหดมือกลับกันหมด เมื่อโฆษณาเหือดเกิน 2 ปี ก็คือ ความเศร้า บางคนก็ว่า เพราะสื่อออนไลน์ยึด นั่นก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่ถ้าชาติบ้านเมืองยังปกครองในระบอบประชาธิปไตยอยู่มันก็จะไม่ซ้ำเติมแรงเร็วขนาดนี้ สื่อสิ่งพิมพ์สามารถที่จะทำสื่อออนไลน์ควบคู่ไปได้ ก็พอจะอยู่รอดได้” นามปากกา ฉลามเขียว กล่าว
เจ้าของนามปากกา ฉลามเขียว ระบุว่า ตนไปร่วมชุมนุมกับ กปปส. ร่วมกิจกรรมชัทดาวน์กรุงเทพฯ แต่ไม่ได้มีอุดมการณ์ ไปเพื่อรับประทานอาหารอิสลามฟรี ตามเต็นท์ที่มาจาก 3 จังหวัดภาคใต้ แล้วก็กลับบ้าน เขาอ้างว่า อาชีพของตนคือนักข่าว ซึ่งนักข่าวรุ่นพี่ทุกคนสอนให้ยืนอยู่ตรงข้ามเผด็จการ และตนก็เริ่มงานที่นิตยสารรายสัปดาห์แนวหัวก้าวหน้าฝั่งตรงข้ามเผด็จการ ก็ฝังอุดมการณ์นั้นมา
“ประวัติศาสตร์บันทึกไว้แล้ว เพราะชัตดาวน์กรุงเทพฯ ผมก่อบาป ตัวผมผู้จะสิ้นสภาพนักหนังสือพิมพ์ในวันที่ 31 ธ.ค. 59 ก็ขอฝากแก่นักข่าวทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่ และยังได้ทำงานต่อไป หรือ คนที่กำลังอยากเป็นนักข่าว เอาไว้สั้นๆ ว่า เป็นนักข่าว อย่าฝักใฝ่เผด็จการ” เจ้าของนามปากกา ฉลามเขียว ระบุ
ในวันต่อมา (5 ธ.ค.) นามปากกา “ฉลามเขียว” อ้างว่า ตนเป็นผู้ชุมนุม กปปส. ไปร่วมกิจกรรมชัตดาวน์กรุงเทพฯ กับคนอื่นเขา ก่อบาปมหันต์ให้แก่ชาติบ้านเมือง และต่อวงการสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่ง กปปส. ตอนนั้นไม่มีตัวตน ใครก็เป็น กปปส. ได้ และอ้างว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ นักการเมืองพรรคเพื่อไทย ของนายทักษิณ ชินวัตร เตือนไว้ตั้งแต่ช่วงชุมนุมว่า จะเกิดรัฐประหาร ถ้าเศรษฐกิจไทยพินาศ
อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 5 ธ.ค. คอลัมน์ “บุคคลแนวหน้า” ได้ระบุถึงคอลัมน์ของ นสพ.บ้านเมือง ดังกล่าว ระบุว่า ผู้อ่านที่เป็น กปปส. ตัวจริง เสียงจริง ก็ไม่จำเป็นต้องไปโกรธ มีคนบางคน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นนักหนังสือพิมพ์หรือไม่ก็ตาม ก็ยังอุตส่าห์ไปหาของฟรีกินตามสถานที่ซึ่งจัดการชุมนุมประท้วง อย่าลืมว่า เวลา กปปส. แจกของกิน หรือของใช้ให้กับผู้คนที่ไปอยู่ในที่ชุมนุม กปปส. ก็ไม่เคยขอตรวจบัตรประชาชน และไม่เคยให้คนกินของฟรี หรือรับของฟรี กรอกใบสมัครว่า ผู้รับของเป็นสมาชิก กปปส.
