xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “ผศ.สุรวุธ กิจกุศล” ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยคนที่ 10

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เราจะดูแลนักเรียนทุกคนให้เหมือนลูก เพราะผู้ปกครองเขาไว้ใจและฝากชีวิตลูกๆ ให้อยู่ในความดูแลของโรงเรียน เราจะทำทุกวิถีทางให้นักเรียนออกมาเป็นสุภาพบุรุษทุกๆ คน”

คำกล่าวของ ผศ.สุรวุธ กิจกุศล ศิษย์เก่า ท่านหนึ่งของ “วชิราวุธวิทยาลัย” และสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทด้านกฎหมายจาก Southern Methodist University USA จากนั้นกลับมาเป็นอาจารย์ด้านกฎหมาย ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จนได้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี ล่าสุดได้กลับมารับตำแหน่ง ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย คนที่ 10 ซึ่งถือว่าเป็นผู้บริหารสูงสุดของสถาบันแห่งนี้ โดยเน้นย้ำแนวทาง “สร้างคน” ตามพระราชประสงค์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ที่มิได้เน้นแต่วิชาการเป็นเลิศเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการ “บ่มเพาะบุคลิกภาพที่ดี” ของผู้เรียนด้วย

นับจากวันที่ 29 ธันวาคม 2453 ที่ พระยาไพศาลศิลปสาตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อธิบดีกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ ก่อตั้ง “โรงเรียนมหาดเล็กหลวง” เพื่อสนองพระราชดำริข้างต้นของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ในการวางรากฐานการจัดการศึกษาสมัยใหม่ของไทย

กระทั่งในเวลาต่อมา ได้รับพระราชทานนามใหม่จาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2469 ในชื่อ “วชิราวุธวิทยาลัย” จนถึงวันนี้ที่ผ่านมากว่าหนึ่งศตวรรษ ชื่อเสียงของวชิราวุธวิทยาลัย ในฐานะ “โรงเรียนประจำชายล้วน” ที่มุ่งเน้นการสร้างคุณลักษณะของ “สุภาพบุรุษ” ยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย สถาบันแห่งนี้ยังถือเป็น “ความใฝ่ฝัน” ของพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย ที่ต้องการส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาเล่าเรียน

ผศ.สุรวุธ เล่าต่อไปว่า ด้วยความที่เป็นโรงเรียนประจำ นักเรียนทุกคน “กินอยู่หลับนอน” ในหอพักของโรงเรียนที่เรียกกันว่า “คณะ” ทำให้สามารถฝึกฝนการเป็น “ผู้นำ” และ “ผู้ตาม” ที่ดีได้ ผ่านระบบที่ให้รุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง โดยมี “ผู้กำกับคณะ” ทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ดูแลอยู่ห่างๆ ไม่เข้าไปสั่งการเองทั้งหมด เพื่อให้นักเรียนได้เกิด “กระบวนการเรียนรู้” ขึ้นเองตามธรรมชาติ

“เด็ก ม.1-ม.3 เป็นรุ่นน้อง เขาก็ต้องเป็นผู้ตาม แต่พอเขาอยู่ ม.4-ม.6 เขาก็จะได้รับการฝึกฝนให้กำกับดูแลรุ่นน้องกันเองได้ โดยมีผู้กำกับคณะเป็นพี่เลี้ยง คือเราก็ต้องมีวิธีฝึกเขา คือให้เขาปกครองดูแลน้อง น้องก็เชื่อฟังพี่ แต่ถ้าไปทำให้ผู้กำกับคณะเป็นเหมือนหัวหน้าเสียเอง ขั้นตอนตรงนี้ก็จะหายไปเพราะผู้กำกับคณะเป็นคนใช้อำนาจเสียเอง รุ่นพี่เขาไม่ได้ฝึกการปกครองดูแล เราก็ให้ผู้กำกับคณะถอยไปสักก้าวหนึ่ง ทำหน้าที่คอยดูห่างๆ เหมือนเป็นโค้ชให้เขา คอยดูนิสัยใจคอของเด็กแต่ละคนว่าใครเป็นคนลักษณะไหน” ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยคนล่าสุด ระบุ

อีก “จุดเด่น” และเป็นเป้าหมายของสถาบันเก่าแก่แห่งนี้ คือการบ่มเพาะบุคลิกภาพแบบ “อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ-แข็งแกร่งแต่ไม่แข็งกระด้าง” ผศ.สุรวุธ กล่าวว่า โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ถือว่ามี “ความพร้อม” อย่างมาก และถือเป็น “ภารกิจสำคัญ” อีกด้วย โดยเฉพาะ “ดนตรี” ซึ่งนักเรียนของวชิราวุธวิทยาลัยทุกคนจะต้อง “เล่นได้-เล่นเป็น” เพราะกิจกรรมเหล่านี้เป็นการกล่อมเกลาจิตใจ โดยการเรียนของที่นี่ ช่วงเช้าถึงบ่ายโมงจะเป็นการเรียนในชั้นเรียนปกติ ขณะที่ช่วงบ่ายจะเป็นชั่วโมงกิจกรรม

“เด็กทุกคนจะได้เล่นดนตรี อะไรก็ได้เพราะมีวงเยอะแยะ มีครูมาสอนกลอง สอนเครื่องเป่า อะไรเยอะแยะ อย่างเด็กเล็กเขาก็จะมีวงโยธวาทิต ตัวเล็กแต่เป่าเครื่องเป่าได้เสียงเนี้ยบมากเลย มันคือการกล่อมเกลารูปแบบหนึ่งเพื่อให้มีสุนทรียภาพ เล่นเก่งไม่เก่งไม่เป็นไร แต่ให้เขาคุ้นเคยกับอารมณ์ที่มันอ่อนโยน คือเราอยากให้เด็กเราอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ บางคนอาจจะเข้าใจผิดว่าอ่อนโยนคืออ่อนแอแต่จริงๆ มันไม่ใช่ คนอ่อนโยนแต่ก็จิตใจที่เข้มแข็งได้ เป็นคนแกร่งแต่ไม่ใช่เป็นคนกระด้าง” ผศ.สุรวุธ กล่าวถึงกิจกรรมดนตรี อันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของวชิราวุธวิทยาลัย

ในยุคปัจจุบันที่โลกนั้นไร้พรมแดน ชาติต่างๆมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ดังนั้น “ภาษาต่างประเทศ” จึงมีความสำคัญโดยเฉพาะ “ภาษาอังกฤษ” เห็นได้จากมีคอร์สอบรมภาษาทั้งระยะสั้นและระยะยาวเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับหลายโรงเรียนที่เปิดหลักสูตร “อิงลิชโปรแกรม” (English Program-E.P.) หรือหลักสูตรที่การเรียนการสอนวิชาต่างๆ ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เพื่อให้ผู้เรียนได้ “คุ้นเคย” กับสำเนียงของเจ้าของภาษาโดยตรง

ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ก็มีหลักสูตรอิงลิชโปรแกรมเช่นกัน โดยเปิดสอนในระดับชั้นมัธยมต้น หรือ ม.1-ม.3 ทว่าในอนาคต จะมีการปรับเปลี่ยนเป็นตั้งแต่ ม.1-ม.6 เพื่อให้การเรียนรู้ฝึกฝนทักษะทางภาษามีความ “ต่อเนื่อง” สมกับที่นักเรียนและผู้ปกครองตั้งความหวังไว้ เนื่องจากการเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ ปลายทางของเด็กกลุ่มนี้มักเป็นการเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนานาชาติของมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เป็นต้น

“เด็กเขาอุตส่าห์เรียนมา ผู้ปกครองก็ตั้งความหวัง ถ้า ม.4-ม.6 ไม่โฟกัสไปที่ภาษาอังกฤษ ทักษะตรงนี้มันก็จะหายไป เขาอาจจะอยากเข้ามหาวิทยาลัยที่เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ แต่ถ้าไปหยุดแค่ ม.3 เมื่อขึ้น ม.4 พ่อแม่เขาก็อาจจะต้องให้ลูกเขาย้ายไปเรียนในโรงเรียนอื่นที่เป็นอิงลิชโปรแกรม แม้จะชอบระบบการอบรมหลายๆ อย่างของวชิราวุธวิทยาลัยก็ตาม แต่ท้ายที่สุดเขาย่อมต้องเลือกอนาคตของเขา” ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ให้มุมมอง

ปิดท้ายด้วยเรื่องของ “สิ่งที่อยากทำ” เมื่อมารับตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ผศ.สุรวุธ กล่าวว่า หลังจากนี้ในฐานะศิษย์เก่าคนหนึ่ง และในฐานะผู้บังคับการโรงเรียนซึ่งเป็นกรรมการของสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยโดยตำแหน่งด้วย จะพยายามเข้าประชุมสมาคมทุกครั้ง จะเชิญศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ เข้ามาบอกเล่าชีวิตของตนให้กับรุ่นน้อง เพื่อสร้าง “แรงบันดาลใจ” นอกจากนี้ ในฐานะที่ประกอบอาชีพ “ครูบาอาจารย์” มาทั้งชีวิต ก็ย้ำว่า ครูที่ดีควร “พูดคุย-รับฟัง” ผู้เรียนให้มาก โดยเฉพาะปัญหาของเด็กแต่ละคน เพื่อรับรู้สาเหตุและนำไปสู่การแก้ไขต่อไป

“ถ้าเราบอกว่าเด็กคนนี้ยังปรับตัวไม่ได้ดีพอแล้วให้ออก วิธีคิดแบบนี้มันง่าย แต่มันไม่ใช่เรื่องที่คนเป็นครูควรจะทำ คนเป็นครูควรจะคิดว่าเราต้องหล่อหลอมเขาให้ได้ ต้องดึงเขากลับมาให้ได้ แล้ววันสุดท้ายที่เขาจบ ม.6 เราส่งเขาถึงฝั่งที่ดีได้แล้ว ผมว่ามันเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ของคนที่เป็นครูนะ แล้วนี่ยังเป็นเป้าหมายที่รัชกาลที่ 6 ทรงตั้งโรงเรียนนี้ขึ้นด้วย เราต้องการสุภาพบุรุษ เราไม่ได้ต้องการแค่ถ้าไม่ดีก็โยนออกนอกโรงเรียนไป” ผศ.สุรวุธ ฝากทิ้งท้าย




กำลังโหลดความคิดเห็น