xs
xsm
sm
md
lg

มือพ่นขั้นเทพ “อเล็กซ์ เฟซ” ลูกชาวนาผู้หลงใหลในกราฟฟิตี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอ่ยชื่อ “พัชรพล แตงรื่น” หลายคนคงอาจจะส่ายหน้าด้วยความสงสัยว่าเขาคนนี้เป็นใครกัน แต่ถ้าให้เอ่ยสรรพนามว่า “อเล็กซ์ เฟซ” หรือ Alex Face แล้ว เขาคือศิลปินแนวสตรีทอาร์ต สายกราฟฟิตี ผู้ผ่านการรังสรรค์ความสวยงามบนผืนผนังข้างทางทั้งในและต่างประเทศมาแล้วนับไม่ถ้วน จนเป็นที่ยอมรับจากผู้คนแวดวงเดียวกัน

จากลูกหลานชาวนาชนชั้นกรรมาชีพ ที่หลงใหลงานศิลปะมาตั้งแต่เยาว์วัย ต่อยอดด้วยการเป็นตัวแทนของโรงเรียนไปแข่งขันวาดรูปในที่ต่างๆ จนกระทั่งได้มาพบกับศิลปะ ‘กราฟฟิตี’ ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของตนไปอย่างสิ้นเชิง ถึงแม้ว่าสิ่งดังกล่าวจะทำให้พัชรพลต้องฝ่าอุปสรรคมาเป็นเวลานาน แต่การพิสูจน์ผลงานของเขามาตลอดสิบกว่าปี ก็ทำให้เขาเป็นอีกหนึ่งแถวหน้าของเส้นทางสายนี้ได้ในที่สุด

หลานชาวนาผู้หลงใหลศิลปะ

“ตอนเด็กๆ ที่บ้านทำนาครับ ย่าทำนา พ่อเราขับสองแถวรับแม่ค้า แม่เราก็ทำงานโรงงาน ชีวิตชาวบ้านธรรมดา เราก็อยู่กับย่า ส่วนพ่อแม่ก็ทำงาน บางครั้งก็กลับมาตอนวันเสาร์-อาทิตย์ เราก็ไปช่วยย่าดำนา เพราะย่าจะเกณฑ์หลานๆ ให้ไปทำ ตากแดดทั้งวัน เราก็เล่นของเราในท้องนานี่แหละ ทำให้ตอนนี้ไม่กลัวแดดเลย มันชินใช้ชีวิตแบบนั้น กลับมาก็โดดน้ำคลอง คล้ายเรื่องแฟนฉันเลย แต่ไม่มีจักรยาน (หัวเราะ) กว่าจะได้มันมาก็จบ ป.6 แล้ว ด้วยความที่เป็นปมตอนเด็ก ตอนนี้เลยมีจักรยานเต็มบ้านเลย (หัวเราะอีกครั้ง)”

ส่วนศิลปะ เราชอบมาตั้งแต่ตัวเล็กๆ เลย จำความได้ก็เริ่มวาดรูป ระบายสี ด้วยดินสอสีกับสมุดวาดเขียนที่อาซื้อให้ เริ่มจากระบายสีแล้วก็วาดอย่างอื่น เริ่มวาดหน้าคนนั้นคนนี้ วาดหน้าฉัตรชัย (เปล่งพานิช) ศรัณยู (วงษ์กระจ่าง) คือเห็นหน้าแล้วก็วาดและนำไปให้ย่าดู ย่าก็ชมกลับว่าเหมือนๆ

“เข้าเรียนชั้นประถมก็ยังวาด แต่ตอนประถมยังไม่มีใครมาสอนเราอย่างจริงจังหรอก วาดแบบดุ่มๆ คนเดียวเลย เพราะเรียนโรงเรียนวัดก็ไม่ได้มีครูสอนโดยตรง เขาจะให้ปล่อยไปวาดแบบที่อยากวาด ไปวาดรูปสหกรณ์โรงเรียน เราอยากส่งประกวดก็ไม่รู้จะส่งไปยังไง ไม่มีใครส่งให้ ไม่มีกระดาษใหญ่ๆ หาไม่เป็น กว่าจะรู้ว่ามีขนาดแบบ 100 ปอนด์ก็ตอน ป.6 แล้วมั้ง แต่จะมีเหตุการณ์แบบส่งประกวดแล้วเราคิดว่าไซส์ขนาดโคตรใหญ่เลย ด้วยความซื่อของเราในตอนนั้น ก็คิดว่ามีกระดาษไซส์แบบนี้ด้วยเหรอ เขาต่อกระดาษหรือเปล่า สุดท้ายเราก็วาดในหัวข้อ บ้านของฉัน เราก็วาดบ้านตัวเองไป ระบายสีไม้ในแผ่นกระดาษที่มันใหญ่ที่สุดนี่แหละ แล้วก็ลงท้ายข้อความถึงกรรมการในด้านหลังว่า ‘ขอโทษครับ ผมไม่มีกระดาษแผ่นใหญ่ครับ แต่ผมอยากส่งประกวด เพราะผมหากระดาษแผ่นใหญ่ไม่ได้แล้วครับ’ แต่สุดท้ายก็ไมได้ส่งนะ (หัวเราะ) เพราะไม่มีใครส่งให้ เราก็เล่นอย่างอื่นจนลืมๆ ไป

พอถึงช่วงขึ้นมัธยมต้น มีห้องศิลปะและครูศิลปะ เราก็เต็มที่เลย พอเข้าไปเรียนปุ๊บ โคตรตื่นเต้น เวลาจะไปกินข้าวกลางวัน เราจะเดินอ้อมเพื่อผ่านห้องศิลปะ แล้วเราจะเล็งเข้าไป ประมาณว่าขอเดินผ่านก็ยังดี ไม่กล้าเข้าไปหรอก เดินผ่านแล้วมอง จนได้เรียนคาบแรก เรารู้สึกดีใจมาก ได้เข้าไปนั่งดู มีสีโปสเตอร์ กระดาษ 100 ปอนด์แผ่นใหญ่ มีพู่กันวางไว้เป็นตับ ซึ่งคาบนั้น ครูเขาบอกว่าไปวาดอะไรมาก็ได้ เราก็วาดรูปทะเลจากปฎิทินแบบตั้งใจอย่างสุดๆ ย่าก็มาช่วยดู พอวาดไปสักพัก ย่าก็มาบอกเราว่า ไกลๆ สีมันจะต้องจางนะ เราก็คิดในใจว่า อืมม จริงด้วย เพราะเราเขียนเท่ากันหมด มันก็ไม่ใช่ หินต้องมีเงาสิ ถ้ามีแสงแดด เราก็เห็นด้วย จนวาดเสร็จ เราก็เอางานชิ้นนั้นไปส่งกับเพื่อนอีกคน ปรากฏครูเรียกทั้งคู่ แล้วบอกว่า ถ้าอยากวาดรูป ก็มาได้เลยนะ เราก็ตอบรับว่าได้ครับ จากนั้นก็หาปฎิทินสวยๆ มานั่งวาด อยากวาดอะไรก็วาด มีรูปอะไรเราวาดหมด”

สู่เส้นทางเดินสายประกวด

และด้วยการฉายแววเด่นจนครูศิลปะชักชวนให้มาเป็นตัวแทนของโรงเรียน พัชรพลก็ไม่รอช้าที่จะคว้าโอกาสดังกล่าว ซึ่ง ณ จุดนี้ที่ทำให้เขาได้พัฒนาฝีมือไปอีกขั้น จนสามารถคว้ารางวัลต่างๆ มาครอง และเดินสายไปแข่งประกวดอยู่ไม่ขาด

“พอเราฝึกวาดไปได้ประมาณหนึ่ง ครูก็เริ่มให้โจทย์ต่างๆ ทั้งๆ ที่ในตอนนั้นก็ยังอยากวาดปฎิทินอยู่ แต่ก็วาดตามโจทย์ครู เพราะครูจะพาไปประกวด ไปครั้งแรกปรากฏว่าได้ที่ 3 แถมได้เงินด้วยประมาณ 500 บาท แต่ตอนนั้นเรารู้สึกว่าโคตรเยอะเลย เพราะว่าสามารถจ่ายค่าเทอมได้แล้ว จนเวลาต่อมา ครูก็บอกว่า ลองวาดแบบนี้สิ วาดแบบนั้นสิ คราวนี้โปรแกรมมาทั้งปีเลย มีมาทั้งงานวิทยาศาสตร์ จบงานนี้ ก็มีงาน กพอ. แข่งไปทั่วภาคตะวันออกเลย จนกลายเป็นว่า จากการวาดเล่นๆ ก็กลายเป็นซ้อม แล้ววิธีแข่งประกวดแบบนี้ จะเป็นการแข่งช่วงเช้า 9 โมง ถึงเที่ยง แล้วมาตัดสินกัน เราก็ต้องมาซ้อมว่าภายในสามชั่วโมงนี้ เราจะวาดจบมั้ย คือร่างออกมาก่อนว่าจะวาดอะไร แล้วจากนั้นก็มาซ้อมจับเวลาว่าเกินไปเท่าไหร่ แล้วถ้าเกิน จะตัดส่วนไหนออก คือดูว่าทำตรงไหนเสร็จ ก็เริ่มวางแผนแล้วไปแข่ง จนสามารถเป็นตัวแทนจังหวัดเลย พอเราเป็นระดับนี้แล้ว ก็จะเป็นตัวระดับเขต ซึ่งในระดับนี้ ก็จะเป็นตัวที่รวมคนที่เก่งแต่ละจังหวัดทั้งภาค จากนั้นก็จะได้มาแข่งที่กรุงเทพฯ แต่เราต้องชนะในระดับเขตก่อน ตอนนั้นเป็นงานวิทยาศาสตร์ เรารู้สึกว่าเหมือนชิงแชมป์โลกเลย (หัวเราะเบาๆ) ก็ซ้อมๆ ต่อไป

“พอเราได้ที่ 1 จังหวัด จากนั้นก็ต้องเจอคนเก่งแต่ละจังหวัด ตื่นเต้นมาก เราก็วาดๆ ไป ปรากฏว่าได้ที่ 1 เขต แล้วเราก็มาดูงานของคนอื่น สวยทุกรูปเลย คือเรามีความรู้สึกแต่ละคนมันเก่งไง แล้วเราจะได้หรือเปล่า คือมันกำกวม งานมันเสมอกันหมด ทั้งน้ำหนัก แสงเงา องค์ประกอบอื่นมันใกล้กันมาก แต่ปรากฏว่าเป็นเราชนะ ก็ได้มาเข้าค่าย 7 วัน คือมากรุงเทพฯ ครั้งแรก เราก็เหวอเลย มาทำกิจกรรม เขาพาไปเที่ยว ถือว่าดีมาก เปิดหูเปิดตา สำหรับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน เพราะว่าคนอื่นมีแต่เรียน แต่เราได้เที่ยว บางทีไปแข่งเช้า เที่ยวบ่ายแล้วกลับ หรือมาค้างคืน อย่างทำกิจกรรม ก็มาได้รู้จักคนนั้นคนนี้ ได้มาเจอกับความเก่งของเด็กจากภาคอื่น แล้วมาเข้าแคมป์ด้วยกัน สนุกมากแล้วแต่ละคนก็เจ๋งๆ ทั้งนั้น นี่คือประสบการณ์ของเราในตอนนั้น จนถึงเวลาแข่งครั้งแรก

“ห้องแข่งขันนี่คือห้องแอร์ครับ ปกติแข่งกันแต่ในโรงอาหาร (หัวเราะ) คือมีทุกอย่างพร้อม แต่ทำให้เราเกร็ง มันดีไป แล้วโต๊ะแข่งเขาเซตแบบดีเกิน ปรากฏว่าลนลาน ทำสีเหลืองหล่นแตก ซึ่งสีนี้ก็จำเป็นด้วย เพราะผสมทั้งร้อนและเย็น ขาดไม่ได้ จนในที่สุดเราก็ต้องไปวิ่งขอในแต่ละโต๊ะ พอหมด เราก็วิ่งไปขอใหม่อีก คือโต๊ะอื่นวาดปกติไป แต่เราต้องไปเทียวไล้เทียวขอ สมาธิไม่มี สรุปตกรอบ แต่เขาให้ชมเชยทุกคน แต่ตอนนั้นเราไม่ซีเรียสหรอก แค่ได้เที่ยวก็มีความสุขแล้ว ไม่ได้เกร็ง แค่รู้สึกประหม่าตื่นเต้น แต่ตอน ม.3 ก็ไปแข่งอีก แต่คราวนี้ไม่ประหม่าแล้ว ดีขึ้นแต่ได้ลำดับเดิม แต่ครั้งที่ 2 เขาไม่ได้ให้ทุกคนนะ ให้แค่ 2 ที่ ซึ่งก็ถือว่าโอเคอยู่

