xs
xsm
sm
md
lg

ฟังเพลงฯ “พ่อ” คราใด..น้ำตาไหล..(ตอนหนึ่ง)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สอดแนมการเมือง”
โดย “ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”

ย้อนอดีตหลายสิบปีที่ผ่านมา ณ “ท่าน้ำเขียวไข่กา” บางกระบือ

เด็กชาย “แมลงปอ” นั่งมองเรือยนต์ ลากจูงเรือเอี้ยมจุ๊นขบวนยาวเหยียด แล่นทวนน้ำไปทางวัดอรุณ เหยี่ยวตัวหนึ่งบินวนเหนือแม่น้ำเจ้าพระยา ชั่วครู่..ก็ทิ้งตัวโฉบวูบลงสู่ผิวน้ำ..

เหยี่ยวตัวนั้นโผขึ้นสู่ฟ้าอีกครา พร้อมปลาดิ้นกระแด่วๆในอุ้งเล็บ มันกระพือปีกบินหายลับไปทางทิศเหนือ โชคร้ายของปลา คือโชคดีของเหยี่ยว ด้วยว่า ปลากลายเป็น “อาหารมื้อเย็น” ของเหยี่ยวและลูกในรวงรัง

..แดดรอนรอน เมื่อทินกรจะลับเหลี่ยมเมฆา ทอแสงเรืองอร่ามช่างงามตา ในนภาสลับจับอัมพร..

เสียงเพลงไพเราะคุ้นหูดังจากบ้านหลังหนึ่ง “แมลงปอ” เดินเลียบริมแม่น้ำไปยังห้องแถวไม้ ที่เป็นทั้งร้านกาแฟ “ง่วน ยู่ เชียง” และ “บ้าน”

เช้าวันใหม่.. “แมลงปอ ” ตื่นแล้ว..แต่ยังนอนฟังเพลงไพเราะคุ้นหูจากวิทยุทรานซิสเตอร์..

..จุดเทียนบวงสรวงปวงเทพเจ้า สวดมนต์ค่ำเช้าถึงคราวระทมทน โอ้ชีวิตหนอล้วนรอความตายทุกคน หลีกไปไม่พ้นทุกข์ทนอาทรร้อนใจ ต่างคนเกิดแล้วตายไป ชดใช้เวรกรรมจากจร นิจจังสังขารนั้นไม่เที่ยงเสี่ยงบุญกรรม ทุกคนเคยทำกรรมไว้ก่อน เชิญปวงเทวดาข้าไหว้วอน ขอพรคุ้มไปชีวิตหน้า..

“เฮ้ย!..มัวแต่นอนฟังเพลง..ไปโรงเรียนได้แล้ว!” เสียงแม่นั่นเอง..ที่เร่งให้รีบไปโรงเรียน แต่ผมฉุกคิดได้ว่า “วันที่ 5 ธันวาคม” ของทุกปี คือ วันเฉลิมพระชนมพรรษา “ในหลวงรัชกาลที่เก้า”

“วันนี้โรงเรียนหยุด..ครับแม่..”

“วันเฉลิมฯ” ..มิน่าล่ะ..สถานีวิทยุทุกคลื่น จึงพากันเปิดเพลงพระราชนิพนธ์ ของ “ในหลวงรัชกาลที่เก้า” ซึ่งไพเราะคุ้นหูคนไทยทั้งชาติ..ฟังแล้วมีความสุขจัง..

วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 “ในหลวงรัชกาลที่เก้า” สวรรคต..เสด็จสู่สวรรคาลัย!

พลัน..เสียงเพลงพระราชนิพนธ์ฯ ก็ดังทั้งชาติไทย เพลงเคยฟังแล้วมีความสุขในวันวาน ยังคงไพเราะคุ้นหูเช่นเดิมไม่ผันแปร ทว่า..ฟังครานี้เศร้า “น้ำตา” ไหลท่วม “หัวใจชาวไทย”

ชาวไทยทั้งชาติแต่งชุดดำไว้อาลัย พากันเดินทางจากทั่วทุกสารทิศมุ่งสู่วัดพระแก้ว เพื่อเคารพพระบรมศพหน้าพระบรมโกฏิ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช องค์มหาราช-ที่ปวงชนชาวไทยรักเทิดทูนเหนือชีวิต

นับจากวันนั้นจรดวันนี้ เสียงเพลงพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ “ในหลวงรัชกาลที่เก้า” ยังคงดังไปทั่วผืนแผ่นดินไทย จนเป็นแรงบันดาลใจให้ “แมลงปอ” อยากรู้ถึงพระราชประวัติของ “พระมหากษัตริย์-อัครศิลปิน” ทั้งในด้านจิตรกรรม ประติมากรรม การถ่ายภาพ หัตถศิลป์ วรรณศิลป์ วาทศิลป์ สถาปัตยศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ฯลฯ ด้วยการอ่านจากสื่อฯหลากหลายจนรู้ว่า..

