“เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการเกษตรมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว รายได้ของประเทศที่ได้มาใช้สร้างความเจริญด้านต่างๆ เป็นรายได้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญของเกษตรเป็นสำคัญ และงานทุกๆฝ่ายจะดำเนินก้าวหน้าไปได้ก็เพราะการเกษตรของเราเจริญ”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๐๗
ในจำนวนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญในด้านการเกษตรและเกี่ยวข้องกับการเกษตรมากที่สุด แนวพระราชดำริในการพัฒนาการเกษตรนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพืชพันธุ์ใหม่ๆ ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืชและพันธุ์สัตว์ต่างๆ ทรงมีพระราชประสงค์ให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ ทรงเน้นการประหยัดและลดค่าใช้จ่ายในการผลิต ไม่ใช่มุ่งปริมาณจำนวนมาก แต่ไม่คุ้มค่าใช้จ่ายที่ลงไป ทรงให้อาศัยพึ่งพาธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญ อีกทั้งให้เกษตรกรมีโอกาสเรียนรู้และเห็นตัวอย่างความสำเร็จของการผลิตในพื้นที่ต่างๆ แล้วนำไปปรับใช้กับการเพาะปลูกของตน ทรงใช้พระพระราชวังของพระองค์เป็นสถานที่ทดลองค้นคว้า แล้วกระจายสิ่งที่ประสบความสำเร็จไปสู่เกษตรกร
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน จึงเป็นพระราชวังแห่งเดียวในโลก ที่ไม่ได้โอ่อ่าสง่างามเหมือนที่ประทับของกษัตริย์ทั่วโลก ไม่ได้มีพระราชอุทยานที่อวลไปด้วยกลิ่นดอกไม้และน้ำพุ แต่กลับมีนาข้าว มีบ่อเลี้ยงปลา มีคอกวัว มีสวนป่า มีโรงเพาะเห็ด มีโรงสี มีโรงงานทดลองต่างๆ ซึ่งทุกโครงการล้วนแต่เป็นงานทดลองด้านการเกษตรและจากผลิตผลทางการเกษตร อันเป็นอาชีพพื้นฐานของราษฎรไทย เมื่อได้ผลแล้วจึงกระจายไปทั่วประเทศ
คงจะหาพระราชวังแบบนี้ที่ไหนอีกไม่ได้ในโลก
ในปี ๒๕๐๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมการข้าว กระทรวงเกษตรฯ นำข้าวพันธุ์ดีสำหรับนาดำและนาหว่านมาปลูกทดลองในสวนจิตรลดา แล้วนำพันธุ์ที่ผ่านการทดสอบแล้วพระราชทานแก่ชาวนาต่อไป
ในการนี้ หม่อมราชวงศ์เทวฤทธิ์ เทวกุล นำควายเหล็กหรือรถไถ ๖ ล้อ ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ๘.๕ แรงม้าไปใช้ในการเตรียมดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานคำแนะนำในการปรับปรุงควายเหล็กให้เหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้น ทรงขับรถไถเพื่อเตรียมดินด้วยพระองค์เอง ทรงพระดำเนินลงแปลงนาสาธิตเป็นประจำ เพื่อทอดพระเนตรและเก็บข้อมูลการเติบโตของต้นข้าวที่ทรงหว่านทุกระยะจนถึงการเก็บเกี่ยว จึงทรงทราบถึงอุปสรรคที่ชาวนาต้องประสบและหาวิธีแก้ไข
ทรงมีพระราชดำรัสกับผู้นำชาวนาทั่วประเทศครั้งหนึ่งว่า
“....ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาและทดลองทำนามาบ้าง และทราบดีว่า การทำนานั้นมีความยากลำบากเป็นอุปสรรคอยู่มิใช่น้อย จำเป็นต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดีและต้องใช้วิธีการต่างๆ ด้วยจึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน อีกประการหนึ่ง ที่นานั้นเมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้วควรจะปลูกพืชอื่นๆบ้าง เพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วนช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป....”
