xs
xsm
sm
md
lg

“มิวเซียมติดล้อ” จับโลกความรู้ใส่ตู้คอนเทนเนอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ ไม่เหมือนเก่าอีกต่อไปแล้ว เพียงเปิดหูเปิดตาและเปิดใจ สัมผัสประสบการณ์ใหม่กับ “มิวเซียมติดล้อ” พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่ออกเดินทางไปให้คนหลายพื้นที่ได้เชยชม

ราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หรือ “มิวเซียมสยาม” กล่าวว่า มิวเซียมสยาม ในฐานะองค์การจัดการความรู้ขนาดใหญ่ที่มุ่งสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ได้เปิดตัว “มิวเซียมติดล้อ” หรือนิทรรศการเคลื่อนที่ชุด “เรียงความประเทศไทย” เวอร์ชันใหม่ ที่นำเสนอรากเหง้าของชาวสยามตั้งแต่อดีตกาลจนถึงสังคมในยุคปัจจุบัน ผ่านการเนรมิตโลกพิพิธภัณฑ์มีชีวิตในตู้คอนเทนเนอร์ 5 ใบ

“ภายในตู้ทั้ง 5 ใบนี้ อัดแน่นไปด้วยองค์ความรู้ที่นำเสนอผ่านรูปแบบและเทคโนโลยีที่แปลกใหม่ ด้วยการจัดแสดงทั้งวัตถุที่จับต้องได้ งานกราฟิก วิดีโอ เกม แอนิเมชัน และอินเทอร์แอคทีฟมีเดีย เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่สนุกสนาน กระชับ และง่ายต่อความเข้าใจของคนทุกเพศทุกวัย ภายใต้แนวคิด ‘ให้ทุกการเรียนรู้ สนุกกว่าที่คิด’”


ผู้อำนวยการ สพร. กล่าวเพิ่มเติมว่า มิวเซียมติดล้อชุดนี้ได้รับการพัฒนาเนื้อหาและเทคนิคมาจากอดีตนิทรรศการถาวรชุด “เรียงความประเทศไทย” ที่เคยจัดแสดงอยู่ในมิวเซียมสยาม ณ ท่าเตียน กรุงเทพฯ มาร่วม 8 ปี โดยที่ผ่านมา มีผู้ให้ความสนใจเข้าชมอดีตนิทรรศการดังกล่าวกว่า 2 ล้านคน

“เพราะฉะนั้น นอกจากมิวเซียมติดล้อจะช่วยส่งเสริมรูปแบบการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์แล้ว ก็ยังถือเป็นการขยายโอกาสในการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนในวงกว้าง ทลายกำแพงที่กั้นขวางระหว่างการเรียนรู้ของส่วนกลางกับภูมิภาค ตลอดจนเป็นต้นแบบในการจัดการความรู้อย่างยั่งยืนให้กับแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศไทย ทั้งนี้ มิวเซียมสยาม นำร่องจัดแสดงมิวเซียมติดล้อเวอร์ชันใหม่เป็นครั้งแรก ณ อุทยานการเรียนรู้ตราด จ.ตราด พร้อมเตรียมเคลื่อนที่ไปยังภูมิภาคต่างๆ ต่อไป”


นอกจากนี้ มิวเซียมสยาม ยังได้มีการจัดทำนิทรรศการเคลื่อนที่ภายใต้โครงการมิวเซียมติดล้ออีก 2 ชุด คือชุด “ฮู้จักเพื่อนไทย เข้าใจตัวตน คนอีสาน” ซึ่งปัจจุบันจัดแสดง ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดนครพนม และชุด “อัจฉริยภาพตัวตนคนอีสาน” ซึ่งปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดสุรินทร์ โดยสัญจรอย่างต่อเนื่องมาแล้วถึง 32 จังหวัด ในภูมิภาคต่างๆ ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานในท้องถิ่นทั้งภาครัฐและเอกชน มากกว่า 70 หน่วยงาน และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนในทุกภูมิภาคที่เข้าชมชุดนิทรรศการมากกว่า 300,000 คน

ด้านนายวิเชียร ทรัพย์เจริญ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด กล่าวว่า อบจ.ตราด โดยอุทยานการเรียนรู้ตราด ร่วมกับมิวเซียมสยาม กำหนดจัดโครงการ “มิวเซียมติดล้อ Muse Mobile” โดยกำหนดจัดคาราวานออนทัวร์ทั่วเมืองไทย เพื่อสร้างพื้นที่ของการเรียนรู้แบบใหม่สู่เด็ก เยาวชนและประชาชน ในจังหวัดตราด ด้วยพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ปลูกฝังความรักความภาคภูมิใจในบ้านเกิด พร้อมกระตุ้นท้องถิ่นร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

“มิวเซียมติดล้อ Muse Mobile” เปิดให้เด็ก เยาวชน และประชาชนชาวตราด ได้ชม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่อุทยานการเรียนรู้ตราด ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 15 กันยายน 2559 ในวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 10.00 -18.00 น. โดยการจัดให้บริการเป็นหมู่คณะ จะเปิดให้จองรอบชม รอบละ 60 - 90 คน และจะใช้เวลาในการชม ทำกิจกรรม รอบละประมาณ 90 นาที ผู้สนใจเข้าชมสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานการเรียนรู้ตราด ถนนสันติสุข อำเภอเมืองตราด หมายเลขโทรศัพท์ 093-690-2041
มีอะไร? ในมิวเซียมติดล้อ
ชุด “เรียงความประเทศไทย”

นิทรรศการ “เรียงความประเทศไทย” ในมิวเซียมติดล้อ ประกอบด้วย 5 หัวเรื่องสำคัญ ใน 5 ตู้คอนเทนเนอร์ ได้แก่

ตู้ที่ 1 “ไทยแท้” : กระตุ้นความอยากรู้ว่าไทยแท้คืออะไร และเป็นอย่างไรจึงเรียกว่าไทยแท้

ตู้ที่ 2 “เปิดตำนานสุวรรณภูมิ” : แสดงถึงวิวัฒนาการสังคมก่อนจะมาเป็นบรรพบุรุษชาวสุวรรณภูมิ ซึ่งมีใจความสำคัญว่า “สุวรรณภูมิ” คือชื่อที่ชาวโลกเมื่อประมาณ 3,000 ปี ก่อนใช้เรียกดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ทางทิศตะวันออกของอินเดีย ส่วนหนึ่งของพื้นที่นี้มีกรุงเทพฯ ที่ยังนอนสงบนิ่งอยู่ใต้ทะเล ซึ่งการศึกษาโครงกระดูก หลุมฝังศพและอารยธรรมที่ฝังอยู่ใต้ดินทำให้รู้จักดินแดนแห่งนี้มากขึ้น ทำความรู้จักกับ “สุวรรณภูมิ” ดินแดนแห่งความมั่งคั่งผ่านผู้คน การเกษตร การค้า การสร้างเมือง เทคโนโลยีแห่งโลหะ และความเชื่อ (ผี-พราหมณ์-พุทธ) ซึ่งจะทำให้รู้ว่าสุวรรณภูมิ คือ รากเหง้าของประเทศไทย

ตู้ที่ 3 “สยามประเทศ” : กรุงศรีอยุธยามีสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม ทั้งยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และด้วยอำนาจทางการเมืองที่กว้างไกล ทำให้สามารถควบคุมการผลิตภายในราชอาณาจักรได้ นอกจากนี้กรุงศรีอยุธยายังเป็นอาณาจักรที่อยู่ใกล้ทะเล จึงพัฒนาตัวเองเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลของภูมิภาคและสืบเนื่องจากการติดต่อค้าขายนี่เอง ที่ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างผู้คนและวัฒนธรรม เกิดเป็นความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมที่หลากหลายขึ้นในแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การทหาร ภาษา และสถาปัตยกรรม สยามยุทธ์

เหตุแห่งสงครามในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีมูลเหตุใหญ่ๆ คือ ความต้องการแสดงพระองค์ของกษัตริย์ ในฐานะ “พระจักรพรรดิ์” เหนือพระเจ้าแผ่นดิน และเพื่อกวาดต้อน “คน” อันเป็นแรงงานและกำลังรบ รวมถึงการครอบครองสินค้าสำคัญของรัฐอื่น สงครามจึงไม่ใช่เรื่องของรัฐต่อรัฐ หากเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์รัฐหนึ่งกับพระมหากษัตริย์อีกรัฐหนึ่ง และนอกจากการสู้รบแล้ว ยังมีการแสดงถึงภูมิปัญญา การวางกลยุทธ์ กลุ่มชาติพันธุ์ และศิลปกรรมอีกด้วย

ตู้ที่ 4 “กรุงเทพฯ” : ภายใต้ฉากอยุธยา เรื่องราวเมื่อครั้งสิ้นกรุงศรีอยุธยา ชาวกรุงศรีฯ ก็สร้างเมืองของพวกเขาขึ้นมาใหม่บนผืนดิน “บางกอก” ซึ่งพวกเขาได้จำลองแนวคิดและสืบสานวัฒนธรรมมาจากเมืองเก่ามากมาย อีกทั้งเมื่อเริ่มสร้างกรุงใหม่จึงได้เกณฑ์ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติมาช่วยกัน จนเมื่อสร้างเสร็จจึงลงหลักปักฐานกลายเป็นชาวกรุงเทพฯ ในที่สุด

ตู้ที่ 5 “กำเนิดประเทศไทย” : การติดต่อกับโลกตะวันตกทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในสังคมสยามหลายด้าน การเริ่มสร้างถนน ไม่เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการคมนาคมเท่านั้น หากแต่ยังเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนที่คุ้นชินกับสายน้ำและความแช่มช้า นับจากนี้ ถนนจะเร่งกงล้อแห่งความเปลี่ยนแปลงให้สยามเปลี่ยนโฉมไปตลอดกาล เปลี่ยนจากสยามเป็นประเทศไทย จากสยามทำไมกลายเป็นไทย ห้องนี้จะกระตุ้นให้เกิดการค้นหาคำตอบว่า “วันเกิดประเทศไทยคือวันที่เท่าไหร่” และ “กรมโฆษณาการเกี่ยวข้องอย่างไร” สีสันตะวันตก เมื่อก้าวเข้าสู่ทศวรรษ 1960 โลกเกิดใหม่อย่างมีชีวิตชีวา ภายหลังความบอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยเปิดรับการเข้ามาของยุค 60’s และดอลล่าร์อย่างเต็มที่
เมืองไทยวันนี้ ผ่านกาลเวลามากว่า 3,000 ปี มีสิ่งใดบ้างที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนฝังตรึงเป็น “ดีเอ็นเอ” ของความเป็นไทย มีสิ่งดีๆ ใดบ้างที่ยังอยู่กับเรา และมีสิ่งดีๆใดบ้างที่หล่นหายไปอย่างน่าเสียดาย ภาวะอันสับสนของคนรุ่นปัจจุบันน่าจะแก้ไขได้ หากทุกคนเรียนรู้ “ความเป็นไทยที่แท้จริง” ความเป็นไทยอยู่บนพื้นฐานของความหลากหลาย “ความเป็นไทยที่รู้จักเลือกรับและปรับใช้” นั่นคือการผสมผสานสิ่งดีงามจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเรา

“วันพรุ่งนี้ของประเทศไทยจะเป็นเช่นไร คนรุ่นปัจจุบันเท่านั้นที่จะให้คำตอบได้”






เรื่อง / ภาพ : อรวรรณ เหม่นแหลม

กำลังโหลดความคิดเห็น