xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มผู้พิการทางสายตา เข้าถวายสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ ๙

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กลุ่มผู้พิการทางสายตาจากมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เบื้องหน้าพระบรมโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

วันนี้ (20 พ.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น. ผู้พิการทางสายตาจำนวน 300 คน และจิตอาสา 100 คน รวม 400 คน จากสมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ภายใต้การดำเนินงานของ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เข้าถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เบื้องหน้าพระบรมโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

นายรัชตะ มงคล อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดฯ กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อผู้พิการทางสายตา ด้วยความซาบซึ้งว่า โรงเรียนสอนคนตาบอดฯ จึงถือกำเนิดขึ้นมาด้วยแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเห็นคุณค่าของผู้พิการทางสายตา ที่สามารถมีศักยภาพในการเรียนหนังสือ มิใช่เพียงอยู่บ้านเฉยๆ เท่านั้น เพราะเมื่อพวกเขาเหล่านั้นสำเร็จการศึกษาก็จะสามารถดูแลตัวเองและผู้อื่นได้เป็นอย่างดี พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สร้างโรงเรียนคนตาบอดในกรุงเทพฯ ขึ้นมา

“สมัยก่อนพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล เสด็จฯไปที่โรงเรียนบ่อยมาก เพื่อไปทรงเยี่ยมเยียนนักเรียนผู้พิการทางสายตา หลายครั้งที่พระองค์โปรดที่จะเล่นกับเด็กๆ โดยทรงส่งสัญญาณมายังอาจารย์ที่สายตาปกติว่าไม่ให้บอกว่าพระองค์คือใคร จากนั้นก็จะทรงใช้พระนามย่อว่า “พล” เล่นกับเด็กๆ แทน อีกทั้งยังทรงเป็นพระอาจารย์ทรงสอนวิชาดนตรีให้แก่ผู้พิการทางสายตาอีกด้วย”

นอกจากนี้ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อผู้พิการทางสายตาเรื่อยมา ทุกปีจะทรงมีพระราชทานเลี้ยงอาหารอาจารย์และนักเรียนผู้พิการทางสายตาที่พระราชวังพญาไท พร้อมทรงแซกโซโฟนพระราชทานแก่ทุกคน ที่สำคัญ ด้วยทรงพระราชประสงค์อยากให้ผู้พิการทางสายตาทุกคนลุกขึ้นมาต่อสู้กับชีวิตไม่ท้อถอยกับโชคชะตา พระองค์จึงทรงพระราชนิพนธ์บทเพลง “ยิ้มสู้” ขึ้นมาเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ผู้พิการทุกคนมีกำลังใจในชีวิตต่อไป

นายรัชตะ กล่าวต่อว่า วันนี้ก็ถือเป็นอีกครั้งที่ผู้พิการทางสายตาทุกคนที่เคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จะมาแสดงความกตัญญูและร่วมถวายความอาลัยแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล เป็นครั้งสุดท้ายในฐานะลูกที่ดีของพ่อ จากนี้ต่อไปถึงแม้จะไม่มีพ่ออยู่แล้ว แต่พวกเราทุกคนจะน้อมนำหลักคำสอนและพระราชจริยวัตรของพระองค์ท่านมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตต่อไป

“ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า พระองค์ท่านจะมีอาการพระประชวรมากเพียงใดก็ตาม แต่ก็มิเคยหยุดการทรงงานเพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชนเลย ดังนั้น พวกเราทุกคนร่างกายไม่ได้ป่วยไข้เพียงแค่มีความบกพร่องทางสายตาเท่านั้น เราจะมุ่งมั่นทำสิ่งที่ดีเพื่อตอบแทนสังคมเท่าที่จะทำได้ ไม่ใช่ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รับเพียงฝ่ายเดียว ต้องเป็นผู้ให้ที่ดีด้วย” นายรัชตะ กล่าวด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น

ด้าน น.ส.สุชัญญา วิศรุตไภศาล อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ และ นายวุฒิชัย แซ่ลี้ อายุ 19 ปี นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ร่วมกันกล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้มาสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตที่ได้มากราบพระองค์ ตั้งแต่ตอนที่พวกตนยังเด็กก็ได้ทราบข่าวพระราชกรณียกิจต่างๆ จากข่าวพระราชสำนัก ทำให้ทราบว่าพระองค์ทรงงานหนักมาก แม้ว่าพวกตนเป็นผู้พิการทางสายตา แต่พระองค์ก็ยังทรงนึกถึงและไม่ทอดทิ้ง พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เพลง “ยิ้มสู้” เพื่อให้กำลังใจคนตาบอดด้วย ยิ่งทำให้พวกตนรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

ส่วน น.ส.พรรณี สงคราม อายุ 70 ปี หนึ่งในคณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้มาถวายสักการะพระบรมศพ เพราะซาบซึ้งที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เคยเสด็จฯ ไปทรงเปิดอาคารเรียนใหม่ นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดงานเลี้ยงปีใหม่ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานให้นักเรียนโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ และทรงดนตรีให้ฟัง และทรงให้พระราชโอรสและพระราชธิดาแจกอาหารให้กับผู้พิการทางสายตาอย่างไม่ถือพระองค์ สร้างความปลื้มปีติเป็นอย่างมาก เพราะขนาดพระองค์ท่านทรงเป็นพระมหากษัตริย์แต่ก็ทรงเป็นห่วงและรักพวกเราไม่ต่างจากประชาชนคนอื่นๆ เป็นแรงบันดาลใจให้รู้จักช่วยตัวเอง มีมานะ ต้องให้กำลังใจตัวเองเป็นคนดีของสังคม

ขณะที่ นายช่วง โพธิรัญ อายุ 68 ปี ผู้บกพร่องทางสายตา จาก อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม มาในฐานะศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กล่าวว่า พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณกับคนพิการ โดยเฉพาะคนตาบอด เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2500 กว่า ได้เสด็จฯ พร้อม สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ไปพระราชทานเลี้ยงอาหารที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ช่วงปีใหม่ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์มองและปฏิบัติต่อคนตาบอดเสมือนคนทั่วไป ทำให้ทุกวันนี้คนตาบอดหากมีศักยภาพและความสามารถก็มีโอกาสได้เหมือนคนทั่วไป ตั้งแต่เข้าไปเรียนได้ในสถาบันการศึกษาทั่วไป สามารถสอบชิงทุนไปเรียนสถาบันอุดมศึกษาต่างประเทศจนขณะนี้มีคนตาบอดเรียนจบปริญญาเอกเป็น ดร. ก็หลายคน นอกจากนี้ ยังมีโอกาสทำงานประกอบอาชีพมากขึ้น อย่างตนที่ประกอบอาชีพหมอนวด


















กำลังโหลดความคิดเห็น