xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งเดียวที่ไทยยอมเสียอธิปไตย! ให้ทหารอังกฤษยกพลขึ้นบก ปราบข้าราชการไทยตั้งแก๊งเป็นโจรสลัดโหด!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ผู้ต้องหาคดีสลัดตะรุเตา
ขณะนี้ตะรุเตาเป็นสวรรค์ของการท่องเที่ยว หลังจากที่ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๑๙ หลายคนใฝ่ฝันอยากจะสัมผัสตะรุเตาสักครั้งในชีวิต

แต่ก่อนหน้านั้นตั้งแต่วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๘๐ เป็นต้นมา ตะรุเตาเป็นเกาะนรก เพราะถูกเลือกจากกรมราชทัณฑ์ให้เป็นที่กักกันนักโทษอุกฉกรรจ์หรือมีโรคติดต่อ แต่เรียกเสียโก้ว่า “นิคมฝึกอาชีพ”

ตะรุเตาเป็นเกาะใหญ่ มีเนื้อที่ถึง ๑๕๑ ตารางกิโลเมตร พื้นที่เป็นภูเขา มีที่ราบและหุบเขาเล็กน้อย ซึ่งเป็นป่าดงดิบที่เต็มไปด้วยไข้ป่า ทั้งยังมีจระเข้ด้วยในยุคนั้น อยู่ห่างฝั่งจังหวัดสตูลไปทางตะวันตกประมาณ ๕๐ กม. ห่างเกาะลังกาวีของมาเลเซียประมาณ ๔ กม. แต่ก็เป็น ๔ กม.ที่เต็มไปด้วยคลื่นลมยากที่เรือเล็กจะฝ่าฟันไปได้ ในประวัติศาสตร์ของคุกตะรุเตา มีนักโทษเพียงรายเดียวที่หนีไปได้สำเร็จ คือ นาวาเอกพระยาศราภัยพิพัฒน์ ร.น. (เลื่อน ศราภัยวานิช) นักโทษคดีการเมืองซึ่งถูกส่งมาอยู่ตะรุเตาได้เพียงเดือนเศษ ก็พานักโทษร่วมชะตากรรมอีก ๕ คนหนีไปเกาะลังกาวีด้วยเรือพาย อาศัยความมืดตอนคลื่นลมสงบ เล็ดรอดสายตาของเจ้าหน้าที่เฝ้าเกาะรังนกและเรือหาปลาของผู้คุม ด้วยประสบการณ์ของทหารเรือ

ตะรุเตาไม่เพียงแต่เป็นนรกสำหรับนักโทษเท่านั้น เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์เองก็ลำบากแสนเข็ญ อาหารการกินต้องขนมาจากแผ่นดินใหญ่ บางช่วงเรือไม่สามารถออกทะเลได้หลายวันเพราะคลื่นลมแรง ก็ต้องอดอยากกัน ไหนจะต้องส่งอาหารไปเลี้ยงผู้คุมและนักโทษที่ไปทำงานตามเกาะบริวารต่างๆอีก จึงต้องปลูกผักและตีอวนหาปลากินเอง ส่วนยารักษาโรคก็ขาดแคลนขณะที่โรคภัยไข้เจ็บและสัตว์ร้ายชุกชุม แต่กลับมีสิ่งล่อใจ เพราะเรือสินค้าที่ขนอาหารจากพม่า เช่นข้าวสาร พริกแห้ง ถั่ว ซึ่งเป็นของมีค่าตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไปส่งมลายูและปีนัง ต้องผ่านน่านน้ำตะรุเตา

ต่อมาเรือสินค้าเหล่านี้เกิดหายไปอย่างไร้ร่องรอยนับร้อยลำ แม้จะไม่มีใครเห็นเหตุการณ์หรือมีหลักฐานใดๆ แต่ความลับก็ไม่อาจเก็บไว้แค่บนเกาะตะรุเตาได้ มีข่าวลือทั่วไปว่าเรือที่หายไปนั้นก็เพราะถูกปล้นโดยโจรสลัดจากเกาะตะรุเตา ที่มี ขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์ ผู้อำนวยการนิคม เป็นหัวหน้าโจรสลัดเสียเอง ให้นักโทษและผู้คุมออกปล้น เมื่อยึดเรือนำมาขนถ่ายสินค้าไว้ในโกดังบนเกาะแล้ว เรือจะถูกนำไปทำลาย ส่วนลูกเรือจะถูกมัดมือมัดเท้าเป็นพวงถ่วงลงใต้ทะเลด้วยสมอเรืออย่างโหดเหี้ยม เพื่อไม่ให้เหลือหลักฐาน

