xs
xsm
sm
md
lg

จดหมายจากในหลวงเปลี่ยนชีวิต “น้ำขิง-ชลลดา” จากเด็กอายุ 6 ขวบที่เคยเขียนจดหมายถึงในหลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จากเด็ก 6 ขวบในวันนั้น จนวันนี้อายุ 16 ปีแล้ว น้ำขิง-ชลลดา พุ่มอิ่ม เธอยังจดจำความรู้สึกที่เขียนจดหมายถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้หายจากพระอาการประชวรได้เป็นอย่างดี แล้วการเขียนจดหมายในครั้งนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เธอและครอบครัวปลาบปลื้มใจไปตลอดชีวิตเมื่อมีจดหมายของทางสำนักพระราชวังตอบกลับมาว่า
จดหมายจากสำนักราชเลขาธิการ
ถึง เด็กหญิงชลลดา พุ่มอิ่ม

ตามที่ขอพระราชทานถวายพระพรชัยมงคล ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของคณะแพทย์ เพื่อถวายการรักษา เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๙ นั้น

ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงขอบใจ

สำนักราชเลขาธิการ
ลงวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๙

การได้รับจดหมายตอบกลับมาครั้งนั้นส่งผลให้เธอเปลี่ยนความคิด และการดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทางครอบครัวของน้ำขิงยังได้นำเอาพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาประยุกต์ให้เข้ากับอาชีพเกษตรกรรมที่ครอบครัวทำมาแต่แรกอีกด้วย และอนาคต ความฝันของเธอคือการเป็นหมอ เพราะอยากช่วยเหลือประชาชนตามรอยในหลวง

  • แรงบันดาลใจในการเขียนจดหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙

น้ำขิง : เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นหนูเห็นว่าท่านไม่สบาย หนูก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง อีกทั้งตอนนั้นก็ไม่ได้มีเทคโนโลยีอะไรแบบสมัยนี้เท่าไหร่ สิ่งเดียวที่เราจะทำได้ก็คือเขียนจดหมาย หนูก็เลยเขียนเองและส่งไปเองเลยค่ะ

ใจความที่เขียน เริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวก่อนว่าหนูชื่อเด็กหญิงชลลดา พุ่มอิ่ม เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนทานตะวันไตรภาษา เป็นลูกใครเราก็เขียน แล้วก็เขียนไปว่าขอให้ในหลวงหายป่วยไวๆ หนูรักในหลวงนะคะ อะไรประมาณนี้ค่ะ ใช้ภาษาเด็กๆ เขียนส่งไปเลยค่ะ

แต่จริงๆ ก่อนเขียน หนูปรึกษาคุณแม่เหมือนกันนะคะ ถามคุณแม่ว่าหนูจะเขียนจดหมายถึงในหลวง หนูจะใช้ภาษายังไงดี เพราะท่านก็เป็นถึงพระมหากษัตริย์ เราก็เคยดูหนังจักรๆ วงศ์ๆ บ่อย เห็นเวลาที่เขาพูด เขาจะใช้คำราชาศัพท์กัน หนูก็เลยถามแม่ว่าหนูต้องใช้คำแบบไหน แม่ก็บอกว่าให้เราเขียนไปเลย ไม่ต้องสนใจว่าจะต้องเป็นคำราชาศัพท์หรือเปล่า ให้เขียนตามความรู้สึกของเราแบบธรรมดาไปเลยค่ะ (ยิ้ม)

คุณแม่ : ตอนนั้นนั่งดูโทรทัศน์ ดูหนังสือพิมพ์กัน ก็ได้เห็นข่าวว่าในหลวงท่านไม่สบาย อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช น้องน้ำขิงเขาก็มาบอกกับแม่ว่าในหลวงท่านไม่สบาย หนูอยากเขียนจดหมายหาในหลวง หนูทำได้ไหม ตอนนั้นแม่ก็บอกไปว่าทำได้ น้องเขาก็ถามว่าหนูจะเขียนยังไง ปกติจะดูหนังจักรๆ วงศ์ๆ ที่มีพระเจ้าอยู่หัว เขาใช้คำราชาศัพท์กันต้องเขียนแบบนั้นไหม แต่แม่ก็แนะนำไปว่าไม่ต้อง หนูอยากเขียนยังไง หนูเขียนไปเลย แล้วเขาก็บอกว่าหนูเขียนแล้วหนูให้แม่อ่านนะ เขาก็นั่งเขียนของเขา เขียนเสร็จก็ให้เราอ่าน เขาบอก แม่ส่งให้หนูนะ

ตอนนั้นแม่ก็คิดแล้วนะว่าเราจะส่งที่ไหน เลยไปถามเพื่อนที่ทำงานว่าถ้าจะเขียนจดหมายหาในหลวงแล้วจะส่งไปให้ท่าน จะส่งได้ที่ไหน เพื่อนก็ถามมาว่าจริงเหรอ เขาก็เลยแนะนำให้ส่งไปที่สำนักพระราชวัง กลับมาบ้าน เราเลยบอกลูกให้จ่าหน้าซองถึงในหลวง ส่งไปที่สำนักพระราชวัง เขตดุสิต กรุงเทพฯ แล้วก็เอาไปส่งไปรษณีย์ให้น้อง

  • รอนานไหมคะที่จดหมายจะตอบกลับมา แล้วพอมีจดหมายทางสำนักพระราชวังส่งกลับมา ความรู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง

น้ำขิง : หนูรอทุกวันเลย ประมาณหนึ่งเดือนได้ค่ะ ตอนนั้นหนูจะถามคุณแม่ทุกวันเลยว่าจดหมายถึงในหลวงไหม ท่านได้ตอบกลับมาหรือเปล่า ท่านได้อ่านหรือเปล่า ซึ่งหนูก็รอ และพอจดหมายส่งกลับมา หนูรู้สึกดีใจมากเลยนะคะ เพราะท่านเป็นถึงพระมหากษัตริย์เลยนะ แล้วจดหมายเราก็แค่เด็กเพิ่งจะ 6 ขวบเอง แต่ท่านก็เลือกที่จะตอบกลับ ตอนแรกหนูคิดว่าท่านงานยุ่ง ไม่สบายด้วย ท่านอาจจะไม่มีเวลาตอบกลับ ท่านจะมีเวลามาตอบเหรอ แต่ท่านกลับตอบ หนูก็ดีใจมากเลยค่ะ เป็นความปลื้มใจอย่างบอกไม่ถูก

ใจความในจดหมายตอบกลับมาว่า “ถึง ด.ญ.ชลลดา พุ่มอิ่ม ตามที่ขอพระราชทานถวายพระพรชัยมงคล ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของคณะแพทย์ เพื่อถวายการรักษา เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 นั้น ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงขอบใจ ลงวันที่ 4 กันยายน 2549”

ตอนนี้จดหมายฉบับนั้น คุณแม่นำไปใส่กรอบไว้ให้เรียบร้อยเลยค่ะ แต่ก่อนหน้านี้คุณแม่จะเก็บไว้ในห้อง ใส่ซองไว้ในลิ้นชักอย่างดีค่ะ ซึ่งสิบปีผ่านไป จดหมายก็ยังอยู่ในสภาพดีเหมือนเดิม ไม่ยับ ไม่เหลือง ยังใหม่อยู่เหมือนเดิมเลยค่ะ

คุณแม่ : น้องน้ำขิงถามแม่ทุกวันเลยนะคะว่าจดหมายหนูถึงในหลวงไหม ซึ่งเราก็บอกไม่รู้เหมือนกันนะ ใจเราก็คิดเหมือนกันนะคะว่าจะถึงหรือเปล่านะ แล้วที่วังเขาจะให้ท่านไหม ท่านจะมีเวลามาอ่านไหม ลูกก็ยังคงถามทุกวัน เราก็ได้แต่ตอบไปว่าเดี๋ยวก็คงจะถึงแล้ว เขาก็ถามๆ ว่าในหลวงจะตอบหนูไหม เราก็ได้แต่บอกไปว่าท่านงานเยอะนะลูกอาจจะยังไม่ได้ตอบนะ อะไรประมาณนี้ค่ะ

