xs
xsm
sm
md
lg

จากเด็กเกเร สู่สิงห์ฮาเลย์ใจบุญ เกื้อหนุนผู้ยากไร้ “เอกชัย แซ่เตียว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จิตอาสาผู้ทำหน้าที่ออกช่วยเหลือสังคม ภายใต้หมวกกันน็อก รอยสัก และพาหนะสองล้อฮาเลย์เดวิดสันคู่ใจ ตลอดระยะเวลากว่าสิบปี โดยไม่มุ่งหวังสิ่งใดตอบแทน จากอดีตเด็กแว้นไม่รักเรียน สู่เจ้าของโรงงานและประธานชมรมจิตอาสา “สองล้อใจบุญ เกื้อหนุนผู้ยากไร้” “เอกชัย แซ่เตียว”

จากเด็กล้มเหลว
สู่สองล้อใจบุญ

“เมื่อพ่อไม่อยู่ในบ้านหลังนี้แล้ว พวกเราต้องยิ่งรักกันมากขึ้น เราต้องยิ่งสมานฉันท์ สมัครสมานสามัคคีต่อไป นี่คือจุดมุ่งหมายของพวกเรา”

หนุ่มใหญ่วัย 31 ปี กล่าวเริ่มต้นถึงวัตถุประสงค์ที่ยังคงหมุดหมายช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทั้งในขณะที่มีชีวิตและไร้ซึ่งลมหายใจโดยไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทนเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ในนาม “ชมรมสองล้อใจบุญ เกื้อหนุนผู้ยากไร้”

“เวลาเรามองเห็นภาพคนอื่นๆ ที่เขาเข้าไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ อาจจะตามสื่อต่างๆ อย่างเฟซบุ๊กหรืออะไร แต่นั่นก็ไม่ใช่ตัวเรา ถ้าเราได้ไปสัมผัส ได้ไปเยี่ยมเยียนเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มันสุขทั้งน้ำตา ความรู้สึกมันเป็นแบบนั้นเลย บุคคลที่เป็นผู้ยากไร้จริงๆ แล้วในบางมุมที่เราได้ยินมา ก็โดนโจมตีว่าพวกคุณไม่ทำมาหากิน แต่ผมเชื่อต้นทุนบุญวาสนาเกิดมาไม่เท่ากัน วันนี้ชมรมของเราก่อตัวขึ้นมาเพื่อเป็นผู้ให้ วาสนาของเราอาจจะดีกว่าผู้ยากไร้ เราก็แบ่งวาสนาของพวกเราที่มีให้กับผู้ยากไร้

“การที่เราเช้าไปช่วยผู้ยากไร้แต่ละครั้ง มันไม่ได้ทำให้เขามีความสุขทั้งชีวิต แต่ช่วงเวลาหนึ่งเขาก็ได้รับโอกาสดีๆ จากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เขาเสียโอกาสในการเกิดมา ทำอย่างไรก็ไม่รวยสักที ไม่มีกินสักที ทั้งๆ ที่เขาก็เป็นคนที่สู้หลังชนฝาเหมือนกัน แต่ต้นทุนไม่เหมือนกัน เราอยู่ในแผ่นดินไทยที่เป็นพี่น้องกัน ยังมีคนลำบากอีกเยอะมากที่ต้องการความช่วยเหลือ ไม่ได้โจมตีองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น แต่วันนี้อยากให้มองเพื่อนมนุษย์ เราต้องช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก่อนที่จะไปทำอย่างอื่น”

เพราะ ‘มนุษย์’ คือพื้นฐานของทุกสิ่ง ทั้งคุณงามความดี ความชั่วร้ายเลวทราม ล้วนเกิดขึ้นจากการปลูกฝังและหยิบยื่นโอกาส เอกชัยก็ผ่านชีวิตโมงยามเยี่ยงนั้นที่ครึ่งหนึ่งของชีวิตข้องเกี่ยวกับอบายมุข ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของกิจการโรงงาน และจิตอาสา

