ปัญหาโลกแตกของกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่แค่ปัญหาการจราจรเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาน้ำเน่าส่งกลิ่นตลบอยู่ในแหล่งรับน้ำและคูคลองต่างๆ ที่เคยสร้างความภูมิใจว่าเป็น “เวนิชตะวันออก” เรื่องนี้ก็ต้อง “เมื่อพระบาทยาตรา ปวงประชาเป็นสุข” อีกเหมือนกัน
ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จรัชกาลที่9พระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีไปทอดพระเนตรน้ำเสียตามคลองต่างๆในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ประตูระบายน้ำปากคลองเทเวศร์ คลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว และมีพระราชดำรัสว่า
“...การจัดระบบควบคุมระดับน้ำในคลองสายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดระบบระบายน้ำในกรุงเทพมหานครนั้น สมควรวางระบบให้ถูกต้องตามสภาพการณ์และลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งควรแบ่งออกเป็น ๒ แผนด้วยกัน คือ แผนสำหรับใช้กับฤดูฝนหรือในฤดูน้ำมากนี้ ก็เพื่อประโยชน์ในการป้องกันน้ำท่วมและเพื่อบรรเทาอุทกภัยเป็นสำคัญ แต่แผนระบายน้ำในฤดูแล้งนั้น ต้องจัดอีกแบบหนึ่งต่างกันไป เพื่อการกำจัดหรือไล่น้ำเสียออกจากคลองดังกล่าวเป็นหลัก ซึ่งทั้งสองระบบนี้ควรจะพิจารณาถึงวิธีระบายน้ำ โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกให้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการควบคุมระดับน้ำตามลำคลองเหล่านี้...”
จากแนวพระราชดำริดังกล่าว จึงบังเกิดกรรมวิธีในการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธี “น้ำดีไล่น้ำเสีย” ๒ ประการ คือ
วิธีที่หนึ่ง ให้เปิดประตูน้ำรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเวลาน้ำขึ้น และระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเวลาน้ำลง ทำให้น้ำในลำคลองมีโอกาสถ่ายเท รับน้ำดีมาไล่น้ำเสียออกไป
วิธีที่สอง ในวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๓๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ไปทอดพระเนตรปากคลองเปรมประชากร ตำบลบางกระสั้น อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งเลียบคลองเปรมประชากรช่วงตอนบนถึงคลองรังสิต จนถึงปากคลองวัดหลักสี่ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร และได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสียว่า
“...คลองเปรมประชากรช่วงตอนล่าง เป็นคลองสายหนึ่งที่สามารถรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปช่วยบรรเทาน้ำเสีย โดยส่งกระจายไปตามคลองต่างๆของกรุงเทพมหานคร จึงควรขุดลอกคลองนี้พร้อมกำจัดวัชพืช เพื่อให้เป็นคลองสายหลักในการผันน้ำคุณภาพดีไปช่วยบรรเทาน้ำเสียให้เจือจางลง...” และ
“...ให้หาวิธีรับน้ำเข้าคลองเปรมประชากรตอนบนเป็นปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว เพื่ออัดเพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้น จะได้สามารถกระจายน้ำเข้าทุ่งบางไทร-บางปะอินสำหรับใช้เพาะปลูกอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม จะต้องดำเนินการขุดลอกหนองน้ำธรรมชาติไปพร้อมกัน จะได้สามารถเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ สำหรับเส้นทางน้ำที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเส้นอื่นๆ เช่น คลองเชียงรากน้อยนั้น ต้องรีบรับน้ำเข้ามาเมื่อน้ำขึ้น และปิดประตูบังคับน้ำไม่ให้ไหลย้อนกลับเมื่อน้ำลง ทั้งนี้เพื่อเก็บกักน้ำคลองเปรมประชากรตอนบนในลักษณะอ่างเก็บน้ำ เพื่อใช้ผลักดันน้ำเน่าเสียในคลองเปรมประชากรตอนล่างต่อไป...”
การระบายน้ำเน่าเสียในคลองของกรุงเทพฯจนสามารถลงไปแหวกว่ายได้นี้ ก็โดยอาศัยพลังของพระอาทิตย์พระจันทร์มาช่วยให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลง ค่าใช้จ่ายในการนี้ก็มีแต่ค่ากระแสไฟฟ้าเปิดปิดประตูน้ำให้ได้จังหวะเท่านั้น
อีกปัญหาหนึ่งของกรุงเทพมหานครก็คือ แหล่งน้ำเน่าเสียแห่งใหญ่ที่บึงมักกะสัน ซึ่งกรมรถไฟหลวงขุดไว้ตั้งแต่ปี ๒๔๗๔ มีความลึก ๑๕ เมตร กว้าง ๖๐ เมตร ยาว ๒,๓๘๐ เมตร มีเนื้อที่พื้นน้ำประมาณ ๙๒ ไร่ เพื่อเป็นแหล่งระบายน้ำและรองรับน้ำเสีย รวมทั้งน้ำมันเครื่องจากโรงงานรถไฟมักกะสัน อีกทั้งรอบบึงยังมีชุมชนแออัดอยู่ ๓ ชุมชน รวม ๗๒๙ ครัวเรือน ซึ่งต่างก็ถ่ายเทสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยลงในบึง จนเกิดน้ำเน่าเสียและเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9ทรงตระหนักถึงภัยแห่งภาวะมลพิษที่พสกนิกรได้รับ หากไม่ได้รับการแก้ไขจะเป็นอันตรายยิ่งขึ้น จึงได้พระราชทานพระราชดำริเมื่อวันที่ ๑๕ และ ๒๐ เมษายน ๒๕๒๘ ให้หน่วยงานต่างๆร่วมกันปรับปรุงบึงมักกะสัน โดยใช้วิธี “เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ” ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
“...บึงมักกะสันนี้ ทำโครงการที่เรียกว่าแบบคนจน โดยใช้หลักว่า ผักตบชวาที่มีอยู่ทั่วไปนั้น เป็นพืชดูดความโสโครกออกมาแล้วทำให้น้ำสะอาดขึ้นได้ เป็นเครื่องกรองธรรมชาติใช้พลังงานแสงอาทิตย์และธรรมชาติการเติบโตของพืช...”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรัชกาลที่9เปรียบเทียบ “บึงมักกะสัน” เป็นเสมือน “ไตธรรมชาติ”ของกรุงเทพมหานคร ดังพระราชดำรัสว่า
“...ในกรุงเทพฯต้องมีพื้นที่หายใจ แต่ที่นี่เราถือว่าเป็นไตกำจัดสิ่งสกปรกและโรค สวนสาธารณะถือว่าเป็นปอด แต่ที่นี่เหมือนไตฟอกเลือด ถ้าไตทำงานไม่ดีเราตาย อยากให้เข้าใจหลักของความคิดอันนี้...”
แนวพระราชดำริ “ฟอกไต”ของกรุงเทพฯแห่งนี้ก็คือ ให้สูบน้ำจากคลองสามเสนเข้าบึงทางหนึ่ง อีกจุดที่ห่างไปประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ เมตรให้สูบน้ำออกหรือฝังท่อระบายน้ำออกทางอโศก-ดินแดง ตรงกลางบึงมีกอผักตบชวาซึ่งรากมีคุณสมบัติดูดซึมโลหะหนักในน้ำได้ดี และจะเติบโตสูงสุดในเวลาหลังปลูก ๑๖-๑๗ สัปดาห์ จึงต้องเอาผักตบชวาออกทุก ๑๐ สัปดาห์ โดยนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น ทำปุ๋ยหมักหรือเชื้อเพลิง แต่อย่านำไปเป็นอาหารสัตว์ เพราะมีโลหะหนัก ทรงพระราชาธิบายว่า
“...แนะนำว่าผักตบชวานี้ใช้ได้หลายทาง ใช้มาหมักเป็นปุ๋ยได้ข้อหนึ่ง ถ้าทำเป็นก๊าซชีวมวลก็ได้ข้อหนึ่ง ถ้าจะนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ก็ได้ แม้ต่อไปจะใช้เป็นอาหารมนุษย์ก็ได้ เพราะว่าค่าโปรตีนในผักตบชวามีสูงพอควร จะใช้มาทำประกอบกับแกลบมาอัดเป็นฟืนหรือที่เรียกว่าถ่าน แทนถ่านที่เขาใช้เผากันทำให้ป่าไม้เสียหาย ซึ่งก็ได้ทดลองแล้วได้ผลดี...”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9ทรงเรียกวิธีที่ใช้ผักตบชวาบำบัดน้ำเสียในบึงมักกะสันว่า “อธรรมสู้กับอธรรม” และทรงอธิบายว่า
“เราไม่ต้องการน้ำเสีย มันเป็นอธรรม เป็นตัวโกง ผักตบชวาก็เหมือนกัน ให้มันสู้กันเอง”
แม้จะเป็นวิธีธรรมชาติง่ายๆ และประหยัด แต่โครงการพระราชดำริในการกำจัดน้ำเสียในแหล่งรับน้ำและคูคลองของกรุงเทพฯ กับน้ำเสียในบึงมักกะสัน ก็ได้ผลดี ทำให้ปวงประชามีสุขกันถ้วนหน้า