สำนักพระราชวังเผยแพร่หมายกำหนดการ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประจำวันตลอด 100 วัน ตามกำหนดไว้ทุกข์
วันนี้ (14 ต.ค.) สำนักพระราชวัง แจ้งหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยกำหนดการประจำวันตลอด 100 วัน หรือตามกำหนดไว้ทุกข์ จะเริ่มตั้งแต่เวลา 06.00 น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม และประโคมย่ำยาม เวลา 07.00 น.พระพิธีธรรมรับพระราชทานฉันเช้า เวลา 09.00 น.พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม และประโคมย่ำยาม เวลา 11.00 น.พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมฉันเพล เวลา 12.00 น.พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม และประโคมย่ำยาม และเวลา 15.00 น.พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม และประโคมย่ำยาม เวลา 18.00 น.ประโคมย่ำยาม เวลา 19.00 น.พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม 21.00 น.พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม และประโคมย่ำยาม
จากนั้นจะมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร (7 วัน) ในวันพุธที่ 19 ต.ค. เวลา 17.00 น. พระสงฆ์ 30 รูป สวดพระพุทธมนต์ จบ มีพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 พระ 4 รูปสวดพระธรรมคาถา วันพฤหัส ที่ 20 ตุลาคม เวลา 10.30 น. พระสงฆ์ 30 รูป สวดถวายพรพระ รับพระราชทานฉัน มีพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 พระ 4 รูปสวดพระธรรมคาถา ประเคนผ้าไตร พระ 89 รูป เท่าพระชนมพรรษา
ต่อมาพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมวาร (15 วัน) วันพฤหัสบดี ที่ 27 ต.ค. เวลา 17.00 น. พระสงฆ์ 10 รูป สวดพระพุทธมนต์ จบ มีพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 พระ 4 รูปสวดธรรมคาถา พระพิธีธรรม วันศุกร์ที่ 28 ต.ค. เวลา 10.30 น. พระสงฆ์ 10 รูป สวดถวายพระพร รับพระราชทานฉัน ประเคนผ้าไตรพระ 89 รูป เท่าพระชนมพรรษา สดับปกรณ์
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร (50 วัน) มีขึ้นในวันพฤหัสบดี ที่ 1 ธ.ค. เวลา 17.00 น. พระสงฆ์ 30 รูป สวดพระพุทธมนต์ จบ มีพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 พระ 4 รูปสวดธรรมถาคา แต่งกายเครื่องแบบเต็มยศ ไว้ทุกข์ สายสะพายจุลจอมเกล้า หรือสายสะพายมงกุฎไทย วันศุกร์ที่ 2 ธ.ค. เวลา 10.30 น. พระสงฆ์ 30 รูป สวดถวายพรพระ รับพระราชทานฉัน มีพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 พระ 4 รูปสวดธรรมคาถา ประเคนผ้าไตรพระ 89 รูป เท่าพระชนมพรรษา และพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร (100 วัน) วันศุกร์ที่ 20 ม.ค. 2560 เวลา 17.00 น. พระสงฆ์ 30 รูป สวดพระพุทธมนต์ จบ มีพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 พระ 4 รูปสวดธรรมคาถา วันเสาร์ที่ 21 ม.ค. 2560 เวลา 10.00 น. พระสงฆ์ 30 รูป สวดถวายพระพร รับพระราชทานฉัน มีพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 พระ 4 รูป สวดธรรมคาถา ประเคนผ้าไตรพระ 89 รูป เท่าพระชนมพรรษา
สำหรับการประดิษฐานพระบรมศพ สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมหาราชวัง นั้น ประดิษฐานพระบรมโกศเหนือพระแท่นแว่นฟ้าเบญจดล ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร 9 ชั้น พระบรมโกศที่ประกอบพระราชอิสริยยศนั้น คือ พระโกศทองใหญ่ ซึ่งประดับพุ่ม เฟื่อง ดอกไม้ไหว และดอกไม้เอว เต็มตามพระราชอิสริยยศ ทั้งนี้ ธรรมเนียมการประดับตกแต่งพระบรมโกศ
