xs
xsm
sm
md
lg

“สิงคโปร์” ยืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส “ซิก้า” ที่ถ่ายทอดใน ปท.เอง 41 ราย คาดจะเจอเพิ่มขึ้นอีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>คนงานฉีดพ่นยากำจัดยุง ที่อาคารที่พักอาศัยแห่งหนึ่งในย่าน อัลจูนิเอด เครสเซนต์ ในสิงคโปร์ เมื่อวันอาทิตย์ (28 ส.ค.) วันเดียวกับที่รัฐบาลรายงานยืนยันว่า พบผู้ป่วยด้วยเชื้อไวรัส “ซิก้า” ที่เกิดจากการถ่ายทอดเชื้อถายในท้องถิ่นเองจำนวน 41 ราย </i>
เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ทางการสิงคโปร์แถลงยืนยันในวันอาทิตย์ (28 ส.ค.) ว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส “ซิก้า” ที่เกิดจากการถ่ายทอดเชื้อภายในสิงคโปร์เองจำนวน 41 ราย นอกจากนั้นยังแสดงความคาดหมายว่าจะพบผู้ติดไวรัสชนิดนี้ซึ่งถูกระบุว่าอาจเป็นสาเหตุทำให้ทารกในครรภ์มีขนาดศีรษะเล็กผิดปกติจำนวนเพิ่มมากขึ้นอีก

หนึ่งวันหลังจากแถลงว่าพบคนไข้รายแรกที่ติดเชื้อซิก้าจากการถ่ายทอดเชื้อภายในท้องถิ่นเอง โดยเป็นหญิงชาวมาเลเซียวัย 47 ปีซึ่งเป็นผู้พำนักอาศัยอยู่ในสิงคโปร์แล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ก็รายงานว่ายังพบผู้ติดเชื้อที่ยืนยันชัดเจนแล้วอีก 40 ราย ส่วนใหญ่เป็นคนงานต่างชาติในสถานที่ก่อสร้างแห่งหนึ่ง

ตามคำแถลงร่วมของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติระบุว่า ทั้ง 41 รายนี้ต่างก็เป็นผู้พำนักอาศัยหรือเป็นคนงานในพื้นที่เขตอัลจูนีเอด เครสเซนต์ แอนด์ ซิมส์ ไดรฟ์ (Aljunied Crescent and Sims Drive area) อันเป็นเขตที่พักอาศัยและอุตสาหกรรมแถบชานเมืองสิงคโปร์

“ผู้ติดเชื้อเหล่านี้ไม่เป็นที่ปรากฏว่าได้เดินทางไปยังอาณาบริเวณซึ่งมีการติดเชื้อซิก้าในระยะไม่นานมานี้ ด้วยเหตุนี้จึงน่าที่จะได้รับเชื้อในสิงคโปร์เอง” คำแถลงร่วมกล่าว “นี่เป็นการยืนยันว่าได้เกิดการถ่ายทอดเชื้อไวรัสซิก้าภายในท้องถิ่นขึ้นมาแล้ว”

คำแถลงบอกว่า ในขณะนี้การถ่ายทอดเชื้อซิก้าในสิงคโปร์ดูจะเกิดขึ้นภายในพื้นที่เขตอัลจูนิเอด ซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารที่พักอาศัยสูงๆ และโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่ง ทว่าเนื่องจากพาหะแพร่เชื้อซิก้าคือ ยุงลาย (Aedes mosquito) ซึ่งก็เป็นพาหะนำเชื้อไข้เลือดออกด้วย ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึง “ไม่สามารถที่จะประกาศว่าเป็นไปไม่ได้ที่มีการถ่ายทอดเชื้อภายในชุมชนในอาณาบริเวณอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นอีก … เพราะพวกผู้ที่ถูกตรวจได้ผลออกมาเป็นบวก บางคนก็พำนักและทำงานอยู่ในส่วนอื่นๆ ของสิงคโปร์”

กระทรวงสาธารณสุขระบุด้วยว่า ได้เตือนภัยคลินิกและโรงพยาบาลต่างๆ ให้ใช้ความระมัดระวังมากขึ้นเป็นพิเศษ และรายงานเมื่อพบคนไข้ที่มีอาการป่วยต้องสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสนี้ เป็นต้นว่ามีไข้ และผิวหนังมีรอยผื่น

กัน คิม ยอง รัฐมนตรีสาธารณสุขบอกกับพวกสื่อท้องถิ่นด้วยว่า เป็นไปได้เช่นเดียวกันที่จะมีคนไข้ซึ่งติดเชื้อมาจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย เนื่องจากสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของการคมนาคมระหว่างประเทศ

เขาอธิบายต่อไปว่า เนื่องจากผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อซิก้าจำนวนมากแสดงอาการเพียงเล็กน้อยหรือกระทั่งไม่แสดงอาการอะไรเลย ซึ่งหมายความว่าผู้ติดเชื้ออาจไม่ได้เข้ารับการรักษาใดๆ ดังนั้นการถ่ายทอดเชื้อภายในท้องถิ่นจากผู้ติดเชื้อนำเข้าเหล่านี้จึงมีโอกาสที่จะเกิดขึ้น “สูงมากเช่นเดียวกัน”

พวกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสิงคโปร์บอกว่า การแพร่ระบาดระลอกปัจจุบันปรากฏชัดเจนขึ้นมาหลังจากคลินิกท้องถิ่นแห่งหนึ่งรายงานเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมว่า พบจำนวนผู้ป่วยด้วยอาการไข้จากเชื้อไวรัสสูงขึ้นมาอย่างผิดปกติ

เรื่องนี้ทำให้เหล่าผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุขเร่งทำการตรวจสอบ และบอกให้บรรดาแพทย์ส่งคนไข้รายใหม่ๆ มายังศูนย์โรคติดต่อของรัฐบาล

ขณะที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็จัดส่งเจ้าหน้าที่กว่า 200 คนออกตรวจตราและทำลายแหล่งที่อาจเป็นจุดเพาะพันธุ์ยุงในพื้นที่ซึ่งพบการติดเชื้อซิก้า

ตามคำแถลงร่วมของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในจำนวนผู้ที่พบว่าติดเชื้อซิก้าแน่นอน 41 ราย มี 36 รายทีเดียวเกี่ยวข้องกับแรงงานต่างชาติซึ่งทำงานอยู่ในสถานที่ก่อสร้างแห่งหนึ่งในพื้นที่ดังกล่าว

สถานที่ก่อสร้างนี้ได้ระงับการทำงานไปตั้งแต่วันเสาร์ (27) ภายหลังการตรวจสอบของคณะเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมพบว่า การดูแลบ้านพักอาศัยของคนงาน “ไม่เป็นที่น่าพอใจ โดยมีหลายบริเวณเป็นจุดซึ่งเหมาะสมแก่การเพาะพันธุ์ของยุง”

ทางการสิงคโปร์ไม่ได้ระบุสัญชาติของคนงานก่อสร้างต่างประเทศเหล่านี้ โดยที่ในประเทศนี้มีคนงานเหล่านี้ทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มาจากแถบเอเชียใต้

คำแถลงร่วมกลาวว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสซิก้าทั้งหมดมี 34 รายที่หายดีแล้ว ขณะที่อีก 7 รายซึ่งยังคงแสดงอาการและเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

เชื้อซิก้าถูกตรวจพบว่าระบาดในบราซิลตั้งแต่ปีที่แล้ว และจากนั้นก็แพร่กระจายไปทั่วทั้งทวีปอเมริกา ไวรัสชนิดนี้อาจทำให้ทารกในครรภ์เกิดความผิดปกติแต่กำเนิดอย่างรุนแรงหลายๆ ประการ โดยที่ในบราซิลนั้นซิก้าถูกระบุว่าเป็นสาเหตุให้ทารกกว่า 1,600 รายคลอดออกมาโดยศีรษะมีขนาดเล็กกว่าปกติ

คำแถลงร่วมของสิงคโปร์ก็เตือนให้สตรีมีครรภ์ดูแลติดตามสุขภาพของตนเองอย่างใกล้ชิด และเร่งพบบุคลากรทางการแพทย์เมื่อเกิดอาการไม่สบาย
<i>ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2016 แสดงให้เห็น ยุงลาย (Aedes aegypti) ภายในห้องทดลอง ออกซิเทค แลบอราทอรี ในเมืองกัมปินาส ประเทศบราซิล </i>
ไม่เฉพาะสิงคโปร์ หลายชาติในภูมิภาคแถบนี้ก็มีความเสี่ยง

ไม่เฉพาะแต่ในสิงคโปร์ รัฐบาลสิงคโปร์ระบุว่า มีกรณี “การถ่ายทอดเชื้อภายในท้องถิ่นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ในประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ แห่ง ทั้งที่อินโดนีเซีย, ไทย, และเวียดนาม ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแถบนี้ซึ่งตรวจพบไวรัสซิก้านับตั้งแต่ปี 2013 ยังมี บังกลาเทศ, กัมพูชา, ลาว, มาเลเซีย, มัลดีฟส์ และฟิลิปปินส์

มาเลเซียแถลงในวันอาทิตย์ (28) ว่าได้เพิ่มการเฝ้าระวังที่จุดเดินทางติดต่อแห่งหลักๆ กับสิงคโปร์แล้ว

นูร์ ฮิชาม อับดุลเลาะห์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย แถลงว่า ได้แจกจ่ายแผ่นพับเกี่ยวกับการป้องกันเชื้อไวรัสซิก้า รวมทั้งจัดส่งเจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉินไปประจำยังจุดเข้าเมืองต่างๆ เพื่อรับมือกับผู้มาเยือนซึ่งมีอาการอาจติดเชื้อไวรัสนี้

เฉพาะในเดือนนี้มาเลเซียได้ทำการกลั่นกรองผู้มาเยือนตามจุดเข้าเมืองทั้งทางอากาศ, ทางทะเล และทางบก รวมกันมากกว่า 2 ล้านคน แต่ไม่พบผู้ติดเชื้อซิก้าใดๆ

สำหรับในประเทศไทย ซึ่งมีรายงานว่าในปีนี้พบผู้ติดเชื้อซิก้าแล้วเกือบๆ 100 รายใน 10 จังหวัด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กำลังทำการกลั่นกรองนักกีฬาทั้งหมดที่เดินทางกลับจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่บราซิล แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาตรการป้องกันใดๆ จากที่ได้ดำเนินการมา

“ทุกๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ต่างมีกรณีคนไข้ถ่ายทอดเชื้อซิก้า” ศาสตราจารย์ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค ระบุ “อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้เข้าจัดการควบคุมปัญหานี้โดยผ่านการติดตามตรวจสอบตั้งแต่ต้นๆ แล้ว”

ทางด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย อาร์มานาธา นาซีร์ แถลงว่า แดนอิเหนา “กำลังติดตามพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น” ขณะที่ ออสคาร์ ปรีบาดี เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงเร็วๆ นี้ไม่มีรายงานคนไข้ติดเชื้อซิก้า

สำหรับเวียดนามจวบจนถึงขณะนี้ได้รายงานการพบคนไข้ที่ติดเชื้อซิก้าจากการถ่ายทอดเชื้อภายในท้องถิ่นจำนวน 3 ราย

กำลังโหลดความคิดเห็น