xs
xsm
sm
md
lg

“ค่ายบางระจัน” วีรกรรมชาวบ้านที่ประวัติศาสตร์ต้องบันทึก ไม่ได้สู้เพื่อรักษาบ้านรักษาเมืองหรือชีวิต แต่สู้เพื่อศักดิ์ศรีคนไทย!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

วันงานสดุดีวีรชนค่ายบางระจัน ทุกวันที่ ๔ กุมภาพันธุ์ของทุกปี
เป็นที่น่าสังเกตว่า ประวัติศาสตร์นั้นล้วนแต่บันทึกเรื่องราวของกษัตริย์และขุนนางที่มีบทบาทสำคัญต่อแผ่นดิน จะมีเรื่องของชาวบ้านอยู่เรื่องเดียวก็ว่าได้ คือวีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน

และ...ชาวบ้านบางระจันนั้น ก็ไม่ได้สู้เพื่อรักษาบ้านรักษาเมือง เพราะไม่มีเมืองให้รักษา หรือไม่ได้สู้เพื่อรักษาชีวิต เพราะถ้ากลัวตายก็พาครอบครัวหนีไปซ่อนในป่าก็พ้นดาบพม่าแล้ว แต่ตั้งค่ายขึ้นสู้ก็เพื่อรักษาศักดิศรีของคนไทย

ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.๒๓๑๐ ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ด้วยความขมขื่นว่า พม่ายกเข้ามาครั้งนั้น ๒ กองทัพ มีกำลังรวมกันเพียงแค่ ๒๔,๐๐๐ คน แต่กองทัพกรุงศรีอยุธยาที่ส่งออกไปสกัดข้าศึกตั้งแต่ชายแดน แตกพ่ายมาทุกกองทัพ จนพม่าบุกเข้ามาล้อมกรุง

ทั้งนี้ก็เพราะพระเจ้าเอกทัศน์เป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ ไม่มีความเป็นผู้นำ ขุนนางข้าราชการจึงแตกเป็นก๊กเป็นเหล่า อ่อนแอไปทั้งกิจการบ้านเมืองและกองทัพ

ความจริงพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็ทรงทราบดีว่า เจ้าฟ้าเอกทัศน์พระราชโอรสองค์โตที่ต้องเป็นรัชทายาทตามราชประเพณีนั้น เป็นคนโฉดเขลา หาสติปัญญาและความเพียรมิได้ หากให้ปกครองบ้านเมืองก็ต้องย่อยยับ จึงทรงแต่งตั้งเจ้าฟ้าอุทุมพร พระอนุชา เป็นรัชทายาท แต่เจ้าฟ้าอุทุมพรที่สติปัญญาเฉลียวฉลาดกลับอ่อนแอในเรื่องวงศาคณาญาติ เมื่อพระเชษฐาอยากเป็นก็สละราชย์ให้เป็นสมใจอยาก แล้วออกทรงผนวชไม่ยอมสึกมาช่วยบัญชาการรบ แม้ราษฎรจะพากันใส่หนังสือลงในบาตรตอนบิณฑบาต เรียกร้องให้ออกมากอบกู้บ้านเมืองก็ไม่ยอม จนได้รับฉายาว่า “ขุนหลวงหาวัด”

นี่คือจุดที่กรุงศรีอยุธยาต้องย่อยยับจนไม่อาจฟื้นคืนชีพได้อีก

พม่าเห็นไทยอ่อนแอก็ย่ามใจ ข่มเหงราษฎร ปล้นสะดมเอาทรัพย์สิน และฉุดคร่าผู้หญิงอย่างป่าเถื่อน จนชาวไทยกลุ่มหนึ่งสุดจะทนได้ ชาวบ้านศรีเมืองทอง แขวงเมืองสิงห์บุรีหลายคน มี นายแท่น นายโชติ นายอิน และนายเมือง ร่วมกับนายดอก บ้านกรับ และนายทองแก้ว บ้านโพธิ์ทะเล แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ จึงรวมตัวกันหาทางแก้แค้น จากนั้นก็ส่งคนไปลวงทหารพม่าว่าจะพาไปหาทรัพย์สินและผู้หญิง เมื่อทหารพม่าหลงเชื่อยกขบวนกันมา นายโชติก็นำพรรคพวกเข้าฆ่าฟันทหารพม่าตายไปกว่า ๒๐ คน จากนั้นแทนที่จะหนีเข้าป่า กลับพากันไปตั้งค่ายเตรียมสู้พม่าที่บ้านบางระจัน เมืองสิงห์บุรี

นับเป็นการเริ่มต้นของค่ายบางระจัน

ต่อมาชาวบ้านอีก ๕ กลุ่มได้มาสมทบ มี นายจัน ผู้มีฉายาว่า “จันหนวดเขี้ยว” นายทองเหม็น นายทองแสงใหญ่ ขุนสรรค์ และพันเรือง เป็นหัวหน้า จึงมีระดับนายทัพเป็น ๑๑ คน และมีชาวบ้านจากเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสิงห์ เมืองอินทร์ เมืองพรหม เมืองสุพรรณ มาอยู่ในค่ายบางระจันรวม ๔๐๐ คน พร้อมทั้งผู้หญิงและเด็กอีกจำนวนหนึ่งอพยพเข้ามาอยู่ในความคุ้มครองของค่ายบางระจันด้วย

ในตอนนั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ พระอาจารย์ธรรมโชติ จำพรรษาอยู่ที่วัดนางบวช แขวงเมืองสุพรรณบุรี เป็นที่นับถือของชาวบ้านในย่านวิเศษชัยชาญ สิงห์บุรี และสุพรรณบุรี ชาวค่ายบางระจันจึงไปนิมนต์ท่านมาจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์เก้าต้น ภายในค่าย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ท่านได้ทำผ้าประเจียดลงอักขระเลขยันต์เป็นของขลังแจกจ่ายแก่ชาวค่าย

ทหารพม่าที่ค่ายเมืองวิเศษชัยชาญส่งกำลังมาราว ๑๐๐ คนเพื่อจะปราบปรามชาวบ้านบางระจัน แต่เมื่อเห็นตั้งค่ายกันแน่นหนา จึงหยุดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางระจันตรงข้ามกับค่าย นายแท่นรับหน้าที่นำคนราว ๒๐๐ คนออกไป โดยลอบข้ามแม่น้ำและจู่โจมโดยไม่ทันให้รู้ตัว พม่ายิงปืนได้นัดเดียวก็ถูกกองกำลังชาวบ้านเข้าประชิดตัว ใช้มีดพร้าอาวุธสั้นฆ่าทหารพม่าจนหมดกองร้อย เหลือแต่นายทหาร ๒ คนที่ควบม้าหนีไปได้ ชาวบ้านบางระจันได้รับชัยชนะแล้วยังได้อาวุธปืนจากศพทหารพม่าด้วย

เนเมียวสีหบดี แม่ทัพพม่าที่ตั้งค่ายอยู่ที่ปากแม่น้ำพระประสบ ทราบเรื่องจึงให้ งาจุนหวุ่น คุมทหาร ๕๐๐ มาตีค่ายบางระจัน นายแท่นยกกำลังออกรับมือไม่ให้ข้าศึกข้าถึงค่ายได้ และตีทัพพม่าล้มตายเกลื่อน แม่ทัพพม่าส่งทหารหนุนเข้ามาอีกเป็น ๗๐๐ คน ก็ต้องแตกพายไป ไม่อาจต้านทานความฮึกเหิมของชาวค่ายบางระจันได้

ชัยชนะของค่ายบางระจันเป็นที่เลื่องลือ มีชาวบ้านอพยพมาเป็นกำลังเสริมมากขึ้นเรื่อยๆ เนเมียวสีหบดีเห็นว่าค่ายบางระจันไม่ใช่ค่ายชาวบ้านธรรมดาเสียแล้ว จึงให้ ติงจาโบ คุมกำลังมา ๙๐๐ คน คิดว่ากำลังที่เหนือกว่าจะตีค่ายบางระจันแตก แต่กลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไปอีก

รบกันมา ๓ ยก ทำเอาทหารพม่าขยาดฝีมือชาวบ้านบางระจัน หยุดตั้งตัวไป ๒-๓ วันจึงจัดทัพใหม่ ใช้กำลังพล ๑,๐๐๐ คน ทหารม้า ๖๐ คน มี สุรินจอข่อง เป็นนายทัพ ครั้งนี้พม่าไม่ผลีผลามไปถึงค่ายบางระจัน แต่ได้หยุดตั้งค่ายที่บ้านทุ่ง ห้วยไผ่ ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง

ฝ่ายชาวค่ายบางระจันได้จัดทัพไปตีพม่าถึงค่าย โดยมีนายแท่นเป็นทัพหน้า คุมพล ๒๐๐ คน นายทองเหม็นคุม ๒๐๐ เป็นปีกขวา และพันเรืองคุมอีก ๒๐๐ เป็นปีกซ้าย ทัพค่ายบางระจันไปยึดทำเลริมคลองสะตือสี่ต้น คนละฟากกับพม่า เปิดฉากดวลปืนกันแล้วแอบขนไม้และหญ้าเข้าถมคลอง บุกข้ามไปตีพม่าด้วยอาวุธสั้นจนพม่าตายเกลื่อน สุรินจอข่องนายทัพพม่าขี่ม้าเร่งตีกลองอยู่ท่ามกลางกำลังพล ยังถูกชาวบ้านบางระจันบุกทะลวงเข้าถึงตัว ฟันตกม้าตาย ส่วนนายแท่นถูกยิงที่เข่าต้องหามออกจากที่รบ

ชาวบ้านบางระจันรบกับพม่าตั้งแต่เช้าจนเที่ยง ต่างฝ่ายต่างก็อิดโรย จึงต้องถอยข้ามคลองกลับมาพัก พวกในค่ายก็หุงหาอาหารและจัดการเก็บศพ ฝ่ายไทยกินข้าวเร็วกว่า พออิ่มก็ข้ามคลองกลับไปใหม่ พม่ากินไม่ทันเสร็จก็ถูกจู่โจมวิ่งหนีกันกระเจิง ชาวค่ายบางระจันตามตีจนถึงค่ำจึงยกกันกลับค่าย

พม่าหยุดรังควาญค่ายบางระจันไป ๑๐ กว่าวัน จึงให้ แยจออากา คุมทหารซึ่งแบ่งจากค่ายต่างๆ มา ๑,๐๐๐ คนเศษ แต่ก็แตกพ่ายไปเช่นเคย แม้การรบครั้งที่ ๖ ซึ่ง จิกแค ปลัดเมืองทวายคุมพลมาก็ถูกตีพ่ายกลับไปอีก

การรบครั้งที่ ๗ เนเมียวสีหบดีได้ให้ อากาปันคยี เป็นแม่ทัพคุมพลมา ๑,๐๐๐ เศษอีกเช่นกัน มาตั้งทัพที่บ้านขุนโลก ทางค่ายบางระจันให้ขุนสรรค์ คุมพวกแม่นปืนไปคอยรับมือทหารม้าของพม่า แล้วให้นายจันหนวดเขี้ยว คุมพลพันเศษเข้าจู่โจมไม่ให้พม่าตั้งค่ายเสร็จ การรบครั้งนี้พม่าตายเกลื่อนอีกเช่นเคย

รบกันมา ๗ ครั้ง พม่าพ่ายยับเยินตลอด เสียทหารให้ชาวค่ายบางระจันไปมาก ทำให้ขยาดหยุดไปครึ่งเดือน จะหาใครนำทัพมาก็ไม่มีใครกล้า ทำให้เนเมียวสีหบดีวิตก เพราะค่ายบางระจันเข้มแข็งขึ้นทุกที ขณะเดียวกันทหารพม่าก็ขยาดที่จะไปรบด้วย จนกระทั่งมีมอญคนหนึ่งซึ่งอยู่ในเมืองไทยมานานและเข้ารับราชการกับพม่า จนมีตำแหน่งสุกี้หรือพระนายกอง ขออาสาคุมทัพมาเอง เนเมียวสีหบดีจึงมอบทหารให้ ๒,๐๐๐ คนพร้อมด้วยกองม้าและสรรพอาวุธ

สุกี้ไม่ใช้วิธีเดินทัพเข้าหาค่ายบางระจัน แต่ใช้ยุทธวิธี “เดินค่าย” คือให้ตั้งค่ายเป็น ๓ ค่ายรายทาง แล้วให้รื้อค่ายหลังมาตั้งข้างหน้าเป็นลำดับ ใช้เวลาครึ่งเดือนจึงเข้าใกล้ค่ายบางระจัน สุกี้ตั้งรับอยู่แต่ในค่ายไม่ยอมออกมา ใช้ความได้เปรียบจากอาวุธทั้งปืนใหญ่และปืนเล็ก เพราะรู้ว่าขวัญกำลังใจของฝ่ายไทยได้เปรียบมาก ถ้าออกรบกลางแปลงก็จะเพลี่ยงพล้ำอย่างที่แล้วๆมา

ชาวค่ายบางระจันเข้าตีค่ายพม่าหลายครั้งก็ไม่สำเร็จ ถูกพม่ายิงจนเสียไพร่พลไปมาก นายทองเหม็นเห็นพวกตายมากก็โกรธแค้น พอร่ำสุราได้ที่ก็ขี่ควายนำพลจำนวนหนึ่งบุกไปค่ายพม่า สุกี้เห็นฝ่ายไทยมาอย่างประมาทจึงนำทหารออกจากค่ายมาล้อมไว้ ทำให้นายทองเหม็นถลำเข้าไปอยู่ท่ามกลางข้าศึกแต่ผู้เดียว แม้จะฆ่าฟันทหารพม่าจนเข้าไม่ถึงตัว แต่ในที่สุดก็หมดแรง ถูกพม่ารุมจนตายในที่รบ ชาวค่ายบางระจันจึงต้องถอยออกมา

ต่อมานายแท่นที่ถูกยิงบาดเจ็บมาจากการรบครั้งที่ ๔ ก็ถึงแก่กรรมจากพิษบาดแผล ทำให้ชาวค่ายบางระจันเสียขวัญที่นายทัพ ๒ ใน ๑๑ เสียชีวิตลง แต่ก็ยังไม่ย่อท้อออกตีค่ายพม่าหลายครั้ง จนครั้งหนึ่งถูกพม่าโอบหลังตีกระหนาบทั้งสองด้าน ขุนสรรค์และนายจันหนวดเขี้ยวต้องเสียชีวิตในที่รบ

นายทัพของค่ายบางระจันต่างเห็นว่าการตีค่ายพม่าโดยไม่มีปืนใหญ่เป็นการเสียเปรียบ ต้องเสียไพร่พลไปเป็นจำนวนมาก จึงมีใบบอกไปถึงกรุงศรีอยุธยาขอปืนใหญ่มา ๒ กระบอกพร้อมกระสุนดินดำ ทางกรุงศรีอยุธยาพิจารณาแล้วไม่ยอมให้ เพราะกลัวว่าพม่าจะแย่งชิงเอาปืนไประหว่างส่ง หรือถ้าได้ไปแล้วค่ายบางระจันแตกพม่าก็จะเอาปืนนี้มาถล่มเมืองอีก