จนเวลาผ่านไปประมาณหนึ่งเดือน ก็มีจดหมายจากพระราชวังตอบกลับมา ตอนที่รับตอนแรก เราก็ตกใจ คำว่าสำนักพระราชวัง ตัวใหญ่มาก ตรงกลางซองเลย คิดว่าเราไปทำอะไรผิดหรือเปล่า เขาจะจับเราไหม ก็คิดอย่างนี้ พอเราเห็นชื่อลูกก็นึกสงสัยว่าน่าจะเป็นที่ลูกเขียน แต่ในใจก็ยังไม่คิดว่าในหลวงท่านตอบ พอเปิดอ่านเท่านั้นแหละมันดีใจจนบอกไม่ถูกเลยค่ะ (ยิ้ม)

  • ตอนนั้นอายุแค่ 6 ขวบเอง ถามตามตรงเราทราบไหมคะว่าในหลวงคือใคร

น้ำขิง : หนูรู้ค่ะ (ตอบเร็ว) เพราะว่าคุณพ่อคุณแม่จะสอนตลอด ทุกวัน อย่างเวลาเราออกไปข้างนอก เราก็จะเห็นรูปพระองค์ท่านตามสถานที่ต่างๆ แม้แต่ในบ้านเราก็มี ซึ่งเราก็จะเกิดความสงสัยตั้งแต่เด็กแล้วว่าท่านเป็นใคร ทำไมถึงมีรูปท่านติดอยู่เยอะจังเลย ทั้งในบ้าน ทั้งข้างนอกด้วย เขาคือใครกันนะ หนูก็จะถามคุณแม่ตลอด คุณแม่ก็จะคอยอธิบายให้ฟังว่าท่านคือในหลวงนะ ท่านทรงทำประโยชน์ให้กับประชาชนนะ แล้วเวลาที่เราเรียนที่โรงเรียน ครูก็จะสอนเรื่องเกี่ยวกับในหลวง ทั้งพระราชกรณียกิจ ได้เรียนรู้จากวิชาสังคม วิชาประวัติศาสตร์ ครูก็จะสอน และเราก็ได้อ่านหนังสือเวลาสอบ เราได้อ่านแล้ว เราก็ได้รู้มาโดยตลอดว่าท่านทำอะไรบ้าง ขณะที่คุณพ่อคุณแม่ก็จะสอนตลอดเวลา

ที่บ้านจะไม่ได้สอนให้หนูเทิดทูนแค่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์เดียวนะคะ แต่คุณแม่จะสอนให้เราเทิดทูนพระมหากษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 เลยค่ะ ว่าท่านชื่ออะไร ต้องรู้จักไว้นะ เราก็เลยได้รู้มาตลอดแล้วก็ซึมซับมาตลอดค่ะ

คุณแม่ : แม่จะคอยสอนลูกตลอด ในบ้านก็มีรูปในหลวง พระราชินี แล้วก็จะมีรูปกษัตริย์ 9 รัชกาลเลย ตรงนี้แม่จะติดไว้ตั้งแต่ก่อนหน้าที่น้องน้ำขิงจะเกิดแล้วนะคะ ตอนน้องเด็กๆ เขาก็จะถามตลอดว่าอันนี้รูปใคร ซึ่งเราก็จะต้องมีหน้าที่อธิบายว่าแต่ละพระองค์ชื่ออะไรบ้าง ท่านเป็นใคร มีบุญคุณกับแผ่นดินอย่างไร เพราะทุกวันนี้ที่เราอยู่บนผืนแผ่นดินไทยได้ก็เพราะท่าน เพราะในหลวงตั้งแต่รัชกาลไหนๆ มา ถ้าเราไม่มีท่านทั้งหมด แผ่นดินเราจะไม่เป็นแบบนี้ เราก็จะชี้ให้เขาดูตามรูป พอเขาโต เขาเริ่มที่จะรู้อะไรมากแล้ว เราก็จะคอยเล่าสู่กันฟังตลอด