“ในหลวงรัชกาลที่เก้า” ทรงเริ่มเล่นดนตรี เมื่อมีพระชนมายุ 13 พรรษา ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กับครูชาวอัลซาส ชื่อ Way Brecht พระองค์ทรงเรียนเป่าแซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ต และดนตรีคลาสสิก

ต่อมาจึงเริ่มฝึกดนตรีที่สนพระทัย นั่นคือ แจ๊ส โดยทรงเป่าสไตล์โซปราโน แซกโซโฟน ไปกับเพลงจากแผ่นเสียงวงดนตรีดัง เช่น Johnny Hodges และ Sidney Bechet เป็นต้น จนมีความชำนาญ ทรงเป่าสอดแทรกกับแผ่นเสียง ของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้เป็นอย่างดี ทรงโปรดดนตรีแจ๊สสไตล์ Dixieland Jazz เป็นอย่างมาก โดยทรงดนตรีแจ๊สได้ทั้งชนิดมีโน้ตและไม่มีโน้ต

“ในหลวงรัชกาลที่เก้า” ทรงรอบรู้เรื่องดนตรีเป็นอย่างดี และทรงดนตรีได้หลายชนิด เช่น แซกโซโฟน คลาริเน็ต ทรัมเปต กีตาร์ เปียโน แตร ขลุ่ย ทรงโปรดดนตรีแจ๊สเป็นอย่างมาก และพระองค์ได้ทรงนิพนธ์เพลงที่มีความหมาย และไพเราะหลายเพลงด้วยกัน

พระราชนิพนธ์ แสงเทียน เป็นเพลงแรก ตามด้วย สายฝน ยามเย็น ใกล้รุ่ง ลมหนาว ยิ้มสู้ ค่ำแล้ว ไกลกังวล ความฝันอันสูงสุด เราสู้ และเพลงพรปีใหม่ ที่ชาวไทยร้องกันทั้งชาติในวันขึ้นปีใหม่

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าไว้ในบทพระนิพนธ์ “เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์” ความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อถึงเวลาสนพระทัยแผ่นเสียงก็แข่งกันอีก รัชกาลที่ 8 ทรงเลือก Louis Armstrong, Sidney Bechet รัชกาลที่ 9 ทรงเลือก Duke Ellington, Count Basie เกี่ยวกับการซื้อแผ่นเสียงนี้ ถ้าเป็นแจ๊สต้องซื้อเอง ถ้าเป็นคลาสสิกเบิกได้

...สิ่งที่ทรงเล่นมาด้วยกันเป็นเวลานานคือดนตรี รัชกาลที่ 8 ทรงเริ่มด้วยเปียโน เพราะเห็นข้าพเจ้าเรียนอยู่ รัชกาลที่ 9 ขอเล่นหีบเพลง (Accordion) เรียนอยู่ไม่กี่ครั้งก็ทรงเลิก “เพราะไม่เข้ากับเปียโน” แล้วรัชกาลที่ 9 ก็ทรงเลิกเรียนเปียโนไป เมื่ออยู่อาโรซ่า เวลาหน้าหนาว ได้ทอดพระเนตรวงดนตรีวงใหญ่ที่เล่นอยู่ในโรงแรม รู้สึกอยากเล่นกัน ทรงหาแซกโซโฟนที่เป็นของใช้แล้ว (Second hand) มาได้ ราคา 300 แฟรงค์ แม่ออกให้ครึ่งหนึ่งและสโมสรปาตาปุมออกให้อีกครึ่งหนึ่ง