พระยารัตนาธิเบศร์ วิศวกรคนดังของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเคยใช้กำลังคนเคลื่อนย้ายพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ของวัดป่าโมกหนีตลิ่งพังมาแล้ว เห็นว่าเมืองหลวงไม่ยอมให้ปืนใหญ่จึงลอบเดินทางไปค่ายบางระจัน เรี่ยไรทองเหลืองจากชาวบ้านหลอมปืนใหญ่ขึ้นมาได้ ๒ กระบอก แต่ทว่าความชำนาญไม่พอ ปืนทั้ง ๒ กระบอกนั้นจึงร้าวใช้การไม่ได้ พระยารัตนาธิเบศร์เห็นว่าไม่สำเร็จแล้วจึงกลับกรุงศรีอยุธยา ทิ้งให้ชาวบ้านว้าเหว่ต่อไป

เมื่อไม่ได้ปืนใหญ่ ชาวค่ายบางระจันก็เริ่มท้อแท้สิ้นหวังที่จะถล่มค่ายพม่า บางคนก็พาครอบครัวหนีออกจากค่ายไป ทำให้ค่ายบางระจันอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ ในที่สุดเมื่อวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ วันที่๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๐๙ ค่ายบางระจันก็ถูกพม่าตีแตก หลังจากเริ่มต่อต้านพม่ามาตั้งแต่เดือน ๔ ปลายปีระกา พ.ศ.๒๓๐๘ เป็นเวลา ๕ เดือน

เหล่าวีรชนผู้กล้าของค่ายบางระจันต่างสู้จนตัวตายในสนามรบ ไม่มีใครยอมหนี ส่วนพระอาจารย์ธรรมโชติ ผู้นำทางจิตวิญญาณชาวค่ายมาตลอดนั้น ไม่ปรากฏว่าพม่าได้ตัวไป ท่านหายไปโดยไร้ร่องรอย

วีรกรรมของชาวบ้านบางระจันได้พิสูจน์ให้เห็นวิญญาณนักสู้ของคนไทย และถูกเล่าขานมาตลอดว่า เป็นแบบอย่างของความกล้าหาญ ความสามัคคี ความรักชาติรักแผ่นดิน

ปัจจุบันบริเวณค่ายบางระจันที่วีรชนชาวบ้านใช้เป็นที่มั่นต่อสู้ข้าศึก รวมทั้งวัดโพธิ์เก้าต้น ได้ถูกจำลองให้เป็นค่ายบางระจันขึ้นมาอีกครั้ง และมีรูปหล่อพระอาจารย์ธรรมโชติอยู่ในวิหารเก่าที่ท่านเคยปลุกเสกผ้าประเจียดทำของขลังแจกจ่ายเป็นกำลังใจให้เหล่าวีรชน ส่วนอีกฟากถนน ทางราชการได้สร้างเป็นสวนรุกขชาติสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และบนเนินดินกลางสวนนี้ เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์วีรชนทั้ง ๑๑ คน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๑๙

ขณะนี้ภายในอนุสรณ์สถานวีรชนแห่งค่ายบางระจัน ได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ค่ายบางระจัน เป็นที่รวบรวมโบราณวัตถุและอาวุธของชาวค่ายที่ใช้ในการต่อสู้ รวมทั้งจำลองวิถีชีวิตของคนย่านนั้นในอดีต ส่วนชาววิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ก็สร้าง “อนุสาวรีย์นายดอกนายทองแก้ว” ซึ่งเป็นชาววิเศษชัยชาญไว้ที่อำเภอวิเศษชัยชาญอีกแห่งด้วย
๑๑ นายทัพของค่ายบางระจัน
วิหารวัดโพธิ์เก้าต้นของพระอาจารย์ธรรมโชติ
อนุสาวรีย์นายดอกนายทองแก้วที่วิเศษชัยชาญ
กำลังโหลดความคิดเห็น