หลังจากจบ ม.3 ก็มาคุยกับพ่อว่าอยากเข้า ปวช. ด้านศิลปะ ซี่งเขาก็อยากให้เราไปเรียนช่างหรือสถาปนิก จบมาจะได้มีงาน แต่เราก็บอกว่าเรียนศิลปะแหละ ได้ปริญญาเหมือนกัน ส่วนเรื่องงานเดี๋ยวว่ากัน เขาก็บอกว่างั้นเรียนใกล้บ้านละกัน ตอนนั้นอยากเรียน เพราะสามารถนั่งรถไฟถึงได้ แล้วก็มีอาชีวะฉะเชิงเทรา และอาชีวะชลบุรี บ้านเรามันอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้หมดเลย เราก็เอาไงดีวะ ทุกที่น่าเรียนหมด สุดท้ายเลยเลือกที่ฉะเชิงเทรา เพราะพ่อบอกว่าอยากให้เรียนใกล้บ้าน”

เปิดโลกกว้างจนมาเจอ ‘กราฟฟิตี’

เมื่อเข้าสู่เส้นทางการศึกษาในระดับสายอาชีพ พัชรพลก็เดินหน้าสร้างทักษะการวาดรูปมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งก้าวเข้าสู่รั้วลาดกระบัง ในสาขาทัศนศิลป์ ที่นอกจากจะช่วยเปิดโลกกว้างให้กับเขาแล้ว ณ ที่แห่งนี้เอง ที่ทำให้เขาได้พบกับ “กราฟฟิตี”…

“พอเราเรียน ปวช. ก็เข้าทางเลย วาดรูปทั้งวัน เขาให้วาดรูปเดียว เราวาดไป 10-20 รูป (หัวเราะเบาๆ) ที่เรียนจะมีรูปปั้นแล้วให้วาดสีน้ำ เราจะมีเพื่อนอยู่ 3-4 คนที่ชอบกันจริงๆ วาดสีน้ำกันทั้งวัน เรียน 9 โมงเช้า เลิก 2 ทุ่ม กับเพื่อน 3-4 คน แล้วช่วงนี้ก็เริ่มมีงานจ้างจากเพื่อน ซึ่งตอนนั้นก็ถือว่าดี เพราะว่าได้ตังค์ ยังไม่ค่อยมีเงิน เพราะคนจ้างก็เพื่อนเราที่ขี้เกียจ แล้วก็ถือว่าเขียนอะไรมั่วๆ ส่งอาจารย์ เราเป็นแนวใฝ่ดีและบ้าด้วยอารมณ์นั้น แต่ก็มีบ้างที่ไปทำอะไรเหี้ยๆ กับพวกเพื่อนๆ แต่เราก็กลับมาทำของเราต่อ มีไปคึกคะนองบ้าง แต่เราไม่ได้ไปชอบต่อยตี ไม่ได้ไปชอบหาเรื่องหรือมีเรื่องกับใคร คือช่วง ปวช. จะมีแบบไปจีบสาวหาเรื่องไง ตามสไตล์วัยรุ่น แต่เราก็ทำงานปกติ ไม่สนใจใคร โฟกัสกับการวาดรูป

“พอเข้ามหาวิทยาลัยปุ๊บ ก็กลายเป็นว่าเปิดโลกทัศน์ให้กับเราอีก โดยเฉพาะเรื่องของแนวความคิด เพราะก่อนหน้านั้น เราจมกับเทคนิค พอมาที่นี่ ก็มาเรียนเรื่องไอเดีย จนรู้ว่าศิลปะมันไม่ใช่แค่วาดรูป มันเป็นเรื่องอื่นด้วย ดูงานศิลปินเมืองนอก ดูสไตล์ ดูประวัติศาสตร์ศิลป์ ศึกษาทีละขั้น จบมาถึงมาลุยจริง อะไรอย่างงี้ ก็เป็นสเต็ปของชีวิตไปปกติ อยู่ที่นี่ก็สนุกดีเพราะมันชอบ มีความสุข

“ช่วงนั้น วัฒนธรรมฮิปฮอปมันบูมในบ้านเรา คนก็หันมาพ่นกราฟฟิตีกัน เราเห็นว่าน่าสนใจ ก็เลยเริ่มลอง แต่ก่อนพ่นก็ศึกษา หาหนังสือมาดู ไปจัดกิจกรรม หรือบางทีเราก็เอาเฟรมไปวางไว้ในงาน คือมีงานนึง เป็นงานปาร์ตี้ มีดีเจ ได้บูทมาบูทนึง ตอนแรกก็ลังเลว่าจะทำดีมั้ย แต่พอมาคิดอีกที เสียดายโอกาสที่จะมีบูท เราก็โอเค เอางานที่อยู่ใต้ตึกที่ทิ้งๆ วางๆ ไว้ ไปขาย ติดต่อรถ 6 ล้อขนงาน แล้วบังเอิญว่าเราไปเจอเฟรมอันใหญ่เลย และคิดถึงกราฟฟิตีแล้วคิดตามว่า ถ้าเราเอาเฟรมไปวาง จะมีคนพ่นมันหรือเปล่า อยากรู้ว่าจะเป็นยังไง แอบเอาเฟรมไปวางเลย คือตอนจัดบูทก็มีพื้นที่ให้วางได้พอดี พิงกับตู้รถไฟ

“เราก็เปิดบูทไป เอางานมาเซตๆ นั่งอยู่ที่บูททั้งวัน สักพัก เริ่มมีคนมาพ่นทีละคนสองคน พ่นกันเต็มเลย พ่นทับกันไปมา สักพัก คนมามุงเต็มเลย จากนั้นนักข่าวมาทำข่าว ออกนิตยสารด้วย จากกำแพงที่เราไปวาง กลายเป็นว่าจัดอีเวนต์ให้เขาเฉยเลย เราก็มาดูว่ามันดี หลังจากนั้นเอาสีมาพ่นเป็นชื่อตัวเองแถวบ้าน พ่นซากรถเก่า พอเริ่มพ่นปุ๊บ ปรากฏว่าสนุกเลย ก็จึงพ่นเรื่อยๆ คือฉีดแล้วมันติดเลย ฉีดๆ ตัดเส้น จบ แล้วมันเร็ว คือตอนเรียน เรามันมีรายละเอียดเยอะ กระบวนการในการทำงานมันเหมือนขัดความรู้สึกกัน เวลาเราเบื่อ เราก็พ่น อีกอย่างได้กระแสตอนนั้นด้วย เพื่อนเราก็พ่นกันหลายคน ก็ออกไปพ่นกัน แล้วก็เจอเพื่อนคนใหม่ เจอแก๊งใหม่ๆ ก็ไปพ่นกัน ตอนหลังเริ่มมีฝรั่งมา ก็หาที่พ่นกันปกติ ไม่ได้คิดอะไรหรอก

