xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 24-30 ก.ค.2559

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“อภิสิทธิ์” แถลงไม่รับร่าง รธน.เหตุไม่ตอบโจทย์ประเทศ-กลไกปราบทุจริตอ่อนแอ ชี้ถ้าผ่าน เอื้อประโยชน์จำเลยคดีจำนำข้าว ด้าน “สุเทพ” ซัด นักการเมืองเห็นแก่ตัว!
(บน) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ล่าง) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย
ความคืบหน้าช่วงโค้งสุดท้ายก่อนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 ส.ค. ฝ่ายต่างๆ เริ่มแถลงท่าทีรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ค. เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษาและประชาชน 43 องค์กร ได้แก่ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์, นายอัษฎางค์ ปาณิกบุุตร ฯลฯ ได้ออกแถลงการณ์ว่าจะ "โหวตโน" ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง โดยอ้างเหตุผล 4 ประการ คือ 1.กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญขาดความชอบธรรมตั้งแต่ต้น 2.เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจะนำพาประเทศให้ถอยหลัง 3.การบริหารประเทศที่ผ่านมาของ คสช.ทำให้ประชาชนรู้ว่า ไม่อาจฝากอนาคตไว้กับ คสช.ได้อีกต่อไป และ 4.รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบให้แก้ไขแทบจะไม่ได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 ก.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายฝ่ายจับตามองมากว่า นายอภิสิทธิ์จะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ซึ่งในที่สุด นายอภิสิทธิ์ได้แถลงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า การออกแบบร่างรัฐธรมนูญฉบับนี้ ไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์ของประเทศในการแก้ปัญหาทิศทางการพัฒนาประเทศ ปัญหาความขัดแย้งในสังคม และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ขณะที่หมวดสิทธิเสรีภาพก็ถดถอยไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ทั้งยังเพิ่มบทบาทและอำนาจของระบบราชการ ส่งผลให้รัฐบาลในอนาคตไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาของประเทศและประชาชน รวมทั้งขาดความคล่องตัวในการรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลก

สำหรับการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น นายอภิสิทธิ์ยืนยันสนับสนุนการเพิ่มโทษและการเข้มงวดเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่ไม่เห็นด้วยที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้บัญญัติให้กลไกสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขาดความเป็นอิสระและอ่อนแอลง โดยเฉพาะการให้อำนาจประธานสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรครัฐบาลใช้ดุลพินิจในกระบวนการตรวจสอบ ป.ป.ช. และการลดเงื่อนไขให้มีการอุทธรณ์ในคดีทุจริตของนักการเมืองได้ง่ายขึ้น โดยการอุทธรณ์นั้นจะมีการดำเนินการโดยองค์คณะใหม่แทนที่จะเป็นที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาเช่นในอดีต โดยคาดว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติใหม่นี้กลุ่มแรกคือ จำเลยในคดีจำนำข้าว

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ยังชี้ด้วยว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน เป็นโอกาสดีที่จะสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ตามโรดแมปที่กำหนดไว้ เพราะเป็นผู้รับผิดชอบบ้านเมือง โดยเสนอให้นำเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เป็นหลัก เพราะผ่านการทำประชามติของประชาชนมาแล้ว และมีบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ดีที่สุด รวมทั้งมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผูกมัดทุกองค์กรไม่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ นายอภิสิทธิ์ ย้ำอีกครั้งว่า “การแถลงจุดยืนในครั้งนี้มิได้มีความประสงค์จะให้เกิดความขัดแย้งกับใคร แต่ยึดประโยชน์ส่วนรวมและอนาคตของประเทศเป็นที่ตั้ง และยืนยันว่า ผมและพรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีวันไปสมคบกับกลุ่มนักการเมืองที่เคยโกงชาติหรือคิดที่จะโกงชาติต่อไปในอนาคตโดยเด็ดขาด”

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังนายอภิสิทธิ์แถลงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีปฏิกิริยาทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจากสมาชิกและอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โดยผู้ที่ไม่เห็นด้วย ได้แก่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายสุเทพได้กล่าวผ่านเฟซบุ๊กทำนองประชดนายอภิสิทธิ์ว่า การไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. เป็นการทำหน้าที่ของประชาชนผู้รักชาติ เพราะถือว่าบ้านเมืองนี้ประชาชนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ของตระกูลนักการเมือง พรรคการเมือง ไม่ใช่ของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง และว่า ขณะนี้นักการเมืองหลายคนแสดงความเห็นแก่ตัว ใจแคบ คิดเอาแต่ประโยชน์เฉพาะหน้าในทางการเมือง ไม่แสดงความรับผิดชอบถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมืองในวันข้างหน้า ตนให้ความสำคัญกับประเทศมากกว่าที่จะให้ราคากับนักการเมืองคนไหน พรรคไหนทั้งสิ้น การไปลงประชามติครั้งนี้ถือเป็นโอกาสของประเทศที่จะได้กำหนดอนาคตด้วยมือของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ

สำหรับผู้ที่ออกมาปกป้องนายอภิสิทธิ์ที่แถลงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ได้แก่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้กล่าวหลังนายอภิสิทธิ์เข้าอวยพรในโอกาสวันครบรอบวันคล้ายวันเกิด 78 ปีเมื่อวันที่ 28 ก.ค. ว่า เชื่อว่านายอภิสิทธิ์และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรค อ่านร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าคนร่างด้วยซ้ำ จึงทำให้รู้จุดอ่อนจุดแข็งว่ามาตราไหนเป็นอย่างไร มีการออกกฎหมายเพื่อเอื้อกับคนกระทำผิดอย่างไร และมีการทำให้การบังคับใช้ระบอบรัฐสภาไม่มีประสิทธิภาพอย่างไร และว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นหลักให้กับบ้านเมือง ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไรก็ต้องยึดหลักความถูกต้อง และขอให้ยึดพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า บ้านเมืองมีทั้งคนดีและไม่ดี แต่เราต้องส่งเสริมให้คนดีปกครองบ้านเมือง

ด้านแกนนำพรรคเพื่อไทย 12 คน เช่น นายโภคิน พลกุล นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ฯลฯ ได้แถลงเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจาก 1.ช่วง 5 ปีแรก ยกอำนาจให้ คสช.คัดเลือก ส.ว.244 คน และมี ส.ว.โดยตำแหน่งจากทหารและตำรวจอีก 6 คน โดยคำถามพ่วงเปิดทางให้ ส.ว.เหล่านี้ไปเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส.ในช่วงวาระรัฐบาลอย่างน้อย 2 สมัย 2.กำหนดคุณสมบัติว่านายกฯ ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.เป็นการเปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอกได้ 3.กำหนดยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปไว้ล่วงหน้า และ 4.รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยากมากหรือแทบเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ แกนนำพรรคเพื่อไทยเชื่อมั่นว่า หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านประชามติ ก็จะมีการเลือกตั้งตามโรดแมป โดยมีกระบวนการที่สามารถหาทางออกของประเทศได้โดยสันติวิธี

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องกับการส่งจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจกว่า 300 นาย ได้บุกค้นเป้าหมาย 6 จุดของเครือข่ายนักการเมืองชื่อดังใน จ.เชียงใหม่ โดยเฉพาะบ้าน “ทัศนาภรณ์” ของตระกูล “บูรณุปกรณ์” เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ซึ่งพบหลักฐานจำนวนมาก และจากการตรวจค้นบ้านลูกน้องคนสนิทนักการเมืองดัง ยังพบรถจักรยานยนต์และเครื่องแต่งกายตรงกับผู้ที่ก่อเหตุตระเวนหย่อนจดหมายลงตู้ไปรษณีย์ที่กล้องวงจรปิดจับภาพไว้ได้นั้น

ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้อง 11 ราย ประกอบด้วย นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่, น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยและรองนายก อบจ.เชียงใหม่, ทพญ.ธารทิพย์ น้องสาว น.ส.ทัศนีย์และนายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่, นายวิศรุต คุณะนิติสาร ผู้ต้องหามือส่งจดหมายทางไปรษณีย์, นายอติพงษ์ คำมูล, น.ส.เอมอร ดับโศรก, นางสุภาวดี งามเมือง, นางกอบกาญจน์ สุตีคา พนักงานเทศบาลตำบลช้างเผือก,นายกฤตกร ไพทะยะ และนายเทวรัตน์ วินต้า คนขับรถ น.ส.ทัศนีย์ เป็นพนักงานเทศบาลตำบลช้างเผือก โดยเจ้าหน้าที่ให้ไปรายงานตัวที่ มทบ.33 ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ ก่อนส่งตัวไปยัง มทบ.11 กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้เข้ารายงานตัวบางส่วน ขณะที่ น.ส.ทัศนีย์ ซึ่งอยู่กรุงเทพฯ ถูกควบคุมตัวขณะเดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่เกี่ยวข้องกับจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ส่วนนายบุญเลิศ ถูกควบคุมตัวหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศเมื่อวันที่ 28 ก.ค. ก่อนนำตัวไปควบคุมที่ มทบ.11

ทั้งนี้ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ ได้ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 สั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ใน อบจ.เชียงใหม่ชั่วคราว โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบหรือดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเร็ว หรือหากไม่พบว่านายบุญเลิศมีความผิด ให้หน่วยงานรายงานนายกรัฐมนตรี เพื่อเปลี่ยนแปลงคำสั่งต่อไป

ด้าน พล.ต.ท.ธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 กล่าวถึงการดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องว่า ฝ่ายทหารได้อาศัยอำนาจของ คสช.ดำเนินการ เพราะมีการแจ้งความร้องทุกข์กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เนื่องจากเข้าข่ายผิดมาตรา 116 ยุยง ปลุกปั่น เข้าข่ายคดีความมั่นคง ทหารจึงใช้วิธีเชิญตัวมาสอบปากคำ และใช้อำนาจในการควบคุมตัว 7 วัน เพื่อให้กองปราบปรามสืบสวนสอบสวนและพิจารณาว่าจะส่งเรื่องมาร่วมกับทางตำรวจภูธรภาค 5 ทำคดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ในพื้นที่หรือไม่ หากส่งมา ก็ต้องแจ้งข้อหาเพิ่มเติมจากที่กองปราบปรามขอให้ดำเนินคดีทั้งหมด

พล.ต.ท.ธนิตศักดิ์ เผยด้วยว่า ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดแบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ ผู้บงการ ผู้ผลิตจดหมายบิดเบือน ผู้เดินสายส่งจดหมาย ผู้ทำลายเอกสาร-ช่วยเหลือซ่อนเร้น และผู้ช่วยเหลือสนับสนุนด้านอื่น ซึ่งยังตัวละครอีกมาก และตำรวจมีชื่อครบหมดแล้ว แต่บางคนมีสถานะเด็กๆ ไม่รู้เรื่องราวก็กันไว้เป็นพยาน แต่พวกลูกจ้างหรือพนักงาน ข้าราชการท้องถิ่น โดยเฉพาะเทศบาลตำบลช้างเผือก ทำหน้าที่สายส่งก็ต้องออกหมายจับเพิ่ม เพราะไปทำในบริษัทเชียงใหม่ทัศนาภรณ์ จำกัด เจ้าหน้าที่เจอหลักฐานถูกทำลาย ทั้งเผา ซอยเอกสาร และนำไปเผาอีกครั้ง รวมทั้งนำไปทำเป็นหมอนหนุนกันกระแทกในกล่องส่งของ ภาพจากกล้องวงจรปิดทุกอย่างต้องตรวจสอบเพิ่ม หลักฐานมาก จึงใช้เวลาเยอะมาก

2.ศาลพิพากษาจำคุก “เบญจา” อดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร 3 ปี- เลขาฯ “คุณหญิงพจมาน” โดน 2 ปี ไม่รอลงอาญา คดีช่วย “โอ๊ค-เอม” เลี่ยงภาษีซื้อขายหุ้นชินฯ เกือบ 1.6 หมื่นล้าน!

 (บน) นางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร (ล่าง) นายพานทองแท้ และ  น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรนายทักษิณ ชินวัตร
เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ศาลอาญา แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ถ.รัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร, น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย, น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย, นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดของเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

คดีนี้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 58 ระบุพฤติการณ์จำเลยว่า จำเลยที่ 1-4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของกรมสรรพากรปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อไม่ให้นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรของนายทักษิณ ชินวัตร ต้องเสียภาษีอากร หรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย และได้รับประโยชน์ที่มิควร จากการที่นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อปี 2549 คนละ 164,600,000 หุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาตลาดหุ้นละ 49.25 บาท ถือได้ว่านายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา เป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีของส่วนต่างราคาหุ้น คนละ 7,941,950,000 บาท ซึ่งการกระทำนั้นทำให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และราชการได้รับความเสียหาย ขณะที่จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

ด้านศาลพิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ โดยมีจำเลยที่ 5 เป็นผู้สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือไม่ เห็นว่า คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร เคยมีความเห็นเกี่ยวกับรายได้และส่วนต่างการโอนขายหุ้นให้กับบุคคลธรรมดา เข้าลักษณะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ต้องนำเงินนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 ซึ่งกรณีของนายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา ได้ประโยชน์จากส่วนต่างของการขายหุ้นละ 1 บาท จึงต้องเป็นรายได้ที่นำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี โดยผลจากการกระทำของจำเลยที่ 1-4 ในการตอบข้อหารือ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อกรมสรรพากร ซึ่งความผิดสำเร็จตั้งแต่การตอบข้อหารือ โดยจำเลยที่ 5 ซึ่งหารือมายังสำนักกฎหมาย แล้วนำคำหารือไปใช้ประโยชน์ จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนด้วย จึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี

ส่วนจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 จึงให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยทั้งหมด จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

ต่อมาญาติและทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี โดยจำเลยที่ 1-4 ยื่นหลักทรัพย์เป็นหนังสือรับรองการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ต้องหาคดีของกรมสรรพากร วงเงินไม่เกินคนละ 4.2 แสนบาท ส่วนจำเลยที่ 5 ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด จำนวน 3 แสนบาทขอปล่อยชั่วคราว ซึ่งศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งห้า โดยตีราคาประกันคนละ 3 แสนบาท และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ ในการปล่อยตัว

3.“สมเด็จช่วง” ส่อไม่รอด ดีเอสไอเตรียมเอาผิดผู้ครอบครองรถผิด กม. ด้าน “พระเมธีฯ” ปลุกม็อบพระป้อง ขณะที่ “พระพุทธะอิสระ” แจ้งจับฐานอั้งยี่-ซ่องโจร!

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ กับรถเบนซ์โบราณผิดกฎหมาย
ความคืบหน้ากรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) แถลงผลการตรวจสอบการครอบครองรถจดประกอบที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย 2 คัน คือ รถเบนซ์โบราณของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ 1 คัน และรถแพนแธอร์ของพระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือหลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม อีก 1 คัน โดยพบว่าผิดกฎหมายทั้งการนำเข้า-แจ้งเท็จ-ใช้เอกสารเท็จ-หลบเลี่ยงภาษี โดยมีการแจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องบางส่วนแล้ว แต่ยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาสมเด็จช่วงและหลวงพี่น้ำฝนนั้น

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. นายสมศักดิ์ โตรักษา ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของสมเด็จช่วง กล่าวว่า หากดีเอสไอจะแจ้งข้อกล่าวหาหรือสอบสมเด็จช่วงเพิ่มเติม โดยนิมนต์ไปสอบนอกวัด สมเด็จช่วงพูดอยู่เสมอว่าไม่มีปัญหา แต่การที่ดีเอสไอจะแจ้งข้อกล่าวหาหรือสอบเพิ่มต้องมีหลักฐานชัดเจน ไม่เช่นนั้นอาจกระทบสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาได้

ด้านพระเมธีธรรมาจารย์ หรือเจ้าคุณประสาร เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในวันเดียวกัน(24 ก.ค.) ในลักษณะปลุกม็อบพระให้เตรียมพร้อมเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสมเด็จช่วง โดยอ้างว่า ขณะนี้ประมุขสงฆ์ องค์กรสงฆ์ พระสงฆ์ คณะสงฆ์ และพระพุทธศาสนากำลังถูกย่ำยีอย่างหนัก พระสงฆ์ทั่วประเทศและพระธรรมทูตทั่วโลก จะนิ่งดูดายต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ขอให้ลุกขึ้นยืนเป็นพลังกันทั้งประเทศและทั่วโลก โดยทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อพิทักษ์ปกป้องคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น และระดับชาติ และขอให้รอฟังสัญญาณเมื่อมีงานใหญ่ในการปกป้องคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ยืนยันว่า จะยังไม่มีการทูลเกล้าฯ รายชื่อพระสังฆราช จนกว่าจะมีการเคลียร์เรื่องข้อกล่าวหาต่างๆ ให้ได้ก่อน พร้อมย้ำว่า ตนเคารพพระสงฆ์ทุกองค์ ตนไม่ได้ยืนข้างใครอยู่แล้ว แต่ต้องเห็นใจตนด้วย เพราะตนทำหน้าที่ให้ประเทศชาติสงบ

ด้านพระพุทธะอิสระ แห่งวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม เผยเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ว่า ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการกับพระเมธีธรรมาจารย์ ฐานละเมิดคำสั่ง คสช. ข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร ซ่องสุมผู้คนทำให้กระด้างกระเดื่องต่อบ้านเมืองและก่อความไม่สงบในบ้านเมือง โดยมีความผิดหลายมาตรา เช่น มาตรา 82, 83 และ 84 รวมถึง ป.วิอาญา มาตรา 209 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการ

ส่วนความเคลื่อนไหวของหลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม นั้น เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ได้แถลงชี้แจงกรณีถูกดีเอสไอระบุว่ารถนำเข้าผิดกฎหมายและมีการปลอมลายเซ็นผู้นำเข้า โดยยืนยันว่า รถคันดังกล่าวอยู่ที่วัดไผ่ล้อมมานานพอสมควรอย่างเปิดเผยและถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของโยมที่ถวายให้มาเพื่อเจตนาโชว์ แต่ด้วยกฎ ระเบียบการนำสินค้าเข้าประเทศไทยต้องมีระบบการสำแดง และเสียภาษีอากรนำเข้า จึงให้ลูกศิษย์ไปดำเนินการแทนให้ถูกต้อง ยืนยันว่า ไม่ต้องซื้อรถ เพราะมีคนจ้องถวายเยอะแยะ หากดีเอสไอมีหลักฐานว่าไปซื้อมา ก็เอามาว่ากัน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ดีเอสไอได้ออกเอกสารข่าวผลการประชุมร่วมกับอัยการในคดีพิเศษคดีรถเบนซ์โบราณผิดกฎหมายของสมเด็จช่วง โดยระบุว่า ได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องไปบางส่วนแล้ว ได้แก่ 1.นายเกษมศักดิ์ ภวังคนันท์ ข้อหาร่วมกันลักลอลหนีศุลกากรหรือซื้อหรือรับไว้ซึ่งของหนีภาษีศุลกากร 2.นายเมธีนันท์ หรือชลัช นิติฐิติวงษ์ ข้อหาร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานฯ แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จฯ แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีสรรพสามิต 3.นายสมนึก บุญประไพ ข้อหาร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จฯ ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จฯ ร่วมกันปลอมแปลงเอกสารหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารฯ ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิหรือใช้เอกสารสิทธิปลอม

นอกจากนี้ที่ประชุมดีเอสไอและอัยการคดีพิเศษยังเห็นชอบร่วมกันว่า คดีมีพยานหลักฐานรับฟังได้อีกว่า นายพิชัย วีระสิทธิกุล และนายวสุ จิตติพัฒนกุลชัย มีส่วนร่วมในการทำผิดกับนายเกษมศักดิ์ ภวังคนันท์ด้วย ส่วนรถเบนซ์ของสมเด็จช่วงนั้น มีการชำระภาษีสรรพสามิตไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวที่เสียภาษีไม่ครบถ้วน จะมีความผิดตามมาตรา 161(1) พ.ร.บ.สรรพสามิตฯ ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานอัยการจะเรียกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ส่วนเรื่องการประเมินภาษีเพิ่มเติม ทางกรมสรรพสามิตได้ดำเนินการแล้ว พนักงานสอบสวนคดีพิเศษอยู่ระหว่างรอแจ้งผลการดำเนินการจากกรมสรรพสามิต

4.ก.ตร. ไฟเขียว “พล.ต.ท.ศานิตย์” ขึ้นแท่น ผบช.น.ตัวจริง พร้อมเด้ง “ผบช.ภ.9” เข้ากรุ ย้ายผู้การสมุทรสาคร-สงขลา เซ่นค้ามนุษย์!

(ซ้าย) พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ได้เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลตัวจริง (ขวา) พล.ต.ท.วีระพงษ์ ชื่นภักดี ผบช.ภ.9 ถูกโยกไปเป็น ผบช.ประจำสำนักงาน ผบ.ตร.
เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ได้มีการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) หลังประชุม พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เสนอให้ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการประจำสำนักงาน ผบ.ตร.และรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) เป็น ผบช.น.ตัวจริง โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ได้รักษาราชการแทน ผบช.น. โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ให้เหตุผลในที่ประชุมว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ ผ่านการประเมิน มีผลงานเป็นที่ประจักษ์สามารถดำเนินการตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ พร้อมยืนยันการตั้ง พล.ต.ท.ศานิตย์ ไม่มีแรงบีบหรือแรงกดดันจากฝ่ายการเมือง ส่วนจะมีการโยกย้ายตำแหน่งอื่นๆ พร้อม ผบช.น.ในวาระประจำปี 2559 ซึ่งจะมีการโยกย้ายในอีก 2 เดือนหรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่จะพิจารณา

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวต่อไปว่า นอกจากที่ประชุมเห็นชอบ พล.ต.ท.ศานิตย์ เป็น ผบช.น.แล้ว ยังมีการปรับย้ายนายตำรวจที่ถูกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 33/2559 ลงวันที่ 24 มิ.ย.2559 ให้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ และให้มีการตรวจสอบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และบ่อนการพนันหรือไม่ ซึ่งขณะนี้การสอบสวนแล้วเสร็จและมีการสั่งยุติเรื่องแล้ว จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการปรับย้ายตามคำสั่งหัวหน้า คสช.โดยไม่ให้ดำรงตำแหน่งเดิม ประกอบด้วย พล.ต.ท.วีระพงษ์ ชื่นภักดี ผบช.ภ.9 เป็น ผบช.ประจำสำนักงาน ผบ.ตร. แทนตำแหน่งเดิมของ พล.ต.ท.ศานิตย์, พล.ต.ต.สรไกร พูนเพิ่ม ผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร เป็น ผบก.ภ.จว.นครนายก โดยสลับให้ พล.ต.ต.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบก.ภ.จว.นครนายก เป็น ผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร นอกจากนี้ให้โยก พล.ต.ต.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ ผบก.ภ.จว.สงขลา เป็น ผบก.ภ.จว.สระบุรี และสลับให้ พล.ต.ต.ธิติ แสงสว่าง ผบก.ภ.จว.สระบุรี เป็น ผบก.ภ.จว.สงขลา ส่วนตำแหน่ง ผบช.ภ.9 ยังไม่มีการตั้งใครไปดำรงตำแหน่ง โดยจะรอแต่งตั้งในวาระประจำปี 2559 ขณะนี้ให้ พล.ต.ท.จิตติ รอดบางยาง ผบช.ประจำสำนักงาน ผบ.ตร. รักษาราชการแทนไปก่อน

พล.ต.อ.พงศพัศ ชี้แจงด้วยว่า “ผลการสอบสวน พล.ต.ท.วีรพงษ์ พล.ต.ต.สรไกร พล.ต.ท.กฤษกร ไม่พบว่ามีความผิดจึงสั่งยุติเรื่อง ไม่ปรากฏการกระทำผิด แต่ ก.ตร.เห็นว่าไม่ควรให้อยู่ในตำแหน่งเดิม จึงปรับย้าย กรณี พล.ต.ท.วีรพงษ์ ที่ให้เป็น ผบช.ประจำสำนักงาน ผบ.ตร. ก็ไม่ใช่การลงโทษ เพราะทุกคนถูกปรับย้ายหมด ส่วนกรณี พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล ผบก.น.1 ซึ่งหัวหน้า คสช.มีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งจากกรณีเกี่ยวเนื่องกับสถานบริการนาตารีนั้น การสอบสวนข้อเท็จจริงยังไม่แล้วเสร็จ แต่หากเสร็จแล้วก็ต้องปรับย้ายจากตำแหน่งเช่นเดียวกับ ผบก.ภ.จว.สงขลา และผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร”

นอกจากนี้ ก.ตร.ยังเห็นชอบการปรับโครงสร้างการบริหารงานบุคคล โดยปรับลดตำแหน่งรอง ผบ.ตร.ถึงรอง ผบช. ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธาน ก.ตร.ต้องการให้เกิดความชัดเจนในการกำหนดสายงานหลักของตำรวจ จึงลดตำแหน่งรอง ผบ.ตร.ให้มีเพียง 5 ตำแหน่ง ตรงตามสายงานหลักตามที่คณะกรรมการการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.) กำหนดไว้ มีผู้ช่วย ผบ.ตร.สายงานละ 2 คน ช่วยดูแล ปรับตำแหน่งรองรับศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ ก่อการร้ายข้ามชาติ ค้ามนุษย์ ปรับโครงสร้างตำแหน่งให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งการปรับต้องใช้เวลาและต้องนำเสนอ ก.ต.ช. อีกครั้ง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2560 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ก.ตร.ได้เห็นชอบเงินเพิ่มพนักงานสอบสวน ผู้ปฏิบัติงานสอบสวนทุกระดับตำแหน่ง หลังจากกระทรวงการคลังอนุมัติแล้ว โดยหลังจากนี้ พล.อ.ประวิตร จะลงนามประกาศกฎ ก.ตร.และเริ่มจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่พนักงานสอบสวนทั้งหมดได้ โดยจ่ายย้อนหลังด้วย

5.สังคมสวดยับ “นพ.เปรมศักดิ์” คุกคามสื่อ-สั่งผู้สื่อข่าวถอดกางเกง พร้อมถ่ายคลิปไว้ประจาน หลังไม่พอใจสื่อแพร่ภาพวิวาห์นักเรียน ม.5 ด้านตำรวจออกหมายเรียก 1 ส.ค.นี้!

 (ล่าง) ภาพที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียว่า นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น  แต่งงานกับนักเรียน ม.5 (บน) แถลงการณ์ประณามของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่ภาพในโซเชียลมีเดีย เป็นภาพบุคคลคล้าย นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ในพิธีแต่งงานกับนักเรียนชั้น ม.5 จากนั้น วันที่ 26 ก.ค. ผู้สื่อข่าวท้องถิ่น 5 คน จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์-เนชั่น-มติชน-ข่าวสด ได้เดินทางไปสำนักงานเทศบาลเมืองบ้านไผ่ เพื่อขอสัมภาษณ์ข้อเท็จจริงจาก นพ.เปรมศักดิ์ เนื่องจากไม่สามารถติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์ได้ ซึ่งเมื่อผู้สื่อข่าวไปถึง ได้มีเจ้าหน้าที่เทศบาลเชิญผู้สื่อข่าวเข้าไปในห้องทำงานของ นพ.เปรมศักดิ์ โดยในห้องมี นพ.เปรมศักดิ์ พร้อมเจ้าหน้าที่เทศบาลเป็นชาย 7 คน รออยู่แล้ว

จากนั้น นพ.เปรมศักดิ์ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เทศบาลล็อกประตูห้อง ก่อนให้เจ้าหน้าที่เก็บกล้องถ่ายภาพและโทรศัพท์มือถือของผู้สื่อข่าวทั้งหมด ก่อนที่ นพ.เปรมศักดิ์ จะกล่าวตำหนิผู้สื่อข่าวที่เอาภาพไปลงโดยไม่สอบถามก่อน และว่า การนำภาพดังกล่าวไปลง ถือเป็นการประจานเรื่องส่วนตัวและบิดเบือนข้อมูล นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวอีกว่า “ภาพผมนั่งกับเด็กสาวและมีปึกเงิน 4 แสนบาทนั้น มันเป็นแค่การช่วยเหลือครอบครอบเขาที่กำลังเดือดร้อน แต่สื่อนำไปเสนอข่าวไม่เหมาะสม โดยเฉพาะบางฉบับลงหนักมาก อยากรู้ว่าถ้าผมถ่ายรูปคุณไปประจานบ้าง คุณจะรู้สึกยังไง”

จากนั้น นพ.เปรมศักดิ์ สั่งให้เจ้าหน้าที่ล็อกตัวผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ และจับถอดกางเกงลงมาที่หัวเข่า พร้อมถ่ายภาพผู้สื่อข่าวดังกล่าวทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ก่อนยอมปล่อยตัวให้สวมกางเกง หลังจากนั้น นพ.เปรมศักดิ์ ยังกล่าวตำหนิการทำงานของผู้สื่อข่าวอีกนานกว่า 1 ชั่วโมง ก่อนจะปล่อยตัวผู้สื่อข่าวออกจากห้อง

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความหวาดผวาให้ผู้สื่อข่าวเป็นอย่างมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้สื่อข่าวอาวุโส และทำข่าวในพื้นที่มานานนับสิบปี และทำให้ผู้สื่อข่าวผู้หญิงที่อยู่ในห้องดังกล่าวด้วยถึงกับร้องไห้ หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว กระแสสังคมและสื่อมวลชนต่างประณามพฤติกรรมของ นพ.เปรมศักดิ์ เป็นอย่างมาก โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของ นพ.เปรมศักดิ์ ว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ และขัดต่อกฎหมาย และว่า หาก นพ.เปรมศักดิ์ เห็นว่าการเสนอข่าวของผู้สื่อข่าวไม่เหมาะสม ก็สามารถใช้สิทธิทางกฎหมายต่อผู้ละเมิดได้ ไม่ควรใช้กำลังคุกคามสื่อมวลชนเช่นนี้ พร้อมขอให้บุคคลหรือหน่วงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและร้องทุกข์กล่าวโทษ นพ.เปรมศักดิ์ ตามกฎหมาย ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีจนถึงที่สุด เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกต่อไป

ขณะที่คณะอนุกรรมการพบปะและช่วยเหลือบุคคลด้อยโอกาส ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้มีมติถอดชื่อ นพ.เปรมศักดิ์ ออกจากผู้สมควรได้รับรางวัลคนจิตอาสาตามรอยพ่อของแผ่นดิน ประจำปี 2559 ที่จะมีการมอบรางวัลในวันที่ 11 ส.ค.นี้ และเลือกบุคคลที่ได้รับคะแนนในลำดับรองลงมาให้รับรางวัลแทน

ด้านนายก่อสิทธิ์ กองโฉม ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ ได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สภ.บ้านไผ่ เพื่อเอาผิด นพ.เปรมศักดิ์ ข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขัง คุกคามเสรีภาพ และบังคับขืนใจให้ผู้อื่นกระทำหรือไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ส่วนผู้สื่อข่าวอีก 4 คนที่อยู่ในเหตุการณ์ได้แจ้งลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ขณะที่ นพ.เปรมศักดิ์ ก็ได้แจ้งความดำเนินคดีผู้สื่อข่าวทั้ง 5 คนเช่นกัน โดยกล่าวหาว่าผู้สื่อข่าวบุกรุกห้องทำงานและหน่วงเหนี่ยวบีบคั้นกดดันเพื่อขอข่าว ซึ่งไม่มีประโยชน์ต่อสาธารณชน นอกจากนี้ นพ.เปรมศักดิ์ ยังไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ให้ตรวจสอบและเพิกถอนใบอนุญาตหรือปิดสื่อทั้ง 5 สำนัก รวมทั้งไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ขอให้ใช้อำนาจมาตรา 44 ปฏิรูปสื่อ ยกระดับสื่อให้มีมาตรฐาน มีความรับผิดชอบและตรวจสอบได้เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น นพ.เปรมศักดิ์ ยังยืนยันด้วยว่า ไม่ได้บังคับให้ผู้สื่อข่าวที่อยู่ในห้องทำงานถอดกางเกง ตนมีมารยาทเพียงพอ

ขณะที่นายศุภสัณฑ์ หนูสวัสดิ์ อุปนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นพ.เปรมศักดิ์ มีตำแหน่งเป็นประธานสันนิบาตเทศบาลจังหวัดขอนแก่น ไม่ควรสร้างความเสื่อมเสียให้กระทบภาพลักษณ์องค์กรท้องถิ่นโดยรวม ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ คสช.ใช้มาตรา 44 สั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ของ นพ.เปรมศักดิ์ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างในการใช้อิทธิพล และอำนาจหน้าที่รังแกบุคคลอื่น

ด้านโรงเรียนบ้านไผ่ ข.ก.5 หลังได้รับร้องเรียนจากศิษย์เก่าของโรงเรียนให้ปลด นพ.เปรมศักดิ์ ออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านไผ่ ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ก.ค. คณะกรรมการสถานศึกษาได้มีมติขั้นแรกเป็นเอกฉันท์ให้ปลด นพ.เปรมศักดิ์ ออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการฯ แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังต้องให้เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) 25 ขอนแก่น พิจารณาอีกครั้ง

ส่วนในทางคดีที่ผู้สื่อข่าวแจ้งความเอาผิด นพ.เปรมศักดิ์ นั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ก.ค. พนักงานสอบสวน สภ.บ้านไผ่ ได้ออกหมายเรียก นพ.เปรมศักดิ์ มาพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 1 ส.ค.นี้ เวลา 13.00 น. หากไม่มา ตำรวจจะขอศาลเพื่อออกหมายจับทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น