เราจะมีหนังสือให้ลูกอ่านตลอดว่านี่ในหลวงนะ นี่พระราชินีนะลูก นี่ 9 รัชกาลนะลูก รัชกาลนี้ชื่ออะไร แต่ละรัชกาลทำประโยชน์อะไรให้กับคนไทยบ้าง อย่างรัชกาลที่ 5 ท่านเลิกทาสนะลูก ถ้าหากท่านไม่เลิกทาส ป่านนี้สงสัยเราก็จะต้องเป็นทาส หนูก็จะเป็นลูกทาสนะ หรือเราจะบอกให้ลูกดูในหลวงท่านเป็นตัวอย่าง อย่างเช่น เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของท่าน หรืออย่างสมัยที่บ้านเรา ที่ อ.บ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เป็นอำเภอที่แห้งแล้งที่สุด เรายังได้จากในหลวงท่านเลย ในหลวงท่านมีบุญคุณล้นเหลือมหาศาลนะ ถ้าไม่มีในหลวงไม่มี 9 รัชกาล เราจะได้อยู่กันอย่างนี้ไหม เราก็จะสอนไปอะไรทำนองนี้ค่ะ

แม่ว่าการปลูกฝังมันมีส่วนนะคะ พ่อแม่จะต้องปลูกฝังลูก ส่วนตัวเราจะสอนให้เขารู้จักกตัญญู คนเราต้องรู้จักกตัญญูต่อพ่อแม่ ต่อแผ่นดินเกิดของเรา เราจะบอกลูกตลอดว่าคนที่ไม่รู้จักกตัญญูต่อพ่อแม่ ผลจะออกมาเป็นยังไง ตัวอย่างก็มีเยอะแยะ ใครที่ไม่รู้จักกตัญญูต่อแผ่นดิน จะเป็นยังไง เราก็จะบอกตลอด

  • ส่วนตัวน้องน้ำขิง มีความประทับใจในพระองค์ท่านอย่างไรบ้างคะ

น้ำขิง : หนูได้เห็นพระองค์ท่านผ่านทางจอโทรทัศน์ และจากการที่เรียนมา ก็ได้รู้ว่าท่านทำอะไรเพื่อประชาชนบ้าง ท่านช่วยเหลือประชาชนโดยที่ไม่ได้หวังอะไรตอบแทนเลย ท่านใกล้ชิดกับประชาชนได้ทุกคน ยกตัวอย่างจากตัวหนูเอง ตอนที่ส่งจดหมายไป คือเราก็เป็นแค่เด็ก 6 ขวบเอง ลายมือก็ใหญ่ๆ เขียนแบบลายมือเด็กเลยค่ะ แต่ท่านก็ยังไม่มองข้าม เลยทำให้หนูรู้สึกว่าได้ใกล้ชิดท่าน ทั้งๆ ที่เราก็ไม่เคยได้พบท่านมาก่อน แต่เรากลับรู้สึกว่าเราได้อยู่ใกล้ๆ ท่าน เพราะว่าท่านไม่เคยมองข้ามพสกนิกรชาวไทยคนไหนแม้แต่คนเดียวเลยค่ะ ซึ่งท่านก็เข้ามาช่วยเหลือ ท่านลงมือ ลงแรงเข้ามาทำด้วยตัวเอง ไม่เคยเหน็ดเหนื่อย แล้วท่านก็สอนให้เรามีแนวทาง ให้เราได้ปฏิบัติตาม แล้วเกิดเป็นผลดีกับชีวิตจริงๆ

อีกอย่าง ท่านได้เปลี่ยนความคิดหนูทั้งหมดเลยนะคะ ก่อนที่หนูจะได้รับจดหมายของพระองค์ท่าน เดิมที ที่บ้านหนูมีกิจการ หนูเป็นลูกสาวเจ้าของกิจการ เรามีคนงานซึ่งเป็นคนงานประเทศเพื่อนบ้าน ตอนแรกๆ หนูจะมีความรู้สึกเหยียดๆ คือไม่ได้รังเกียจขนาดนั้นนะคะ เพียงแต่เราก็ยังแบ่งชนชั้นกับเขานิดหน่อย เพราะเราเป็นลูกเจ้าของกิจการด้วย จะประมาณว่าไม่อยากยุ่ง ไม่อยากเข้าไปเสวนาด้วย แต่พอหนูได้รับจดหมายจากในหลวง ความคิดหนูก็เปลี่ยนไป

  • เปลี่ยนความคิด? จุดเปลี่ยนหลังจากได้รับจดหมายจากในหลวง ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างคะ

น้ำขิง : ที่บอกว่าเปลี่ยนความคิด เพราะจดหมายทำให้เรารู้สึกว่าทำไมเราต้องคิดแบ่งชนชั้นกับคนงานด้วย เพราะถ้าไม่มีพวกคนงาน กิจการที่บ้านก็จะทำต่อไปไม่ได้ เราจะทำกันแค่สองคนไม่ได้ หนูคิดแบบนี้เลยนะคะ เพราะขนาดในหลวงท่านยังส่งจดหมายตอบกลับมาหาหนูได้เลย ท่านยังไม่มองข้ามหนูเลย ท่านยังมาใกล้ชิดกับหนูได้ ซึ่งท่านเป็นถึงคนใหญ่คนโตขนาดนี้ แล้วทำไมหนูต้องคิดว่าคนงานเขาต้องเป็นคนอื่นไกล ทั้งๆ ที่เขาก็ทำงานให้เรา ทำไมเราต้องแบ่งชนชั้นด้วย ทั้งๆ ที่หนูกับคนงานก็ไม่ได้ต่างอะไรกัน เป็นคนเหมือนกัน แถมเขายังทำงานหนักกว่าเราอีกนะ อะไรประมาณนี้ค่ะ

นี่คือจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่มากๆ สำหรับเด็กคนหนึ่ง เพราะทำให้ได้ตระหนักว่า หนูเป็นแค่ลูกผู้จัดการ เป็นลูกคนที่จ้างเขา แล้วทำไมต้องมาคิดอะไรแบบนี้ แต่ดูท่านสิ ท่านเป็นถึงกษัตริย์ แต่ท่านยังดูแลประชาชนมากมาย ทุกชนชั้นวรรณะ ท่านยังไม่เคยเลือกเลย แล้วเราเป็นใคร เป็นแค่คนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ทำไมต้องคิดแบบนั้น หลังจากนั้น เวลาเจอคนงาน เราก็ไปทักทายสวัสดี ไม่ได้แบ่งว่าเขาเป็นแค่คนงานอีกแล้ว เราก็จะอยู่กันแบบครอบครัว ช่วยๆ กัน เพราะเขาทำงานให้เรา เราก็ต้องตอบแทนเขาด้วยการทำดีต่อเขา ช่วยเหลือเขา (ยิ้ม)

นอกจากเปลี่ยนทางด้านความคิดแล้ว เรื่องอื่นๆ ก็พยายามนำหลักที่ท่านสอนมาประยุกต์ใช้ในชีวิต คุณพ่อกับคุณแม่สอนหนูเกี่ยวกับการประหยัดและความกตัญญูอยู่แล้ว เราก็จะรู้พื้นฐานอยู่แล้ว หรือไม่ว่าจะเป็นการปลูกผัก การทำเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทางบ้านหนูก็จะนำคำสอนของพระองค์ท่านมาปรับใช้ด้วย ประยุกต์ใช้อยู่แล้ว มันก็เลยทำให้เรารู้ซึ้งว่าท่านทำอะไรบ้างเพราะเราเอาแนวพระราชดำรัส แนวการปฏิบัติของท่านมาใช้จริง สิ่งที่ท่านสอน สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ทุกทางเลยค่ะ

คุณแม่ : เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สอนได้ดีมากๆ เลยนะ เพราะก่อนหน้านี้เขามีความคิดไม่ค่อยดีกับคนงานต่างชาติ เราก็จะยกตัวอย่างว่า เห็นไหม น้องขิง หนูดูสิลูก ในหลวงท่าน ขนาดหนูท่านก็ไม่รู้จัก หนูก็เป็นเด็ก ท่านยังไม่มองข้าม ท่านก็ไม่มองเหยียด ท่านก็ตอบจดหมายหนูมา เราก็พูดนะ แล้วเราเป็นใคร คนงานก็เป็นคน ถึงจะเป็นพม่า ลาว กัมพูชายังไงก็เป็นคนงานของเรา เขาทำให้เรา เราก็ต้องไม่ไปแบ่งแยก ก็สอนตลอดนะ เขากินยังไง เราก็กินอย่างนั้น ต้องแบ่งปัน หนูมีเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใส่ก็ให้เขาไป อะไรประมาณนี้ สอนให้เขามีความเอื้ออาทรและต้องเป็นคนดีต่อพ่อแม่ เป็นคนดีของสังคม เป็นคนดีของแผ่นดิน ตรงนี้เขาก็เลยมีความคิดที่อยากจะเป็นหมอ

น้ำขิง : หนูอยากเป็นหมอ เพราะหนูอยากรักษาครอบครัว รักษาคุณพ่อคุณแม่และคุณตาคุณยายให้อยู่กันแบบไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งแรกที่จะนึกถึงก็คือพ่อแม่ ครอบครัวเราก็อยากจะรักษา ให้เขาได้อยู่กับเรานานๆ

อีกอย่างที่คิดไว้ตั้งแต่อยากเป็นหมอเลยก็คือ ถ้าสมมติในหลวงท่านไม่สบาย ถ้าเราได้รักษาท่านขึ้นมา จะเป็นยังไง ถ้าสมมติเราได้รักษาท่าน ท่านก็น่าจะหายนะ ก็เลยมีความคิดว่าอยากจะเป็นหมอมาตั้งแต่เด็ก เราอยากจะช่วยผู้คน เหมือนกับที่ในหลวงท่านทรงช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอด ซึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้น้ำขิงอยากช่วยเหลือคนก็มาจากท่านด้วยค่ะ

ส่วนตอนนี้น้ำขิงก็คงจะช่วยงานเกษตรกรรมที่บ้านบ้าง บางทีก็ช่วยเขาเก็บนู่นเก็บนี่ อะไรที่เราพอจะทำได้ เล็กๆ น้อยๆ แต่สิ่งที่คิดว่าทำได้ดีที่สุดตอนนี้ก็คือช่วยครอบครัวประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย และก็ตั้งใจเรียนค่ะ (ยิ้ม)

  • ถามถึงงานด้านเกษตรกรรมของที่บ้าน เห็นว่าทางครอบครัวนำพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาใช้ในการดำเนินชีวิต ไม่ทราบว่าทำอย่างไรบ้างคะ

น้ำขิง : ที่บ้านน้ำขิงจะทำฟาร์มอยู่แล้ว เป็นฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ ซึ่งอันนี้เราจะส่งขายอยู่แล้ว แต่ถ้ามีเหลือ เราก็จะเอาไว้กิน เพราะเราจะได้ไม่ต้องซื้อหมูแพงๆ และอีกอย่าง ที่บ้านได้ทำตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการปลูกผัก ปลูกผลไม้ด้วย เราจะปลูกกินเอง ไม่ได้เอาไปขาย ตอนนี้ที่เราปลูกก็จะมีผักบุ้ง พริก มะเขือ กะเพรา ตำลึง ชะอม มะม่วง กล้วย มะละกอ อัญชัน ก็จะปลูกไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะปลูกสิ่งที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ ถ้ามันออกผลผลิตมาเมื่อไหร่ เราก็จะเก็บมาทำอาหาร หรือไม่ก็มาแจกคนอื่น ถ้าเราอยากกินผัดกะเพรา เราก็ไปเก็บมาจากหลังบ้านเอามาใช้ได้เลย ไม่ต้องไปซื้อ

คุณแม่ : การทำเศรษฐกิจแบบพอเพียงของเราในที่นี้ ไม่ใช่ว่าจะต้องทำแบบเต็มรูปแบบเสมอไปนะคะ แต่ถ้าเราสามารถทำได้เราทำ แต่ถ้าทำไม่ได้ เราเอามาประยุกต์ใช้ซึ่งมันก็ใช้ได้ผลนะคะ เพราะเราไม่ต้องไปเป็นหนี้เป็นสินใคร อย่างที่บ้านเราทำฟาร์มขึ้นมา เริ่มจากหมู 500 ตัว เราก็เพิ่มมาเรื่อยๆ จนตอนนี้เราก็มีหนึ่งหมื่นกว่าตัว นี่แหละค่ะที่เรียกว่าพอเพียงของเรา ไม่ใช่เราไม่มี แต่เราก็ไปกู้มาทำให้มันใหญ่โต อันนั้นก็จะเกินตัวไป เพราะการทำให้ตัวเองเดือดร้อน มันก็ไม่ใช่แล้ว เราก็จะสอนลูกตลอด

ตอนนี้ฟาร์มที่ทำทั้งหมด มี 100 ไร่ แต่ว่า 100 ไร่ตรงนี้ เดิมทีเป็นที่คุณพ่อคุณแม่มาก่อน ทีนี้พอท่านแบ่งให้เราก็เลยเอามาทำฟาร์ม แต่การที่เราทำฟาร์มตรงนี้ เราก็จะยึดคำสอนของในหลวงคือพอเพียง คือพอเพียงสำหรับเรา เราไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามาสร้างเล้าหมูนะ เพราะฟาร์มหมูตอนนี้เรามี 15 หลัง แต่เราก็ไม่เคยไปกู้หนี้ยืมสินเขามา เราทำเองทั้งหมดเลย เราเริ่มจากสร้างทีละหลังตั้งแต่น้องน้ำขิงยังไม่เกิด เราเริ่มจากทีละหลัง ทำปีละหลัง จนตอนนี้น้องน้ำขิงอายุ 16 ปีแล้ว เรามี 15 หลัง ได้กำไรมา เราก็ค่อยๆ ต่อเติมทีละนิดละหน่อย

  • คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ในความเข้าใจของน้องน้ำขิงคืออะไรคะ

น้ำขิง : เศรษฐกิจพอเพียงในความคิดหนู ไม่ได้หมายถึงว่าไม่ต้องใช้เงินเลยนะคะ ใช้เงินได้ แต่เราต้องดูความเหมาะสมว่ามันควรจะใช้หรือเปล่า เราต้องใช้ไปกับสิ่งที่สมควรจะใช้ เราต้องไม่เดือดร้อน ไม่ได้ไปกู้หนี้ยืมสินใคร คือพอประมาณ

คุณแม่สอนหนูตลอดเรื่องการใช้เงินให้พอเพียง ข้าวของเครื่องใช้ให้ประหยัด คุณแม่จะยกตัวอย่างในหลวงให้หนูฟังตลอดว่าท่านเป็นถึงกษัตริย์ แต่ท่านยังรู้จักประหยัด อย่างเช่น ยาสีฟันที่ท่านบีบใช้จนหมด หรือแม้แต่ดินสอ ท่านจะใช้จนสั้นเหลือแท่งนิดเดียว แต่บางที เราก็อาจจะมีหลงฟุ้งเฟ้อว่าอยากได้นู่นได้นี่ใหม่บ้าง แต่ก่อนซื้อ หนูก็จะมีสิ่งที่หนูคิดแล้วสองอย่าง นั่นก็คือเราซื้อแล้วจะเอาไปทำอะไร และเรามีอยู่แล้วหรือเปล่า ถ้าเรามีอยู่แล้ว เราจะซื้อทำไม แล้วมันจะคิดต่อยอดไปอีกว่าถ้าเราจะนำเงินไปซื้อสิ่งของที่เรามีอยู่แล้ว เราเก็บเงินเอาไว้ จะดีกว่าไหม สิ่งของอันนี้เราก็มีอยู่แล้ว จะซื้ออีกทำไม เพราะในอนาคต เงินนั้นมันอาจจะมีประโยชน์มากกว่านี้

การที่เรานำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ทำให้เราได้ประหยัดและแบ่งปันกัน เวลาปลูกอะไร เราก็จะให้คนงานไปกิน เขาไม่ต้องไปซื้อ ไม่ต้องเสียเงิน ก็จะปลูกและแบ่งปันกันตลอดค่ะ เราอาจจะไม่ได้ทำในแนวท่านแบบตรงเป๊ะ แต่เราเอามาประยุกต์ใช้ อย่างบ้านหนูจะเลี้ยงปลาไม่ค่อยได้ เพราะว่ามันแล้ง เราก็พยายามปลูกผักผลไม้ ส่วนเรื่องเงินก็ให้เรามีกินมีใช้ก็พอ ไม่ใช่ว่าต้องมีมากมายมหาศาล ให้อยู่แบบกลางๆ ไม่ถึงขั้นว่าต้องรวย ไม่ต้องมีเงินมากมาย แค่ให้เราพออยู่ได้ ก็พอแล้วค่ะ (ยิ้ม)


เรื่อง : วรัญญา งามขำ, อภิษฎา แพภิรมย์รัตน์
ภาพ : อินสตาแกรม Numkhing23

กำลังโหลดความคิดเห็น