การได้ทำงานแบบนี้เหมือนกับได้ปลดปล่อยพลังวัยรุ่นในช่วงนี้ แต่เราจะเป็นวัยรุ่นนานหน่อย ช่วงนั้นอายุ 20 กว่าแล้ว ฟองสบู่แตกใหม่ๆ ตึกร้างเลยเยอะ มันก็เลยกลายเป็นพื้นที่ที่เราไปพ่นกันได้ ส่วนใหญ่นัดเจอก็พ่นสีกัน หรือเจอแก๊งที่ไม่ถูกกันก็มี หลากอารมณ์ หลากแก๊ง ตอนแรกเราจะเป็นอารมณ์กราฟฟิตีหน่อยนะ พ่นหน้าตัวเอง พ่นแบบเร็วๆ พ่นในที่ที่ไม่ควรพ่น ทำลายทรัพย์สิน ตอนนั้นผิดกฎหมาย แต่ความรู้สึกของเราคือ อาร์ต!! (หัวเราะ) คิดแบบเข้าข้างตัวเอง แต่ชาวบ้านด่า เขาเรียกกันว่า ไอ้หน้ากับไอ้ตาเดียว วันนี้แม่งเต็มลาดกระบัง ตื่นเช้ามา เขาด่ากันเละเทะ ซึ่งในมหา’ลัยก็พอรู้ แต่คนอื่นไม่มีใครรู้หรอก ไปพ่นแบบเทศกิจจับ ไปพ่นตามตึกที่ทรุดโทรม ตอนนั้นเรารู้สึกแค่ว่าทำไมพ่นไม่ได้วะ มึงไม่ดูแลให้สวยเลย เป็นพื้นที่อับ เป็นทางผ่าน และอันตรายด้วย แล้วกำแพงก็แตกพัง เราก็พ่นเย้ยกฎหมายแม่งเลย เย้ยไป 3 วัน โดนตำรวจจับ จนเป็นที่ฮือฮาในคณะ (หัวเราะ)”

ศิลปะสร้างชีวิต

“หลังจากเรียนจบ เราก็ทำงานก๊อกๆ แก๊กๆ ไปเรื่อย ไม่เคยทำงานออฟฟิศ เพราะตอนนั้นเรารู้สึกว่าโคตรฟรี ทุกวันคือเหมือนกันหมดเลย คือนั่งไปจนตังค์หมด ทำคอมพ์ก็ไม่เป็น พูดคำว่าทำคอมพ์ รู้เลยว่าเชยมาก ตอนนั้นไปสมัครงานก็มีแต่กราฟิกดีไซเนอร์ เพื่อนก็ไปทำแบบนั้นหมดเลย เราก็อยากได้งานทำแหละ แต่เรารู้สึกว่าไม่อยากไปให้คนอื่นเสียเวลา ถ้าเราเข้าไปแล้ว เขาก็ต้องมาฝึกเราใหม่ เราไม่อยากเป็นแบบนั้น ก็ไปวาดภาพก๊อกๆ แก๊กๆ รับจ้างวาดดอกไม้ รับจ้างปั้นจิวเวลรีเล็กๆ ใครมีงานอะไรก็ไปทำ ถ่ายหนัง ถ่ายโฆษณา เขียนก๊อบปี้งานมาสเตอร์พีซขาย เราก็ทำทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับวาดรูปอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็วาดรูปของเราด้วย พ่นสีด้วย มันเหมือนแยกกัน หาเงินเพื่อให้มันอยู่ได้ แต่ก็ไม่ได้หาแบบจริงจัง มีเงินนิดหน่อย เราก็อยู่ได้แล้ว ไปเล่นสเกตบอร์ด ไปซื้อสีและพ่นสีเล่น คิดแค่นี้ ไม่อยากทำงานประจำ เพราะจะได้เล่นสเกต ได้พ่นสี คิดแค่นั้น ไปเรื่อยเปื่อย

“ต่อมาไปอยู่วงการโฆษณาและวงการหนังแป๊บนึง ไปเป็นฟรีแลนซ์อยู่ปีนึง จากนั้นก็ไปทำหนัง เริ่มจากเป็นเด็กยกของ มัน แต่ไม่ได้พักผ่อน และเจออีโก้ของคนเยอะ เรารู้สึกว่าต้องประสานกับคนเยอะ ต้องเหนื่อยแบบไม่มีเหตุผล แล้วไม่ฟังความเห็นเรา เช่น อย่างเรามองในเฟรมว่าตรงนี้ไม่มีหรอก พี่อาจจะไม่ต้องทำหรอก เพราะเราเป็นคนทำไง อะไรที่ตัดได้ตัด เราดูสตอรี่บอร์ด แต่เขาก็บอกว่ามึงทำไปเหอะ เพราะเขาจ้างเรามา เราก็คิดในใจว่า ทำไมเอาเวลาที่ไร้สาระมาทำแบบนี้ น่าจะทำอย่างอื่นก่อน ไปอยู่วงการหนังก็โดนโกงค่าตัว แต่เราเอาสนุกไง มีอยู่งานหนึ่ง เราเห็นสีสเปรย์ สีต่างๆ กูวาดขึ้นดาดฟ้าเลย พ่นเลย พ่นไปเลย วันต่อมาสีไม่พอ เอาสีตัวเองไปพ่นเพิ่มอีก ช่วงพักเที่ยงไง กองถ่ายคงเห็นเราทำได้ เขาเลยให้เราไปเป็นผู้ช่วยอาร์ตไดเรกเตอร์เลย คือขยับหน้าที่การงานได้เร็วมาก แต่ก็โดนโกงอยู่ดี เอาเพื่อนมาช่วยกันทำ แบ่งงานกันทำและแจกแจงงานไป พอถึงเวลา เขาจ่ายหมดแล้ว แต่ไอ้นั่นไม่จ่ายเรา ซ้ำตังค์ก็ไม่ได้ อะไรแบบนี้

“หลังจากที่ออกจากการทำงานสายภาพยนตร์ เราก็ไปบวชที่วัดแถวบ้าน หายจากวงการไปเลย แต่ช่วงนั้นมันทำให้เราคิดว่า จะกลับไปทำงานแบบเดิมหรือทำงานศิลปะแบบเรา เหมือนรู้สึกว่าเราเอาเวลาไปทำอะไรอยู่ ทำไมเราไม่เอาเวลานี้มาสร้างอะไรของเราเอง อยากทำงานตัวเองมากกว่า แถมมีความคิดที่ว่า งานกองถ่ายเริ่มไม่สนุกแล้ว เราไปทำข้าวของเขาเสีย แต่ถ้าเราทำงานของเรา แล้วเราทำพังเอง อย่างน้อยมันก็ยังเป็นของเรา เราไปทำงานคนอื่นแล้วมันมีแรงเสียดทานเยอะ ผ่านไป 4 เดือน ก็สึกออกมาเจอโลกข้างนอกอีกครั้ง เพราะว่าเรายังต้องทำอะไรอยู่ หาเงินให้พ่อแม่

