ย้อนรำลึกเมื่อ 2 ปีก่อน สำนักราชเลขาธิการ ร่วมกับหน่วยงานของรัฐ จัดทำแอปพลิเคชัน “สุขพอที่พ่อสอน” รวบรวมพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท พระบรมฉายาลักษณ์ และพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ให้ประชาชนชาวไทยได้น้อมนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิต
ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต พสกนิกรชาวไทยต่างรู้สึกโศกเศร้าเสียใจ และอยากจะเก็บความทรงจำไว้ โดยเฉพาะพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท พระบรมฉายาลักษณ์ และพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2557 สำนักราชเลขาธิการ ร่วมกับ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาท คัดตัดตอน เผยแพร่ในแอปพลิเคชั่น “สุขพอที่พ่อสอน” เผยแพร่ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้น้อมนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อให้เกิดประโยชน์ เกิดความสุขที่แท้จริงอย่างยั่งยืน
โดยแบ่งเป็น 9 หมวดหมู่ ได้แก่ การศึกษา ความยุติธรรม รู้รักสามัคคี ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ประโยชน์ส่วนรวม การพัฒนา ความพอเพียง คุณธรรมจริยธรรม ความสุขและความปรารถนาดี แอปพลิเคชันนี้จัดทำขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2557 ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่ App Store ในระบบปฏิบัติการ iOS (6.0 ขึ้นไป) ขนาด 48 เมกะไบต์ ใช้กับไอโฟน ไอแพด ไอพอดทัช และ Google Play ขนาด 17 เมกะไบต์ ในระบบปฏิบัติการ Android ขณะนี้ยังเป็นเวอร์ชั่น 1.1 เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2557
สำหรับแอปพลิเคชันดังกล่าว เมื่อดาวน์โหลดเข้าไปแล้ว เมนู “พระราชดำรัส” จะเป็นหน้าพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาท ที่จะรวบรวมเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ 9 หมวดหมู่ เมื่อเข้าไปแล้วเราสามารถเลื่อนซ้าย และเลื่อนขวา เพื่อที่จะอ่านพระบรมราโชวาทแต่ละบท โดยผู้ใช้สามารถเลือกพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในเมนู “เลือกข้อความ” เลือกพระบรมฉายาลักษณ์ และภาพพระราชกรณียกิจ โดยเข้าไปที่เมนู “พระบรมฉายาลักษณ์” เพื่อจัดทำเป็นไฟล์รูปภาพ การนำไปใช้สามารถเข้าไปที่เมนู “ส่งต่อ” ทั้งการโพสต์ภาพในเฟซบุ๊ก ส่งอีเมล และดาวน์โหลดเก็บไว้ในเครื่องได้อีกด้วย
คลิกที่นี่ เพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “สุขพอที่พ่อสอน” ในระบบ iOS
คลิกที่นี่ เพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “สุขพอที่พ่อสอน” ในระบบ Android
หมายเหตุ จากการทดลองดาวน์โหลดของผู้สื่อข่าว แอปพลิเคชันนี้หากแสดงผลในโทรศัพท์มือถือ ตัวหนังสือจะเล็กกว่า เนื่องจากใช้แบบอักษร “สารบรรณ” (TH Sarabun) หากต้องการอ่านโดยแสดงผลตัวหนังสือใหญ่กว่านี้ ให้อ่านผ่านไอแพด (iPad) หรือแท็บเล็ตพีซีจะเหมาะสมกว่า