ส่วนประเด็นเรื่องการฝักใฝ่เผด็จการนั้น ระบุว่า ผู้อ่านหนังสือพิมพ์คือ ผู้ตัดสินใจเองว่าจะเลือกซื้อหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอข่าวเช่นไร หากชอบหนังสือพิมพ์ที่เข้าข้างรัฐบาลโกงบ้านกินเมืองก็สุดแต่ใจของผู้อ่าน ในนามของนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่ง มั่นใจว่า หนังสือพิมพ์ที่ทำหน้าที่โดยซื่อสัตย์ สุจริต และ ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณชนโดยแท้จริง ย่อมไม่มีวันสูญหายไปจากประเทศไทย ตราบเท่าที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนคนโกงบ้านกินเมือง
“เป็นนักข่าวต้องไม่ฝักใฝ่เผด็จการ แล้วก็ต้องไม่ก้มหัวให้กับรัฐบาลที่อ้างว่าชนะการเลือกตั้ง แต่กลับมีพฤติกรรมโกงบ้านกินเมือง แล้วที่สำคัญที่สุดคือ นักข่าวที่ดีต้องไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว มากกว่าผลประโยชน์ของบ้านเมือง” เจ้าของนามปากกา ธรรมกร กล่าว
ขณะที่ เฟซบุ๊ก Time Chuastapanasiri ของนายธาม เชื้อสถาปณศิริ นักวิชาการด้านสื่อสาธารณะ ระบุว่า กิจการสื่อมวลชนเก่า ได้ล้มลง ปิดตัว ถดถอย เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอันเกิดจากภาวะ “disruptive technology” (เทคโนโลยีทดแทน) อันเกิดจากสภาวะการวิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่ยุค 1.0-4.0 ที่ดำเนินมากว่า 22 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994
“ตอนนี้อินเทอร์เน็ตสามารถเข้ามาทดแทนบทบาทของสื่อหลายประเภท คนเข้าไปอ่านข่าวสารฟรีๆ ข้อมูลฟรีๆ ในอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินซื้อสื่อ มีผู้คนมากมายที่ทำเนื้อหาข่าวสารลงสื่อฟรีๆ แบบไม่คิดเงิน ผู้คนสามารถผลิตเนื้อหา คอนเทนต์ข่าวสารต่างๆ แทนสื่อ ที่เรียกว่า ยูสเซอร์-เจนเนอเรตด์ คอนเทนต์ (user-generated content) นอกจากนี้แล้ว ผู้คนธรรมดา สามารถผลิตแพลตฟอร์ม สำหรับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของตนเองได้ เช่น เขียนบล็อก ทำเว็บ เขียนข่าวลงทวิตเตอร์ หรือ สามารถทำแอปพลิเคชัน ทำเว็บไซต์ดูหนังดูวิดีโอ” เฟซบุ๊ก Time Chuastapanasiri ระบุ
เฟซบุ๊ก Time Chuastapanasiri ระบุอีกว่า วิวัฒนาการนี้เกิดขึ้นมานาน และ ก็ด้วยสภาวะแวดล้อมของการเจิรญก้าวหน้า สภาพการเข้าถึงสื่อได้มากน้อยของสังคมนั้น ๆ อัตราการเจริญและคุณภาพการศึกษาของประชากรในประเทศ กลไกเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชน และการกำกับดูแลสื่อของประเทศ ตลอดไปจนสภาพเศรษฐกิจ สังคมที่เอื้อต่อวิวัฒนาการเสพรับสื่อของประชาชนในประเทศ
“การล้มหายตายจากของยุคสื่อเก่า นั้นเป็นผลพวงมาจากการปฏิวัติของสื่อ หาใช่การรัฐประหารของรัฐบาลหรือการปิดกั้นสื่อของม็อบใดๆ หรือไม่ ไม่ว่าจะมาจากเสื้อสีใดก็ตาม” เฟซบุ๊ก Time Chuastapanasiri ระบุ
เฟซบุ๊ก Time Chuastapanasiri อธิบายเพิ่มเติมว่า ทวิตเตอร์ ยูทูป เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ ฯลฯ สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่ผู้คนใช้ติดต่อข่าวสาร ได้กลายเป็นเครื่องมือแห่งการเปลี่ยนแปลงสมดุลและอำนาจการสื่อสาร หาใช่ พรรคการเมือง ม็อบเสื้อสีแดง หรือเหลือง กองทัพ หรือรัฐประหารใดๆ ซึ่ง มีปัจจัยด้านเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เป็นผลสำคัญที่ทำให้สื่อทุกวันนี้ ต้องปิดตัวเองลง เรื่องมันไม่ได้วิบัติตรรกะอย่างที่เราจะคิดเองเออเองเช่นนั้น