“ก็ไปเจอพี่คนหนึ่ง เขาถามว่า อยากแสดงงานมั้ย มีที่ที่สวนล็อกนึง เขาให้แสดงเดือนนึง เป็นแกลเลอรี หมุนเวียน ล็อกเล็กๆ 5,000 แล้วเรามีรูปส่วนตัวที่วาดทิ้งไว้อยู่แล้ว เราก็ลองดู จัดแสดงที่นั่น แต่ปรากฏว่า 3 อาทิตย์แรก เงียบ จนมาถึงสัปดาห์สุดท้าย แล้วเหมือนปาฎิหาริย์ วันนั้นเข้าร้านตอนบ่าย 3 สภาพแบบไม่มีกะจิตกะใจจะเข้าร้าน เดินเปื่อยๆ ไป จนพี่เขาโทร.ตามเราว่า มีคนมาขอซื้องาน เป็นผู้หญิงสิงคโปร์ เขาขอซื้องานหลายชิ้นเลย เรานี่แทบอยากจะกระโดดกอดจูบเลย คือเราขายไม่แพง แต่รวมทั้งหมดได้ประมาณ 25,000 คือรอดตายแล้ว ก็เลยได้มาเปิดร้านที่สวนลุม ทำงาน abstract ขาย แต่ก็ขายไม่ได้ ส่วนใหญ่ติดเมา กินทุกวัน ขายของไม่ค่อยได้ ตังค์ก็ไม่ค่อยมี ต้องไปทำจ๊อบพ่นสี ประปรายบ้าง เอาเงินมาโปะค่าร้าน จนในที่สุด เลิก เพราะคิดว่าถ้าเอาเงินมาโปะค่าร้าน มันจะไม่คุ้ม เลยยกร้านให้รุ่นน้องทำต่อ อยากทำทำไปเลย แต่ก็ได้เรียนรู้หลายอย่างว่า ช่วงที่เราไปทำสิ่งที่ไม่สนุก รู้สึกว่ามันเหนื่อย มันมาสอนให้เราในตอนนี้ว่า เราต้องเอาความรู้สึกตอนทำงานกองถ่ายมาใช้ เมื่อก่อนเราทำงานให้คนอื่น ชิบหายเลย คืองานพวกนั้นมันไม่ได้เสียหายอะไรนะ เรารู้สึกสนุก แล้วฝึกให้เรามีความอดทน ทำงานหนัก ทำให้เราคล่องแคล่ว

ลูกสาว คือแรงผลักดัน

ถึงแม้ว่าโดยรวมจะไม่ประสบความสำเร็จในการทำงานที่ผ่านมา แต่การถือกำเนิดลูกสาวคนเดียวของเขา นั่นก็เพียงพอแล้วที่ได้สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับตัวเอง ให้กับมาทำงานของตัวเองอีกครั้ง พัชรพลจึงตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต นั่นคือการจัดแสดงผลงานของตนเอง และผลตอบรับในครั้งนั้น ก็ส่งผลให้กับเขาอย่างคุ้มค่า

“จากนั้นเราก็พ่นมาเรื่อยๆ ตอนหลังมันกลายเป็นงานหลัก จากที่เราทำงานอื่นด้วย พ่นด้วยอะไรด้วย ทำคู่กันไป จนวันหนึ่งมันทำให้เรารู้สึกว่างานที่เราทำด้วยตัวเองมันเริ่มอยู่ได้ ตรงนี้มันก็ค่อยๆ ลดลง ตอนหลังคือวาดรูปแสดงงาน จนการทำงานของเรา หาที่แสดงดีกว่า ลองแสดงดู บวกกับเรามีลูกด้วย สิ่งนี้ทำให้เรามีแรงฉุดที่จะให้ทำงานด้วย เราก็พ่นเยอะขึ้นและพัฒนาเทคนิครูปแบบให้ดีขึ้น งานที่เราเคยทำก็ส่งต่อให้เพื่อนได้ เมื่อก่อนเรารับจ้างเขียนจากเพื่อนฝรั่ง เขียนรูปเสร็จแล้วส่งไปให้ที่เมืองนอก ตอนนั้นหาเงินจากตรงนั้น หลังจากสึกออกมาจากวัด ก็เริ่มจากการวาดรูปและวาดรูปเราไปในตัว ถามว่าดีมั้ยจากการวาดรูปที่ไม่ใช่งานเรา มันก็ดี เพราะทักษะที่เรานั่งวาดมันไม่ได้หายไปไหน มันยังมีอยู่ ทุกครั้งที่เราทำ มันเหมือนกับเราได้ฝึกใหม่ตลอด ขนาดเราวาดมาตั้งแต่เด็ก มันต้องมีการฝึกขนาดนั้น พอเราไปวาดรูปแบบเรียลิสติก (realistic) มันกลายเป็นการฝึกความอดทน หลายคนมองว่าการเขียนรูปนี่ชิลๆ นะ แต่จริงๆ มันเหนื่อย ต้องมานั่ง 8 ชั่วโมง ปวดหลัง สมองมันทำงานหนัก เช่น แปรสีเป็นค่าสียังไง เหนื่อยเหมือนกัน แต่มันก็ช่วยฝึกเรา แล้วมาใช้ในงานของเราเอง เรารู้สึกจากการที่เราไปวาดในรูปแบบต่างๆ แต่ตอนหลังพอเราทำงานของเราเยอะขึ้น เราก็โยนงานให้รุ่นน้องไป แล้วเราก็ทำของเราไป