“ผมเป็นคนที่ไม่รักเรียน ไม่ชอบทำการบ้าน แล้วชีวิตตั้งแต่เด็กคือไม่ชอบให้ใครมาสั่ง เราเรียนรู้ชีวิตเราด้วยประสบการณ์ ไม่เคยเปิดหนังสืออ่าน เราก็รู้สึกว่าไม่อยากเรียนแล้ว ตั้งแต่ 10 ขวบกว่าๆ ประมาณ ป.5 ก็เริ่มบอกพ่อกับแม่แล้วว่าไม่อยากเรียน ก็โดดเรียนจนเรียนไม่จบชั้น ม.2 แล้วบังเอิญจังหวะที่เราก็มีโอกาสที่ยังใช้ชีวิตวัยรุ่นได้ในระดับหนึ่ง เป็นเด็กแว้นกวนเมือง”

เอกชัยเปิดเผย ก่อนทยอยเรื่องราวที่ผันเปลี่ยนชีวิตตามจังหวะเร่งเร้าของซีซีเครื่องที่แรงขึ้น

“ยุคสมัยนั้น ฮอนด้าเวฟ ฮอนด้าไนซ์ ฮอนด้าโซนิก แอลเอส ฝั่งธนบุรี เส้นพัฒนาการ เส้นตลาดพลู แถวๆ โรงเรียนวันอินทาราม แข่งรถกันตามประสา เพราะเข้าใจว่าพ่อแม่รวย มีเงิน เนื่องจากมีลูกน้อง มีรถ เราก็ทำตัวตามประสาเด็กเพิ่งโต จากแข่งรถ ก็เที่ยวเตร่และสักลาย เพราะประชดครอบครัว ห้ามก็สักต่อ เหมือนท้าทาย สักแล้วจะเป็นคนดีไม่ได้เหรอ แต่ไม่ได้มองในแง่จิตใจ ชีวิตใครกำหนดได้ ไม่มีใครกำหนดใครได้ ชีวิตต้องเดินด้วยตัวเอง นี่คือการบังคับจิตใจของคน คนเราเกิดมามันคือชีวิตของเขา มีหน้าที่ส่งเสียให้เขาเรียนรู้ชีวิตตัวเอง ไม่ไปรังแกใคร นี่คือในมุมมองผม เพราะผมไม่ดีมาก่อน แล้ววันนี้ผมเป็นผู้ให้ ผมบอกเสมออย่าไปก้าวก่ายชีวิตใคร

“แต่เราก็ควรต้องตระหนักรู้ เพื่อให้เราไม่เบียดเบียนคนอื่น ตัวตนเรารู้ดี ผิดถูก ชั่วดีเรารู้หมด เราจำเป็นต้องมี คนดีๆ เราต้องเป็น ชีวิตคนเราไม่อะไรมาก นั่งมองกระจกว่าเราคิดอะไรอยู่ อยู่ที่ตัวเรา”

ชีวิตบนถนนทางเรียบจึงยุติลงอย่างง่ายดายภายหลัง 2-3 ปี เข้าสู่พื้นขรุขระโรงงาน‘วิชาการฟาร์มไก่’ เมื่อครอบครัวประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาจากโรคไข้หวัดนกแพร่ระบาด

“แล้วก็เรื่องโรงเชือดห้ามอยู่ในแหล่งชุมชนอีก แล้วคุณพ่อก็เบื่อที่จะทำธุรกิจนี้ ท่านก็เลยเลิก เราก็ขอที่จะเข้ามาทำ เพราะอยากจะเป็นเถ้าแก่อยู่แล้ว อยากเป็นนายของตัวเอง คิดว่าไม่อยากให้ใครเหยียดหยามตระกูล ครอบครัว ศักดิ์ศรีมันมาก่อนความคิดอีก วันนี้พ่อเราล้มไม่ได้ ธุรกิจเราล้มไม่ได้ มันคือศักดิ์ศรี ไม่มีความอายแล้ว เราต้องเลือกเส้นทางแล้ว ไอ้เส้นทางที่ผมกำลังมัวมันกับแสงสีเสียง ก็ต้องมาเลือกพลิกผันตัวมาอยู่จังหวัดนครปฐม โดยที่มีหนี้อยู่ 2 ล้านกว่าบาท