แม้คนในจังหวัดสตูลจะรู้เรื่องนี้ แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดอย่างเปิดเผย เพราะรู้ดีว่าเครือข่ายของโจรสลัดมีอยู่เกลื่อน แม้แต่ข้าราชการระดับสูงของจังหวัด เรื่องจึงไม่ดังมาถึงกรุงเทพฯ

ผู้อำนวยการนิคมมีวิธีการที่จะทำให้ผู้คุมใต้บังคับบัญชาเป็นพวก ขยายแก๊งออกไปเรื่อยๆ โดยออกคำสั่งให้ร่วมไปกับเรือที่ออกไปราชการต่างๆ เช่นไปติดตามนักโทษ ไปส่งอาหารให้ผู้คุมและนักโทษที่ทำงานตามเกาะ หรือออกไปตีอวนหาปลามาเป็นอาหาร แต่พอออกไปกลางทะเลแล้ว เรือลำนั้นก็จะตกอยู่ใต้การควบคุมของนักโทษมือดีสมุนของผู้อำนวยการ ซึ่งจะเป็นผู้ลงมือปล้นเรือสินค้า นักโทษกลุ่มนี้มีความเหี้ยมโหดผิดมนุษย์ จึงไม่มีผู้คุมคนใดกล้าหือ และเมื่อกลับถึงฝั่งผู้คุมก็จะรับส่วนแบ่งด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นผู้ร่วมปล้นด้วย จึงไม่มีใครกล้าพูด บางคนติดใจขอไปอีก จนรู้กันทั่วทั้งเกาะ ส่วนคนที่ไม่ยอมไปก็แค่ถูกหาว่าขี้ขลาดตาขาว ไม่ต้องไปกำจัด เพราะเชื่อว่าไม่มีใครกล้าพูด หากพูดเมื่อไหร่ก็ตายเมื่อนั้น ซึ่งทุกคนบนเกาะนรกนี้มีสิทธิ์ตายได้ง่ายๆไม่ว่านักโทษหรือผู้คุม โดยถูกแทงบัญชีว่า จมน้ำตาย ตกต้นไม้ตาย ถูกงูกัดตาย แค่นี้เรื่องก็จบโดยไม่มีการพิสูจน์

เครือข่ายของโจรสลัดตะรุเตายิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนทำกันอย่างเปิดเผยไม่ต้องเกรงกลัวใคร นักโทษสมุนเอกของผู้อำนวยการสามารถไปใช้ชีวิตสำราญบนฝั่งสตูลได้อย่างเปิดเผยทั้งๆที่ยังไม่พ้นโทษ คนหนึ่งถึงกับจัดงานแต่งงานในจังหวัดอย่างเอิกเกริก

แม้เรื่องราวของโจรสลัดตะรุเตาจะเป็นที่รู้กันทั่วไป แต่ขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์ก็ได้รับความเกรงอกเกรงใจจากคนใหญ่ๆของจังหวัดสตูลซึ่งไปร่วมสังสรรค์สโมสรที่เกาะเป็นประจำ ผู้กำกับตำรวจสตูลซึ่งมีหน้าที่ปราบโจรโดยตรง เป็นเพื่อนสนิทของขุนอภิพัฒน์ฯ เคยรับราชการจังหวัดเดียวกันมาก่อนในภาคเหนือ และเป็นแขกประจำของเกาะตะรุเตา ขนาดข้าหลวงจังหวัดสตูล ซึ่งก็คือผู้ว่าราชการจังหวัด ยังลาออกมาทำการค้าข้าวสาร พริกแห้ง ถั่ว และอาหารต่างๆ ซึ่งก็ล้วนแต่ซื้อของโจรมาจากตะรุเตาทั้งสิ้น

เรื่องของโจรสลัดตะรุเตาไม่ใช่รู้กันแค่ในเมืองไทย ที่มลายูก็พูดกัน พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ผู้บังคับการตำรวจสนามของรัฐมาลัยในมลายู ซึ่งตอนนั้นยังเป็นอาณาเขตของไทย ได้ทำรายงานมายังกระทรวงมหาดไทย แต่เรื่องก็เงียบหายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง

ต่อมาเมื่อสงครามสงบ ไทยต้องเสียดินแดนรัฐมาลัยให้อังกฤษไป พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ได้ย้ายเข้ามาเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธร ภาค ๙ มีพื้นที่ครอบคลุมจังหวัดสตูลและตะรุเตาด้วย จึงสั่งลุยกับก๊กโจรสลัด โดยมีลูกน้องคู่ใจคือ ร.ต.อ.สวัสดิ์ บัวบาน กับ ส.ต.อ.ชั้น โพธิ์ทอง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่โจรสลัดก๊กนี้มีคนกล้าต่อกรเข้าปราบปราม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

วันหนึ่ง ส.ต.อ.ชั้นได้นำกำลังตำรวจไปตระเวนทางทะเล พบกลุ่มนักโทษกับผู้คุมนำเรือใบลำใหญ่ที่ปล้นมาจะกลับถึงตะรุเตาอยู่แล้วจึงเรียกให้หยุด แต่ได้รับการยิงตอบ ตร.จึงยิงสลัดตายไป ๘ คน ก่อนตายสลัดบางคนยอมรับสารภาพว่าถูกผู้อำนวยการบังคับให้มาปล้นและอาสาจะนำตำรวจไปค้นบนเกาะซึ่งมีสินค้าที่ปล้นมาซุกซ่อนไว้ แต่ตำรวจก็ไม่สามารถช่วยชีวิตเขาไว้เป็นพยานได้ เรือสินค้าลำนี้เป็นเรือพม่า มาจากพะโค จะนำสินค้าไปส่งปีนัง มีข้าว พริก และถั่ว เกือบพันกระสอบ ตร.จึงลากเอาเข้าฝั่งสตูล พร้อมด้วยลูกเรือที่ถูกจับขังจนหิวโซ เตรียมถ่วงลงใต้ทะเล จึงรอดชีวิตได้เหมือนเกิดใหม่

พอผู้อำนวยการนิคมทราบข่าวว่าลูกน้องเสียท่าตำรวจ จึงรีบชิงโทรเลขไปยังกรมราชทัณฑ์ว่า

“เมื่อ ๒๒ ธ.ค.๘๘ นายผล เรืองศรี ผู้คุม นำนักโทษ ๗ คนออกไปลงอวนตามอ่าวของเกาะ จนถึง ๓๑ ธ.ค.๘๘ ก็ยังไม่กลับ หายไปทั้งคน อวน และเรือ กำลังติดตาม”

แต่พอถูกเปิดเผยต่อมาว่า ผู้คุมและนักโทษเหล่านั้นออกไปปล้น และถูก ตร.ยิงตายหมดแล้ว ผู้อำนวยการก็รายงานไปยังกรมอีกว่า

“...เรื่องนี้เจ้าพนักงานตำรวจสถานีเกาะตะรุเตามีบทบาทเกี่ยวข้องด้วยอย่างสำคัญ ข้าพเจ้าได้ทำการสืบสวนแล้วได้ความว่า พลฯ เอี่ยมชักชวนนักโทษไปปล้นทางทะเล มีนักโทษกักกัน แบ้ จันทร์เพ็ชร์ คนหนึ่งร่วมไปด้วย แต่ไปเกิดเป็นไข้จับสั่น ระหว่างทาง พลฯ เอี่ยมจึงส่งตัวขึ้นไว้ที่อ่าวหินงาม เป็นคนเดียวนอกจาก พลฯ เอี่ยมที่มีชีวิตรอดมาได้ ได้มาให้การเป็นพยานดังกล่าวแล้ว...”