“พอช่วงนี้กลายเป็นว่า เริ่มทำโชว์ เมื่อตอนมีลูก ตอนนั้นยังไม่มีตังค์เลย เหมือนช่วงเปิดร้านที่สวนลุมอยู่เลย พอแฟนท้องปุ๊บ เราก็ทำโชว์ขึ้นมาโชว์หนึ่ง คิดแค่ว่าทำอะไรสักอย่าง ทำโชว์ละกัน ถ้ามันขายได้ เผื่อเป็นค่าใช้จ่ายในทุกอย่าง ใครมีงานจ้างอะไรก็มา แล้วมันก็ขายได้ เอาไปเป็นค่าโรงพยาบาล จากนั้นเจอเพื่อนก็ไปทำงานกับเพื่อนต่อเขียนรูปให้มัน แต่เราก็คิดว่า ต้องมีอีกโชว์ที่จะเปลี่ยนชีวิตให้ได้วะ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เลยตั้งใจทำงานชิ้นนึง เริ่มกลับมาเขียนหน้าเด็ก กลับมาเขียนสีน้ำมัน ทักษะที่เราร่ำเรียนตอนเด็ก จะเอากลับมาใช้ให้หมด จะพยายามทำให้เต็มที่ เพราะก่อนหน้านี้จะเป็นงานที่ฉับพลัน คือเน้นง่าย แต่ไม่ได้เอาทักษะมาใช้อย่างเต็มที่หรอก เลยคิดว่าโชว์นี้ เอาทักษะมาใช้อย่างเต็มที่ ดูซิว่าจะเป็นไง แต่น่าจะเปลี่ยนชีวิตอะไรบางอย่าง ผลที่ออกมาก็ดีพอสมควร คนมาดูงานโชว์เยอะพอสมควร ทั้งโชว์ก็ขายได้ สามารถมาตั้งหลักชีวิตต่อ เราไม่รู้ว่ามันจะแจ้งเกิดมั้ย แต่ก็ทำให้เราได้ออกสื่อ ออกข่าว มันก็ทำให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีคนมาดูโชว์มากขึ้น

“พอขายงานโชว์ได้ คิดว่าเราต้องเดินทางดีกว่า เพราะว่าเราไม่เคยเดินทางไปไหนเลย เลยตัดสินใจไปทำโปรเจกต์ที่พม่ากับเกาหลี ลองไปโดยที่เราไม่รู้จักใครเลย ไปหาที่พ่น ไปเกาหลี เดินดุ่มๆ ไปพ่น จากนั้นก็ไปโซล เดินแม่งทั้งเมือง (หัวเราะ) หาที่พ่นแทบไม่มีเลย จนคนบอกให้ไปมหา’ลัยแห่งหนึ่ง เราก็ไป พอไปถึง เจอกราฟฟิตีเต็มเลย ถูกที่แล้วล่ะ แต่มีเวลาแค่ชั่วโมงเดียว เพราะเราต้องไปสนามบิน เราก็เดินๆ หาจุดพ่น ไปเจอตรงมุมนึงที่ไกลคนหน่อย ควักสีออกมา ปรากฏว่ามีป้าคนนึงมาทัก สุดท้ายอดพ่น แบกสี 30 กว่ากระป๋องทิ้งที่สนามบินเศร้าเลย จากนั้นก็ไปอังกฤษ ไปทำ art fair กับเพื่อน แต่ที่นั่นถือว่าดี เพราะว่าเราก็มีการไปเขียน blog ลงเน็ต และคนที่นั่นเขาชอบ street art แล้วยิ่งเราเป็นคนต่างถิ่น มันก็จะมาคุย มาสัมภาษณ์ มาหาที่ให้พ่น

“อย่างคนอังกฤษมันเห็นสไตล์บ่อย พอรู้ว่าเรามาจากไทย มันก็จะมาสนุกกับเรามาก มาจากเมืองไทยแม่งเป็นเพื่อนเลย คือไม่รู้จักเรา แต่ทักเรา แล้วก็ไปพ่นตามที่ต่างๆ ลงไปทางใต้ของอังกฤษก็มี พอกลับมาผลตอบรับก็ดีขึ้น เหมือนประมาณว่าคนเขาเห็นเราไปทำงานที่ต่างประเทศมั้ง แต่ความจริง เราก็พ่นทุกที่แหละ ได้ประสบการณ์ใหม่ แล้วก็มีคนชวนไปทำนั่นนี่ที่ต่างประเทศ ไปไต้หวัน แบบไม่มีตั๋วให้ แต่เราก็ไปเองได้ ไม่เป็นไร ไปทำโปรเจกต์ที่นั่น หลังจากนั้นก็ไปตลอด ถ้ามีโปรเจกต์ไหนที่น่าสนใจ เราก็ไป เพราะว่างานพวกนี้มันต้องออกไปน่ะ ดีกว่ามานั่งค้นหา มันได้คุยกับคนจริงๆ เหมือนบ้านเราน่ะ อยู่นี่คุยกับคนไทย อยู่ที่อื่นก็คุยกับคนท้องถิ่น ได้ความรู้สึกอีกแบบ ได้รู้วิธีหากำแพง วิธีซื้อสี ไปดูกำแพง แต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน เราก็สนุกไง ได้เดินทาง ได้พ่น ได้เที่ยว ถ้าเทียบกับคนอื่นที่ต้องไปหาที่พ่น ไปหาแลนด์มาร์กสวยๆ แล้วถ่ายรูป แต่เราไปไหนไม่รู้ แต่มันกว่า

“ส่วนมูลค่าของงาน มันก็เริ่มจากถูกๆ ก่อน จากราคาที่เขาเริ่มจ้างไปพ่น จากเมื่อก่อนที่ไม่กี่บาท มันก็จะค่อยๆ ขยับเองไปตามธรรมชาติ พอเราเริ่มทำงานที่คุณภาพดีขึ้น ก็เพิ่มมูลค่างานเพิ่มขึ้น พอเราได้ราคานี้ก็ดึงไปคุยกับคนอื่นต่อ เราก็จะไม่ถูกไปกว่านี้แล้ว พอเราทำราคานี้เยอะขึ้น จากนั้นก็จะไต่ระดับขึ้นไปเอง ทีละนิดๆ ไม่ใช่ว่า ชิ้นนี้เราเอา 50,000 คือจากเด็กง่อยๆ ธรรมดา ถ้าเรียกราคานั้น เขาก็ไม่จ้างหรอก ถ้าเริ่มจากหลักพัน โอเค ก็ค่อยๆ สูงขึ้น แล้วคุณภาพงานเราก็ค่อยๆ ดีขึ้น งานก็เหมือนกัน จากที่เมื่อก่อนเราทำโชว์จะได้ราคานี้ โชว์ถัดมาราคาก็จะอัปตัวของมันเอง ทีนี้คนซื้อไปก็จะเป็นเท่านี้ แล้วถ้าคนเอาไปขายต่อ ราคาก็เพิ่มขึ้นไปทุกปีๆ ซึ่งมันก็เป็นไปตามกลไกของมันเอง ซึ่งเราก็ดูความเหมาะสมของเราว่า เราทำงานเท่านี้ วันหนึ่ง เราคิดค่าตัวเท่าไหร่ ให้มันเป็นเหตุเป็นผลหน่อย ถ้าลูกค้าโอเค เขาก็จ้าง ถ้าไม่โอเค เขาก็มีทางเลือก เราก็ไม่ซีเรียส ส่วนถ้าเป็นการกุศล เราก็ดูรายละเอียดว่าช่วยได้มั้ย ช่วยยังไง อันไหนเป็นธุรกิจ ก็คิดแบบธุรกิจไป อันไหนพ่นเล่นก็พ่นเล่นไป คนละส่วนกัน หลายคนอาจจะงงว่า ทำไมมีตังค์เก็บ ก็เพราะว่ามันเป็นงาน มันก็แยกส่วนไป

การที่ได้ไปพ่นต่างประเทศ ถือว่าเริ่มเป็นที่ยอมรับในระดับนึง จากการที่เขาชวนเราไปพ่น เขาอาจจะชอบงานเรา หรือบางทีมันอาจจะเหมาะกับโปรเจกต์เขาก็ได้ มันก็หลายเหตุผล หรือโปรเจกต์นี้อาจจะเหมาะกับงานแบบนี้ มันคือเรต หรือจังหวะด้วย แต่บางทีเราก็ไปพ่นเองก็มี อย่างช่วงไปยุโรปตอนปี 2014 ไป 2 เดือนกว่า ไปพ่นรั้วที่สร้างรางรถไฟ แล้วเพื่อนก็ชวนทำเวิร์กชอปกับเด็กที่นอร์เวย์ เพราะเราไปหาเพื่อนเราที่นั่น ไหนๆ ก็ไปแล้วก็ขอร่อนต่อแล้วกัน ไปอัมสเตอร์ดัม ไปพ่น ไปหา มันก็จะไปเจอพวกท้องถิ่น เขาก็จะพาเราไปพ่น ไปทุกเมือง ก็จะเจอแบบนี้ มีเพื่อนอยู่ที่นั่นนี่ หรือบางครั้งไม่มีใครเชิญ เราก็ไปเองก็มี หาเรื่องพ่นไปเรื่อยๆ เพราะเรารู้สึกว่า อยากให้งานมันอยู่หลายๆ ที่ไง ถ้าทุกที่ที่เราไปได้ เราก็พยายามจะพ่น ไหนๆ ก็ไปแล้ว

“อย่างไรก็ตาม เราก็ยังรู้สึกว่า ยังไม่สุด ก็ยังทำต่อ อย่างงานชิ้นใหญ่ๆ คนอื่นเขาทำดีกว่าเราเยอะแยะ หรืออย่างพวกที่เป็นระดับโลก มันทำหนักกว่าเราเยอะไง เราก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่เรารู้สึกว่าเราต้องทำเยอะกว่านี้ เราเคยไปทำงานกับพวกแก๊งที่มันเก่งๆ คือพวกนี้มันมีความชอบและพลังเยอะมาก แถมหยุดนิ่ง ถึงขนาดที่ตอนกลางคืนยังเดินหา ไม่หลับไม่นอน แล้วไปเจอคนพวกนี้ แถมทำการบ้าน ขยัน และใส่เต็มที่ ตามสไตล์ฝรั่งบ้าพลัง มันก็ทำให้เราได้รับแรงจากมันเหมือนกัน เราก็มาทำเต็มที่บ้าง แล้วเราเชื่อว่า เราก็น่าจะส่งต่อสิ่งนี้ให้คนอื่น จากการที่เราไปรับจากคนอื่นมา อย่างเวลาที่เราไปเจอคนที่ทำงานแบบอลังการ บางทีเราก็ต้องสร้างแรงขับเคลื่อนให้เราเหมือนกัน

“เพราะฉะนั้น เราต้องเดินทาง แต่ไม่อวดว่าไปมาแล้วนะ แทบจะไม่เซลฟี่เลย สนใจแค่ว่าไปเอาแรงบันดาลใจกลับมา ไปเอาความรู้มา ไปพิพิธภัณฑ์ในเมืองนั้นๆ ไปเอาวิธีคิด ทุกอย่าง เอากลับมาใช้ได้หมด คือไปดูจนปวดหัว เราไปทุกเมือง อย่างยุโรปที่ไป ทุกเมืองมีดีๆ หมดเลย แล้วไม่ได้ดูแบบผ่านๆ นะ ไปดูวิธีเลือกของมัน จัดแสงยังไง วาดยังไง ดูจนเจ้าหน้าที่มองอ่ะ (หัวเราะเบาๆ) คือเราเป็นคนทำต้องดูละเอียดหน่อย ส่องแล้วส่องอีก พยายามไปดูงาน แล้วนำมาใช้”

สตรีทอาร์ตและกราฟฟิตียังก้าวต่อไป

“ถ้าในบ้านเราและที่อื่น มันก็พัฒนาขึ้นแหละ พัฒนาไปโดยธรรมชาติอยู่แล้ว การทำงานอะไรแบบนี้ เราว่ามันก็ดีขึ้น คนทำก็เยอะขึ้น ตอนนี้เหมือนคนสนใจก็เยอะขึ้น อีกอย่างมันก็เป็นเรื่องของเวลามาเกี่ยวด้วยแหละ เพราะว่าอย่างบ้านเราก็สิบกว่าปีแล้ว เมื่อก่อนทำเพราะสนุก เท่ ฉีกๆ แนวๆ แล้วพอเวลาผ่านไป เราก็อยากให้พัฒนามันดีขึ้น จากเมื่อก่อน พ่นไปจะถูกด่า แต่ตอนนี้ คนเริ่มมีความรู้สึกกับมันได้ บวกกับคนรุ่นเราก็โตขึ้น เอาง่ายๆ เมื่อก่อนก็ทันพวกนี้กัน แต่เดี๋ยวนี้โตขึ้น กลายเป็นว่าคนรุ่นนี้มันมีกำลังสนับสนุน คือรุ่นมันเปลี่ยนผ่าน มันก็พัฒนาไปตามรุ่นด้วย คือแค่โตขึ้น แต่ความชอบยังคงเดิม มันมาพร้อมกับคนรุ่นนั้นไป แต่ยุคอื่นอาจจะเปลี่ยน พัฒนาขึ้น คนชอบขึ้น แล้วมันเป็นสิ่งร่วมสมัยกับคนยุคนี้ไปแล้ว เราเลยมองว่าโตไปด้วยกันมากกว่า แต่คนที่ไม่ชอบก็มี ปกติ มันหลายปัจจัยด้วย ซึ่งถ้ามันอยู่ที่ถูกทาง เราว่ามันน่าจะโอเคอยู่

“ส่วนเอกลักษณ์สำหรับงานแนวนี้ในบ้านเราเหรอ เราก็ไม่รู้เหมือนกันนะ เพราะบางทีคนในอาจจะมองด้วยกันเองไม่ค่อยเห็น แต่ถ้าจะให้มองว่า เอกลักษณ์ของเราคืออะไร คือเราไม่อยากจำกัดแค่งานเราคนเดียวไง แต่ถ้ามองสตรีทอาร์ตไทยโดยรวม เรามองว่าจะมีอารมณ์การ์ตูนซะเยอะ ถ้าพูดถึงเอกลักษณ์รูปลักษณ์ ก็จะเป็นแบบแนวการ์ตูนๆ เป็นคาแรกเตอร์ จากนักเรียนศิลปะมากกว่า มันไม่ได้ฉีกจากรูปแบบไปเลย อันนี้ทำ abstract ไปเลย มันจะอยู่ใน theme ของการ์ตูน ขนๆ น่ารักๆ อารมณ์ยังอยู่เมนเดียวกันอยู่ แต่ถ้าเป็นสายกราฟฟิตี มันก็ยังเป็นสไตล์ของเขาอยู่ไป อย่างน้องบางคนก็มีงานที่น่าสนใจ แบบเอาภาษาไทยมาพ่นเป็นตัวหนังสือ แบบไทยๆ อักษรไทย ลายไทย มันก็น่าสนใจ แต่บางทีคนนอกก็ไม่รู้หรอกว่าเราคือประเทศอะไร สมมติว่าเราไปพ่นเมืองนอก เขาก็จะรู้ว่าไม่ใช่ในบ้านเขาแน่นอน ไม่ใช่แบบตะวันตก เพราะว่าที่เราทำ ไม่ใช่แบบเขาแน่ๆ แล้วแต่ละประเทศก็จะแตกต่างกัน อเมริกาอีกอย่าง อังกฤษอีกอย่าง จะเป็นแบบเนื้อหาจัดๆ จิกกัดสังคม ยุโรปก็สายตัวอักษรอย่างเดียว เดนมาร์กก็อักษรและพ่นรถไฟ แต่ถ้ามาเทียบกับฝรั่ง มันก็ไม่เยอะขนาดนั้นหรอก แต่ว่ามันมีอุปกรณ์รองรับ เด็กเล็กๆ ก็สนใจ ส่วนดีมั้ยก็ไม่รู้ แต่สำหรับเรามันน่าจะดี

ถ้านับจากที่เริ่มพ่นมาตั้งแต่ตอนนั้น มันได้ให้ความมัน ให้ความสะใจ ความรู้สึกตั้งแต่วันแรกที่พ่น จนถึงตอนนี้ก็ยังรู้สึกอยู่ คือสีสเปรย์มันมีอารมณ์ที่ฉวัดเฉวียนไปมาได้ คือฉีดทุกครั้งมันยังมีความสะใจอยู่ แต่ถามว่ามันให้อะไรกับเราบ้าง มันก็น่าจะแปรจากความชอบให้กลายเป็นงาน เป็นสิ่งที่เราต้องทำไปแล้ว กลายเป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนากันต่อไป คือมันให้ทุกอย่างแหละ ให้เราได้ไปทุกที่ ใครจะไปคิดว่าวันนึงจะมีโอกาสได้ไปต่างประเทศ คือไม่เคยคิดเลย เอาเงินที่ไหนไป แต่ตอนนี้คือทุกที่คือมันไม่ใช่ที่ที่ห่างไกลแล้ว แล้วเราโตมาในยุคนี้พอดีมั้ง ที่เราสามารถนั่งเครื่องบินไปที่ไหนก็ได้ในโลก มันเป็นช่วงจังหวะในยุคนี้พอดีด้วย บางคนนี่คือตัวแทบจะอยู่บนอากาศตลอดเวลา แต่ว่าไม่สนุกเลย (หัวเราะ) หลังๆ ชักจะไม่อยากนั่งเครื่องบินแล้ว กลายเป็นว่ารู้สึกแบบนั้นไปแล้ว จนเราไปโฟกัสเรื่องงาน เป็นเรื่องประสบการณ์ โอกาส ให้เราไปทำนั่นนี่

คือถ้าเราทำงานดี งานมันก็น่าจะให้นำทางเราไปเอง คนที่เขามาคุยกับเราก็เรื่องงานแหละ งานให้เขาทุกอย่าง แล้วเราก็ไม่เคยคิดว่างานจะให้ ส่วนถ้าเห็นพี่เป็นไอดอล ก็จำแต่สิ่งดีๆ ของพี่ละกัน (หัวเราะ) เราคิดว่าเราตั้งใจทำงานคนหนึ่งแหละ ไม่ได้ยกตัวเอง คือเราตั้งใจทำตั้งแต่เด็กแล้วไง แต่ถามว่าทุกคนตั้งใจหรือยัง เดี๋ยวนี้โลกมันเปลี่ยนแล้ว สมาธิมันหลุดง่าย บางทีเราก็มีหลุดเลย ถ้าเราปล่อยไปทั้งวัน แบบเมื่อก่อนที่ยังไม่มีสิ่งเหล่านี้ ทำอะไรชัดเจนกว่านี้ ไม่ต้องมาติดกับเรื่องข้อมูลอย่างนี้ เชื่อว่า 70 เปอร์เซ็นต์ไม่มีประโยชน์ (หัวเราะ) แล้วแต่คน

“สำหรับเรา อะไรก็ไม่รู้อ่ะ คือตัดใจไปเลย แล้วเด็กเดี๋ยวนี้มันหลุดง่ายไง ลิมิตของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนแบบตั้งใจทำแล้ว แต่เรายังมองว่ายังน้อยอยู่ ยังให้ความตั้งใจน้อยอยู่ มันอาจจะหลายอย่างด้วยมั้ง มีความพยายามพอมั้ย แล้วยิ่งมาทำงานแบบนี้ ตากแดดด้วย แรงเสียดทานเยอะด้วย ต้องเหนื่อย แบบอยู่บ้านเรามันดีหน่อย แค่ขับรถเอาสีไปพ่น ซึ่งเมื่อก่อนอะไรก็ไม่มี ก็ต้องแบกไป แต่ถ้าเมืองนอกนี่คือ หนักกว่าบ้านเราอีก เดินเป็นกิโลเลย อย่างกับไปรบ ไปไหนก็นั่งรถไฟไปสถานีอื่นๆ อยู่แบบประหยัดๆ ประเด็นคือสนุกกับมันหรือเปล่า ถ้าสนุกมันก็โอเค แต่ถ้าไม่กล้าว่ะพี่ ผมไม่อยากเจอร้อน จบเลย”

เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : วชิร สายจำปา และ แฟนเพจ Alex Face

กำลังโหลดความคิดเห็น