นับแต่นั้นจนปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอพระราชทานพันธุ์ข้าวจากนาทดลองในสวนจิตรลดาไปใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และบรรจุซองเล็กๆ จัดเป็นพันธุ์ข้าวมงคลแจกจ่ายแก่เกษตรกรทั่วไป
โรงสีก็เป็นปัญหาใหญ่ของชาวนาอีกอย่าง ทรงห่วงใยที่ชาวนาขายข้าวเปลือกในราคาถูกแล้วต้องซื้อข้าวสารราคาแพงบริโภค โรงสีข้าวตัวอย่างของสวนจิตรลดาจึงเกิดขึ้นและเริ่มสีข้าวเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๔ เป็นตัวอย่างให้ชาวนารวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์จัดตั้งโรงสีขึ้นเอง แทนที่จะจ้างคนอื่นสีหรือขายข้าวเปลือกในราคาถูก
ส่วนแกลบที่เป็นผลพลอยได้มาจากการสีข้าว ก็ถูกนำมาบดแล้วอัดเป็นเชื้อเพลิงแท่ง นำมาทดลองเผาทำเป็นถ่านได้ในปี ๒๕๒๙ ต่อมาในปี ๒๕๓๐ ก็ผลิตเชื้อเพลิงเขียวจากแกลบบด ชานอ้อย เปลือกส้ม ผักตบชวา ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากโครงการส่วนพระองค์ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงต่อไป รวมทั้งมีการนำแกลบมาผสมกับปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยคอกชนิดต่างๆ จำหน่ายให้เกษตรกรด้วย
การเก็บข้าวเปลือกก็เป็นปัญหาของชาวนา ที่ถูกทำลายด้วยน้ำฝนและสัตว์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริให้ทดลองเก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางแบบต่างๆ เพื่อหาวิธีที่สูญเสียน้อยที่สุด ในสวนจิตลดาจึงมียุ้งข้าวเปลือก ๒ แบบ คือยุ้งเหล็กหรือไซโลของนิวซีแลนด์ และฉางไม้แบบสหกรณ์
โครงการส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเลี้ยงปลา เริ่มขึ้นในปี ๒๔๙๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลี้ยงปลาหมอเทศในสระบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมาได้พระราชทานพันธุ์ปลาหมอเทศแก่ผู้ใหญ่บ้านและกำนันทั่วประเทศเพื่อนำไปเลี้ยงขยายพันธุ์ต่อไป
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๐๘ สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็นเจ้าชายอากีฮิโต มกุฎราชกุมาร ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพันธุ์ปลาจากประเทศญี่ปุ่น ๕๐ ตัว ทรงปล่อยเลี้ยงไว้ในบ่อสวนจิตรลดา และพระราชทานชื่อพันธุ์ปลานั้นว่า “ปลานิล” ซึ่งขณะนี้ปลานิลเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่ง
มีนาข้าว มีโรงสี มียุ้งฉาง มีบ่อปลา มีโรงทำถ่านแล้ว ใครจะเชื่อว่าในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานยังมีป่าไม้ เป็นโครงการป่าไม้สาธิตในพระราชดำริมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ เกิดขึ้นขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน เมื่อเสด็จฯถึงบริเวณอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ทอดพระเนตรเห็นต้นยางขนาดใหญ่เรียงรายอยู่สองข้างทาง จึงมีพระราชดำริที่จะสงวนป่ายางนี้ไว้เป็นสวนสาธารณะ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะเป็นที่ดินของราษฎร จึงมีพระราชปรารภว่า
“...ไม้ยางนาในประเทศไทยได้ถูกตัดฟันไปใช้สอย และทำเป็นสินค้ากันเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี เป็นที่น่าวิตกว่าหากมิได้ทำการบำรุงส่งเสริมและดำเนินการปลูกยางนาขึ้นแล้ว ปริมาณไม้ยางอาจจะลดน้อยลงทุกที จึงควรที่จะได้มีการดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับการปลูกไม้ยางนา เพื่อจะได้นำความรู้ไปใช้ในทางปฏิบัติ....”
โปรดเกล้าฯให้เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเก็บเมล็ดยางนาจากป่าสองข้างทางนำไปเพาะที่พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล จากนั้นจึงนำต้นอ่อนมาชำที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และนำไปปลูกในแปลงทดลองเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๐๔ ซึ่งเป็นวันประสูติของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร จำนวน ๑,๐๙๖ ต้น และทรงพระราชทานสถานที่ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐานให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินงานวิจัย
ปัจจุบันแปลงทดลองปลูกไม้ยางนาในบริเวณสวนจิตรลดา ได้กลายเป็นสวนป่าไม้ยางนากลางเมืองที่อุดมสมบูรณ์ร่มรื่น และกลายเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้เรื่องการเพาะพันธ์ไม้
ในปี ๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงโคนมขึ้นในสวนจิตรลดา มีผู้ถวายโคมนม ๖ ตัว ซึ่งในจำนวนนี้ตั้งท้องถึง ๔ ตัว เมื่อตกลูกแล้วจึงรีดนมขายข้าราชบริพารในสวนจิตรลดา โรงโคนมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาทดลอง คัดเลือกปรับปรุงพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย การเลี้ยงดูแม่โคนม การดูแลโคนมพักท้อง การดูแลโคสาวและลูกโค ตลอดจนการรีดนม เพื่อเป็นแบบอย่างส่งเสริมการเลี้ยงโคนมให้เผยแพร่ออกไป ผลสำเร็จที่สำคัญจากโครงการนี้แห่งหนึ่งก็คือ สหกรณ์โคนมหนองโพ ราชบุรี เจ้าของสโลแกน “นมสดหนองโพ นมโคแท้ๆ”
ปัญหาอย่างหนึ่งของผู้ที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงโคนมก็คือ การจำหน่ายไม่หมด เก็บไว้ก็เสีย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สร้างโรงงานผลิตนมผงขนาดย่อมขึ้น โดยให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการเกษตรเป็นผู้ออกแบบ และเสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงงานเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๑๒ มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
“....วันนี้จึงเป็นวันสำคัญ เพราะว่าโรงงานนี้จะเป็นตัวอย่าง และดำเนินการเป็นตัวอย่างสำหรับกสิกรและผู้ที่สนใจในการผลิตนมในประเทศไทย โรงงานนี้เป็นแห่งแรกที่ทำขึ้นมาในเมืองไทย และก็เป็นที่น่าภูมิใจว่า เป็นคนไทยได้ออกแบบและเป็นผู้สร้าง ขอให้ถือว่าโรงงานนี้เป็นโรงงานตัวอย่าง ใครอยากได้ความรู้ ใครอยากที่จะทำกิจการโคนมให้สำเร็จ ให้ก้าวหน้า และเป็นประโยชน์ต่อตน ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของบ้านเมือง ให้มาดูกิจการได้ทุกเมื่อ และถ้ามีปัญหาอะไร มีความคิดอะไร ให้แสดงออกมา บางทีบางคนอาจจะได้เกิดความคิดอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมที่ทางนี้ไม่ได้คิด ก็จะเป็นประโยชน์ที่จะร่วมแรงกันในทางความคิด เพื่อความก้าวหน้าของกิจการโคนมของประเทศไทย....”
ต่อมาได้มีการสร้างโรงงานนมผงขึ้นใหม่ในปี ๒๕๒๕ และในปี ๒๕๒๗ ก็จัดตั้งโรงนมอัดเม็ดสวนดุสิต ทั้งยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ใช้นมเป็นวัตถุดิบอีก เช่น เนยแข็งสวนจิตรลดา ไอศกรีม ทอฟฟี่นมสด นมปราศจากไขมัน เนยสด คุกกี้เนยสด โยเกิร์ตพร้อมดื่ม นมข้นหวาน นมผงหวานชนิดกระป๋องและชนิดถุง เป็นต้น
ปัจจุบัน นมอัดเม็ดจากพระราชวังสวนจิตรนี้ หาได้ยากยิ่งในร้านค้า เพราะถูกนักท่องเที่ยวจีนรุมกวาดกันไปเกลี้ยงตลาด
ในโครงการเลี้ยงโคนมนี้ ยังมีการนำมูลโคไปผลิตเป็นแก๊สชีวภาพ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานผลิตน้ำผลไม้และศูนย์รวมนมอีกด้วย
ไม่แต่เพียงแค่นี้ น้ำจากการหมักมูลโคที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตแก๊สชีวภาพ ยังถูกนำมาเป็นน้ำเพาะสาหร่ายเกลียวทอง ซึ่งเป็นพืชที่มีโปรตีนสูงร้อยละ ๖๗ ถึง ๗๐ นำไปเป็นส่วนผสมของอาหารร่วมกับเนื้อปลาอีกด้วย
ดินพรุในจังหวัดทางภาคใต้นั้นเป็นดินเปรี้ยวจัด ราษฎรไม่สามารถทำการเกษตรได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงนำเรื่องนี้มาเป็นพระราชภาระหาทางแก้ไข ในปี ๒๕๒๘ จึงเกิดโรงปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นในสวนจิตรลดาพร้อมกับโครงการปรับปรุงดินพรุ นำดินพรุจากภาคใต้มาทดลองผสมสารต่างๆ เพื่อลดความเป็นกรด จนเกิดโครงการ “แกล้งดิน” พร้อมกันนั้นก็นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เศษวัชพืชต่างๆ รวมทั้งน้ำกากส่าซึ่งเป็นน้ำทิ้งจากโรงงานผลิตแอลกอฮอล์ มาผลิตเป็นปุ๋ยหมัก ทั้งศึกษาสายพันธุ์จุลินทรีและไส้เดือนแดงที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้ในการเกษตร ทรงตระหนักถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวในการกำจัดขยะลดมลพิษจากขยะมูลฝอย และนำสิ่งที่ไร้ประโยชน์แล้วมาสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาล กลับกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชได้อีก
ส่วนโครงการเพาะเห็ดได้เริ่มขึ้นในปี ๒๕๓๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวพระราชดำริให้นำฟางที่เหลือจากแปลงนาสาธิตซึ่งเป็นโครงการแรกในสวนจิตรลดาและแกลบที่เหลือจากโรงสีข้าวนำมาศึกษาเพื่อใช้ในการเพาะเห็ด โดยได้รับความร่วมมือสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและฟาร์มเห็ดอรัญญิก เริ่มต้นจากการเพาะเห็ดฟางอุตสาหกรรม เห็ดนางฟ้า รวมทั้งการพัฒนาเห็นหลินจือหรือเห็ดหมื่นปี ที่มีความสำคัญทางเภสัชในการบำบัดโรคเกี่ยวกับระบบหายใจและการไหลเวียนโลหิต นำไปอบแห้งบรรจุถุงออกจำหน่าย จนในปี ๒๕๓๙ จึงนำมาสกัดบรรจุในแคปซูล ผ่านกระบวนการฉายรังสีแกรมมา เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ต่างๆ ที่ปนเปื้อนมากับการผลิต
โครงการส่วนพระองค์ในสวนจิตรลดา ยังมีโครงการที่น่าสนใจอีกโครงการหนึ่งก็คือ โรงหล่อเทียนหลวง ซึ่งถือกำเนิดด้วยทรงพระราชวินิจฉัยว่า ราชสำนักมีความจำเป็นในการใช้เทียนประกอบพระราชพิธีต่างๆ ดังนั้นในปี ๒๕๒๙ จึงจัดสร้างโรงหล่อเทียนหลวง ปรับปรุงเทียนขี้ผึ้งให้มีคุณภาพ เพื่อใช้ในงานราชพิธีต่างๆ ช่วยฝึกหัดบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการฟั้นเทียนด้วยมือ ช่วยลดงบประมาณแผ่นดินในการจัดซื้อเทียน จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวัง และช่วยส่งเสริมอาชีพเลี้ยงผึ้งภายในประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานข้อแนะนำต่างๆ และมี อาจารย์พจน์ศิลป์ หวลมานพ อาจารย์หล่อจากวิทยาลัยเขตเพาะช่าง มาช่วยจนสำเร็จ ทำให้โรงหล่อเทียนหลวงจัดหล่อเทียนพรรษาได้สมบูรณ์ตามจำนวนที่พระราชทานประจำปีจำนวน ๔๐ ต้นต่อปี ส่วนเทียนสลักประจำวัดหลวง โรงหล่อเทียนหลวงได้จัดทำแม่พิมพ์ใหม่โดยใช้ยางซิลิโคน สามารถหล่อได้เทียนสลักที่มีลวดลายคมชัดสวยงาม
กระดาษสา ก็เป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ทรงสร้างเป็นอาชีพแก่ราษฎร มีพระราชดำริให้นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง ในฐานะผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา สร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติใช้เป็นโรงกระดาษสาขึ้น และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวโรกาสสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕
อาคารเฉลิมพระเกียรติเป็นเรือนไทยผสมผสานความงามระหว่างสถาปัตยกรรมเก่ากับใหม่ โดยนำไม้สักเก่าที่ก่อสร้างในรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ ภายในพระบรมมหาราชวัง หลังการรื้อถอนเพื่อทำการบูรณะใหม่เมื่อครั้งฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี มาตกแต่งภายในอาคาร เช่นคาน เสา ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน เป็นต้น
การดำเนินงานของโรงกระดาษสา ได้รับคำแนะนำของสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์บริการ และสำนักงานพลังงานแห่งชาติ มีการผลิตกระดาษสาในแบบเชิงช้อนหรือแบบบาง และแบบแตะหรือแบบหนา ส่วนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกระดาษสาเริ่มในปี ๒๕๓๖ เริ่มจากการประดิษฐ์ดอกไม้ชนิดต่างๆ ทำกรอบรูป กล่องใส่เครื่องประดับ บัตรอวยพรต่างๆ เป็นต้น อีกทั้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประทานคำแนะนำการผลิตกระดาษสาลวดลายธรรมชาติ โดยใช้ดอกไม้ชนิดต่างๆ เช่น เฟื่องฟ้า เข็ม กุหลาบ เล็บครุฑ ใบสน ใบไผ่ ประดับให้เกิดความสวยงาม และยิ่งเพิ่มค่ามากขึ้นเมื่อนำมาประดิษฐ์เป็นงานหัตถกรรมต่างๆ เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนในปี ๒๕๓๗ จึงมีการเปิดหลักสูตรวิชาชีพฝีมือกระดาษสาให้แก่นักศึกษาวิทยาลัยวังชาย และแพร่หลายไปสู่ประชาชนทั่วไป
นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่วนพระองค์ ภายในพระราชวังที่มีแบบฉบับไม่เหมือนพระราชวังแห่งใดในโลก ซึ่งได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างมหาศาล