เมื่อครูมาสอนที่บ้าน รัชกาลที่ 8 ทรงดันพระอนุชาเข้าไปในห้องเรียน รัชกาลที่ 9 จึงเป็นผู้ริเริ่ม เมื่อเรียนไปแล้ว 2-3 ครั้ง รัชกาลที่ 8 ทรงซื้อคลาริเน็ต (clarinet) ส่วนพระองค์ วันเรียน ครูสอนองค์ละ 30 นาที แล้วครูก็เอาแซกโซโฟน (saxophone) ของเขาออกมาและเล่นด้วยกันทั้ง 3 เป็น Trio”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในบทพระราชนิพนธ์ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาดนตรี” ความตอนหนึ่งว่า

“สำหรับแตรนั้นสนพระราชหฤทัยจึงไปเช่ามาเป็นแตรคอร์เน็ต อีกหลายปีจึงทรงซื้อเอง ดูเหมือนว่าแตรทรัมเปตเครื่องแรกที่ทรงซื้อ เป็นแตรยี่ห้อเซลเมอร์ สั่งซื้อจากอังกฤษ แต่เป็นของฝรั่งเศส (เครื่องนี้พระราชทานวงสุนทราภรณ์ไป) จึงซื้อใหม่ยี่ห้อเซลเมอร์เหมือนกัน ครูเวย์ เบรซท์บอกว่า แตรดีที่สุดคือยี่ห้อกูร์ตัว แต่ไม่ได้ทรงซื้อ..

..นอกจากทรงเล่นดนตรีแล้ว ยังทรงสอนดนตรีให้ผู้อื่นเล่นอีกด้วย เคยเล่าพระราชทานว่า

“ได้สอนคนตาบอดเล่นดนตรี สอนลำบากเพราะเขาไม่เห็นท่าทาง เมื่อพยายามอธิบายจนเข้าใจสามารถเป่าออกมาเป็นเพลงไพเราะได้ หรือแม้แต่โน้ตเดียวในตอนแรก ดูสีหน้าเขาแสดงความพอใจและภูมิใจมาก”

“ในหลวงรัชกาลที่เก้า” ทรงจริงจังกับการนิพนธ์เพลง เมื่อมีพระชนมายุ 18 พรรษา ขณะยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระอนุชา ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัติพระนคร เมื่อปี 2488 ดังที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ บันทึกไว้ว่า

“5 ธันวาคม 2488 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทยพร้อมพระอนุชาและสมเด็จพระราชชนนี ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ได้โปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าในฐานะนักแต่งเพลงสมัครเล่น ได้นำโน้ตที่ได้แต่งไว้แล้วถวายทอดพระเนตร พระราชทานข้อแนะนำเกี่ยวกับการแต่งเพลงประเภทบลูส์

โดยทรงเปียโนสาธิตให้ฟัง และสมเด็จพระอนุชามาใส่คำร้อง เพลงแสงเทียน ยามเย็น สายฝน ตามลำดับ แต่เพลงยามเย็นและเพลงสายฝน ได้นำออกสู่ประชาชนก่อนเพลงแสงเทียน โดยพระราชทานให้ออกบรรเลงในงานลีลาศ ที่สวนอัมพรโดยวงดนตรีของกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) ควบคุมวงโดย เอื้อ สุนทรสนาน และออกอากาศทางวิทยุกรมโฆษณาการเป็นประจำ เป็นที่ซาบซึ้งและประทับใจพสกนิกรมาก..

จากนั้นฉันก็แต่งขึ้นอีกเรื่อยๆ จนบัดนี้รวมทั้ง 40 เพลง ในระยะเวลา 20 ปี คิดเฉลี่ยปีละ 2 เพลง ที่ทำได้ก็เพราะได้รับการสนับสนุนจากนักดนตรี นักเพลงและนักร้อง รวมทั้งประชาชนผู้ฟังต่างก็แสดงความพอใจและความนิยมพอควร จึงเป็นกำลังใจให้แก่ฉันเรื่อยมา”

เพลงพระราชนิพนธ์ของ “ในหลวงรัชกาลที่เก้า” ที่ไพเราะคุ้นหู “แมลงปอ” ในวัยเด็ก จนวัยกว่า 64 ปีแล้ว! ทุกบทเพลงฯ “พระมหากษัตริย์-อัจฉริยะ-อัครศิลปิน” ยังไพเราะอมตะนิรันดร์..

ทว่า..ยามนี้..ฟังเพลงฯ “พ่อ” คราใด..น้ำตาไหลท่วมหัวใจ..

(อ่านต่อฉบับหน้า)


กำลังโหลดความคิดเห็น