“ถามว่าเราพลิกมาจากชีวิตตอนนั้นรับได้มากน้อยแค่ไหน รับได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าในด้านธุรกิจ ผมพอที่จะรู้อะไรเป็นบางอย่างที่ต้องทำอะไรบ้าง ใช้ชีวิตแบบไหน การดำเนินธุรกิจต้องทำแบบไหน เคยไปคลุกคลี ทำงานกับพ่อเสร็จก็ไปแว้น ก็ได้มีโอกาสที่เก็บเกี่ยวมาเกือบครึ่งหนึ่งของธุรกิจคุณพ่อ เราก็กระโดดมาทำ โดยขั้นแรกเลยโทรมาอ้อนวอนใช้วาจาของคำว่าลูกผู้ชายในการขอซื้อสิ้นค้าใหม่ ขอการผ่อนผันหนี้ ก็สำเร็จ คนก็ให้โอกาส ถึงได้มีทุกวันนี้

“คือทุกคนมีสูง-ต่ำ ดำ-ขาว คิดได้ คิดไม่ได้ ยังไม่ตกผลึกบ้าง ตกตะกอนแล้วบ้าง คือคนเราอย่ามองเขามีรอยสัก มีอดีตที่เคยตดคุกตะรางมา ทุกคนเกิดมาเพื่ออยากเป็นดี อยากเป็นคนรวย มีเงิน ทุกคนอยากเพื่อจะมีทรัพย์สินมากมาย แล้วผลสุดท้ายการที่คนไม่ให้โอกาสคน จะไปให้โอกาสอะไร”


ทำเพื่อตัวเอง ก็อยู่แค่สิ้นลม
ทำเพื่อสังคม แม้สิ้นลมก็ยังอยู่

• ด้วยความที่เป็นเด็กอายุยังน้อย เราสานต่อโอกาสนั้นได้อย่างไร

ด้วยวาจามากกว่า ถ้าพี่ไม่ให้ผมต่อยอด เถ้าแก่ไม่ให้ผมต่อยอด ผมก็ไม่มีปัญญามาใช้ พ่อก็ต้องติดคุก เงินก็สูญหมด แต่ถ้าให้โอกาส ผมก็ทำมาใช้พี่ เขาก็เปิดโอกาส แล้วคุณพ่อก็ให้โอกาส แม้ว่าท่านจะไม่พูดเรื่องนี้กับเราเลยตั้งแต่ที่ล้มมา เราไม่คุยเรื่องนี้กันเลย แต่เรารู้สึกได้ว่าท่านเป็นห่วง ห่วง แต่การเป็นห่วงของพ่อผม เขามีหนี้สินตกค้างให้ผมใช้ ฉะนั้น เขาจะไม่มีสอนผม พ่อแม่ทิ้งธุรกิจมี 2 แบบ สานต่อ กับปลูกต่อ ของผมอย่างหลัง ไม่ใช่โยนเงินให้ 100 ล้านบาท ไปบริหาร ในความคิดผม พ่อก็คงไม่คิดจะมาสอน เพราะท่านยังไม่ประสบความสำเร็จ และด้วยบุคลิกนิสัยเรา พ่อก็... ให้มันลองแล้วกัน

• กิจการที่เราทำแตกต่างจากตอนที่พ่อทำอย่างไรบ้าง

คือสมัยก่อนพ่อผม การทำธุรกิจเหมือนเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน วันหนึ่งประมาณ 200-300 ตัว ในการที่เขาส่งป้อน ไม่มีการออกตลาด ไม่มีเสนอสินค้า ไม่มีแผนกอะไรเลย คือไม่เป็นระบบ คนเชือดมาส่งไก่ก็มี คนเอาเครื่องในไปเชือดก็มี ทุกอย่างมันไม่เป็นระบบ แรกๆ ผมก็ทำเองคนเดียว เชือดเอง ล้างเอง ทำเอง ไปส่งเอง วันแรกจำได้เลย 27 ตัว ยืมเงินแฟนในตอนนั้น 2,745 บาท เพราะไม่มีเงินเลย ไปซื้อไก่ประมาณ 80 ตัวได้ เพราะว่าตอนนั้นพอวิกฤตโรคมันก็ราคาถูกมาก ก็ซื้อมาแล้วมาทำขาย ตอนแรกก็ไม่รู้ ไปขายราคาเดิม ทีนี้คนลูกค้าเขาก็เลยเลิกสั่งเพราะของเราแพง เราก็คิดว่าไปแพงตรงไหน เราก็ไปเดินตลาดๆ ถึงได้รู้ว่าเขาบวกราคากันประมาณ การทำธุรกิจมันเป็นเหมือนกับรางรถไฟ เขาขึ้นเราขึ้น เขาลงเราลง มันไม่ได้เป็นเส้นกราฟ ก็ทำให้เรารู้เรื่องราคา จากนั้นเราก็เดินตลาด ออกหาตลาด