และ“...ตามทางสอบสวนได้ความว่า เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๘๘ นายผล เรืองศรี ควบคุมนักโทษกักกัน เยื้อน หลี และกัน พร้อมด้วยเครื่องมือลงอวนไปในเรือพายของนิคม วันเดียวกันนี้เวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น. พลฯ เอี่ยมได้ชักชวนนักโทษกักกัน แบ้ ยัง หนูแดง และจันทร์ไปเที่ยวปล้นทางทะเล โดยพลฯ เอี่ยมนำอาวุธปืนพร้อมกระสุน ๑๕ นัดที่ใช้ในราชการของตำรวจปล้น พร้อมทั้งจัดหาเรือยนต์ซึ่งพลฯ เอี่ยมไปขโมยจากพวกแขกที่เกาะนกมาให้เป็นพาหนะในการปล้น ระหว่างที่ไป พลฯ เอี่ยมได้แวะหุงข้าวกินที่อ่าวตะโละตะปุ๊และนอนค้างอยู่ ๑ คืน นักโทษเฝ้าอ่าวชื่อเฉลิมและเยื่อ เป็นผู้รับรองให้ที่พักนอน รุ่งขึ้นวันที่ ๒ พลฯ เอี่ยมก็ออกเดินทางไปถึงอ่าวหินงาม บังเอิญพบกับนายผล เรืองศรี กับพวกนักโทษที่ไปลงอวน...”

โยงเรื่องมาให้เห็นว่าตำรวจเป็นผู้ชักนำนักโทษของตัวไปปล้น และตำรวจที่ปราบยิงนักโทษผู้คุมตายหมด แต่ไม่ยิงตำรวจด้วยกันเอง

ทางกรมราชทัณฑ์จึงสั่งไปแต่เพียงว่า ต่อไปให้ควบคุมนักโทษให้รัดกุมมากกว่านี้

ต่อมา ร.ต.ท.สวัสดิ์ บัวบาน ผู้บังคับหมวดสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสตูล ได้รับรายงานมาว่า บนเกาะตะรุเตาขณะนั้นมีสินค้าที่ปล้นมาเต็มโกดัง นอกจากข้าวสาร อาหารแห้งแล้ว ยังมีน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด น้ำมันหมู สบู่ และยางรถยนต์ ซึ่งล้วนแต่เป็นของหายากยามสงคราม จึงทำบันทึกถึงผู้กำกับตำรวจภูธรจังหวัดสตูล ขอขึ้นค้นเกาะตะรุเตาโดยด่วนเพื่อไม่ให้พวกโจรสลัดรู้ตัว แต่ พ.ต.ต.หลวงอนุมานขจัดเหตุ ผู้กำกับฯ สตูลตอบสั้นๆ ว่า

“ไม่อนุญาตให้ขึ้นไปค้นและจับกุม เพราะตะรุเตาเป็นสถานที่ราชการ”

ร.ต.ท.สวัสดิ์จึงไม่สามารถราวีกับก๊กโจรสลัดได้ ต่อมาภายหลังเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีโจรสลัดตะรุเตา พ.ต.ต.หลวงอนุมานฯก็อธิบายเหตุที่ไม่อนุญาตกับคณะกรรมการว่า

“ผมเห็นไม่สมควร ก็ไม่อนุญาต”

แม้เรื่องโจรสลัดตะรุเตาจะเป็นเรื่องอื้อฉาวรู้กันไปทั่วฝั่งอันดามัน ทั้งไทย มลายู ปีนัง และพม่า แต่ทางส่วนกลางคือกระทรวงมหาดไทยและกรมราชทัณฑ์ก็เชื่อรายงานคนของตัว จึงไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างไร ส่วนตำรวจและข้าราชการในท้องที่ ถ้าไม่ตกอยู่ในอิทธิพลและผลประโยชน์ของโจรสลัด ทุกคนต่างก็กลัวตายไม่มีใครกล้าพูด

เมื่อสงครามโลกสงบในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๘ มลายูและปีนังต้องอดอยากยากแค้นสาหัส หลังจากตกอยู่ในความปกครองของญี่ปุ่น เมื่อกองทัพอังกฤษเข้ามาปลดแอกจึงต้องเร่งให้ขนอาหารจากพม่ามาบรรเทาความหิวโหย แต่สินค้าเหล่านี้กลับตกเป็นอาหารอันโอชะของสลัดตะรุเตา ในช่วง ๒-๓ เดือนหลังสงครามสงบ มีเรือสินค้าหายไปในน่านน้ำตะรุเตาอีกราว ๕๐ ลำ จนทางการอังกฤษไม่อาจวางเฉยกับเรื่องนี้ได้ ทั้งพวกพ่อค้าก็ร้องว่ารัฐบาลไทยให้ท้ายโจรสลัด ขอให้อังกฤษส่งทหารไปคุ้มครองเรือสินค้าด้วย อังกฤษจึงได้ส่งทหารลงประจำเรือ และเป็นครั้งแรกที่โจรสลัดถูกเหยื่อต่อสู้ ถูกยิงตายและถูกจับได้หลายคน

นอกจากนี้ กองบัญชาการทหารอังกฤษภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ยังได้มีหนังสือถึงรัฐบาลไทย แจ้งเรื่องการปล้นเรือสินค้าในน่านน้ำไทย ทั้งยังบันทึกต่อท้ายด้วยว่า ถ้ารัฐบาลไทยไม่สามารถปราบได้ อังกฤษก็จะขอปราบเองเพราะไม่อาจปล่อยให้เกิดขึ้นอีกต่อไปได้

ขณะนั้นไทยตกเป็นประเทศที่ร่วมกับฝ่ายผู้แพ้สงคราม และกำลังดิ้นให้พ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้ด้วย โดยอ้างว่าถูกญี่ปุ่นบังคับให้ร่วม จึงมีความเกรงใจฝ่ายสัมพันธมิตรมาก โดยเฉพาะอังกฤษที่จ้องจะเรียกร้องค่าเสียหายจากไทยอย่างหนัก ประกอบกับถูกมองว่ารู้เห็นเป็นใจกับโจรสลัด เพราะมีข้าราชการใหญ่ๆหลายคนร่วมในขบวน จึงตัดสินใจไม่คิดถึงเรื่องอธิปไตย ยอมให้อังกฤษยกกำลังเข้ามาปราบโจรสลัดบนแผ่นดินไทยเอง ซึ่งก็คงเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์

แต่ทว่าเหมือนปาฏิหาริย์ ข่าวอังกฤษจะยกพลขึ้นบุกตะรุเตามาถึงหูขุนอภิพัฒน์ฯก่อนจนได้

๒๐ กว่าวันก่อนหน้านั้น เรือของนิคมลำหนึ่งมีผู้คุมและนักโทษ ๑๕ คน ออกเดินทางจะไปรับข้าวสารซึ่งเป็นเสบียงของนิคมที่กันตัง แต่ถูกพายุฝนโหมกระหน่ำจนใบเรือฉีกขาด ต้องลอยเท้งเต้งอยู่ในทะเลถึง ๒๐ วันจึงไปเกยฝั่งที่บัตเตอร์เวิร์ต ในมลายู ทหารอังกฤษเข้าช่วยเหลือ และส่งไปพักที่วัดไทย นอนอยู่ได้คืนเดียวชาวคณะตะรุเตาก็ได้ข่าวว่าอังกฤษกำลังจะบุกขึ้นเกาะ เลยตาเหลือกพากันรีบเผ่นกลับ

ขุนอภิพัฒน์ฯซึ่งส่วนใหญ่จะพักอยู่ที่สตูล ได้ทราบข่าวกลางดึกของคืนวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๔๘๘ จึงรีบข้ามไปที่เกาะทันทีในคืนนั้น บัญชาการตั้งแต่ยังไม่สว่างให้เร่งขนย้ายสินค้าที่ปล้นมาในโกดังไปซุกซ่อนไว้ตามป่าเขา บ้างก็ให้เอาไปทิ้งทะเลหรือเผา ความโกลาหลเกิดขึ้นบนเกาะตะรุเตาตั้งแต่กลางดึกนั้น นักโทษมือปล้นต่างเกรงกลัวความผิด พากันฝ่าคลื่นลมหนีออกจากเกาะโดยเรือเล็กหรือแพที่ต่อขึ้น ซึ่งไม่รู้ว่ามีกี่คนที่มีโอกาสได้เหยียบฝั่งอีก

เมื่อชาวคณะตะรุเตาที่ผจญพายุพากันทิ้งเรือเผ่นกลับไปอย่างผิดสังเกต อังกฤษก็รู้ว่าความลับแตกเสียแล้ว จึงเลื่อนกำหนดวันบุกเข้ามาทันที

ราว ๗ นาฬิกาของวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๔๘๘ เครื่องบินอังกฤษ ๒ ลำก็บินโฉบที่ตะรุเตาเป็นการทำลายขวัญ จากนั้นเรือรบในการนำของ พลจัตวาเธอร์เรย์ ก็เข้าประชิดหาด ส่งทหาร ๓๐๐ คนขึ้นฝั่ง ปรากฏว่าไม่มีการต่อสู้

ผู้อำนวยการและทีมงานของนิคมทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ออกมาต้อนรับทหารอังกฤษ จึงถูกควบคุมตัวโดยมีลูกน้องหลายคนยอมรับว่าตัวเองว่าเป็นกลุ่มโจรสลัด อังกฤษได้มอบตัวผู้ต้องหาทั้งหมดให้อยู่ในความควบคุมของฝ่ายไทย ซึ่งมี ดร.วิบูลย์ ธรรมวิทย์ ข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทย ถูกส่งไปประสานงานกับฝ่ายอังกฤษ

ทหารอังกฤษยังได้ออกค้นทั่วเกาะและได้ข้าวอีกเป็น ๑๐๐ กระสอบ แต่ไม่ได้ส่งให้ฝ่ายไทย ขนกลับไปบรรเทาความอดอยากในมลายู

กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นชุดหนึ่งเพื่อสอบสวนดำเนินคดีเรื่องนี้โดยเฉพาะ มีพระยารามราชภักดี ข้าหลวงตรวจการเป็นประธาน ประกอบด้วย พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ผู้บังคับการตำรวจภาค ๙ ขุนนิยมบรรณสาร ผู้บัญชาการเรือนจำภาคธารโต รวมทั้งพนักงานสอบสวนท้องที่

พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ นับเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของคณะกรรมการชุดนี้ เพราะมีข้อมูลของก๊กโจรสลัดเพียบ ซักแต่ละทีทำให้พวกโจรสลัดจำนนไปตามกัน ต่อมาจึงเป็นที่เปิดเผยว่า นายฉอ้อน โทไวยะ ซึ่งทั้งจังหวัดสตูลรู้กันว่าใกล้ชิดอยู่กับพวกโจรสลัด และนายจักรพันธ์ พรหมศร บุตรชายของ ร.อ.พริ้ง พรหมศร สมุห์บัญชีนิคมตะรุเตา ซึ่งมักจะไปขลุกอยู่ที่บ้านขุนอภิพัฒน์ฯเป็นประจำนั้น แท้ที่จริงก็คือสายของ พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ซึ่งต่อมาเป็นพยานปากสำคัญในศาลจนมัดโจรสลัดตะรุเตาได้หมด

แต่ถึงกระนั้น ขุนอภิพัฒน์ฯก็ไม่ยอมจำนนง่ายๆแม้จะมีหลักฐานมัดแน่น ได้ทำหนังสือร้องทุกข์จากเรือนจำไปถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวหาพ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ว่าบงการคณะกรรมการสอบสวน ใส่ความข่มขู่ และให้เงินเป็นสินจ้างพยานให้ปรักปรำ

ตอนหนึ่งของคำร้องทุกข์ ผู้อำนวยการเรือนจำได้วิงวอนอย่างน่าสงสารว่า

“...ขอท่านอธิบดีได้โปรดพิจารณาโดยกรุณาแก่ผมผู้ยากจน แม้แต่เงินที่จะหาทนายที่มีชื่อเสียงพอสมควร กระผมก็ไม่สามารถจะหาจ้างได้ ได้มาวันหนึ่งก็เลี้ยงครอบครัวไปชั่ววันนั้น ไม่เคยมีตามคำเล่าลือของเขาเลย กรุณาเห็นใจผมให้มาก...”

คำร้องทุกข์นี้ถูกส่งไปยังกระทรวงมหาดไทย ทำเอาคนอ่านเห็นใจไปตามกัน จนคณะกรรมการถูกหาว่าทำนอกลู่นอกทาง โดยเฉพาะคณะกรรมการย้ายผู้ต้องหาที่ยอมเป็นพยานไปไว้ที่เรือนจำสงขลา เพื่อให้พ้นเขตอิทธิพลของขุนอภิพัฒน์ฯ ทำให้กรมราชทัณฑ์โกรธแค้นมากที่ก้าวก่ายงานราชทัณฑ์

พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์รับหน้าที่เป็นผู้ชี้แจงเรื่องราวหักล้างข้อกล่าวหาได้ทั้งหมด จนปลัดกระทรวงระงับเรื่องร้องทุกข์ ว่าคณะกรรมการสอบสวนทำไปถูกต้องแล้ว

ในที่สุดคณะกรรมการก็สรุปผลการสอบสวน ได้สั่งย้ายคดีนี้ไปพิจารณาที่ศาลจังหวัดสงขลา และเว้นที่จะไม่ดำเนินคดีผู้ร่วมขบวนการบนฝั่ง เพราะยากต่อการหาหลักฐาน บางคนก็เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่หลวมตัวไปอย่างน่าสงสาร แต่กระนั้น พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ก็ได้รับคำสั่งฟ้าผ่าให้ย้ายเข้าประจำกรม พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์พยายามร้องถามเหตุผลในการย้ายจาก พ.ต.อ.พระรามอินทรา ปลัดกระทรวงและ พ.อ.หลวงเชวงศักดิ์สงคราม รมต. แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ ทำให้นายตำรวจผู้ทุ่มเทชีวิตปราบอธรรมต้องล้มป่วย ยื่นใบลาขอพักงาน

ข่าว พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ถูกย้ายเข้ากระทรวงทำให้ขบวนการโจรสลัดเริงร่า พยานของคณะกรรมการสอบสวนแตกกันกระเจิง หนีหัวซุกหัวซุนหลบออกนอกจังหวัดสตูล แต่ในขณะที่ พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์นอนป่วยอยู่นั้น ก็ได้รับคำสั่งจาก รมต.มหาดไทยให้เดินทางลงใต้ในวันรุ่งขึ้น โดยนายเตียง ศิริขันธ์ รมต.ในคณะรัฐบาลของพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นประธานคณะกรรมการปราบปรามข้าราชการคอรัปชั่น นายเตียงมุ่งเป้าจะเริ่มที่ภาคใต้ซึ่งมีเรื่องอื้อฉาวมากที่สุดเป็นแห่งแรก และเจาะจงขอตัว พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ผู้ชำนาญพื้นที่ไปเป็นผู้ช่วย

ระหว่างนั่งรถไฟไปด้วยกัน เหตุการณ์ในภาคใต้ก็ถูก พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์รายงานรัฐมนตรีเตียงเป็นฉากๆ หนึ่งจำนวนนี้ก็คือคดีโจรสลัดตะรุเตา แต่พอนายเตียงกับ พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์จะลงมือปราบคอรัปชั่นเท่านั้น หลวงธำรงฯ ซึ่งมีฉายาว่า “นายกฯลิ้นทอง” ก็ให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า นโยบายปราบคอรัปชั่นนี้ หมายถึงปราบคนที่ลงมือทำใหม่ ที่ทำไปแล้วก็แล้วกัน นายเตียงอ่านข่าวแล้วก็หัวฟัดหัวเหวี่ยงบินมายื่นใบลาออกจากคณะรัฐมนตรีทันที นายกฯ ลิ้นทองต้องตามไปอ้อนวอนและให้สัญญาว่า ถ้านายเตียงว่าอย่างไรรัฐบาลจะรับลูกทันที นายเตียงจึงยอมถอนใบลาแล้วกลับลงไปใต้อีก

ระหว่างที่นายเตียงขึ้นมากรุงเทพฯนี้ พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ก็ไม่ยอมให้เสียเวลาเปล่า สะสางคดีโจรสลัดตะรุเตาที่ชะงักงันจนเรียบร้อย ส่งถึงอัยการจังหวัดสงขลาให้ยื่นฟ้องได้ แต่ไม่ทันไรคำสั่งใหม่ก็มาอีก สั่งย้าย พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ขึ้นไปเป็นผู้บังคับการเขต ๑ ลำปาง ห่างไกลจากสตูลลิบลับ พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ไม่ยอมแพ้ ติดต่อกับอัยการจังหวัดสงขลา ซึ่งมีความเห็นว่าคดีนี้แม้จะถึงศาลแล้ว แต่ในการสอบพยานจะขาด พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ไม่ได้ จึงเสนอเรื่องไปยังกรมอัยการให้ขอตัว พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์มาช่วย เพราะเป็นคดีใหญ่เกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศและความสงบภายใน จำเลยที่ ๑ เป็นข้าราชการชั้นเอกซึ่งมีอิทธิพลทั้งอำนาจมืดและการเงิน จำเลยทั้งหมดถูกฟ้อง ๒๒ คน ที่ยังหลบหนีจับไม่ได้อีกราว ๑๐ คน พยานโจทก์มีประมาณ ๖๐ ปาก สืบพยานไปแล้วขณะนั้น ๒๕ ปาก เห็นว่าพยานยังตกอยู่ใต้อิทธิพลของจำเลย ปิดบังความจริงต่อศาล ถ้าได้นายตำรวจผู้นี้มาช่วยควบคุมพยานอย่างใกล้ชิด พยานจึงจะให้การไปตามความเป็นจริงเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี

ฉะนั้นหลังจากที่ พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข เดินทางไปอยู่ลำปางได้ราว ๗ วัน คำสั่งก็ไปถึง ให้ไปช่วยราชการอัยการจังหวัดสงขลา จนกว่าคดีโจรสลัดตะรุเตาจะแล้วเสร็จ

ในที่สุด คดีนี้ศาลชั้นต้นจังหวัดสงขลาพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิดของแต่ละคน ขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์ถูกลงโทษจำคุก ๑๕ ปี สมุนบางคนโดนถึง ๒๐ ปี และสู้กันถึง ๓ ศาล ในที่สุดศาลฎีกาก็ยืนตามศาลขั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ส่วนนักโทษสมุนมือขวาที่รับสารภาพว่าจับคนถ่วงน้ำไป ๑๖ ศพ ไม่ได้รับการตัดสินในครั้งนี้ เพราะแหกคุกออกไปหาเมียสาวที่เพิ่งแต่งงานเอิกเกริกระหว่างติดคุก จึงถูกยิงตายที่ข้างกำแพงคุก ชดใช้กรรมไปเรียบร้อยก่อนแล้ว

คดีนี้นับว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้น เป็นคดีที่เหี้ยมโหดอย่างไม่คาดคิด หัวหน้าโจรสลัดเป็นถึงข้าราชการชั้นเอก และยังเป็นคดีเดียวที่รัฐบาลยอมให้ทหารต่างชาติยกกำลังเข้ามาปราบโจรบนแผ่นดินไทย โดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีและอธิปไตยของชาติ

คดีนี้สำเร็จลงโดยขบวนการโจรสลัดถูกปราบจนราบคาบ ก็เพราะมีนายตำรวจที่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ และเอาจริงเอาจังอย่าง พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ซึ่งย้ายสังกัดมาจากทหารเรือ ถ้านายตำรวจผู้นี้ไปร่วมขบวน หรือมีความเกรงกลัวกลุ่มโจรสลัดด้วยอีกคน ก็ไม่รู้ว่าคดีนี้จะออกมาในรูปใด
สัญลักษณ์ของตะรุเตาแดนสวรรค์
น.อ.พระยาศราภัยฯที่กระท่อมลี้ภัยในมลายูในวันที่ลูกชายไปเยี่ยม
เครื่องใช้ของนรกตะรุเตาที่เก็บไว้เป็นอนุสรณ์
อีกอนุสรณ์หนึ่งของนรกตะรุเตา
พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข
กำลังโหลดความคิดเห็น