xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อแรกตั้งศิริราช ต้องจ้างคนมารักษา! มีปัญหาทั้งคนไข้และหมอ แม้แต่ยาตำราหลวงก็ใช้เป็นหลักไม่ได้!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ศิริราชยามเย็น ภาพจาก Traven Planet Earth จากเว็บพันทิพ
โรงพยาบาลศิริราช หรือในชื่อพระราชทานเมื่อแรกตั้งว่า “โรงศิริราชพยาบาล” นับเป็นโรงพยาบาลของรัฐแห่งแรกของประเทศไทย การสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความยากกลับอยู่ที่จะหาคนไข้มารักษา แม้จะฟรีหมดทุกอย่าง แต่ก็ยังไม่มีใครยอมเข้า ถึงกับต้องจ้างให้มารักษา แม้แต่หมอต่างก็ปิดบังตำรายาของตัว ยอมให้เฉพาะลูกหลานหรือศิษย์ องค์ผู้ให้กำเนิดต้องทุ่มเททั้งพระวรกายและสติปัญญา จนถึงกับสิ้นพระชนม์ชีพในโรงพยาบาลที่ทรงสร้าง

สมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ นั้น เมืองไทยยังไม่มีโรงพยาบาลของรัฐเลยแม้แต่แห่งเดียว คงมีแต่โอสถศาลาและคลินิกของพวกมิชชันนารีที่เปิดรักษาคนไข้ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โรงพยาบาลแบบตะวันตกแห่งแรกของไทยก็คือ “โรงพยาบาลทหารหน้า” ของกรมทหารหน้า ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๒๒ ที่ถนนตรีเพชร ข้างสถานีตำรวจนครบาลพาหุรัต แต่รับรักษาพยาบาลเฉพาะทหารเท่านั้น และเลิกกิจการไปในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ เพราะขาดตัวบุคลากรผู้ดำเนินการ

ในปี พ.ศ.๒๔๒๔ ได้เกิดอหิวาตกโรคระบาดในกรุงเทพฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดชักชวนเจ้านายและข้าราชการให้ตั้งโรงรักษาอหิวาต์ขึ้นตามวังและบ้าน เพื่อช่วยเหลือประชาชน มีการตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวขึ้นในครั้งนี้ถึง ๔๘ แห่ง แต่เมื่ออหิวาต์สงบลงก็เลิกไปด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีโรงพยาบาลถาวร เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บของราษฎรและเป็นที่ฝึกวิชาแพทย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งคณะกรรมการจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นเรียกว่า “คอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล” คือ
๑. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศิริรัชสังกาศ
๒. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
๓. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
๔. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์
๕. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์
๖. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์
๗. พระยาโชฎึกเศรษฐี (เถียร โชติกเสถียร)
๘. หลวงสิทธินายเวร (บุศ เพ็ญกุล ต่อมาเป็นเจ้าหมื่นสรรเพชญ์ภักดี)
๙. นายแพทย์ปีเตอร์ กาแวน แพทย์ประจำราชสำนัก

คณะกรรมการประชุมกันเห็นว่า โรงพยาบาลเป็นของใหม่ควรตั้งเพียงแห่งเดียวก่อน เมื่อคนเห็นคุณประโยชน์แล้วจึงค่อยจัดสร้างเพิ่มขึ้น ซึ่งแห่งแรกนี้จะขอแบ่งที่ดินอันเคยเป็นของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ซึ่งทิ้งรกร้างอยู่ฝั่งธนบุรี และซื้อที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านเหนือโรงเรียนวังหลังของมิชชันนารีอเมริกัน เพื่อทำท่าน้ำขึ้นไปโรงพยาบาล

คณะกรรมการได้มอบหมายงานทั้งหมดให้แก่กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ และพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์เพียง ๒ พระองค์ โดยกรมหมื่นดำรงฯ ทรงรับภาระฝ่ายก่อสร้าง ส่วนพระองค์ศรีฯ ทรงรับภาระฝ่ายจัดการบริหารโรงพยาบาล

หลังจากที่ได้ดำเนินการไปได้ประมาณ ๒ เดือน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ทรงประชวรและสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ ขณะมีพระชนมายุได้เพียง ๑ ปี ๖ เดือน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดงานพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง ร่วมกับงานพระเมรุของพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรรุตมธำรง จึงได้ก่อพระเมรุด้วยไม้ที่ทนทาน เช่น ไม้สัก สร้างเป็นเรือนต่างๆ โดยมีพระราชประสงค์ว่า เมื่อเสร็จงานแล้วจะนำไปพระราชทานใช้ก่อสร้างโรงพยาบาลต่อ

การก่อสร้างโรงพยาบาลเริ่มต้นได้ปลูกเป็นเรือนไม้มุงหลังคาจาก ใหญ่ ๓ หลัง เล็ก ๓ หลัง สำหรับเป็นเรือนคนไข้ พร้อมทั้งเรือนอำนวยการและที่เก็บยาผสมยา เรือนผู้ดูแลโรงพยาบาล เรือนแถวของผู้รับใช้ โรงครัว ท่าน้ำ สะพาน ถนน กำแพง โดยยังไม่ปลูกให้ใหญ่โต เพื่อให้เสร็จเปิดดำเนินการได้โดยเร็ว ได้รับเงินทุนขั้นต้นนี้มาจากพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นเงิน ๑๖,๐๐๐ บาท ทั้งยังพระราชทานเงินของสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์อีก ๕๖,๐๐๐ บาท เพื่อสร้างถาวรวัตถุโรงพยาบาล ซึ่งคณะกรรมการได้นำเงินจำนวนนี้ไปสร้างอาคารสำหรับเปิดสอนวิชาแพทย์

การก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดรับรักษาคนไข้ได้ในวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๑ พระราชทานนามโรงพยาบาลแห่งแรกนี้ว่า “โรงศิริราชพยาบาล” ตามพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์

เมื่อการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่การเปิดดำเนินงานของโรงพยาบาลก็ไม่ใช่ง่ายอย่างที่คิด ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ใน “นิทานเรื่องตั้งโรงพยาบาล” ว่า

“ความลำบากข้อแรก เริ่มแต่หาหมอประจำโรงพยาบาล ตามความคิดของกรรมการ หมายจะเลือกหมอที่ชำนาญการรักษาคนไข้เจ็บจนมีชื่อเสียง ซึ่งมักจะเป็นหมอหลวงโดยมาก มาให้รับเงินเดือนเป็นตำแหน่งนายแพทย์และนายแพทย์รองประจำโรงพยาบาล แต่เมื่อพระองค์ศรีไปเที่ยวตรัสชวนหมอหลวง ปรากฏแก่เธอว่าหมอถือตัวกันเป็นต่างพวก ใช้วิธีรักษาและยาที่รักษาโรคร่วมกันแต่ในพวกของตน ซึ่งมักเป็นลูกตัวหรือลูกเขย หรือเป็นศิษย์ของหมอที่เป็นตัวครู ต่างพวกต่างรังเกียจกัน ตามคำที่พระองค์ศรีเธอตรัสว่า “ดูราวกับเห็นพวกอื่นว่าไม่เป็นหมอไปเสียทั้งนั้น”

ฉันเคยทูลถามว่า “ถ้าเช่นนั้น เอาตำราหมอของหลวงนั้นใช้เป็นหลักไม่ได้หรือ”

เธอตรัสว่า “ได้ลองถามดูแล้วต่างคนต่างก็บอกว่าตำราหลวงนั้นใช้เป็นหลักไม่ได้จริงๆ อ้างเป็นอุทาหรณ์ดังเช่นตำรายาว่าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ประชุมหมอหลวง แต่งตำรายาที่จารึก ณ วัดพระเชตุพนฯ หมอหลวงต่างก็ปิดพรางตำรายาดีของตนเสีย ไม่ได้ไปลงในตำราหลวง คงมีแค่ตำราที่แต่งไว้แต่ยาอย่างบรมโบราณอันใครๆก็รู้ด้วยกันหมด แต่วิธีรักษาและยาดีที่ใช้ในปัจจุบันหามีไม่”

ในที่สุด กรรมการก็ต้องใช้วิธีเลือกหมอที่มีชื่อเสียงมาคนหนึ่ง แล้วให้หมอผู้นั้นหามือรองมาเอง จะเป็นลูกหลานหรือศิษย์ก็ตาม แล้วใช้วิธีรักษาไข้ตลอดจนยาของหมอตำรับเดียว ซึ่งพระองค์เจ้าศรีฯได้เชิญพระประสิทธิวิทยา (หนู) หมอที่มีชื่อเสียงและคุ้นเคยกันมาเป็นนายแพทย์ใหญ่คนแรกของโรงพยาบาลศิริราช ส่วนแพทย์รองนั้นพระประสิทธิฯได้เลือกหมอหนุ่มที่เป็นศิษย์มา ๒ คน คือ หมอคง ถาวรเวช และหมอนิ่ม โกมลเวช ซึ่งทีมหมอทั้ง ๓ นี้ก็ประสบความสำเร็จด้วยดี ต่อมาพระประสิทธิฯได้เป็น พระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง หมอคงได้เป็น พระยาพิษณุประสาทเวช และหมอนิ่ม ได้เป็น พระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง แทนอาจารย์

เปิดรับรักษาครั้งแรกนั้นใช้ทั้งแผนไทยและแผนใหม่แบบตะวันตก สำหรับแผนฝรั่งนั้นให้หมอ ปีเตอร์ กาแวน แพทย์หลวงเป็นหมอใหญ่

ได้หมอมาแล้วใช่ว่าจะหมดปัญหา ยิ่งหนักกว่าขึ้นไปอีก เพราะโรงพยาบาลเป็นของใหม่ แม้จะไม่คิดค่ารักษาพยาบาล ฟรีทั้งค่ายา ค่าห้อง ค่าอาหาร และค่ารักษาซึ่งเรียกกันว่า “เงินขวัญข้าว” ก็ไม่ต้องจ่าย แต่เปิดคอยอยู่หลายวันก็ไม่มีคนไข้เข้ามา เพราะไม่ไว้วางใจ มีแต่ประเภทอาการเพียบหนักส่งไปรักษาที่ไหนไม่มีใครรับแล้ว จึงหามมาส่งศิริราช พอมาถึงยังไม่ทันรักษาก็ตาย ทำให้โรงพยาบาลกลายเป็นเรือนตายของคนไข้ เกิดความกลัวกันเข้าไปอีก จึงต้องไปเที่ยวตระเวนหาคนที่พอจะรักษาหายมาเข้าโรงพยาบาล มีผู้แนะนำให้ไปต้อนพวกขอทานที่เป็นแผลพุพองตามหน้าแข้ง นั่งขอทานอยู่ที่สะพานหันมารักษา ซึ่งหมอกาแวนรับว่ารักษาให้หายได้ไม่ยาก ปรากฏว่าขอทานพวกนั้นซึ่งเป็นคนจีน พอรู้ว่าจะเอาไปรักษาให้หายก็ไม่ยอม บอกว่าถ้าหายแล้วจะขอทานหากินได้อย่างไร ในที่สุดก็ต้องไปกวาดต้อนพวกบ่าวไพร่ของขุนนางทั้งหลายให้ไปรักษา ไปขอยาบ้าง ความเชื่อถือจึงค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

อีกเรื่องหนึ่งก็คือการคลอดลูก ตามธรรมเนียมไทยแต่โบราณนั้น ให้หญิงที่คลอดลูกนุ่งผ้าเตี่ยวนอนบนกระดานแผ่นเดียว แล้วเอาเตาไฟสุมไว้ข้างๆให้ความร้อนเป็นเวลาถึง ๑๕ วัน เรียกว่า“อยู่ไฟ” เชื่อกันว่าถ้าผู้หญิงหลังคลอดลูกสุขภาพทรุดโทรมไม่สมบูรณ์ก็ว่า “อยู่ไฟไม่ได้” แต่ถ้าอ้วนท้วนผิวพรรณเปล่งปลั่งก็บอกว่าเพราะ “อยู่ไฟได้” แต่ผู้หญิงที่ออกลูกแล้วเป็นไข้ถูกความร้อนจากเตาไฟอังเข้าไปอีกก็ตายไปมาก

หม่อมเปี่ยม ชายาของกรมหมื่นปราบปรปักษ์ เมื่อมีบุตรคนแรก ซึ่งต่อมาก็คือเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ป่วยเป็นไข้ทุรนทุราย แต่ถูกบังคับให้อยู่ไฟจนหม่อมเปี่ยมตาย กรมหมื่นปราบฯ จึงปฏิญาณไว้เลยว่า ต่อไปมีบุตรธิดาอีกก็จะไม่ให้อยู่ไฟเป็นอันขาด และให้หมอกาแวนเป็นผู้ผดุงครรภ์ตามแผนฝรั่ง ซึ่งทุกคนก็สุขสบายดี

ต่อมาสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ป่วยเป็นไข้ตอนประสูติสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหมื่นปราบฯ จึงกราบทูลชี้แจงเรื่องนี้ สมเด็จพระบรมราชินีทรงเลื่อมใสจึงขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เลิกผทมเพลิง คืออยู่ไฟ ให้หมอหลวงกาแวนพยาบาลตามการถวายคำแนะนำของกรมหมื่นปราบฯ ทรงตระหนักว่าดีกว่าอยู่ไฟแบบเดิม แต่นั้นมาพวกในวังและพวกมีบรรดาศักดิ์นอกวังก็เลิกอยู่ไฟตามสมเด็จพระราชินีกันเป็นแถว

แต่ในโรงพยาบาลศิริราชแม้จะมีการทำคลอดตามแผนใหม่ แต่คนไข้ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ยอมเชื่อ ขออยู่ไฟตามแบบโบราณ ซ้ำบางรายยังมีสายสิญจน์แขวนยันต์กันผีปอบรอบเตียง โรงพยาบาลก็ต้องยอมอนุโลม เมื่อสมเด็จพระราชินีทรงทราบ จึงโปรดประทานให้อ้างกระแสรับสั่งชี้แจงแก่คนที่จะคลอดลูกในโรงพยาบาลว่า พระองค์เองได้เคยผทมเพลิงมาก่อน แล้วเปลี่ยนมาใช้วิธีพยาบาลแบบใหม่ ทรงสบายกว่าการอยู่ไฟแบบเก่ามาก มีพระราชประสงค์จะให้ราษฎรได้ความสุขด้วย จึงทรงแนะนำให้ทำตามอย่างพระองค์ อย่าได้กลัวเลยหามีอันตรายไม่ และถ้าใครทำตามที่ทรงชักชวน จะพระราชทานเงินทำขวัญลูกที่คลอดใหม่คนละ ๔ บาท

พอมีกระแสรับสั่งเช่นนี้ คนที่ยอมรับการคลอดลูกแผนใหม่ก็มีมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันคนที่อยู่ไฟก็ยังมีไม่น้อย แต่ทั้ง ๒ วิธีต้องพักรักษาตัวอยู่ในห้องเดียวกัน เมื่อคนที่อยู่ไฟเห็นคนที่ไม่ได้อยู่ไฟไม่มีอันตรายแต่อย่างใด กลับสบายกว่าคนอยู่ไฟ แถมยังได้เงินทำขวัญลูกด้วย คนที่ขออยู่ไฟก็น้อยลงทุกทีจนหมดไปในที่สุด

การเริ่มต้นของโรงพยาบาลแห่งแรกด้วยความยากลำบากนี้ ทำให้พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน และได้รับโปรดเกล้าฯเป็นอธิบดีกรมพยาบาล ต้องรับภาระอย่างหนัก ทั้งงานด้านอื่นก็ยังเป็นอธิบดีอำนวยการหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาและเลขานุการในพระองค์ด้วย ต้องเขียนร่างพระราชหัตถเลขาและพระราชนิพนธ์ตามตรัสบอกเสมอทุกคืน พอเช้าก็ต้องรีบมาบริหารโรงพยาบาล กลางวันก็ต้องเสด็จไปสำนักงานราชกิจจานุเบกษา ในไม่ช้าร่างกายก็ทรุดโทรม บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์เจ้าพี่เจ้าน้องทรงเป็นห่วง ทูลเตือนว่าให้คืนงานด้านอื่นไป เอาพละกำลังและเวลาไปทำโรงพยาบาลอย่างเดียวเถิด แต่พระองค์ศรีฯทรงตรัสว่า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้งานอยู่ตราบใด จะไม่ยอมทิ้งพระเจ้าอยู่หัวเป็นอันขาด ไม่นานหมอก็ตรวจพบว่า พระปับผาสะหรือปอดของพระองค์ศรีฯ เป็นวัณโรค สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทราบก็ตกพระทัย ออกพระโอษฐ์ว่า “ไม่รู้เลยว่าใช้ศรีเกินกำลัง” ตอนนั้นพระองค์ศรีฯ สร้างวังยังไม่เสร็จประทับแพจอดที่บางยี่ขัน พอรู้ว่าประชวรด้วยวัณโรคจึงย้ายไปประทับที่ตึกเสาวภาคในโรงพยาบาลศิริราช ใครชวนให้ไปรักษาพระองค์ที่อื่นก็ไม่ยอม ตรัสว่าถ้ารักษาไม่หายก็จะขอตายในโรงพยาบาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปเยี่ยม ญาติมิตรก็ไปกันไม่ขาด จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ พระชนมายุเพียง ๒๗ พรรษา เป็นอธิบดีกรมพยาบาลได้ไม่ถึง ๒ ปี

แม้โรงพยาบาลศิริราชจะเริ่มต้นด้วยเรือนไม้มุงหลังคาจาก แต่ก็มีผู้มีจิตศรัทธาช่วยสนับสนุนส่งเสริมมาตลอด ในปีแรกที่เปิดดำเนินการนั้น ตรงกับปีฉลองการดำรงราชสมบัติของสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งอังกฤษครบ ๕๐ ปีพอดี ชาวอังกฤษในกรุงเทพฯ ๓๓ คนจึงรวบรวมเงินมาได้ ๘๐๐ บาท ประสงค์จะสร้างอนุสรณ์ให้โรงพยาบาล ทางคณะกรรมการจึงสมทบอีก ๘๐๐ บาท สร้างตึกเฉลิมพระเกียรติให้ชื่อว่า ตึกวิคตอเรีย และในปีเดียวกันเจ้าภาพงานพระศพพระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ ได้บริจาคสร้างตึกเสาวภาคนารีรัตน์ขึ้นอีกหลัง และมีผู้บริจาคสร้างเพิ่มเติมมาตามลำดับจนถึงทุกวันนี้

เมื่อเปิดโรงพยาบาลศิริราชขึ้นแล้ว พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ อธิบดีกรมพยาบาลยังได้ตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นที่ริมแม่น้ำหน้าโรงพยาบาลศิริราช เพื่อสอนวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน โดยมีนายแพทย์ ดี.เอช.เฮย์ ซึ่งเข้ามาเป็นนายแพทย์ใหญ่ฝ่ายฝรั่งแทนหมอกาแวน เป็นอาจารย์ ต่อมาในปลายปี พ.ศ. ๒๔๓๔ หมอ ยอร์ช บี.แมคฟาร์แลนด์ ซึ่งมีสัญชาติไทย เกิดที่เพชรบุรี โดยมีบิดามารดาเป็นมิชชันนารีอเมริกัน และไปศึกษาวิชาแพทย์ที่สหรัฐอเมริกากลับมา จึงเข้ารับหน้าที่เป็นแพทย์ใหญ่ของโรงพยาบาลศิริราชกับเป็นอาจารย์ของโรงเรียนแพทย์ด้วย ผลิตแพทย์แผนใหม่ชาวไทยขึ้นมาหลายรุ่น และยังแต่งตำราแพทย์เป็นภาษาไทยไว้หลายเล่ม ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระอาจวิทยาคม ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทวิทยาศรม จำกัด ด้วย

กิจการของโรงพยาบาลศิริราชดำเนินไปด้วยดี แต่ด้านโรงเรียนแพทย์ก้าวไปได้ช้ามาก เนื่องจากขาดครูอาจารย์ที่ศึกษาเล่าเรียนมาโดยเฉพาะ เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ให้เข้ามาปรับปรุงกิจการของโรงเรียนแพทย์ โดยกราบทูลสมเด็จพระบรมราชชนก เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ ซึ่งทรงลาออกจากราชการทหารเรือ เสด็จไปทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทรงเป็นผู้เจรจาจนเป็นผลสำเร็จ มูลนิธิได้ส่งศาสตราจารย์ ดร.เอ.ยี.เอลลิส เข้ามาประเทศไทย พร้อมกับบุคลากรระดับศาสตราจารย์มาเป็นหัวหน้าภาควิชาการจำนวน ๖ คน เท่ากับจำนวนภาควิชาของโรงเรียนแพทย์ในขณะนั้น และปรับปรุงโรงเรียนเตรียมแพทย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย ได้ทุนก่อสร้างตึกตามแบบที่เหมาะเป็นห้องเรียนและห้องปฏิบัติการ ซื้อเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการแพทย์แผนปัจจุบัน จัดส่งอาจารย์และนักศึกษาไปดูงาน อบรมเฉพาะวิชาเพื่อให้กลับมาแทนคนของมูลนิธิ สมเด็จพระบรมราชชนกทรงสละทั้งกำลังพระวรกายและราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกผู้ป่วย และร่วมกับโรงพยาบาลสร้างตึกอำนวยการ จัดส่งนักศึกษาไปเรียนเพิ่มเติม ทรงซื้อที่ดินและโรงเรือนของโรงเรียนวังหลังสร้างเป็นโรงเรียนและหอพักพยาบาล สละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จ้างพยาบาลชาวต่างประเทศมาปรับปรุงการพยาบาล ทรงอุทิศเวลาสอนวิชาชีววิทยาให้นักเรียนเตรียมแพทย์ที่ยังขาดครูอาจารย์

เพื่อให้ทรงมีความรู้มากขึ้น สมเด็จพระบรมราชชนกได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาแพทย์ศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจากโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ และเสด็จไปทรงตำแหน่งแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลแมคคอมิค จังหวัดเชียงใหม่ระยะหนึ่งด้วย

หลังสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ขณะพระชนมายุเพียง ๓๘ พรรษา บรรดาบุคคลที่เคยได้รับพระมหากรุณาจากพระองค์ ได้ร่วมกันสร้างตึก มหิดลวรานุสรณ์ขึ้นที่ ร.พ.ศิริราช พร้อมทั้งตั้งทุนการศึกษาให้นักศึกษาแพทย์ ซึ่งวงการการแพทย์ไทยได้ยกย่องพระองค์เป็น “พระบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย”
เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
เรือนคนไข้เมื่อแรกตั้ง
โรงเรียนแพทย์เมื่อแรกเริ่ม
กำลังโหลดความคิดเห็น