เนื่องจากเรามองว่าธุรกิจทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไรก็แล้วแต่ ถ้าอยู่แต่ในบริษัทมันไม่มีโต ถ้าไม่มีการโฆษณา ถ้าไม่มีแผนกเซลล์ เราก็มามองมุมมองคนรุ่นใหม่ ไปหาลูกค้าถึงที่ ไปเจาะตลาดตีกับตลาดตรงนั้นบ้างนี้บ้าง เสนอสินค้า ดุ่มๆ ไป ร้านไหนที่ตรงโจทย์เรา และอีกอย่าง การที่เราจะตีตลาด สินค้าของเราต้องมีคุณภาพก่อน อย่างคนที่เป็นนักบริหาร เขาจะเข้าใจในสินค้า สินค้าเราไม่เป็นรองใครในตลาด รักษาคุณภาพแล้วก็ไปลุยกับเขา ก็มาทำให้มันเป็นระบบโดยการอาศัยครูพักลักจำเวลาไปสั่งสินค้า เห็นเขามีพนักงานกัน 30-40 คน เขาจัดวางระบบอย่างไรกันบ้าง ก็เอามาเริ่มใช้กับตัวเอง

• ผลประกอบการเป็นในตอนนั้นสำเร็จมากน้อยเพียงใด

ปีแรกก็มีลูกค้าที่เขาเลิกขายกลับมาขาย เราก็เข้าไปติดต่อ จากหลักสิบค่อยๆ ไปหลักร้อยจนหลายร้อย จากพนักงานคนสองคน ปีที่ 2 ก็เพิ่มเป็น 4-5 คน ก็มีมาฉุกคิดตอนปีที่ 5 เราก็พูดในใจตลอด ถ้าเราเป็นคนที่ขี้งก ไม่กล้าจ้างไม่กล้าบริหาร เราจะต้องทำงานจนตายหรือทำงานได้เงินแล้วก็ต้องมารักษาตัวเองแน่เลย เพราะมันต้องหนักเรา อดหลับนอนชีวิตมันก็อยู่ในการที่เราเป็นทุกอย่าง ภาระอยู่ที่เราหมดเลย ก็เลยมาคิดถึงคำว่ากลัวตาย เลยหาวิธี นักบริหารคุมคนเป็นพันได้อย่างไร ทำไมบินไปเที่ยวต่างประเทศได้ ถึงรู้ว่าเวลามันสำคัญ

เราก็พยายามแสวงหาใครที่เป็นไอดอล ใครที่เป็นคนประสบความสำเร็จ ศึกษาดูประวัติเขา เขาวางตัวอย่างไร ดูการกระทำ ในชีวิตประวัติของเขาในโทรทัศน์ ผลสุดท้ายเราก็มามองว่าผมต้องเอาเงินสร้างงาน แล้วให้คนเอางานสร้างเงินให้ก็เอาคติตรงนี้มาเป็นตัวตั้งชีวิต แล้วก็ทำให้เป็นสัดส่วน เป็นระบบ ทำตรงนี้เท่านั้น หน้าที่ไม่มีก้าวก่ายกัน สำคัญเลย หัวใจหลักคือเลิกกินเหล้า ห้าม มันก็เลยเป็นรูปแบบกิจจะลักษณะ โตขึ้นมาเรื่อยๆ ล้างหนี้สองล้านหมดใน 4 ปี ควบคู่กับสร้างโรงงานด้วย บ้าน โรงงานเป็นปัจจัยหลักแหล่งทำมาหากิน แล้วโรงงานมีบ่อบำบัดน้ำเสีย ทุกอย่างคือได้มาตรฐาน ผ่านการตรวจสอบระบบ ISO ของโรงฆ่าสัตว์ เราต้องทำให้ถูกต้อง เพราะต้องการให้คุณภาพเราดี ไม่มีใช้เส้นใช้อะไร ทุกอย่างคือถูกต้องหมด

อีกหลักหนึ่งที่ทำให้ผ่านพ้นวิกฤตตรงนี้มาได้ส่วนตัวเลยคือ ‘พอเพียง’ ความประหยัดและเราไม่ไปฟุ่มเฟือยในสิ่งที่มันเป็นของฟุ่มเฟือย คือต้องประหยัด ใช้ให้มันถูกต้อง เก็บให้มันถูกต้อง ให้มันเป็นประโยชน์ เพียงพอ พอเพียง อย่างที่พ่อหลวงพูดนั้นแหละสำคัญที่สุด

• จากอดีตเด็กแว้นจึงก้าวขึ้นเป็นนักธุรกิจเจ้าของโรงงานและส่งต่อถึงจิตอาสาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

ครับ…เป็นจุดเปลี่ยน บทเรียน ให้มีวันนี้ที่ออกช่วยเหลือสังคม หนึ่งคือธุรกิจเรา เราเอาเขามาต่อชีวิต มันก็บาป สองเพราะประสบการณ์ต่างๆ เรื่องราวต่างๆ โลกทั้งสองแบบที่เจอะเจอมาทำให้เราได้เรียนรู้ จากเด็กแว้นสร้างเรื่องให้พ่อแม่ปวดหัว ความสุขที่เราคิดว่าเราสุขเวลาเที่ยวเตร่ ไม่เท่าวันที่ปลดหนี้ได้ ไม่เท่าวันที่ส่งเงินดูแลคุณพ่อคุณแม่ได้ และนั่นทำให้ได้รู้ความหมายของความสุข สุขคนเดียวมันจะมีความหมายอย่างไร

ชมรมสองล้อใจบุญจึงเกิดขึ้น ซึ่งตอนแรกๆ เริ่มจากการที่พอธุรกิจคลายตัว ไม่มีหนี้สิน เราก็ให้รางวัลตัวเองโดยการซื้อมอเตอร์ไซค์มาขี่ ขี่ไปมาตามงานต่างๆ จากที่เราทำช่วยเหลือศพไร้ญาติคนเดียวก่อน ก็ชักชวนมาทำด้วยกัน เนื่องจากกลุ่มมอเตอร์ไซค์ส่วนมากเป็นคนลักษณะนิสัยอย่างนี้อยู่แล้ว ชอบช่วยเหลือ ทำบุญ เพียงแต่จะแตกต่างกันที่รูปแบบ

จุดนี้ก็เป็นผลบุญที่ทำให้เกิดธุรกิจช็อปมอเตอร์ไซค์ ร้าน Six T N shop จังหวัดนครปฐม ข้างห้างขนส่งนครปฐม วังตะกู ตรงข้ามเรือนจำกลางนครปฐม เพราะเรามองว่ารถมันเสียมันไปซ้อมที่ไหน Harley-Davidson สมัยก่อนยังไม่ได้มีร้านเยอะขนาดนี้ เวลาไปซื้อโน้นนี้ก็ลำบาก เราอยากจะหาวิธีซ้อมอย่างไรและไม่ต้องไปรอคอยด้วย เราจะได้มีช่างที่เป็นลูกมือเราเลย ไว้ใจได้และสามารถซ้อมได้เลย ไม่ต้องรอ เลยเปิดไปเลยดีกว่า ก็เงินมาในระดับหนึ่งแล้วมีผู้ใหญ่ สจ.เคี้ยง แล้วก็พี่นพ รวมชัย เจอะเจอกันจากการช่วยเหลือสังคมตรงนี้ให้โอกาสผมทันทีไม่รีรอในสิ่งที่ผมทำอีกด้วย

• กลุ่มชมรมสองล้อใจบุญ มีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร

ในเรื่องของการประสานงานติดต่อเหมือนกับตอนแรกที่ทำคนเดียว คือติดต่อมาปุ๊บ เราไปทันที ไม่มีตารางกำหนด อาศัยการบอกต่อปากต่อปาก สมมติรู้จักคนๆ หนึ่ง คนตายไม่มีญาติบอก ทีนี้ญาติเขาก็รู้ก็ของเบอร์กันเลยเป็นลูกโซ่ ผลสุดท้ายก็รู้จักและขยายเป็นวงกว้าง จากในตัวจังหวัดนครปฐมก็ค่อยๆ ไปจังหวัดใกล้เคียง แล้วก็ข้ามจังหวัด ข้ามภาค

ส่วนรูปแบบการช่วยเหลือ แรกเริ่ม อย่างที่บอกคือจากคนตาย ศพไร้ญาติ ตอนหลังๆ ระหว่างที่ไปช่วยเราก็จะได้รับรู้เรื่องราวเขาก่อนที่จะเสียชีวิต ได้เห็นสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ตรงนั้นก็ทำให้เราฉุกคิดถึงชีวิตของเขา สัมผัสความรู้สึกในมุมของเขา ยกตัวอย่างเคสหนึ่งเป็นความประทับใจและผมพูดอยู่ตอลดเลยว่า คำว่ารถวีลแชร์ ที่เราเห็นว่าเป็นรถทั่วไปที่คนพิการต้องมี แต่ที่ไหนได้ บางคนเขาไม่มีเงินซื้อ ราคา 4,000 บาท คันหนึ่ง

มีลุงท่านหนึ่งอายุประมาณ 50 กว่า เป็นอัมพาตครึ่งตัวมา 14 ปี ไม่เคยได้นั่งรถวีลแชร์เลย เนื่องจากไม่มีกำลังซื้อ เพื่อนบ้านก็ไม่มีเงินซื้อให้ ทำให้เราได้รู้สึก คือแกนั่งพิงกำแพงแล้วมองอากาศข้างนอก ผมก็เลยรู้สึกว่า โห่…ชีวิตของพวกเราอยากจะไปเที่ยวไหนก็ไปได้ แต่ลุงตื่นมา ลุงบอกว่า เอาง่ายๆ แค่จะไปหน้าบ้านยังต้องคลานไป แล้วมันไม่รู้จะไปไหน แล้วสิบกว่าปีที่ผ่านมา ติดคุกยังมีเพื่อนยิ้มหัวเราะเล่นกัน สนทนากัน แต่ผู้ป่วยติดเตียงนี้แย่กว่าติดคุกอีก ชีวิตของพวกเขาที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง คิดดู คนอย่างเราเคยเดินเหินได้ เที่ยวเตร่ได้ ไปได้ทั่วโลกเลย อยู่ๆ ต้องอยู่บนเตียง เราก็เลยเกิดการช่วยเหลือผู้ป่วยเพิ่มขึ้นด้วย มีซ่อมแซมบ้าน ถังออกซิเจน เสื้อผ้า ข้าวสารอาหารแห้ง วาตภัย ไฟไหม้ มันเป็นการช่วยเหลือที่ว่าไม่เหลือบ่ากว่าแรงสำหรับชมรม ช่วยในสิ่งที่เราสามารถช่วยได้ แต่เราช่วยตลอดต่อเนื่อง

คนช่วยคน
คนไทยไม่ทิ้งกัน…

“แบ่งปันกันอย่างนี้มีความสุขกว่า ลงทุนกับคนมันสำคัญที่สุดแล้ว เพราะเป็นพื้นฐาน นี่คือสิ่งที่อยากจะสื่อสาร” สิงห์ฮาเลย์ใจบุญเปิดเผยความรู้สึก

“การเป็นผู้ให้ มันเป็นอะไรที่สุขใจมากกว่า สิ่งที่ทำนี้มันมีความสุข ทุกวันนี้ เราออกไปช่วย เราใช้ชีวิตนอกกรอบ การเป็นมนุษย์ ยกตัวอย่างเราเกิดมา โต เรียนหนังสือ ทำงาน แต่งงาน สร้างครอบครัว มีลูก เลี้ยงลูก ทำงานเพื่อเลี้ยงให้โต ซื้อบ้าน รถ นี่คือชีวิตในกรอบ แต่ไม่มีใครบอกว่าช่วงชีวิตหนึ่งตอนอายุ 20 ปีต้องออกไปช่วยสังคม เหมือนที่ว่าอายุ 18 ต้องถ่ายบัตรประชาชน อายุ 22 ปีต้องเกณฑ์ทหาร เราอยากให้มีตรงนี้ เป็นคนช่วยสังคม วิชานี้ไม่มีออกมาให้นักเรียนเรียน แต่มีคำว่าจิตอาสา ทุกคนพูดอยากให้สังคมดี รักกัน แบ่งปั่นกัน แต่ไม่มีบทเล่าเรียนให้เสพเข้าไป มีแค่วิชาที่สร้างมาเพื่อให้แก่งแย่งกัน

“คนไทยถ้ามีการเอื้อเฟื้อโดนปลูกฝังมาตั้งแต่เล็กจนโต ทุกวันนี้ขี่รถไม่มีการต่อยกันหรอก

“จุดประสงค์ของกลุ่มนอกจากสิ่งที่มาเป็นชมรม ผมไม่ได้มาคือเจตนารมณ์กลุ่มคนเรา ไม่ได้อยากผู้ใหญ่มองเห็น เราต้อการให้เด็กรุ่นหลังได้มามองว่า เราอาจจะเคยผิดพลาดพลั้ง เป็นคนไม่ดี แต่เรายังสามารถกลับตัวกันได้ ออกไปช่วยคน ช่วยสังคม

“ถ้าถามว่าชีวิตคืออะไร เพื่อนมนุษย์คืออะไร การทำตรงนี้ดีอย่างไร ชีวิตคือการผจญภัย ชีวิตคือการเรียนรู้ ได้หมด อยู่ที่ว่าเราจะเดินในเส้นทางไหน และเพื่อนมนุษย์นี่สำคัญมาก เหมือนเราต้องกินข้าววันหนึ่ง 3 มื้อ เรารู้สึกว่าคนป่วย ไร้ญาติ ใครที่เดือดร้อน เขารอกำลังใจจากเพื่อนมนุษย์ บางคนนอนในห้องเป็นสิบปี ไมได้เคยได้คุยกับใครเลย วันๆ มองแต่เพดาน

“ก็มุ่งหวังที่อยากให้สังคมมีความเอื้อเฟื้อ โลกในอุดมคติ โลกในการเผื่อแพร่นี้แหละ คือเด็กเยาวชนดูแลผู้สูงอายุ เด็กเยาวชนที่อาจเป็นชายฉกรรจ์ เกเรเกตุงมาก่อน มารวมตัวกันเพื่อไปสร้างสังคม ปลูกป่า ทำคุณงามความดีที่ไหนก็แล้วแต่ อยากเห็นภาพอย่างนั้นมากกว่า ในโลกของผม ทุกวันนี้ดีใจที่มีกลุ่มน้องๆ เด็กแว้นรวมกลุ่มกันประมาณ 300 คัน ไปทอดกฐิน แล้วบอกว่าเราคือแบบอย่างที่ทำให้เขาทำความดี

“มีนิทานเรื่องคนเก็บขยะมาเป็นมหาเศรษฐี คนเป็นมหาเศรษฐีไปเป็นคนเก็บขยะ เรื่องนี้มันสอนเรามาตั้งแต่เด็กแล้วว่าอย่าดูถูกคน เราพลาดไม่พลาดไม่มีใครรู้ ชีวิตเกิดมาคนละเส้นทาง เรามีคนให้โอกาส มีที่ยืน ทุกคนเป็นคนดี เพียงแต่ว่าความดีของเขานั้นจะถูกนำมาใช้ช่วงจังหวะไหนของชีวิต เราจึงจะทำต่อไปจนกว่าจะหมดลมหายใจ”




เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : วชิร สายจำปา

กำลังโหลดความคิดเห็น