ที่เอวพระบรมโกศด้านหน้า ติดพระภูษาโยง ทอดลงมายังพานพระมหากฐิน บนเสาบัวกลุ่มซึ่งตั้งอยู่เบื้องหน้า พระภูษาโยงบนพานพระมหากฐินนั้นพับทบก้นไว้ เมื่อมีการสดับปกรณ์พระบรมศพ เจ้าพนักงานจะได้คลี่พระภูษาโยงออกไปจนถึงอาสน์สงฆ์ ใช้ลาดไปตามความยาวของอาสน์สงฆ์ โดยมีผ้าขาวรองอยู่ชั้นหนึ่งก่อน
พระบรมโกศประดิษฐานเหนือพระแท่นแว่นฟ้าเบญจดล สลักลายดุน ประดับรัตนชาติสีขาว ชั้นพระแท่นแว่นฟ้าทองตกแต่งด้วยพุ่มแก้ว พุ่มตาดทอง เทียนไฟฟ้า และแจกันปักดอกไม้โลหะสีทอง ที่มุมพระแท่นแว่นฟ้าทองทุกชั้นปักสุวรรณฉัตร และสุวรรณฉัตรคันดาล ซึ่งเป็นคันฉัตรที่มีรูปเป็นมุมฉาก 2 ทบ พระแท่นแว่นฟ้าทองที่ประดิษฐานพระบรมโกศนั้นตั้งอยู่บนพระแท่นปิดทองทรายอีกทีหนึ่ง ตั้งพุ่มตาดทองในคูหาโดยรอบพระแท่นทองทราย
รอบพระแท่นทองทรายนั้น แวดล้อมด้วยเครื่องอภิรุมชุมสายหักทองขวาง (ปักไหมทองหักเส้นไปตามขวางลายลงไปบนผืนผ้า) ประกอบด้วย ฉัตรชุมสาย 3 ชั้น ฉัตร 5 ชั้น ฉัตร 7 ชั้น และบังแทรก ทหารรักษาพระองค์ ยืนถวายพระศพสี่มุมพระแท่นที่ประดิษฐานพระบรมโกศ
อนึ่ง การประดิษฐานพระบรมโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตามแบบอย่างธรรมเนียมปฏิบัติ เริ่มจากการวัดระยะทิ้งสายดิ่งลงมาจากเพดาน ตรงกลางหมู่ดาวล้อมเดือนสลักลายกลีบบัว หมู่กลางห้องที่สองของมุขด้านตะวันตกลงมาถึงพื้น แล้วจึงปูพรมสีแดงเต็มพื้นที่มุขตะวันตกทั้งหมด จากนั้นเชิญพระแท่นทองทรายชั้นแรกทอดเหนือพื้น โดยให้จุดศูนย์กลางของพระแท่นตรงกับสายดิ่ง แล้วเชิญพระแท่นทองทรายชั้นที่สองทอดเหนือชั้นแรก โดยปฏิบัติเช่นเดียวกับชั้นแรก ลำดับต่อไปจึงเชิญพระเบญจาทองคำขึ้นทอดตรงกับสายดิ่งเช่นกัน แล้วจึงเชิญนพปฎลมหาเศวตฉัตรขึ้นแขวนเหนือพระแท่นทั้งปวง โดยใช้ลวดร้อยลงมาจากเพดานตรงจุดทิ้งสายดิ่งผูกกันยอดนพปฎลมหาเศวตฉัตรแล้วเชิญขึ้น ลำดับสุดท้ายจึงเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดุริยางค์ เป็นอันเสร็จการ
ด้านมุขตะวันตกจัดวางเครื่องราชอิสริยยศราชูปโภค เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเครื่องอิสริยาภรณ์ ส่วนหมู่ขวา วางเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องอิสริยาภรณ์ และเหรียญรางวัลที่ทอดถวาย ด้านใต้ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เบื้องหน้าที่ประดิษฐานพระบรมโกศเป็นเครื่องราชสักการะ กั้นราชวัติทางมุมข้างเหนือและข้างใต้ ถัดเข้ามาวางเสาบัวกลุ่มปิดทองประดับกระจก สำหรับตั้งพุ่มตาดทองทางเบื้องซ้าย และพุ่มตาดเงินทางเบื้องขวา ตรงกลางระหว่างราชวัติ
พวงมาลาวางที่เบื้องหน้าตลอดจนริมผนังของพระแท่นประดิษฐานพระบรมโกศ ส่วนมุขด้านใต้พระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร พร้อมเชิญพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ที่ปลายสุดมุขด้านตะวันออก ตั้งพระแท่นลาดบรรจถรณ์ประดับมุข มีเบญจาผ้าขาว
ลานพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในวันที่มีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ตั้งกองทหารเกียรติยศสำหรับพระบรมศพที่หน้าศาลาทิมคด พร้อมแตรวงประจำกอง ตั้งกองประโคม สังข์ แตร ปี่ กลองชนะที่ลานตะวันตกชิดกำแพงแก้วสำหรับประโคมย่ำยามถวายพระเกียรติยศพระบรมศพ มีวงปี่พาทย์นางหงส์ จากกรมศิลปากร ในศาลาทิมคดบรรเลงหลังการประโคมย่ำยาม และบรรเลงเพลงฉิ่งพระฉัน ขณะพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน