จำเนียรกาลผ่านไป ยาวนานถึง ๗๐ ปีที่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทั้งภาคกลาง เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปดูแลสุขทุกข์ของอาณาประชาราษฎร์โดยมิย่อท้อต่อความยากลำบาก แม้ในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งพระราชกรณียกิจทั้งปวงนั้น ก็ได้รับการจารึกบันทึกไว้ในแผ่นฟิล์มจำนวนกว่า ๖,๐๐๐ ม้วน ทั้งภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง เป็น “ภาพยนตร์ส่วนพระองค์” ที่หากนำมาฉายอย่างต่อเนื่อง จะต้องใช้เวลาฉายไม่น้อยกว่า ๔ เดือน!
“ภาพยนตร์ส่วนพระองค์” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เริ่มดำเนินการถ่ายทำมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ โดยคณะทำงานฝ่ายภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์ สำนักพระราชวัง และครั้งแรกที่พสกนิกรชาวไทยได้มีโอกาสชม “ภาพยนตร์ส่วนพระองค์” ก็คือเวลาอีก ๔ ปีต่อมานับจากนั้น วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ประชาชนคนไทย โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ต่างพากันหลั่งไหลไปที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงเพื่อชมภาพยนตร์ส่วนพระองค์ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีที่สำคัญยิ่งสองพระราชพิธี ประกอบไปด้วย
๑. พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ ณ วังสระปทุม
๒. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓
โดยภาพยนตร์ส่วนพระองค์ซึ่งถ่ายทอดทั้งสองพระราชพิธีดังกล่าวนี้ ถ่ายทำ ตัดต่อ และลำดับภาพ โดยฝ่ายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ เมื่อจัดฉายที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง คนกรุงเทพฯ ก็แห่แหนกันไปชมจนล้นโรง
นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ เป็นต้นมา จนถึงปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ มีข้อมูลการค้นคว้า ยืนยันว่า “ภาพยนตร์ส่วนพระองค์” อย่างน้อย ๑๖ เรื่อง ได้รับการนำออกฉายในโรงภาพยนตร์ไทย ซึ่งมีทั้งคลิปภาพยนตร์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถ่ายทำด้วยพระองค์เองในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, การประกาศพระประสูติกาลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร, ชีวิตประจำวันส่วนพระองค์ ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ซึ่งฉายให้เห็นภาพทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ยังทรงพระเยาว์ในขณะนั้น ทรงกำลังอ่านและวาดภาพ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ของพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ ด้วย
และเหนือสิ่งอื่นใด ในจำนวนภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ๑๖ เรื่อง ซึ่งจัดฉายในโรงภาพยนตร์ต่างๆ นั้น ยังมีภาพยนตร์ที่นับว่า “เป็นทางการ” และสำคัญยิ่ง เพราะเกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเมื่อทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งการเสด็จเยือนประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า อังกฤษ เยอรมนี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ
ตามข้อมูลในบทความ “หอภาพยนตร์ส่วนพระองค์” (Roayal Private Film Archive) เล่าไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงทอดพระเนตรภาพยนตร์ใหม่ทุกเรื่องก่อนที่จะนำออกฉายในโรงภาพยนตร์ และสำหรับการฉายในกรุงเทพฯ จะมีการประชาสัมพันธ์การเข้าฉายของภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ด้วยการให้รถปิคอัพขับไปรอบกรุงเทพฯ และกระจายข่าวทางลำโพง
“ภาพยนตร์ส่วนพระองค์หลายเรื่องที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ จะมีจำนวนผู้เข้าชมสูงมาก ดังจะเห็นได้จากการที่ขายบัตรเข้าชมได้มากกว่าภาพยนตร์ฮอลลีวูดและภาพยนตร์ไทยเรื่องอื่นๆ ที่เข้าฉายในเวลาเดียวกัน ซึ่งการนำภาพยนตร์ส่วนพระองค์เรื่องใหม่ออกฉาย เป็นสิ่งที่ผู้ชมเฝ้ารอกันอย่างมาก”
กระนั้นก็ตาม ถึงแม้ภาพยนตร์ส่วนพระองค์จะทำรายได้มหาศาล แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ จะทรงพระราชทานเงินรายได้ทั้งหมดจากการฉายภาพยนตร์ให้แก่องค์การสาธารณะกุศลทุกครั้ง
นอกจากนั้น สำหรับประชาชนคนไทยในเขตต่างจังหวัด ก็มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เช่นเดียวกับคนกรุงเทพฯ เพราะเมื่อออกฉายในโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ก็ได้รับการนำออกไปฉายในอีกหลายจังหวัด โดยการนำภาพยนตร์ส่วนพระองค์ออกฉายในพื้นที่ห่างไกล ส่วนมากแล้วเป็นการฉายกลางแจ้ง หรือฉายในโรงเรียน และโรงพยาบาล โดยไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งการฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์นี้ สามารถดึงดูดผู้ชมได้เป็นจำนวนมากเสมอ
ในกาลต่อมา ราวๆ ปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ ประชาชนคนไทยจำนวนหนึ่งเริ่มมีโทรทัศน์ไว้ชมกันหลายครัวเรือน ฝ่ายภาพยนตร์ส่วนพระองค์จึงเริ่มมีการนำฟิล์มข่าวในพระราชสำนักออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ซึ่งนับว่าเป็นที่มาอีกประการหนึ่งของ “ข่าวในพระราชสำนัก” ตราบจนปัจจุบัน
ภาพยนตร์ส่วนพระองค์เรื่องสุดท้ายที่ได้รับการนำออกฉายในโรงภาพยนตร์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ เป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับภาพงานเลี้ยงจบภาคการศึกษา ณ โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี กำลังทรงศึกษาอยู่ในขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ยังคงมีการถ่ายทำ บันทึก ต่อเนื่องมา และตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ในพระบรมโกศ เถลิงถวัลยราชสมบัติ ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ตามที่คณะทำงานได้บันทึกและเก็บสะสมไว้นั้น ประกอบด้วยแผ่นฟิล์มจำนวนกว่า ๖,๐๐๐ ม้วน ทั้งภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง แต่ละม้วนมีความยาวราวๆ ๔๐ นาที ที่หากนำมาฉายอย่างต่อเนื่อง จะต้องใช้เวลาฉายไม่น้อยกว่า ๔ เดือน
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ รัฐบาลในขณะนั้นได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์) เป็นประธานกรรมการ พร้อมทั้งนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์ทั้งหมดไปดำเนินการตรวจสภาพ เพื่อซ่อม บำรุง รักษา และสงวนไว้ ตามวิธีการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อทำนุบำรุงรักษาเป็นสมบัติของชาติสืบต่อไป ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศได้ทรงมีบรมราชานุญาตโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ดำเนินการต่อไป
และจากการดำเนินงานในเบื้องต้น ทำให้ได้รายชื่อฟิล์มภาพยนตร์ส่วนพระองค์ จำนวน ๑๗ ชุด ดังนี้
ชุดที่ ๑ (พ.ศ.๒๔๙๓) ชุดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส-พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ชุดที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๙๓) ชุดส่วนพระองค์
ชุดที่ ๓ (พ.ศ.๒๔๙๖) ชุดส่วนพระองค์
ชุดที่ ๔ (พ.ศ.๒๔๙๗) ชุดส่วนพระองค์
ชุดที่ ๕ (พ.ศ.๒๔๙๘) ชุดเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร ภาคอีสาน
ชุดที่ ๖ (พ.ศ.๒๔๙๙) ชุดทรงผนวช
ชุดที่ ๗ (พ.ศ.๒๕๐๑) ชุดเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร ภาคเหนือ
ชุดที่ ๘ (พ.ศ.๒๕๐๒) ชุดเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร ภาคใต้
ชุดที่ ๙ (พ.ศ.๒๕๐๓) ชุดเสด็จฯ อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม
ชุดที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๐๓) ชุดเสด็จฯ อเมริกา อังกฤษ เยอรมนีชุดที่ ๓ (พ.ศ.๒๔๙๖) ชุดส่วนพระองค์
ชุดที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๐๔) ชุดเสด็จฯ ยุโรป ๖ ประเทศ (โปรตุเกส สวิสฯ เดนมาร์ค นอร์เวย์ สวีเดน อิตาลี)
ชุดที่ ๑๒ (พ.ศ.๒๕๐๔) ชุดเสด็จฯ ยุโรป ๕ ประเทศ (เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส ลักเซมเบอร์ก เนเธอร์แลนด์)
ชุดที่ ๑๓ (พ.ศ.๒๕๐๕) ชุดเสด็จฯ ปากีสถาน และส่วนพระองค์
ชุดที่ ๑๔ (พ.ศ.๒๕๐๕) ชุดเสด็จฯ มาลายา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
ชุดที่ ๑๕ (พ.ศ.๒๕๐๖) ชุดเสด็จฯ ญี่ปุ่น จีน (ไต้หวัน)
ชุดที่ ๑๖ (พ.ศ.๒๕๐๗) ชุดเสด็จฯ ออสเตรีย ฟิลิปปินส์ และส่วนพระองค์
ชุดที่ ๑๗ (พ.ศ.๒๕๑๐) ชุดเสด็จฯ อเมริกา อิหร่าน แคนาดา
ทั้งนี้ ยังได้มีการดำริในการดำเนินการจัดสร้างอาคารเก็บรักษาและอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์ หรือ “หอภาพยนตร์ส่วนพระองค์” (Royal Private Film Archive) มีลักษณะเป็นอาคารถาวร ซึ่งมีความส่งางามสมพระเกียรติ มีความปลอดภัยสูง มีระบบต่างๆ ตามมาตรฐานสากล เพื่อสำหรับใช้เก็บบำรุงรักษาฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์ และอนุรักษ์ไว้ให้เป็นสมบัติชาติตลอดไป
ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี พสกนิกรชาวไทย ได้ประจักษ์ชัดแล้วเต็มหัวใจ ในพระราชกรณียกิจอันเปี่ยมล้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เราต่างรับรู้เรื่องราวที่พระองค์ได้ทรงทำเพื่อคนไทยทุกคน ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณทั้งหมดทั้งมวลนั้น ก็ได้รับการบอกเล่า ผ่าน “ภาพยนตร์ส่วนพระองค์” อย่างหมดจดงดงามยิ่งแล้ว...
** ขอบคุณข้อมูลประกอบ : www.thaicadet.org/TheKing/80th/RoyalPrivateFilmArchive.html
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม